top of page
312345.jpg

ถอยไม่ต่ำกว่า 1,550 จุด...“อ่อนตัวซื้อ”


ความกังวลของเฟด !

ผลจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) ครั้งล่าสุดส่งผลกดดันตลาดหุ้นโลกทันที แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ตามคาด และเฟดยังยืนยันว่าจะซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณต่อไปอย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์ต่อเดือน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่เป็นไปตามคาดก็คือทางเฟดมีการเซอร์ไพรส์ตลาด โดยการส่งสัญญาณว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าเดิม จากตอนแรกที่คาดว่าอาจไม่ปรับขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2567 แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งภายในปี 2566

ทั้งนี้จาก Dot Plot จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยมีกรรมการ 13 คนจาก 18 คนที่สนับสนุนให้มีการขึ้นอัตราอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้งภายในสิ้นปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 7 คนในเดือนที่ผ่านมา และมีกรรมการถึง 11 คนที่มองว่าควรมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งภายในสิ้นปี 2566

นอกจากนี้เฟดยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ขึ้นสู่ระดับ 7% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน มี.ค. 64 ที่ระดับ 6.5% และคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวที่ 3.3% ในปี 2565 อีกทั้ง เฟดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 สู่ระดับ 2.4% จากเดิมที่ระดับ 2.2%

อย่างไรก็ตามในระยะกลางความกังวลของตลาดต่อสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงแรงกดดันระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากหากพิจารณาเทียบปี 2558 ที่มีการส่งสัญญาณลดวงเงิน QE จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันในการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่วงจรการฟื้นตัวชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน จึงเชื่อว่าการลด QE จะไม่ทำให้เกิดแรงเทขายในตลาดหุ้น

นอกจากนี้การที่เฟดได้ออกมาส่งสัญญาณผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ มาเป็นระยะๆ อาทิ การใช้ Reverse Repo ในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยลดความตื่นตระหนกของตลาดลงได้

“นายหมูบิน” ยังคงเชื่อว่าในระยะต่อไป นักลงทุนในตลาดให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกจากการที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐขยับขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจจริงมากกว่าปัจจัยลบ จากโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะเริ่มส่งสัญญาณ QE Tapering สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ลดลงอีกครั้งจาก 1.46% เป็น 1.39% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำสถิติต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือนอีกครั้ง

นอกจากนี้การที่นิวยอร์กยกเลิกมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เหลืออยู่ทั้งหมด หลังผู้ใหญ่ในรัฐเกิน 70% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส จะส่งผลให้เกิด Momentum เชิงบวกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกับทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

การเปิดประเทศช่วยจำกัด Downside! แนวโน้มของการเปิดเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัด Downside ของตลาดหุ้นโลกได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะล่าสุด สหรัฐและสหภาพยุโรป หรือ EU ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อยุติการทำสงครามการค้าที่เกิดจากความขัดแย้งเป็นเวลาถึง 17 ปีในกรณีการให้เงินอุดหนุนต่ออุตสาหกรรมการบินของทั้ง 2 ฝ่าย หลังจากก่อนหน้านี้ สหรัฐและ EU ต่างก็กล่าวหาแต่ละฝ่ายว่า ให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์แก่โบอิ้งและแอร์บัส เพื่อชิงความได้เปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน

นอกจากนี้ EU ได้เตรียมยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ครบโดสในสิ้นเดือนมิถุนายน หลังโครงการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐมีความคืบหน้าอย่างมาก สอดคล้องกับทิศทางของประเทศในเอเชียที่ล่าสุดรัฐบาลเกาหลีใต้ได้เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยอนุญาตให้จัดงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่โดยสามารถมีผู้ชมได้มากที่สุดที่ 4,000 คนจากเดิมที่กำหนดให้มีผู้ชมได้มากที่สุดที่ไม่เกิน 100 คน

ดังนั้นแม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเข้ามากดดันตลาดหุ้นโลก แต่ระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ยังคงทรงตัวในระดับสูงสะท้อนออกมาจากการที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าพบสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ยังคงอยู่ที่ 41.10% สูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 26.20%

ในส่วนของประเทศไทย การที่นายกรัฐมนตรีประกาศเป้าหมายเปิดประเทศให้ได้ภายใน 120 วัน โดยประเมินว่ามีโอกาสที่จะสามารถเปิดประเทศได้ในช่วงกลางเดือน ต.ค. 64 จากแผนการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น โดยปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนแล้ว 6-7 ล้านโดส และหากฉีดเดือนละ 10 ล้านโดส และจะเน้นการฉีดเข็มแรกเป็นหลัก จะทำให้มีจำนวนประชากรฉีดได้ตามเป้าหมาย 50 ล้านคน ดังนั้นจะดีกว่าคาดเดิมที่จะเปิดประเทศได้ในต้นปี 2565 หากทำได้จริง จะเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งการจับจ่ายใช้สอย และการท่องเที่ยวในประเทศ ให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,550 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,550 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

13 views
bottom of page