top of page
327304.jpg

“พิชญ์” ซะอย่าง แพรวพราวสมชื่อ!! ยกนิ้ว: ที่สุดในตลาดหุ้น 59


(Credit ภาพ: http://www.modify.in.th/13308)

หากทบทวนตลอดเกือบ 1 ปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อหาว่าใครคือบุคคลที่โดดเด่นสุด ที่ควรกล่าวถึงมากที่สุด เป็น Man Of The Year ในวงการตลาดหุ้นบ้านเรา ต้องยกให้เขาคนนี้.....

พิชญ์ โพธารามิก

ในรอบปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี ยันปลายปี พิชญ์ โพธารามิก สามารถสร้างสตอรี่ที่เรียกเสียงฮือฮาเป็นที่จับตามอง เรียกความสนอกสนใจมาได้เป็นระยะๆ จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกันอย่างไรไม่รู้แต่มันทำให้ราคาหุ้น JAS และหุ้นลูกๆ ในกลุ่มขึ้นเอาๆ ทั้ง JAS MONO และ JTS ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเขากระทำการหมิ่นเหม่ หรือเป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่ามีอะไรหรือเปล่า แม้แต่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ยังออกมาสะกิด ส่วน ก.ส.ท.ช.นั้น ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า “ใบ้กิน”… พิชญ์ ก็คือ พิชญ์ สมชื่อ ใครจะมาหาว่าเขามีความผิดไม่ได้

เริ่มกันที่ เรื่องของการเข้าไปประมูลคลื่น 900 MHz กับ ก.ส.ท.ช. ในนามของ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ด้วยราคาสุดท้ายที่ 75,654 ล้านบาท เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2558 ทำให้หุ้น JAS - จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ขึ้นรับข่าวกันไป พร้อมกับความเชื่อมมั่นว่า วงการมือถือเมืองไทยน่าจะมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญ หลังจากเครือข่ายของ JAS พิชญ์ โพธารามิก เข้ามาเบียด AIS กับ TRUE

ความมั่นใจที่จะบิดจนชนะปะมูลได้คลื่นมาจาก ก.ส.ท.ช. ว่ากันว่า ขนาดมีการสร้างหนังจากค่ายโมโน ฟิล์ม เครือ JAS ซึ่งมีการตีความว่า หนังไทยเรื่อง หลวงพี่แจ๊ส 4G นั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็เกิดขึ้นเอง แต่ตั้งใจให้เกิดแบบมีนัยยะส่งไปถึงการประมูลคลื่นความถี่ แบบว่าชื่อคล้องจองกันอย่างไม่บังเอิญ

พูดก็พูดเถอะ การประมูลด้วยเงินมหาศาลกว่า 7 หมื่นล้านบาทนี้ ใครๆ ก็ต้องคิดว่า พิชญ์ โพธารามิก ผู้ถือบังเหียนดูแลกิจการ เครือข่าย JAS จะเอาจริง! แม้จะมีคำถามอยู่บ้างว่า จะหาเงินมาจากไหนเพื่อจ่ายค่าคลื่น

สุดท้ายเมื่อถึงกำหนด วันสุดท้ายการจ่ายเงินก้อนแรก งวดแรก 21 มีนาคม 2559 พิชญ์ กลับไม่ไปจ่ายเงินตามนัด คือทิ้งใบอนุญาตที่อดตาหลับขับตานอนไปนั่งประมูลมาราธอนข้ามวันข้ามคืน ไปแบบดื้อๆ เสียอย่างนั้น

กลายเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮามาก แบบสั่นสะเทือนไปทั้งวงการไอที ที่สำคัญคือ วงการหุ้น ที่ราคาตัวแม่คือ JAS ปรับลดลงมาพอแรง ด้วยความตกใจว่า JAS จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดไปกับบริษัทลูกที่ประมูล และอาจต้องชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนมาก

แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่างออกหน้ามาแสดงความห่วงใยและ ตักเตือนจากภาวะที่อาจมีผลกระทบกับหุ้นดังกล่าว

คนที่ไม่สะทกสะท้านคือ นายพิชญ์ โพธารามิก... พร้อมกับคำอธิบาย ชี้แจงว่า เขาและบริษัท ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ไม่ต้องจ่ายค่าปรับใดๆ ยกเว้นเงินค่ามัดจำเมื่อครั้งประมูล 644 ล้านบาท ที่ต้อง ถูกยึด ซึ่งหลายคนบอกว่า พิชญ์สุดฉลาด เพราะการทุ่มเงินมากขนาดนี้ อาจเป็นเรื่องยากลำบากมาก การทิ้งใบอนุญาตเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่า ที่สำคัญคือราคาหุ้น JAS ได้ปรับขึ้นรับข่าวไปจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว

ทั้งนี้ ได้มีการให้เหตผลประกอบที่ดูดีหน่อยว่า การทิ้งใบอนุญาต ของ พิชญ์ โพธารามิก เป็นเพราะ ผู้ประกอบการรายใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศจีน (ซึ่งสนใจร่วมลงทุนในบริษัท แจส โมบายฯ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งใหญ่ของประเทศจีน) ติดข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องของประเทศจีน ซึ่งไม่ทันกำหนดระยะเวลา 90 วันตามที่ระบุในประกาศ กสทช.

“ แจส โมบายฯ ต้องถูกริบเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท บริษัท แจส โมบายฯ และ กลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดในค่าเสียหายใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากประกาศ กสทช. ไม่ได้ระบุให้ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบในความเสียหายใดๆ เพิ่มเติม นอกเหนือจากเงินประกันการประมูลจำนวน 644 ล้านบาท และไม่ต้อเพิกถอนใบอนุญาตอื่นๆ ทั้งดิจิตอลทีวี และบรอดแบรนด์” พิชญ์อธิบาย

“เหตุดังกล่าวนี้ ก็ไม่ได้เป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัท ได้รับจากสำนักงาน กสทช. และใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น

จำนวนเงินประกันการประมูล 644 ล้านบาท ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงิน เนื่องจากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของบริษัทแล้ว คิดเป็นเพียงร้อยละ 1.27 เท่านั้น และเงินประกันการประมูลดังกล่าวมาจากทุนชำระแล้วของบริษัท แจส โมบายฯ และเงินที่บริษัทให้กู้ยืม ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทในปี 2559 รวมจำนวน 644 ล้านบาท”

เมื่อทิ้งใบอนุญาต 4G นักลงทุนจำนวนไม่น้อยมองว่า อนาคตหุ้น JAS คงจบลงเพียงเท่านี้ แต่ยัง...ยังไม่จบ

ความจริงคือ ราคาหุ้น JAS ยังเดินหน้าขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีกลยุทธ์ เด็ดฮือฮาอีกครั้ง นั่นคือ การประกาศตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น JAS และ JAS-W3 ของ พิชญ์ โพธารามิก

พิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 เกือบ 26% ใน JAS ประกาศเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) หุ้นละ 7.25 บาท และ JAS-W3 หุ้นละ 3.68 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาในกระดานขณะนั้น โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนวงเงินไม่เกิน 4.25 หมื่นล้านบาท กำหนดการรับซื้อหุ้นคืนวันที่ 29 ก.ย. 59 ถึงวันที่ 3 พ.ย. 59 ...

เป็นแบบนี้มีหรือที่หุ้น JAS จะจอด!!!!

หลัง พิชญ์ ประกาศตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้น JAS ในกระดานพุ่งกระฉูดเหนือราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ทันทีที่ตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่อง H ให้ซื้อขายได้ตั้งแต่เวลา 11.45 น. ราคาหุ้นเปิดที่ 7.05 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 6.01% และขยับสูงสุดถึง 7.30 บาท บวก 0.65 บาท หรือ 9.77% ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบกว่า 1 ปี 6 เดือน ด้วยมูลค่าซื้อขาย 9,450 ล้านบาทเป็นอันดับ 1 บนกระดานหุ้น

เว้นระยะหายใจหายคอกันนิด พิชญ์ กลับมาอีกครั้ง คราวนี้ เขาประกาศ รับซื้อหุ้น JTS ซึ่งเป็นไปตามหลักการหลังจากที่ พิชญ์ ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน JAS กว่า 60% จึงเป็นผลทางอ้อมต่อการเป็นผู้ถือหุ้นมีอำนาจในบริษัทลูกของ JAS คือ JTS จึงต้องมีการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ JTS ด้วย

ทั้งนี้ พิชญ์ โพธารามิก ทำคำเสนอซื้อหุ้น JTS ทั้งหมด 706.46 ล้านหุ้น หรือทั้ง 100% ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท คิดเป็นมูลค่าราว 1,060 ล้านบาท

เมื่อมีการกำหนดดีลมาแบบนี้ ราคาหุ้นลูกก็กระโดดตามเงาหุ้นแม่ ราคาหุ้น JTS กระโดดสูงกว่าราคาเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ขึ้นไปถึง 1.66-1.70 บาท

แค่นั้นยังไม่พิชญ์ ยังสามารถจัดการ จน JTS ประกาศจ่ายเงินผันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้ด้วย

ยิ่งประกาศปันผล ก็ยิ่งสมเหตสมผล ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หุ้น JAS และ JTS จะขยับขึ้นไปอีก

โดยราคาหุ้นแม่-ลูกที่ขึ้นมาดักตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมาจาก JTS จาก 1.29 บาทขึ้นมาเป็น 2.26 บาท และ JAS ที่ขึ้นมาจาก 5.50 บาท เป็น 8.35 บาท

งานนี้ ก.ล.ต. ต้องออกโรงอีกครั้ง

ตามคำสั่งก.ล.ต. ระบุว่า “ตามที่ปรากฏข่าวเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ว่า คณะกรรมการบริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ (JTS) มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นสามัญของ JTS ในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 70,654,730 บาท โดยเป็นการประกาศจ่ายในระหว่างที่ นายพิชญ์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ JAS ซึ่งเป็นบริษัทแม่กำลังทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ JTS และจะสิ้นสุดการรับซื้อในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559

ทั้งนี้ คณะกรรมการ JTS กำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่มีรายชื่อในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นวันหลังจากปิดการรับซื้อแล้ว เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินปันผลดังกล่าว โดยที่ JTS มีผลขาดทุนจากการดำเนินงานตามงบการเงินไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 และการประกาศจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจมีผลต่อราคาหรือการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ JTS จึงอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่นายพิชญ์ ซึ่งเป็นผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ JTS

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงให้คณะกรรมการ JTS ชี้แจงผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับที่มา และเหตุผลของการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว และความเห็นของคณะกรรมการในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น รวมทั้งผลกระทบด้านกฎหมาย หรือด้านอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท”

แต่ ก.ล.ต. ก็คงต้องยอมรับกับคำตอบของ JTS ที่ว่า....

“บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 จำนวน 17.425 ล้านบาท ทำให้มีกำไรสะสมซึ่งยังไม่ได้จัดสรร ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 จำนวน 115.413 ล้านบาท และมีเงินสดคงเหลือปลายงวด ณ วันที่ 30 กันยายน 2559 จำนวน 551.935 ล้านบาท

บริษัทจึงเห็นสมควรเสนอให้มีการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทและคณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจากกำไรสะสมของบริษัทในอัตราหุ้นละ 0.10 บาทต่อหุ้น รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 70,654,730 บาท

การดำเนินการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสมของบริษัทสามารถทำได้ตามข้อกำหนดของหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท

พร้อมทั้งวิเคราะห์ความเพียงพอของสภาพคล่องของบริษัทภายหลังจากการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลว่าไม่มีผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ซึ่ง ณ วันที่ 30 กันยายน 2559

บริษัทมีเงินสดอยู่จำนวน 551.935 ล้านบาท และไม่มีผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานทางธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยของบริษัทแต่อย่างใด

บริษัทเห็นว่าการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้นเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการที่สามารถทำได้ตราบเท่าที่การดำเนินการดังกล่าวไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในกรณีนี้การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสะสม ไม่ได้มีการจ่ายเงินปันผลในระหว่างที่บริษัทมีขาดทุนสะสมอยู่แต่อย่างใด ดังนั้น การจ่ายเงินปันผลจึงเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อมาตรา 115 การจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้นเป็นสิทธิที่คณะกรรมการของบริษัทสามารถพิจารณาดำเนินการได้โดยคำนึงถึงสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัท ความจำเป็นในการใช้เงินลงทุนของบริษัทเป็นสำคัญและการจ่ายเงินปันผลนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นสำคัญ”

ตอบมาแบบนี้ก็ ...จบข่าว...JTS จ่ายปันผลได้ ส่วนใครจะได้เงินปันผลบ้าง พิชญ์ได้เยอะหรือเปล่าก็เป็นสิทธิของเขาไป

การดำเนินวิธีการที่ผ่านมา ของ พิชญ์ โพธารามาก ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ ต้องยกนิ้วให้ว่า “มีความเนียน” มากๆ คนในวงการหุ้น ยกนิ้วให้ว่า “พิชญ์แน่มาก” เพราะสามารถจัดสรรทุกอย่างได้อย่างดี หุ้นก็ขึ้น นักลงทุนที่คอยติดสอยห้อยตามไปกับสตอรีหุ้นก็ยังแฮปปี้

ที่สำคัญคือ เขาสามารถให้ “กุนซือ” เก่งๆ มาช่วยเขาคิดออกแบบทำโน่นทำนี่กับหุ้น JAS MONO และ JTS มาตลอดปีได้อย่างที่เรียกว่า “ฝีมือขั้นเทพ” เป็นมีสไตล์เฉพาะตัวของเซียนหุ้นรุ่นเก๋า ที่มานามว่า “เสี่ยมา”

แบบนี้แล้วก็ต้องขอยกให้ พิชญ์ โพธารามิก ลูกพ่อ อดิศัย โพธารามิก เป็น Man of The Year ในวงการหุ้น... เหมาะสมที่สุด

81 views
bottom of page