top of page
312345.jpg

สับขาโค้งสุดท้าย...ลุ้นเงินไหลเข้าหุ้นไทย


ฝ่ายวิจัย ASP เติมพลังบวกให้นักลงทุนในตลาดหุ้น 2 เดือนสุดท้ายของปีมีความหวังว่าเม็ดเงินกลับทิศไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ขณะที่กูรูทิสโก้ ชี้ ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นจากวันนี้ไปจนถึงไตรมาส 1/2563 รับผลบวกจากสภาพคล่องทั้งในและต่างประเทศไหลเข้า ส่วน บล.ไอร่า ประเมินเดือนพฤศจิกายนมีสัญญาณฟื้นตัว...แต่ต้องระวังแรงขายกลางเดือน

เข้าเดือนพฤศจิกายน ตลาดหุ้นไทยที่ทำท่าจะแย่ป้อแป้หนักโงหัวกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดได้ ทำให้นักวิเคราะห์เริ่มให้ความคิดเห็นเชิงบวกมากขึ้น นับจากที่มีข่าวที่เป็นบวกเข้ามาเสริม ทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนคืบหน้า ใกล้จะสรุปผลข้อตกลงระยะแรก (Phase 1) หลังการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างผู้แทนการค้าสหรัฐและกระทรวงพาณิชย์จีนในวันศุกร์ที่ 1 พ.ย. 62 ประธานาธิบดีของสหรัฐเสนอให้มีการลงนามข้อตกลงทางการค้า Phase 1 กับประธานาธิบดีของจีน ที่รัฐไอโอวาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการสนับสนุนภาคการเกษตร ซึ่งรัฐไอโอวาเป็นฐานเสียงสำคัญสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัทป์, ข่าวรัฐมนตรีพลังงานรัสเซียแถลงจะยังคงให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกลุ่ม OPEC โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย และผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC เพื่อสร้างเสถียรภาพในตลาดน้ำมัน, ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปแถลงสหภาพยุโรป (EU) มีมติขยายกำหนดวันที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ไปจนถึงวันที่ 31 มกราคม 2563, เฟดปรับอัตราดอกเบี้ยลดลง 0.25% มาอยู่ในช่วง 1.50-1.75% เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ มีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และบรรลุเป้าหมายตามคาดการณ์ และล่าสุด กนง.ไทยลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายปลายปีเสริมมาตรการอัดฉีดเงินใส่มือประชาชนของรัฐบาล

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส หรือ ASP ประเมินสถานการณ์ว่า เมื่อเข้าเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของ 2 เดือนที่เหลือนี้ มีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วย 2 เหตุผล คือ

1. กนง. ประชุมรอบที่ 7 จาก 8 รอบ โดย กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาที่ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งคิดเป็น 68% ของ GDP หดตัวเฉลี่ย 2.2% นับตั้งแต่ต้นปีมา การลงทุนเอกชน สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนก.ย. ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 64.5% ชะลอจากเดือนส.ค.ที่ 66.5% และเห็นได้จากการลงทุนในเครื่องจักรหดตัว ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน คิดเป็น 50% ของ GDP ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่มาเร็วกว่าคาด มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงปลายปี กระทบกำลังซื้อ ของประชาชน เงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือน ต.ค.ขยายตัว 0.11% ชะลอจาก 0.32% ในเดือนก.ย. ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) หรือส่วนต่างระหว่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% กว้างขึ้นเป็น 1.39% เป็นช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยลงได้

ขณะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ล่าสุดแกว่งที่ระดับ 30.15 บาท/ดอลลาร์ จากต้นปี เฉลี่ยราว 32.2 บาท ถือว่าแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค เช่น เงินรูเปียห์อินโดนีเซียแข็งค่า 3%, เงินเปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 2.5% ขณะที่เงินริงกิตมาเลเซีย และเงินรูปีอินเดียอ่อนค่า เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค่าส่งออกไทยแพงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและกระทบต่อรายรับของผู้ส่งออก

ดังนั้นเมื่อ กนง.ลดดอกเบี้ย จะทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% โดยปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.85% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตราสารหนี้เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น

2. การที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนผ่อนคลายโดยมีความคืบหน้าเซ็นสัญญาเฟส 1 และอาจพิจารณายกเลิกภาษีรอบ 4.1 มูลค่า 1.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนให้ Dow Jones ปรับขึ้นทำ All Time High รวมถึงหากไปดู Bond Yield 10 ปี สหรัฐขยับขึ้นมาที่ 1.78%

แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัย มาสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เนื่องจากยังมี Upside เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามากกว่าตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น หุ้นไทยปัจจุบันดัชนียังต่ำจากจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี ถึง 7.20% ถือว่ายัง Laggard ตลาดหุ้นสหรัฐที่ทำ All Time High

รวมถึงตลาดหุ้นเยอรมัน อินเดีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่ทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีไปแล้วทั้งสิ้น และแม้ว่าเดือน พ.ย. 62 จะมีประเด็นกดดันจาก MSCI ที่ประกาศเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market ในรอบนี้ คาดว่าจะกดดันหุ้นไทยมีโอกาสถูกเบียดให้มีสัดส่วนลดลง และ Fund Flow อาจชะลอการไหลเข้าเหมือนอดีต

แต่การปรับตัวขึ้นของดัชนีจากสภาพคล่องส่วนเกิน ยังสามารถคาดหวังแรงขับเคลื่อนจากสถาบันในประเทศได้ เพราะมักมีแรงซื้อ LTF กระจุกตัวช่วงที่เหลือของปี สะท้อนจากสถิติในอดีตเดือนพฤศจิกายนมีแรงซื้อ LTF สัดส่วน 12.3% ของแรงซื้อทั้งปี และมากสุดในเดือน ธ.ค. 45.1% ของทั้งปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวม 2 เดือนราว 3.1 หมื่นล้านบาท คอยหนุนตลาดช่วงที่เหลือของปีได้

ด้าน บล.ทิสโก้ โดยนายวิวัฒน์ เตชะพูลผล รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิคกล่าวว่าในช่วงที่เหลือของปี 2562 บล.ทิสโก้ ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อดัชนีหุ้นไทย แม้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดในภูมิภาค และทำให้ในเชิงเทคนิค บล.ทิสโก้ปรับเป้าหมายดัชนีสิ้นปีลงมาอยู่ที่ 1,680 จุด และให้เป้าหมายดัชนีไตรมาส 1/2563 ที่ 1,720 จุด ขณะที่ในเชิงพื้นฐานหากไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ดัชนีหุ้นไทยยังไม่ฟื้นตัวตามที่คาดการณ์ไว้ มองว่าโอกาสปรับตัวลดลงของดัชนี (Downside) น่าจะจำกัดอยู่ที่บริเวณ 1,580 จุดเท่านั้น

“สาเหตุที่ยังมองว่าหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้และมีโอกาสปรับลดลงได้จำกัด เป็นเพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาพคล่องทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยปัจจัยในประเทศคาดว่าจะมีเม็ดเงินจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ไหลเข้ามาประมาณ 4-4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่สภาพคล่องจากต่างประเทศจะมาจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารทั่วโลก ผ่านการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการลดอัตราดอกเบี้ย”

นอกจากนี้ บล.ทิสโก้ยังคาดว่าในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ขึ้น หลังจากที่ได้รับการปรับแนวโน้มขึ้นไปแล้วหนึ่งครั้งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลบวกต่อกระแสเงินทุนไหลเข้าได้ในอนาคต ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนอาศัยช่วงที่ดัชนีหุ้นไทยย่อตัวทยอยเข้าลงทุนเป็นรอบ โดยอาจถือเพื่อไปขายทำกำไรในช่วงปลายปี 2562 หรือขายทำกำไรอีกครั้งในช่วงปลายไตรมาสที่ 1/2563

“จากสถิติตั้งแต่ปี 2553-2562 พบว่า ในทุกปีหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกเฉลี่ยที่ 6.2% หรือเพิ่มขึ้นจากดัชนีปิดปีประมาณ 90 จุด ปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ของทุกปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า และไตรมาสนี้เองนักลงทุนมักจะเข้าซื้อหุ้นเพื่อรอการจ่ายปันผล ดังนั้น จึงมองว่าในจังหวะที่ตลาดหุ้นย่อตัวจะเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะเข้าซื้อหุ้นและรอขายทำกำไรเป็นรอบ”

สำหรับหุ้นแนะนำจนถึงปลายปีนี้แบ่งออกเป็น 3 ธีม คือ 1. หุ้นพื้นฐานดี ราคาปรับลงมามาก และในเชิงเทคนิคเริ่มยืนได้ คือ SCB, KKP, QH, และ SPALI 2. หุ้นเด่นรับมาตรการกระตุ้นภาครัฐ และคาดว่าเงิน LTF และ RMF จะไหลเข้า คือ AOT, AMATA, WHA และ BEM 3. หุ้นที่คาดว่ากำไรไตรมาส 4/2562 ออกมาดี คือ CPALL, BJC, BDMS และ JWD

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ไอร่า หรือ AIRA ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทย ในช่วงเดือนพฤศจิกายนว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยบวกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนส่งสัญญาณดีขึ้น อีกทั้ง กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยลง จะทำให้ Sentiment บวกต่อภาพรวมตลาด รวมถึงกลุ่มอสังหาฯ จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยลดลง แต่อาจกดดันหุ้นกลุ่มธนาคาร จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย แต่เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง คาดช่วยกระตุ้น GDP ในไตรมาส 4/2562 ประมาณ 0.2-0.3% ประกอบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสเติบโตตามเป้าหมายปี 2562 ที่ 40-41 ล้านคน

อย่างไรก็ตามยังคงต้องจับตาแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง แบงก์ชาติคาด GDP ไตรมาส 3/2562 ต่ำกว่า 2.9% เงินบาทที่แข็งค่า ที่สำคัญคือ ระวัง! แรงขายทำกำไรหลังหมดช่วงประกาศงบ ประมาณกลางพฤศจิกายนนี้ด้วย โดยให้กรอบดัชนีที่ 1,580-1,650 จุด

ทั้งนี้ไอร่าแนะนำกลยุทธ์การลงทุน 1. ในกลุ่ม Global P1lay เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงาน ภายใต้ Sentiment บวกจากประเด็นสงครามการค้า อย่างไรก็ตามยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง

2. หุ้นกลุ่มธนาคาร จากราคาที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และซื้อขายต่ำกว่า BV พร้อมกับความน่าสนใจจากเงินปันผล อย่างไรก็ตามมีความเสี่ยงจากผลประกอบการในปี 2563 ที่มีแนวโน้มทรงตัว / ลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจ และความกังวลตัวเลข NPL

3. กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นต่อเนื่องของภาครัฐ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มค้าปลีก เป็นต้น

และ 4. กลุ่มที่อยู่อาศัย จากการลดค่าธรรมเนียมโอนและจำนอง ลงเหลือ 0.01% สำหรับราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3.0 ล้านบาท คาดช่วยกระตุ้นยอดขายและโอน ดังนั้นจึงคาดหุ้นเด่นประจำเดือนพฤศจิกายน ประกอบด้วย AOT, AP, CPF, IVL, KTB และ UNIQ

7 views
bottom of page