top of page
312345.jpg

สุดยอดนายแบงก์ 2559: ‘ชาติชาย’ เก่งสมชื่อ Banker of the year 2016


“เครือดอกเบี้ย” ยกย่อง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” เป็น Banker of the year 2016 จากผลงานสุดโดดเด่น ทั้งการทำงานสนองนโยบายของรัฐ การนำนวัตกรรมการเงินเข้าไปยกระดับความทันสมัยให้กับธนาคารออมสิน และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการให้กับลูกค้าประชาชน การคิดค้นผลิตภัณฑ์การเงินที่สามารถเข้าไปช่วยแก้ปัญหาปากท้องของประชานระดับฐานรากได้อย่างยั่งยืน

กองบรรณาธิการนิตยสารดอกเบี้ย และหนังสือพิมพ์ดอกเบี้ยธุรกิจ ประกาศยกย่อง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน (Government Savings Bank : GSB) ให้ได้รับรางวัลเกียรติยศ “นักการธนาคารแห่งปี 2559” หรือ “Banker of the year 2016” โดยคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนปัจจุบันได้รับรางวัลนี้ เนื่องจากพิจารณาพบว่า ตลอดทั้งปี 2559 ชาติชาย เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันการเงินที่มีงานหนักกว่าผู้บริหารสถาบันการเงินอื่นๆ และมีผลงานโดดเด่นเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นผลงานด้านการเข้าไปกอบกู้ช่วยเหลือคนยากคนจน หรือประชาชนในระดับฐานราก สอดรับไปกับนโยบายของรัฐบาล

ขณะเดียวกันทางด้านธุรกิจของธนาคารออมสิน ชาติชาย ได้นำนวัตกรรมการเงินเข้าสู่ธนาคาร ช่วยยกระดับให้ธนาคารออมสินมีความทันสมัยไม่น้อยหน้าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และยังทำให้เกิดความสะดวกสบายต่อการใช้บริการของลูกค้าประชาชน ตามที่ ชาติชาย ได้กำหนดเป้าหมายการให้บริการ โดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง หรือ Customer Centric

หากยิ่งกว่านั้น ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยังคิดค้นผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ๆ ที่แหวกออกไปจากสารบบการให้บริการทางการเงินแบบเดิม ในการทำให้ประชาชนในระดับฐานรากเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้นในอัตราค่าใช้บริการและดอกเบี้ยที่ต่ำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่จะหลุดพ้นจากการเป็นหนี้นอกระบบ หรือคนสูงอายุที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี

โดยในส่วนของการเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (Specialized Financial Institutions : SFIs) ที่ต้องทำงานเพื่อปากท้องของคนในระดับฐานราก ชาติชาย พยุหนาวีชัย สามารถคิดกลไกการให้บริการทางการเงินสอดคล้องที่รัฐบาลมอบหมายนโยบายมาอย่างกว้างๆ แล้วให้ธนาคารไปลงในรายละเอียดก่อนที่รัฐบาลจะนำเสนอเป็นมาตรการต่างๆ ออกมา เพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนในระดับฐานรากและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ท่ามกลางบรรยากาศเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการขยายตัวเพียงเบาบาง ผู้คนกำลังเดือดร้อนจากรายได้ที่ลดลง

เริ่มตั้งแต่โครงการคาบเกี่ยวระหว่างปี 2558-2559 สำหรับการปล่อยซอฟท์โลนระยะ 2 อีก 50,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากปี 2558 ที่ใช้ซอฟท์โลนจากธนาคารออมสินไปก่อนแล้ว 100,000 ล้านบาท ขณะที่ต่อมายังมีการออกซอฟท์โลนระยะที่ 3 วงเงิน 30,000 ล้านบาท ให้เอสเอ็มอีกู้ไปเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและโรงงาน ซึ่ง ชาติชาย ควบคุมดูแลให้ธนาคารต่างๆ เข้าขอใช้สินเชื่อดังกล่าวจากธนาคารออมสินได้อย่างราบรื่น

นอกจากนี้ช่วงระหว่างเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ นโยบายมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนของรัฐบาล ซึ่งทางด้านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ได้รับมอบนโยบายเช่นกัน ได้มีการมอบของขวัญแก่ลูกค้าในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยในส่วนของธนาคารออมสิน ชาติชาย มอบของขวัญให้ประชาชนด้วยการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม 40,000 บาท ให้กับลูกค้ารายย่อยที่มีประวัติชำระหนี้เป็นปกติ 12 เดือน คิดดอกเบี้ยเพียง 0.75% ต่อเดือน และยังคืนดอกเบี้ยอีก 1-3% ให้กับลูกค้าที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และมีประวัติการชำระหนี้ดี

ขณะที่ด้วยนโยบายภาครัฐที่ยกให้การส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ ชาติชาย ได้นำพาธนาคารออมสินเข้าร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Private Equity Trust Fund วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เพื่อเข้าไปร่วมทุนกับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการเติบโต และในเวลาต่อมายังจัดการประกวดสุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย เพื่อให้ Smes Startup ในธุรกิจต่างๆ เข้าประกวด ซึ่ง Startup ที่มีศักยภาพดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างยั่งยืน ธนาคารออมสินจะให้สินเชื่อหรืออาจเข้าร่วมลงทุน เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จต่อไป

โครงการ “บ้านประชารัฐ” ที่ธนาคารออมสินเข้าไปมีส่วนร่วมกับอีก 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งรัฐบาลกำหนดวงเงินสินเชื่อรวม 70,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้กับประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านหลังแรกหรือสร้างบ้านบนที่ดินตนเองในราคาบ้านไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีโครงการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยในส่วนของ ชาติชาย กำหนดให้ออมสินใช้วงเงินในโครงการนี้ 20,000 ล้านบาท

ขณะที่นอกจากต้องเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลหลายชุดก่อนหน้าแก้ไขแล้วยังไม่หมดไป กระทั่งรัฐบาลภายใต้ คสช.จำต้องขุดขึ้นมาทำอีกรอบ ในส่วนของการแก้ไขปัญหาหนี้ระบบตามนโยบายของรัฐบาล ชาติชาย พยุหนาวีชัย ได้ดำเนินการตามนโยบายอย่างสมบูรณ์แบบ หากยิ่งกว่านั้น ชาติชาย ได้คิดค้นวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืน ด้วยการออกบัตรกดเงินสด 2 ประเภท คือ 1.บัตร People Card สำหรับผู้มีรายได้ขั้นต่ำ 7,000 บาทต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.88%-1% ต่อเดือนหรือไม่เกิน 19% ต่อปี ให้วงเงิน 5 เท่าของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท โดยในปีแรกธนาคารจะยกเว้นค่าธรรมเนียมกดเงินสด และค่าธรรมเนียมแรกเข้า และ 2.บัตร Prima Card สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 15,000 บาทขึ้นไป เป็นผู้มีรายได้หรือมีเงินเดือนประจำ ประกอบอาชีพอิสระ หรือเจ้าของกิจการ ให้วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 5 เท่าของรายได้รวมต่อเดือน วงเงินอนุมัติ 30,000-1,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.88%-1.12% ต่อเดือนพร้อมฟรีค่าธรรมเนียมกดเงินสด และค่าธรรมเนียมแรกเข้า

ทั้งสองบัตรใช้กดเงินสดได้จากตู้เอทีเอ็ม เมื่อมีการคืนหนี้ วงเงินกู้ก็จะกลับคืนไปอยู่ในบัญชี ในลักษณะที่ธนาคารพาณิชย์ หรือ Non-bank ให้กู้สินเชื่อบุคคลแบบ Revolving ซึ่งธนาคารออมสินได้ขออนุญาตกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย และได้รับอนุญาตจาก 2 หน่วยงานให้ดำเนินการได้ ซึ่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน คาดว่าจะมีลูกค้าใช้บริการรวมทั้งสองบัตรราว 80,000 คนภายในปี 2559

ส่วนการที่ ชาติชาย คิดค้นผลิตภัณฑ์การเงินดังกล่าวออกมา เนื่องจากสืบพบว่า บรรดาลูกหนี้นอกระบบทั้งหลายมักไปกู้เงินนอกระบบเพราะเกิดเรื่องฉุกเฉินแล้วหาแหล่งเงินกู้ในระบบไม่ได้ ดังนั้นบัตรสินเชื่อของธนาคารออมสินจึงเป็นทางออกของลูกหนี้นอกระบบที่เมื่อเกิดเรื่องฉุกเฉินจะได้ไม่ต้องไปใช้เงินกู้ดอกเบี้ยโหดอีกต่อไป

นอกจากนี้ ชาติชาย ยังดำเนินการให้ธนาคารออมสินเข้าแก้ไขปัญหาหนี้ครู โดยดำเนินการโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สอดรับกับที่กระรทวงการคลังและรัฐบาลมีนโยบายบรรเทาความเดือดร้อนและออกมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยให้ครูที่มีปัญหาหนี้สินเข้าร่วมโครงการด้วยความสมัครใจ โดยนำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว(เงิน ช.พ.ค.) มาค้ำประกัน โดยธนาคารคิดดอกเบี้ยเพียง 4% ต่ำกว่าเงินกู้เดิมที่คิดดอกเบี้ย 5.85-6.70% ซึ่งโครงการนี้จะช่วยครูได้ 289,000 ราย ลดภาระหนี้ได้เฉลี่ย 250,000 บาทต่อราย รวมเป็นเงิน 72,250 ล้านบาท และลดภาระผ่อนต่อเดือนลงได้ 1,200-2,400 บาท

ขณะที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายออกมารองรับสถานการณ์ด้วยมาตรการต่างๆ ในส่วนของผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้คิดวิธีให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุออกมาได้อีก โดยห้ดำเนินการเปิดให้บริการสินเชื่อ Reverse Mortgage (RM) หรือสินเชื่อสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป นำที่อยู่อาศัยที่ตนมีกรรมสิทธิ์และปลอดหนี้ นำมาเป็นรายได้ในการดำรงชีวิต เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อลูกหลาน ซึ่งรูปแบบและวิธีการปล่อยกู้สินเชื่อเป็นบริการรูปแบบใหม่ ไม่มีธนาคารพาณิชย์รายใดเปิดให้บริการมาก่อน ธนาคารออมสินจึงได้เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาความเหมาะสม และได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ

สำหรับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีหรือเอ็มอาร์อาร์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4-5% ต่อปี โดยจะปล่อยกู้ในสัดส่วน 70% ของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือ บ้านราคา 1 ล้านบาท ปล่อยกู้ไม่เกิน 700,000 บาท โดยรูปแบบการให้สินเชื่อ ซึ่งจะเหมือนกับธนาคารไปซื้อบ้านจากเจ้าของบ้าน แต่ธนาคารไม่ได้ไปอยู่อาศัย หากให้เจ้าของบ้านอาศัยอยู่ในบ้านต่อไป ดังนั้น ธนาคารจะจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่เจ้าของบ้านทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต และเมื่อเจ้าของบ้านเสียชีวิต ธนาคารจะเปิดโอกาสให้ทายาทซื้อคืนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าทายาทไม่สนใจที่จะซื้อคืนธนาคารจะนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาด หากมีเงินส่วนเกินจากที่ลูกค้ากู้จะคืนให้กับทายาท

ผลงานทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนของการสนองนโยบายรัฐก็ถือเป็นงานหนักอึ้งของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย และดูแล้วจะหนักกว่าผู้อำนวยการธนาคารออมสินยุคที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลภายใต้ คสช. ซึ่งเข้ามามุ่งแก้ไขปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำทางสังคมของประชาชน โดยเฉพาะท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ออกมาอย่างถี่ยิบ ซึ่งมาตรการมากมาย ทำให้ ชาติชาย ในฐานะผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ต้องรับภาระงานหนักมากกว่าใคร

กับงานสนองนโยบายรัฐที่หนักอึ้งแล้ว ในส่วนของธุรกิจปกติของธนาคารออมสิน ชาติชาย กลับยังสามารถทุ่มเทให้เกิดปรากฏการณ์แปลกใหม่ที่เป็นการพัฒนาธนาคารออมสิน และยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้า ตามที่ ชาติชาย กำหนดทิศทางการดำเนินงานในปี 2559 ภายใต้ยุทธศาสตร์ GSB New Era : Digital Transformation Banking “มุ่งพัฒนาสังคมไทยทุกระดับสู่ชีวิตดิจิทัล” ซึ่งมีการออกแอปพลิเคชั่น MyMo สำหรับโมบายล์แบงกิ้งในปีที่ผ่านมา และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นในปี 2559 จนทำให้โมบายล์แบงกิ้งในชื่อ MyMo ของออมสินมีบริการที่เหนือล้ำกว่าธนาคารพาณิชย์ในหลายๆ เรื่อง

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการให้ธนาคารออกบัตรเครดิตของธนาคารเองเป็นครั้งแรก โดยออกพร้อมกันทีเดียว 3 ประเภท ครอบคลุมลูกค้า 3 กลุ่ม แบ่งตามระดับรายได้

ขณะที่เพื่อให้ธนาคารออมสินเป็นองค์กรที่เป็นมาตรฐานสากลเหมือนสถาบันการเงินอื่นๆ ทั่วโลก ชาติชาย ได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเศรษฐกิจฐานราก และดำเนินการทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) จากการสอบถามความคิดเห็นของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่เคยมีสถาบันการเงินหรือองค์กรอื่นใดทำมาก่อน โดย ชาติชาย มีความเห็นว่า การจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ และจัดทำดัชนี GSI เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับภาครัฐที่มีนโยบายช่วยเหลือคนจน สามารถกำหนดทิศทางการช่วยเหลือได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

กิจกรรมหนักอีกอันหนึ่งที่มาตกในปีที่ธนาคารออมสินของไทยต้องรับดำเนินการ ส่งผลให้ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน มีงานเพิ่มขึ้นอีก คือ การรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสถาบันธนาคารออมสินโลก ประจำปี 2559 WSBI Annual Meetings 2016 : Banking in the 21st Century ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของสมาชิกสถาบันธนาคารออมสินโลกจาก 110 องค์กร 79 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม โดยธนาคารออมสินสามารถดำเนินการประชุมจนประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น

นอกจากนี้ในระหว่างเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ชาติชาย ยังออกมาตรการสินเชื่อที่เป็นของธนาคารออมสินเองด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อช่วยเหลือลูกค้าประชาชนผู้ประสบภัย โดยให้สิทธิ์กู้ครอบครัวละ 50,000 บาท ผ่อน 5 ปี ไม่คิดดอกเบี้ยปีแรก (0%) ปีที่ 2-5 คิดดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อเดือน ขณะเดียวกันให้ลูกค้าของธนาคารที่ประสบภัยน้ำท่วมพักหนี้เงินต้นได้ 3 ปี

จะเห็นได้ว่า ผลงานมากมายของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งไม่เพียงทำให้ธนาคารภายใต้การบริหารมีความเจริญก้าวหน้า หากยังมีบทบาทในการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนระดับฐานรากได้จำนวนมหาศาล เขาจึงเหมาะสมที่สุดแล้ว สำหรับรางวัลเกียรติยศ นักการธนาคารแห่งปี 2559 หรือ Banker of the year 2016

สำหรับรายละเอียดผลงานทั้งหมดของ ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศในครั้งนี้ ติดตามได้จากนิตยสารดอกเบี้ยที่กำลังจะออกวางจำหน่ายในเร็วๆ นี้

 

ขอบคุณรูปภาพจาก www.gsb.or.th

296 views
bottom of page