top of page
347550.jpg

กุมภาพันธ์ต้องขยับปรับพอร์ต...กระทิงหายเหนื่อย พร้อมวิ่งทะยานต่อ


อิสระ อรดีดลเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ ให้ความเห็นแนวโน้มหุ้นไทยหลัง ดัชนีดาวโจนส์ อเมริกาตกฮวบ ระบุ กระทิงไม่ได้สะดุดล้มแต่แค่พักเหนื่อย รอจังหวะวิ่งต่อ

เกิดหุ้นตกหนักในสหรัฐอเมริกา มองอย่างไร จะมีผลอย่างไร

เป็นเรื่องของการประมวลผลของนักลงทุนว่า ปีนี้ดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาจะขึ้น 3 ครั้ง แต่ทำไปทำมาด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแรง หรือตัวเลขที่เกี่ยวเนื่องชี้นำเงินเฟ้อเริ่มเร่งตัวขึ้นมา อาจทำให้มีการประมวลผลกันใหม่ มันเกิดขึ้นพร้อมกันกับตลาดที่ร้อนแรงทั่วโลกมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้นักลงทุนบางส่วนที่มีกำไรมากมายจากหุ้นขึ้นนี้ ถือโอกาสทำกำไรในส่วนนั้น

แต่เราต้องทำความเข้าใจก่อน หากนำเอาอดีตมาเป็นตัวอย่าง ในช่วงที่ดอกเบี้ยนิ่งมาแล้วกำลังจะปรับตัวขึ้น ตลาดก็จะทำ Re-Action คล้ายกันว่า ในช่วงต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยหรือการปรับขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ ก็จะมีการขายออกมาแบบนี้ แต่หากปล่อยไปในระยะปานกลาง 3 เดือน ตลาดเริ่มปรับตัวและเริ่มปรับตัวขึ้นได้อีกตามทิศทางของดอกเบี้ยในระยะยาว

อย่างในสหรัฐอเมริกาที่เกิดขึ้นก็เป็นภาพแบบนี้ที่กำลังจะมีการประมวลผลใหม่ เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นนอกจากหุ้นที่ลงแล้ว ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปีมีการเร่งตัวขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านี้ นักลงทุนบางส่วนไม่ได้ระวังตัวว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ประมาณ 2.5-2.6% ภายในไม่กี่วันเร่งตัวขึ้นมาเป็นกว่า 2.8% ก็เป็นภาพสะท้อนอย่างหนึ่งว่าดอกเบี้ยอาจจะมีการเร่งตัวขึ้นมามากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้นับเป็นการปรับตัวระยะสั้น

คือมองว่าเป็นตลาดกระทิงที่วิ่งมานานพอสมควร คิดว่ากระทิงตัวนี้ไม่ล้มง่ายๆ

ยังไม่ล้ม เพราะเรื่องอัตราดอกเบี้ยมีเครื่องมือในการจับว่า จากกระทิงจะกลายเป็นพีคเมื่อไหร่

คือ ปกติเราดู GDP ลบด้วยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี หากลบกันแล้วค่าออกมาเป็นศูนย์หรือติดลบเมื่อไหร่ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า...ตลาดกระทิงใกล้จบแล้ว ... แปลว่าต้นทุนทางการเงินเร่งตัวขึ้นมาจนเกือบจะเท่ากันกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ก็เป็นการจบ Cycle แล้วค่อยเริ่มกันใหม่

มองเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในปีนี้ เป็นอย่างไร

คิดว่าเข้มแข็ง และอีกเรื่องที่เป็นจุดเด่นของเมืองไทยในรอบนี้ คือ เครื่องจักรทางเศรษฐกิจปรับตัวหรือเร่งตัวพร้อมกัน

หากจำได้เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่เคยมีเครื่องจักรทางเศรษฐกิจปรับตัวหรือเร่งตัวพร้อมกัน งวดนี้เห็นการขยันทำงานของเครื่องจักรทุกเครื่อง อย่างการบริโภคในประเทศ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การส่งออกที่แข็งแรงดี ทุกเครื่องติดหมดแม้ติดแรงไม่เท่ากันไม่เป็นไร แต่ถ้าทุกเครื่องติดหมดค่อนข้างจะสมดุล ในภาวะเงินเฟ้อไม่มากแบบนี้คิดว่าไทยอยู่ในจุดที่สมดุลที่สุดแล้ว หมายถึง สามารถเร่งตัวได้ ต้นทุนทางการเงินไม่สูง ปีนี้คิดว่าการเติบโตของ GDP ไม่น่าต่ำกว่า 4%

ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อน และค่าเงินบาทแข็ง จะมีผลอะไรไหม

มีผลกับบางกลุ่ม ต้องเข้าใจว่าดอลลาร์ที่อ่อนลงมา ตอนนี้เป็นโมเมนตั้มในการเทขายดอลลาร์ บางส่วนเป็นการเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมาด้วย

ส่วนประเทศไทยที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมา ประกอบด้วย 2 ประเด็น คือ ค่าเงินดอลลาร์อ่อน และ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในเรื่องของบัญชีเงินสะพัดที่แข็งแรงมากและมีเรื่องค่าเงินบ้างเล็กน้อย ถ้าเชิงในการมองของหุ้นจะต้องระวังหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับการส่งออก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร อาจจะหลีกเลี่ยงระวังตัว แต่ในเชิงภาครวมเศรษฐกิจยังไม่กระทบรุนแรงจากค่าเงินบาทขนาดที่รับมือไม่ได้ และทางแบงก์ชาติก็ดูแลค่อนข้างดี ต้องยอมรับว่าไม่มีแบงก์ชาติไหนลดค่าเงิน เพียงแต่สิ่งที่ทำต้องปรับแก้ไขแบบนุ่มนวลให้ผู้ส่งออกและนำเข้าพอจะมองทิศทางออกจนไม่ผันผวนเกินไป

ที่ตลาดสหรัฐอเมริกากังวลเรื่องดอกเบี้ยว่าอาจจะขึ้นเร็วเพราะเงินเฟ้อ แล้วของไทยจะให้น้ำหนักเรื่องดอกเบี้ยอย่างไร

แบ่งเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ คิดว่าดูจากค่าเงินเฟ้อไม่ได้แย่ แต่การเร่งตัวยังไม่เห็นสัญญาณมากเท่าไหร่ การฟื้นตัวเป็นการปรับค่าขึ้นแต่ไม่ร้อนแรงมาก เรื่องสำคัญ คือ เรื่องค่าเงินที่ยังแข็งค่า คิดว่าแบงก์ชาติคงยังไม่ส่งสัญญาณหรือไม่มีการปรับดอกเบี้ยภายในปีนี้ ยกเว้นน้ำมันเร่งแรงมากแล้วเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาจนตกใจ ก็น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

...แต่ถ้ายังเป็นแบบนี้คิดว่าปีนี้ดอกเบี้ยนโยบายคงไม่มีการปรับ ส่วนที่จะมีการปรับแน่นอน คือ ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเริ่มจะเห็นว่าดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เริ่มขยับตามดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกา

จึงน่าจะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ นโยบายดอกเบี้ยไม่ปรับ ส่วนดอกเบี้ยพันธบัตรปรับแน่นอน

ปัจจัยอื่น เช่น ปัจจัยการเมือง เลื่อนเลือกตั้งออกไป มีผลต่อตลาดหุ้นมากหรือไม่

เรื่องนี้ตลาดรับรู้ไปแล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และในช่วงนี้มีโครงการเศรษฐกิจที่ช่วยในเรื่องของปากท้องประชาชน เรื่องทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตแบบน่าพอใจ คิดว่าคงไม่เป็นประเด็นสำหรับตลาดหรือนักลงทุน คิดว่าตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจ คือ ทิศทางและมาตรการต่างๆ ที่อยากทำในตอนนี้ที่เป็นเรือธงหลักของไทย การผ่าน พ.ร.บ. EEC ที่เฝ้ารอใกล้ที่จะคลอด ซึ่งสิ่งที่นักลงทุนจับตามองต่อจากนั้น คือ เรื่องเม็ดเงินที่นักลงทุนหวังไว้ว่าจะมีบริษัทต่างชาติมา จะเห็นเม็ดเงินหรือไม่ แล้วจะเห็นเม็ดเงินเมื่อไหร่ ก็เป็นสิ่งที่ไทยเฝ้ารอกัน

ค่าจ้างขั้นต่ำที่ขึ้นมา 5-22 บาท จะมีผลต่อการประกอบการไหม

คิดว่าอยู่ในวิสัยที่ดูแลได้ ไม่ได้มีผลในองค์รวมเท่าไหร่ เพราะในหลายพื้นที่เป็นค่าแรงที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว หากดูจากแรงงานที่ฟื้นตัว รายได้ของผู้ประกอบการที่ผ่านมาถือว่าในภาพรวมดีขึ้น คิดว่าต้นทุนในส่วนนี้น่าจะอยู่ในภาวะที่รับได้ ส่วนอีกเรื่องนอกจากต้นทุนค่าแรงแล้วก็จะมีเรื่องวัตถุดิบหรือองค์ประกอบต่างๆในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้มีการปรับขึ้นมาก จะเห็นได้ว่าดัชนีราคาของผู้ผลิตไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ในส่วนนี้คิดว่าไม่กระทบ

หลายโบรกเกอร์บอกว่า ปี 2561 นี้จะเห็นดัชนีหุ้น 1,900 – 2,000 ส่วนของบล.ไทยพาณิชย์ มองอย่างไร กล้าฟันธงไหม

ในมุมมองของ บล.ไทยพาณิชย์ มองตลาดไว้ที่ 1,900 จุด ถือว่าไม่ไกลจากจุดตรงนี้

1,900 จุดได้มาอย่างไร...ก็มองจากตัวผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโตประมาณ 8% ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ไม่ได้ยาก เพราะหากกลับไปมองในอดีตผลประกอบการโตประมาณ 2 เท่าของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หากมองในปีนี้เศรษฐกิจจริงสมมุติว่าโต 4% หากบวกเงินเฟ้อประมาณ 1.5% คูณด้วย 2 คิดว่า Earning ควรจะโต 10-11% แต่การมองว่าโต 8-9% อยู่ในวิสัยที่ไม่ยากในปีนี้ เพียงแต่ว่าตลาดร้อนแรงมากในช่วงที่ผ่านมา อยากจะเตือนนักลงทุนว่าหุ้นที่อยู่ในมือกลุ่มไหนที่มีกำไรมากแล้ว คิดว่าควรขายทำกำไรและรอซื้อใน Sector อื่นในราคาที่ไม่ดุเดือด นับว่าเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่น่าจะป้องกันได้เหมือนกัน

ปี 2561 คิดว่าหุ้นกลุ่มไหนมาแรง น่าซื้อ

คิดว่าสถานการณ์เริ่มจะเปลี่ยน คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ หากมองถึงเรื่องการรีพอร์ตรายได้ต่างๆล่าสุดอาจจะยังไม่น่าพอใจ อาจจะเป็นเรื่องของการกันเงินสำรองหนี้จะสูญไว้เยอะ เป็นการกันเพื่อความมั่นคง แต่ถ้ามองในอนาคตจะมีองค์ประกอบ 2 ส่วนที่ซัพพอร์ตธนาคารพาณิชย์ คือ การปล่อยสินเชื่อที่เริ่มเร่งตัวขึ้นมาตามเศรษฐกิจ ส่วนที่ 2 คือ คุณภาพสินทรัพย์อย่าง NPL ที่ค่อยปรับดีขึ้น จะเห็นได้ว่า NPL ใหม่เริ่มลดลงในหลายธนาคารพาณิชย์และราคาหุ้นไม่ได้ดุเดือดมาก น่าจะเป็นจุดที่ลงทุนได้และเป็นการลงทุนระยะกลางและระยะยาว

อีกกลุ่มก็เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจไทย คือ นิคมอุตสาหกรรม ในช่วงที่ผ่านมาราคาย่อลงมาจากการแข่งขันเพิ่มเติมจากบางกลุ่ม นับว่าเป็นโอกาสที่กลับเข้าไปลงทุนสำหรับนักลงทุนที่พลาดโอกาสในครั้งที่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่อง EEC คงจะเห็นในเรื่องของความต้องการในการใช้ที่ดินในการลงทุนเพิ่มเติมขึ้นในพื้นที่ แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นอกเหนือจากนี้ในช่วงสั้นคงเป็นราคาน้ำมันที่สูงขึ้น มีผลต่อกลุ่มพลังงาน แต่กลุ่มนี้ต้องระวังเพราะราคาน้ำมันขึ้นมาค้างอยู่ประมาณ 69-70 เหรียญมาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้ยังพอลงทุนได้ไม่ว่าจะเป็นโรงกลั่นหรือกลุ่มพลังงาน น่าจะรอหน่อยว่า หากมีข่าวเรื่องซัปพลายใหม่จากเชลล์ว่ามีปริมาณหัวขุดเจาะเร่งตัวขึ้นมาเมื่อไหร่ อาจจะต้องมีการปรับพอร์ตออกจากกลุ่มพลังงานโรงกลั่นในช่วงระยะสั้น แล้วรอดูสถานการณ์ว่าราคาน้ำมันจะยืนได้หรือไม่ เพราะตอนนี้ดูยากมีเรื่องดีมานด์ที่แข็งแรงในการซัพพอร์ตราคาน้ำมัน แต่ต้องไม่ลืมว่าในช่วงไซเคิลเล็กแต่ละครั้งจะมีเรื่องของเชลล์ออยล์หรือเชลล์แก๊สเข้ามาเมื่อไหร่ราคาจะยืนไม่ไหว ตอนนี้คงไม่มีใครทราบแน่นอนว่าเชลล์ออยล์จะมีผลขนาดไหน แต่ว่าเอานักลงทุนปลอดภัยไว้ก่อน หากมีข่าวเข้ามาแล้วหลบก่อนแล้วรอดูราคาน้ำมันสามารถยืนได้ด้วยดีมานด์ ซัปพลายไม่ขึ้นมาแรงมาก็กลับไปลงทุนได้

ในขณะที่หุ้นขึ้น แต่นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิทั้งเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตามสถิติเมื่อเข้าเดือนกุมภาพันธ์ จะเป็นเดือนที่หุ้นตกหรือไม่ หรือนักลงทุนต่างชาติจะขายต่อหรือกลับเข้ามาใหม่

ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ทิศทางตลาดหุ้นเดือนกุมภาพันธ์มีโอกาสที่จะมีเรื่องการปรับฐานเหมือนกัน เพราะตลาดปรับขึ้นมาเยอะ และถ้าตอนนี้มองที่ Forward P/E เฉลี่ย 3 ปีขึ้นมาชนในจุดที่สูงมาแล้ว เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่จะขายออกมาทำกำไร แต่งวดนี้ด้วยพื้นฐานของไทยแข็งแรงและสภาพคล่องล้นระบบ คิดว่าการปรับฐานคงไม่ได้ลึกมากและสามารถปรับขึ้นต่อได้ แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ต้องระวังสำหรับนักลงทุนที่มีพอร์ตเยอะมาก จึงอยากเตือนว่าควรที่จะขายทำกำไรบางส่วนก่อน อาจจะรอจังหวะย่อหรือเข้าไปซื้อใน Sector อื่น ถือว่าเป็นกลยุทธ์ในการลงทุนในตลาดเดือนกุมภาพันธ์

ส่วนเรื่องนักลงทุนต่างชาติคิดว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการเปลี่ยน เพราะตลาดไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักลงทุนต่างชาติซื้อหรือขายแล้ว ในช่วงหลายปีก่อนจะบอกว่านักลงทุนต่างชาติมีอิทธิพล เวลาซื้อหุ้นขึ้น ถ้านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นลง.. แต่ตอนนี้ไม่ใช่เพราะไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินเยอะ และนักลงทุนไทยอย่างรายย่อยหรือนักลงทุนสถาบันมีจำนวนมากในตลาด เพราะฉะนั้นตัวกำหนดในตลาดไทยกลายเป็นนักลงทุนสถาบัน

หากมองในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิมาตลอด เพียงแต่ว่าตลาดไทยขึ้นมานิวไฮได้เป็นเพราะพวกเราเองที่ลงทุน ถ้าความมั่นใจของนักลงทุนไทยเข้มแข็งหรือจับตลาดไทยคิดว่าหุ้นขึ้นต่อได้ ตอนนี้ไทยมองนักลงทุนต่างชาติมีอิทธิพลต่อตลาดรองลงมา

นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ แต่ถึงจุดหนึ่งนักลงทุนต่างชาติก็ต้องมองตลาดไทย เพราะที่ผ่านมาอาจจะมีปัจจัยบางเรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ ความชัดเจนทางเศรษฐกิจไทยมีหรือไม่ ต้องยอมรับว่าไทยเริ่มฟื้นตัวทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มสบายใจ ความนิ่งของการเมืองไทยก็เริ่มนิ่งมาระดับหนึ่ง ก็ต้องเฝ้ารอในเรื่องของการเลือกตั้ง คิดว่าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนว่านักลงทุนต่างชาติไม่มองไทยไม่ได้แน่นอน

ตอนนี้ไทยหุ้นนิวไฮที่ 1,800 จุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านถือว่ายังไม่แพง เมื่อเทียบกับ Out Index หารกับ MSCI หรือนำเอา Forward P/E ไทยไปหารกับเพื่อนบ้านก็ยังไม่แพง คิดว่าสุดท้ายนักลงทุนต่างชาติลืมไทยไม่ได้ ก็จะมีเม็ดเงินบางส่วนแม้ไม่ได้มาก แต่ในปี 2 ปีนี้น่าจะเริ่มทยอยเข้ามาไทยตามพื้นฐานที่เริ่มปรับดี

ขึ้น

48 views
bottom of page