top of page
312345.jpg

โอกาสปรับลงหลังเลือกตั้งสหรัฐ


ใกล้ลงอีกครั้ง ! การเคลื่อนไหวของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกเริ่มที่จะสะท้อนความเสี่ยงบนความเป็นไปได้ของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 8 พ.ย.2559 มากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดดัชนีของตลาดหุ้นในกลุ่มที่เคยเป็นผู้นำ หรือกลุ่ม Winner ของตลาดหุ้นโลกตั้งแต่ต้นปี 2559 อย่างสหรัฐ และอาเซียนได้กลับมาแกว่งตัวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วันแล้ว และกำลังต้องลุ้นว่าจะหลุดเส้นค่าเฉลี่ยสำคัญอย่าง EMA 200 วันหรือไม่ ตรงข้ามกันกับดัชนีของตลาดหุ้นในกลุ่มที่เคยเป็นผู้แพ้ หรือกลุ่ม Loser ของตลาดหุ้นโลกอย่างยุโรป, ญี่ปุ่น และจีนได้กลับมาแกว่งตัวเหนือกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันแล้ว

สะท้อนให้เห็นว่าเม็ดเงินในตลาดหุ้นโลกได้มีการโยกไปยังตลาดที่มีรับ Potential Downside Risk ต่ำกว่าในระยะสั้นๆแล้ว หลังจากการผ่านการดีเบทของผู้สมัครประธานธิบดีสหรัฐรอบสุดท้ายไปแล้ว พบว่าล่าสุดผลโพลสรุปจาก Huffington Post ระบุว่ายังคงระบุว่านางฮิลลารี คลินตันตัวแทนจากพรรคเดโมเครตยังคงมีความนิยมเหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ตัวแทนจากพรรครีพับลิกันอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 49% ต่อ 41% ขณะที่สถิติของตลาดหุ้นสหรัฐหลังจากที่พรรคเดโมเครตได้รับชัยชนะในปี 2008 และ 2012 ระบุชัดเจนว่าหลังการเลือกตั้งตลาดหุ้นสหรัฐจะตอบสนองในด้านลบอย่างมาก โดยที่หลังการเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ และ 3 เดือนตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวลงเฉลี่ยถึง 6.7% และ 6.3% ตามลำดับ

ในขณะที่อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกตั้งสหรัฐ และนโยบายดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งเมื่อไปดูสถิติที่ผ่านมาจะพบว่า จากการเลือกตั้งทั้งหมด 15 ครั้งหลังสุด พบว่ามีการปรับดอกเบี้ยทั้งขึ้นและลงหลังเลือกตั้งภายใน 1 เดือนทั้งหมด 12 ครั้ง จาก 15 ครั้ง หรือคิดเป็น 80% ของการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งนี้ความกังวลจากโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่ามีสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 23.7% ลดลง 1.7% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ยังคงเดินหน้าลดลงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนสหรัฐที่ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับสู่แนวโน้มขาลง หรือ Bearish ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 37.8% หรือเพิ่มขึ้น 4.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า

ดังนั้นในเชิงของแนวโน้มแม้ว่าการที่ล่าสุด SET ดีดตัวขึ้นมาชัดเจนหลังจากลงไปทดสอบแนวรับสำคัญในรายปี หรือ Yearly ที่นายหมูบินให้ไว้บริเวณ Fib node 1.618 หรือ 1,350 จุด อย่างไรก็ดีนายหมูบินมองยังมองว่าการพักตัวในระยะสั้นๆตามปัจจัยฤดูกาล หรือ Seasonality ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2559 ของ SET ยังคงสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถปิดเหนือ 1,510 จุดอีกครั้งในเดือน ต.ค.2559 หรือ 1,560 จุดก่อนการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐวันที่ 8 พ.ย.2559

ค่าเงินเอเชียอ่อนค่า และต่างชาติอาจขายต่อไป ! มุมมองต่อความเสี่ยงบนการลงทุนในภูมิภาคเอเชียในช่วงที่เหลือของปี 2559 สะท้อนออกมาชัดเจนจากทิศทางของกระแสเงิน และค่าเงินในภูมิภาค สำหรับด้านของค่าเงินในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar index ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน และยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนการประชุมในเดือน ธ.ค.2559 สวนทางกับดัชนี JP Morgan Asia Dollar Index ที่เริ่มอ่อนค่าลง

ขณะที่ในด้านของทิศทางเงินทุน ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมีเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้น และพันธบัตรเอเชียอย่างต่อเนื่อง โดยที่มีเพียงเกาหลีใต้ประเทศเดียวที่ยังคงมีเงินทุนไหลเข้าทั้ง 2 ตลาด ในขณะที่กลุ่มประเทศ ASEAN รวมทั้งไทยด้วยยังคงมีกระแสเงินทุนไหลออกทั้งสองตลาด ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มธนาคารที่มีการประกาศผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่คาดอย่าง KBANK นั้นยังคงถูกนักลงทุนต่างชาติขายผ่าน NVDR ออกมามากที่สุดราว 2.0 พันล้านบาท ตามมาห่างๆด้วย PTTGC, BANPU, AOT และ TCAP ในขณะที่หุ้นในกลุ่มสื่อสารนั้นเริ่มมีแรงซื้อกลับ หลังจากที่อาทิตย์ก่อนหน้านั้นถูกต่างชาติขายลดพอร์ทลงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีหุ้นในกลุ่มที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิผ่าน NVRD มากที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้แก่ BBL ที่ราว 960 ล้านบาท ตามมาด้วย SCC, CPF, PTTEP และ LH ตามลำดับ

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาหากหุ้นตัวไหนมีผลประกอบการออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดค่อนข้างมาก หุ้นดังกล่าวพร้อมที่จะถูกเทขายออกมาตลอดเวลาโดยไม่มีแรงซื้อกลับ ดังนั้นบนทิศทางของกระแสเงิน และค่าเงินในภูมิภาคดังกล่าว ทำให้นายหมูบินยังคงมองว่าการไปต่อของ SET เหนือ 1,510 หรือ 1,560 จุดในช่วงที่เหลือของปี 2559 โดยการคาดหวังว่าจะเห็นการเข้าซื้อต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักมีความเป็นไปได้น้อยมากแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในทางเทคนิคนายหมูบินพบว่าการที่ Indicator สำคัญอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงอยู่ในภาวะ Negitive Divergance กับดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow อย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน และกำลังปรับตัวลงต่ำกว่า Zero Line ด้วย สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้ามีสูงมาก ซึ่งจะสอดคล้องกับปัจจัยเชิงฤดูกาล (Seasonality) ของตลาดหุ้นเอเชีย และไทยที่สถิติในช่วง 3 ปีก่อนหน้า (2556-2558) ระบุว่าในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ถือว่าเป็นปีที่ไม่ดีเลยของตลาดหุ้นเอเชีย และไทย โดยที่ในช่วงเวลาดังกล่าวตลาดหุ้นเอเชีย และไทยปรับตัวลงทุกปีในเดือน ธ.ค. หรือมี Winner Percentage ที่ 0% บนอัตราผลตอบแทนเฉลี่ย -1.0% และ -1.4% ตามลำดับสำหรับตลาดหุ้นเอเชีย และเฉลี่ย -2.3% และ -5.5% ตามลำดับสำหรับตลาดหุ้นไทย

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังกลับไปปิดเหนือ 1,510 (+/-5) จุดไม่ได้ แนะนำ “ถือเงินสด” อีกครั้ง หรือ “Wait and See” ไปรอ “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” ในกรอบ 1,410 (+/-5) จุด ในหุ้น PTT, PTTGC, TOP, BDMS, ROBINS, MINT, CPN, AAV, AOT, CK, SCB และ KBANK สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/moobin.stockmania และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

0 views
bottom of page