top of page
327304.jpg

ลุ้นกลับมาแกว่งเหนือ 1,570 จุด


อยู่เป็น ! ต้องเรียนว่าถ้าเป็นภาษาวัยรุ่นคงสามารถบอกได้ว่าธนาคารกลางของสหรัฐ หรือเฟดในยุคนี้สมัยนี้ “อยู่เป็น” เพราะการแถลงของเฟดหลังการขึ้นดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเฟดทราบดีว่าตลาดกังวล และกำลังคิดอะไรอยู่ เพราะอย่างที่ “นายหมูบิน” เรียนไปในช่วงที่ผ่านมาว่าถ้าเฟดเลือกที่จะขึ้นดอกเบี้ยเฉยๆตามที่ตลาดคาด หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ตลาดจะกลับมากังวลอีกว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องมากกว่าเป้าหมายเดิมคือ 3 ครั้งในปีนี้ แต่เมื่อเฟดชิงบอกก่อนเลยว่าแม้จะขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้เลยแต่ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 3 ครั้งในปีนี้เช่นเดิม ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาคลายความกังวลขึ้นมาก และส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นหลังการขึ้นดอกเบี้ย

ขณะที่ในทางเทคนิคสำหรับตลาดหุ้นไทย แน่นอนว่าการที่ SET สามารถปิดเหนือ 1,550 จุดได้ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับการเก็งกำไรของนักลงทุนระยะสั้นไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่ง “นายหมูบิน” มองว่าถ้า SET ในระหว่างสัปดาห์ไม่ปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง SET มีโอกาสทะลุ 1,570 จุด เพื่อยืนยันสัญญาณการกลับตัว หรือ Reversal ได้ไม่ยาก ซึ่งในกรณีที่ SET กลับขึ้นไปปิดเหนือ 1,570 จุดได้จริง จะส่งผลให้เกิด Golden Cross ขั้นที่ 3 และจะเกิด Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นอีกครั้งด้วย ขณะที่ล่าสุด Indicators ระยะสั้น 3 ใน 4 ตัวกลับไปทำสัญญาณ "Bullish" รอไว้แล้ว

อย่างไรก็ดีสำหรับนักลงทุนระยะกลาง หรือยาวกว่านั้นตราบใดที่เงื่อนไขของ SET ยังคงไม่เป็นไปตามที่นามหมูบินเขียนไว้ โดยเฉพาะการขึ้นไปปิดเหนือ 1,570 จุด “นายหมูบิน” ยังคงไม่อยากให้นักลงทุนรีบร้อนเข้ามาทันทีในช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นสั้นๆจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เพราะอยากให้ท่านพิจารณาให้ดีว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แม้ว่าจะบอกว่าขึ้นแค่ 3 ครั้งในปีนี้ แต่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นปัจจัยบวกหรือไม่กับตลาดหุ้นไทย ? และภาพของตลาดการเงินโลกที่เกิดขึ้นในระยะสั้น เพียงพอที่จะทำให้เราเชื่อว่าเมื่อสุดท้ายตลาดได้ย่อยข้อมูลครบถ้วนแล้ว แนวโน้มจะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆจริงๆหรือไม่ ?

เพราะถ้าพิจารณาจากสถิติที่สำนักวิจัยชั้นนำของประเทศ อย่างบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัดทำไว้ จะพบว่าผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบใหญ่ 3 ครั้งก่อนหน้าในช่วงปี 1994-1995, 1999-2000 และ 2004-2006 พบว่าตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นทุกครั้งราว 4%, 9% และ 13% ตามลำดับ สวนทางกับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลง 18% และ 29% ในช่วงของการดอกเบี้ยของเฟดปี 1994-1995 และ 1999-2000 ขณะที่ในช่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ยปี 2004-2006 ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเพียง 6% น้อยกว่า หรือ Underperform ตลาดหุ้นสหรัฐมากกว่าครึ่ง

ระวังหุ้นกลุ่มน้ำมันกดดันระยะสั้น ! : คงไม่มีคำถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเหมาะสมหรือไม่ เพราะโดยปกติจะเป็นที่ทราบกันดีว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของเฟดในช่วงหลังวิกฤติปี 2009 ที่ผ่านมา เฟดจะให้น้ำหนักกับสภาวะของตลาดแรงงานสหรัฐมากที่สุด ซึ่งก็จะมีการพิจารณาจากตัวเลขของ 12 ปัจจัยที่อยู่ใน Labor Market Dashboard ทั้งนี้ล่าสุด 10 จาก 12 ตัวเลขที่เฟดพิจารณาจาก Dashboard ดังกล่าวได้ฟื้นตัวขึ้นมามากกว่าครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนวิกฤติแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาเฟดได้กล่าวถึงความสำคัญ และการให้น้ำหนักกับตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง หรือ Average Hourly Earnings มาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในเชิงทฤษฎีแล้วระดับค่าจ้างรายชั่วโมงที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการบริโภคของประชาชน และระดับราคาสินค้าในตลาดด้วย ขณะที่ล่าสุดตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมง หรือ Average Hourly Earnings ของสหรัฐในเดือน ก.พ.2560 ที่ผ่านมายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 2.8% YoY ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงมาก และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ม.ค.2560 ที่เพิ่มขึ้น 2.6% YoY ด้วย

ทั้งนี้นอกจากตัวเลขในภาคแรงงานของสหรัฐที่เฟดใช้ในการพิจารณาเพื่อดำเนินนโยบายดอกเบี้ยแล้ว เป็นที่ทราบกันดีอีกเช่นกันว่าเฟดใช้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการดำเนินนโยบาย โดยที่ตั้งเป้าหมายอย่างไม่เป็นทางการไว้ที่ 2% ซึ่งในปัจจุบันได้ขยับขึ้นมาที่เป้าหมายแล้ว และมีแนวโน้มขยับขึ้นอีกตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในครั้งนี้จึงสมเหตุสมผล และไม่ได้ทำให้ตลาดแปลกใจ ตรงกันข้ามการประกาศว่าจะยังคงเป้าหมายที่ขึ้น 3 ครั้งเท่าเดิม ทำให้ตลาดไม่ต้องไปตีความอะไรเพิ่มเติม ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-15 มี.ค.2560) แม้จะพบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 1.2% สู่ระดับ 31.2% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐเป็นขาลงแล้ว หรือ Bearish ที่ลดลงถึง 7.8% สู่ระดับ 38.7%

อย่างไรก็ดีประเด็นที่ “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าเป็นความเสี่ยงน่าจับตาคือแรงกดดันจากหุ้นในกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันที่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากทิศทางของราคาน้ำมันในระยะสั้น เนื่องจากรายงานล่าสุดจาก Baker Hughes ระบุว่าจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐ หรือ Rig Count เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกันแล้ว โดยเพิ่มขึ้นอีก 8 แท่นสู่ระดับสูงที่สุดตั้งแต่ ก.ย.2559 ที่ 617 แท่น และถือว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากถึง 172 แท่นแล้ว ตั้งแต่จุดต่ำที่สุดในช่วง พ.ค.2559 ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทั้งๆที่ราคาน้ำมันดิบโลก WTI ปรับตัวลงมาต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/ บาร์เรลแล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจุดคุ้มทุน หรือ Break-even ของ Shale Oil ในสหรัฐที่ “นายหมูบิน” ได้เรียนไปให้ทราบวานนี้ว่าโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 40 ดอลลาร์/ บาร์เรลเท่านั้น นอกจากนี้ล่าสุดจากการคาดการณ์ของ EIA ระบุว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจาก U.S. Shale Oil จะเพิ่มขึ้นอีก 100,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 4.96 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน เม.ย.2560 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ มี.ค.2559 ด้วย

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : กรณีที่ SET ยังคงปิดต่ำกว่า 1,570 (+/-5) จุด แนะนำ กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” ไปก่อน ขณะที่กรณีตรงข้ามที่ SET กลับมาปิดเหนือกว่า 1,570 (+/-5) จุดอีกครั้ง แนะนำ “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” ในหุ้น PTT, PTTGC, TOP, KBANK, SCB, STEC, CK, SCC, LH, SIRI, INTUCH และ ADVANC สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไว้ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/moobin.stockmania และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

1 view
bottom of page