มองไปข้างหน้า: ประเทศกำลังพัฒนา หลังการเลือกตั้ง
November 19, 2016

ผมว่าปี 2560 ที่กำลังจะมาถึงในอีกประมาณเดือนครึ่งนั้น น่าจะเป็นปีที่ท้าทายความอยู่รอดของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง
เพราะจะเป็นปีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ ที่อาศัยรายได้จากการส่งออกเป็นรายได้หลักในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จะถูกบีบรัดจากสถานะทางเศรษฐกิจและการเมืองจากประเทศมหาอำนาจที่เป็นตลาดรองรับสินค้าส่งออกของประเทศเล็กๆ เหล่านั้น
อย่างในอเมริกา ไม่ว่าฮิลลารี่หรือทรัมป์จะได้รับเลือกตั้งขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี นโยบายใหม่ของรัฐบาลอเมริกันคงออกมาในแนวที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศก่อนเหมือนกัน แม้ว่าวิธีการที่จะนำมาใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์จะต่างกัน
ประเด็นคือสหรัฐจะพยายามผลักดันให้ทุนสหรัฐกลับสู่ประเทศเพื่อสร้างงานให้คนอเมริกัน ปรับปรุงเงื่อนไขสนธิสัญญาต่างๆ ทั้งในระบบทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อให้อเมริกาได้รับประโยชน์ยิ่งขึ้น อาจมีการใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าทั้งโดยระบบการคิดภาษีนำเข้าและการใช้มาตรการกีดกันทางอ้อม เช่น การตรวจสอบแหล่งผลิตที่มาของสินค้าและกระบวนการผลิตว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่สหรัฐกำหนดหรือไม่ สหรัฐอาจออกมาตรการลงโทษประเทศอื่นที่สหรัฐเห็นว่าส่งสินค้าเข้ามาขายโดยการทุ่มตลาด เช่น สินค้าจากประเทศจีน และอาจเพิ่มความเข้มข้นด้านนโยบายกับประเทศที่สหรัฐคิดว่าดำเนินนโยบายขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตยและละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
หลายท่านอ่านมาถึงตรงนี้อาจบอกว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับสหรัฐ หันไปติดต่อทำมาค้าขายกับประเทศอื่น เช่น อังกฤษ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแทนก็ได้
แต่ความจริงคือสหรัฐยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าและทันสมัยทั้งด้านบริการ การเงิน เทคโนโลยี และการบริโภคของคนชั้นกลาง ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนซึ่งใหญ่อันดับสอง ยังคงเป็นเศรษฐกิจที่อิงกับอุตสาหกรรมการผลิตระดับโลก ถึงแม้จะพยายามปรับตัวให้ทันสมัยยิ่งขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลจากสหรัฐ
นอกจากนั้น ปัจจุบันเศรษฐกิจของสหรัฐอยู่ในสถานะที่เข้มแข็งกว่าประเทศอื่น เช่น อังกฤษและยุโรปที่กำลังมีปัญหา ญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ไม่ว่าธนาคารกลางจะอัดฉีดเงินเข้าระบบเท่าไรก็ตาม ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามที่หวัง
เพราะฉะนั้นถ้าสหรัฐหลังการเลือกตั้ง เลือกที่จะเน้นผลประโยชน์ของตนก่อน เพื่อสร้างงานให้คนอเมริกันและลดภาระงบประมาณของรัฐบาลกลางลง ทำให้ลัทธิโลกาภิวัตน์อ่อนแอลง ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการชะลอการขยายตัวของการค้าโลกที่มีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจอเมริกันย่อมรุนแรงน้อยกว่าที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่อาศัยรายได้จากการส่งออกเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะจะดีจะชั่วอย่างไรตลาดอเมริกันยังเปิดตลาดรองรับสินค้าจากทั่วโลกที่ใหญ่ที่สุด
หันมาดูประเทศอื่นที่หลายคนหวังว่าจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายในกรณีที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา โดยเฉพาะในกรณีที่การส่งออกไปสหรัฐและยุโรปไม่ขยายตัวหรือลดลง เพราะนโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ซึ่งก็คือประเทศจีนบ้าง
จริงอยู่เศรษฐกิจจีนนั้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าสหรัฐอย่างเทียบกันไม่ได้ อย่างปีนี้แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีปัญหา แต่คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะโตขึ้นถึงร้อยละ 7 ตามที่รัฐบาลจีนตั้งประมาณการไว้ แต่ถึงอย่างไรจีนก็ยังต้องอาศัยการส่งออกเป็นรายได้หลักในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในฐานะผู้ผลิตสินค้าป้อนโลก ไม่สามารถพึ่งพาการบริโภคภายในได้เป็นหลักเหมือนสหรัฐ ถ้าสหรัฐดำเนินนโยบายกีดกันการค้าขายกับจีนเมื่อไร ย่อมส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจของจีนอย่างรุนแรงโดยตรง จีนคงต้องดูแลผลประโยชน์ของจีนก่อนที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยคนอื่น
นอกจากนั้น จีนยังมีปัญหาภายในที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ปัญหาสถาบันการเงินที่ไม่โปร่งใส มีปัญหาหนี้เสียแฝงอยู่ และการขยายสินเชื่อเกินตัว ซึ่งเกิดจากการให้สินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัวตามความต้องการที่อยู่อาศัยของคนจีนที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองและการเก็งกำไร จนรัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันฟองสบู่แตก จนเมื่อวันสองวันนี้มีข่าวว่ายอดการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่งลดลง 41% จากปีที่แล้ว และการซื้อขายในเมืองเล็กๆ ลดลงถึง 50% แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงที่จะกระทบถึงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
ที่เขียนๆ มาทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาให้เป็นบทความทางวิชาการ จึงไม่ได้แสดงตัวเลขและข้อมูลประกอบข้อเขียน แต่อยากเล่าถึงสถานการณ์และความเสี่ยงที่ค่อนข้างจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังพัฒนา หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกว่ารัฐบาลน่าจะต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศมากกว่าเดิม
สรุปแล้ว ในสถานการณ์อย่างนี้ คงต้องรักษาแนวทางรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น และคงต้องยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะในยามที่เกิดปัญหาคงหวังพึ่งใครไม่ได้ เพราะทุกประเทศต่างมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะถ้าสหรัฐซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจของโลกที่มีปัญหาอยู่แล้ว
สำหรับคนธรรมดาอย่างเรา ผมว่าอย่าเป็นหนี้ดีที่สุด ท่านเห็นด้วยไหมครับ
