
สินค้าแบรนด์อเมริกันเริ่มก่อกระแสนิยมในอเมริกาเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เถลิงอำนาจ แม้จะมีชาวอเมริกันเดินขบวนต่อต้านนับล้านๆ แต่กระแสรักชาติด้วยสินค้าที่ผลิตในประเทศ Made in America ก็ไม่มีใครปฏิเสธ
Wal-Mart Stores Inc. ตอบรับทันทีด้วยการประกาศซื้อสินค้าจากโรงงานที่ผลิตในสหรัฐอเมริกามาวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าของตน มูลค่ารวม 50,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 10 ปี เริ่มจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา
บริษัทค้าปลีกสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกที่มีสำนักงานใหญ่ที่ เบนตั้นวิลล์ รัฐอาร์คันซอให้เหตุผลในการซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐเพิ่มว่า “เพื่อนำการจ้างงานกลับคืนสู่สหรัฐ”
ทั้งนี้เพราะในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สินค้าแบรนด์อเมริกันพากันเอาท์ซอร์สออกไปผลิตในต่างแดนที่มีค่าแรงและวัตถุดิบถูกกว่าผลิตในสหรัฐ
แอปเปิ้ลถูกยกเป็นตัวอย่างที่เห็นกันชัดเจน เพราะชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในตัวเรือนสมาร์ทโฟนและแท็บเลท ซีรีส์ไอ เกือบ 90% ผลิตในจีนและไต้หวัน..โรงงานแอปเปิ้ลในอเมริกาผลิตแต่ตัวเครื่องและทำหน้าที่นำชิ้นส่วนจากฐานผลิตนอกบ้านมาประกอบเข้าตัวเครื่องที่คิดเป็นแค่ 10% ของทั้งหมดเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีโดยสมบูรณ์ ผู้บริหารแอปเปิ้ล อิงค์ จึงถูกเรียกเข้าพบเป็นรายแรก..ถูกทรัมป์ยื่นคำขาดว่าจะย้ายฐานผลิตกลับอเมริกา หรือจะเจอภาษีนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์จากจีนในอัตรา 15-25%?
สำหรับวอลมาร์ท แม้ว่าจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาวางขายมากกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศ 100% ด้วยเหตุผลว่าราคาถูกกว่า แต่เมื่อกระแสรักชาติตามสโลแกน America First ของทรัมป์เริ่มมาแรง วอลมาร์ทก็ไหลตามกระแส และเริ่มแคมเปญกระตุ้นการซื้อสินค้า Made in America แต่ในส่วนลึกแล้ว วอลมาร์ทเริ่มรู้สึกว่า สินค้าที่ผลิตในจีนและประเทศตลาดเกิดใหม่ เริ่มมีราคาแพงขึ้น ทั้งนี้เพราะค่าแรงในตลาดเหล่านี้เริ่มสูงขึ้น ขณะที่ค่าขนส่งและค่ากระบวนการชิปปิ้งก็สูงขึ้น
ทำให้เริ่มตระหนักกันว่า ยุคของสินค้าถูกจากชาติกำลังพัฒนากำลังจะหมดไปแล้ว
“เศรษฐกิจในยุคนี้ต่างจากยุค 80’s และ 90’s โดยสิ้นเชิง” บิลล์ ไซม่อน ซีอีโอของวอลมาร์ทชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะ "กลับหลังหัน"
แม้ว่าราคาสินค้าที่ผลิตในอเมริกาจะยังแพงกว่าสินค้าที่ผลิตในต่างแดน ทั้งที่เป็นแบรนด์อเมริกันด้วยกันเอง
แต่การรณรงค์ ปลุกจิตสำนึกให้คนอเมริกันหันมาซื้อสินค้า Made in America ของวอลมาร์ท ก็เชื่อว่าจะสร้างกู๊ดวิลล์ให้แก่บริษัทอย่างเอกอุ ดึงดูดลูกค้าเข้าห้างชดเชยราคาต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น
ปีที่แล้ววอลมาร์ททำยอดขายได้ 466.1 พันล้านดอลลาร์ การตั้งยอดซื้อสินค้าเข้าห้างเพิ่มจากยอดขายอีก 50 พันล้านดอลลาร์ ภายใน 10 ปี จึงไม่น่าจะเป็นภาระมากนัก เพราะสินค้าที่ผลิตในอเมริกาอันเป็นเป้าหมายซื้อของวอลมาร์ทนั้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าด้านอาหารและของชำ
นโยบายซื้อสินค้าผลิตในอเมริกานี้ ตรงกันข้ามกับเมื่อหลายทศวรรษก่อน ที่วอลมาร์ทสนับสนุนให้อเมริกันแบรนด์ เอาท์ซอร์สไปผลิตในชาติที่มีค่าแรงถูกเช่น จีน อินเดีย อาเซียน ประเทศในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้
อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนนโยบายแบบกลับหลังหันของวอลมาร์ทนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่บางรายที่เป็นซัพพลายเออร์ของวอลมาร์ทอย่างเช่น Hampton Products International ไม่เห็นว่าเป็นความจริงใจในการสร้างกระแสรักชาติ
แฮมป์ตันถือเป็นการสวมรอย หรือฉวยโอกาส เก็บเกี่ยวความนิยมจากการปลุกเร้าให้แบรนด์อเมริกันหันกลับมาผลิตในบ้าน เพราะแฮมป์ตันนั้น บัดนี้ได้ย้ายฐานผลิตจากจีนกลับอเมริกาแล้ว
สินค้าหลักของแฮมป์ตันคือชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ติดตั้งกับบานประตูและหน้าต่าง...เหตุผลที่แฮมป์ตันย้ายฐานผลิตกลับบ้านก็คือ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้ ค่าแรงในจีนสูงขึ้นมาถึง 24% ปรับจากเดิม 1.77 ดอลลาร์ มาเป็น 2.20 ดอลลาร์ เมื่อคิดเทียบเป็นสกุลเงินสหรัฐ...และเมื่อรวมกับค่าขนส่ง กับภาษีนำเข้าของสหรัฐ ต้นทุนสินค้าจากจีนจะเพิ่มเป็น 2.53 ดอลลาร์
คิม เคลลี่ ซีอีโอ ของแฮมป์ตัน บวกลบคูณหารราคาต้นทุนสินค้า เปรียบเทียบระหว่างสินค้าแฮมป์ตันที่ผลิตในจีนกับที่ผลิตในอเมริกา...พบว่าเมื่อนำกลับมาผลิตในอเมริกาสินค้าของแฮมป์ตันสำเร็จรูป จะมีราคาแค่หน่วยละ 2.16 ดอลลาร์
ถูกกว่าที่ผลิตในจีนและนำเข้าจากจีนมารวมศูนย์ของบริษัทเพื่อกระจายสินค้าออกไปในตลาดสหรัฐถึง 15%
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าของแฮมป์ตันผลิตในอเมริการาคาถูกลงก็คือ พลังงานที่ใช้ในโรงงานสหรัฐถูกกว่าจีน
เพราะปัจจุบันนี้ สหรัฐมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกจากแหล่งหินเชล (Shale) จนทำให้รัฐบาลโอบามายกเลิกข้อห้ามส่งออกน้ำมันดิบและผลิตน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี..ต่างจากจีนที่เป็นชาตินำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
แต่แม้จะมองว่า วอลมาร์ทฉวยโอกาสปลุกกระแสนิยมสวมรอยนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ทว่าการทำสัญญาระยะยาวซื้อสินค้าที่ย้ายฐานผลิตจากจีนกลับอเมริกาหลายบริษัท ก็เป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของวอลมาร์ทในด้านนี้
อย่างการทำสัญญากับ General Electric Co. ซื้อหลอดไฟจีอีที่ผลิตในโรงงานในโอไฮโอและในอิลลินอยส์ หรือกับ Element Electronics Corp. ซื้อโทรทัศน์ที่ผลิตในเซาท์ แคโรไลน่า เป็นต้น
ความเป็นบริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีร้านสาขากว่านอกสหรัฐกว่า 120 ประเทศ ทำให้วอลมาร์ทมีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์สูง...สินค้าบางชนิดที่บริษัทในประเทศที่วอลมาร์ทมีสาขา ขยายฐานผลิตมายังสหรัฐเพื่อครองส่วนแบ่งในสินค้าสาขานั้นๆในวอลมาร์ทที่มีร้านสาขามากที่สุดในอเมริกา
อย่างเช่น Korona S,A. บริษัทผลิตเทียนบนโต๊ะอาหารของโปแลนด์ เป็นต้น ที่ขยายฐานผลิตมาอยู่อเมริกาหลังได้รับสัญญาสั่งซื้อระยะยาวจากวอลมาร์ท..นโยบาย สนับสนุนบริษัทอเมริกันย้ายกลับมาผลิตในอเมริกาของทรัมป์ด้วยสโลแกน Made in America จึงอาจจะเป็นการสวมรอยกับข้อเท็จจริงที่ว่า...
บริษัทที่เอาท์ซอร์สไปโลกที่สามนั้นต่างก็เตรียมตัวกลับประเทศด้วยเหตุผลเดียวกันกับบริษัทแฮมป์ตันอยู่แล้ว
วอลมาร์ทเองก็กลายเป็นหน่วยเสริมที่สามที่เข้ามาร่วมขบวน Made in America ด้วย Timing ที่เหมาะเจาะเหมาะสมกลมกลืนในทุกประการ