top of page
358556.jpg

'ยูเครน' เบี้ยในกระดาน...โลกใช้กดดัน 'รัสเซีย'


มองสถานการณ์ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยังเป็นแค่สงครามลมปากสงครามจิตวิทยา ที่อเมริกาปล่อยข่าวรายวันว่ารัสเซียจะบุกยูเครน ฝั่งรัสเซียก็ปฏิเสธรายวันว่าไม่คิดจะบุกยูเครน ด้านนาโตสวมบทพระเอกเป็นตำรวจโลกที่พร้อมปกป้องยูเครนในทุกรูปแบบ ท้ายที่สุดแล้วทุกฝ่ายยึดประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ใช้ยูเครนเป็นเบี้ยในกระดานเพื่อกดดันรัสเซีย แต่ยังได้แค่เงื้อง่าราคาแพง ไม่กล้าคว่ำบาตรรัสเซียขั้นสูงสุด เพราะเกรงจะเกิดวิกฤตพลังงานในยุโรปที่ต้องพึ่งพาน้ำมันและแก๊สจากรัสเซีย สำหรับไทยต้องจับตา วิเคราะห์สถานการณ์ซึ่งอาจกระทบการค้าไทย-รัสเซียบ้าง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือถ้าเกิดสงคราม นักท่องเที่ยวรัสเซียที่มาท่องเที่ยวไทยจำนวนมากจะหายวับไปกับตาทันที


Interview : ดร.กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ อาจารย์ประจำโครงการรัสเซียศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อาจารย์ศึกษาเรื่องรัสเซีย-ยูเครน มองประเด็นปมขัดแย้งล่าสุดนี้อย่างไร

ตอนนี้ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันเราจะเห็นว่าลักษณะยังเป็นการใช้สงครามข่าวสารเป็นหลัก จะเห็นทั้งฝั่งสหรัฐที่มีการให้ข่าว ซึ่งไม่แน่ใจว่าข่าวจริงๆ หรือข่าวปลอม เช่นข่าวปลอมว่ารัสเซียจะบุกยูเครนวันนั้นวันนี้ตลอดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีการให้ข่าวซึ่งการให้ข่าวแบบนี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางรัสเซียให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่มีเจตนาที่จะบุกยูเครน ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่ทั้ง 2 ฝ่ายตอบโต้กันไปมาโดยลักษณะของการใช้สงครามข่าวสาร และอาจพัฒนาไปในลักษณะของสงครามในอนาคต


ดูแล้วความตึงเครียดอยู่ในระดับไหน อย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาพูดตลอดว่าอีก 2-3 วันรัสเซียบุกยูเครนแน่

ไบเดนมีการเสนอข่าวแบบนี้มาโดยตลอดว่ารัสเซียจะบุกวันนั้นวันนี้ จะเห็นว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมีการคาดการณ์ว่ารัสเซียจะบุกยูเครนมาตลอด ตอนแรกวันที่ 20 มกราคม หลังจากนั้นมาช่วงหลังเปิดโอลิมปิกที่จีน และมาคาดการณ์วันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และข่าวล่าสุดคือช่วงหลังกลางเดือนก็ออกมาพูดอีกว่าอีก 2-3 วัน รัสเซียต้องบุกแน่นอน ซึ่งลักษณะแบบนี้เป็นการยั่วยุให้รัสเซียบุกจริงๆ เสียที เพราะสหรัฐมีแผนการที่จะจัดการบางอย่างกับเหตุการณ์ตรงนี้ ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมาถ้าเราติดตามข่าวมาโดยตลอดจะเห็นวาปูตินปฏิเสธตลอดว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะบุกยูเครน แต่สหรัฐก็จะถามว่าถ้าไม่มีเจตนาบุกจะตรึงกองกำลังไว้ทำไมตรงชายแดนฝั่งตะวันตกเป็นแสนๆ นาย ซึ่งฝั่งรัสเซียก็แจ้งว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขาเพราะเขาตรึงพรมแดนในบ้านเขา ไม่ได้ก้าวเข้ามาในฝั่งยูเครน และที่สำคัญการตรึงพรมแดนตรงนั้นเป็นการตอบโต้จุดประสงค์เรื่องความมั่นคง เนื่องมาจากทางกองกำลังนาโตรุกเข้ามาในแถบยุโรปตะวันออกแบบประชิดมาก มีการซ้อมรบมีเรื่องการลาดตะเวน แสดงอิทธิพลของนาโตในแถบทะเลดำซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซียด้วย รวมถึงข้อตกลงว่ารัสเซียมีการยื่นคำขอให้นาโตไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก และถูกนาโตปฏิเสธ เพราะฉะนั้นเป็นลักษณะการตอบโต้ของฝั่งรัสเซียและฝั่งสหรัฐที่มาในรูปแบบของนาโต


ล่าสุดผู้นำยูเครนไปยุโรป ขณะที่จีนมาดูการซ้อมรบในวันเสาร์วันเดียวกัน ทั้งสองเรื่องนี้ส่งสัญญาณอะไร

การซ้อมรบเป็นลักษณะของการที่รัสเซียส่งสัญญาณตอบโต้ว่าตนเองมีพันธมิตรและศักยภาพในอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อทำให้เห็นว่านาโตไม่ได้เป็นฝ่ายแพร่ขยายอิทธิพลในแถบนี้ได้อย่างเดียว เนื่องจากในดินแดนต่างๆ ที่นาโตรุกคืบเข้ามาไม่ว่าจะเป็นแถบนอร์ดิก แถบยุโรปตะวันออกอย่างยูเครน ดินแดนทั้งหมดเป็นดินแดนที่เป็นเขตอิทธิพลเก่าของอดีตสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งรัสเซียก็มองว่าการรุกของนาโตเข้ามาในแถบนี้ถือว่าเข้ามาประชิดมากและเป็นภัยที่คุกคามที่สำคัญต่อรัสเซีย ซึ่งแต่เดิมนาโตเคยให้คำมั่นกับรัสเซียในสมัยทศวรรษ 90 หลังจากโซเวียตล่มสลายไป โดยนาโตให้คำมั่นว่าจะไม่รุกคืบเข้ามาขยายอิทธิพลในแถบยุโรปตะวันออก แต่สุดท้ายนาโตก็ไม่รักษาคำมั่นนั้น มีการพิจารณารับประเทศในแถบยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิก เช่นกลุ่มประเทศทางบอลติก กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆ และมีการตรึงกำลังหรือมีการประจำการด้านอาวุธหรือกองทหารของนาโตไว้ในดินแดนแถบนี้ ซึ่งส่งผลต่อรัสเซียว่าถูกนาโตคุกคามอย่างกรณีของยูเครนนั้นทางนาโตก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย ถึงแม้จะไม่ได้ส่งกำลังทหารมาโดยตรง แต่ได้ส่งการช่วยเหลือหรือการสนับสนุนผ่านประเทศสมาชิกอื่นๆ การเข้ามามีส่วนร่วมของนาโตในเหตุการณ์นี้ถือเป็นการกดดันรัสเซียเหมือนกัน เพราะยูเครนเป็นกันชนที่ใกล้ชิดรัสเซียที่สุดถ้านาโตสามารถเข้ามาในยูเครนได้ ถ้านาโตมีการประจำกองทัพหรือตั้งฐานขีปนาวุธต่างๆ ก็สามารถโจมตีมอสโกได้แบบรวดเร็ว และสมมติว่านาโตได้ยูเครนเป็นสมาชิกแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะสามารถรุกคืบเข้ามาดินแดนตอนในซึ่งถือว่าเป็นดินแดนที่มีอิทธิพลของรัสเซียเช่นเดียวกัน เช่นแถบเทือกเขาคอเคซัสแถบเอเชียกลาง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัสเซียยอมไม่ได้ เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มประเทศที่ถือว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย แม้ว่าจะเป็นประเทศที่ได้รับเอกราชเรียบร้อยแล้ว แต่ในมุมมองของภูมิรัฐศาสตร์แล้วรัสเซียยังหวงแหนดินแดนนี้อยู่


ถ้าความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นมีการคว่ำบาตรรัสเซียเกิดขึ้น ในเชิงเศรษฐกิจจะมีผลกระทบต่อรัสเซียอย่างไร ยุโรปจะเป็นอย่างไร

เรื่องมาตรการคว่ำบาตรที่ทางนาโตและอียูได้เคยเสนอมาก่อนหน้านี้ว่าถ้ารัสเซียบุกยูเครนจริง ตอนแรกมีการเสนอใช้มาตรการขั้นสูงสุดเลย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรมาแล้วกับไครเมียเมื่อปี 2014 แต่ไม่ใช่มาตรการขั้นสูงสุด คือที่ผ่านมามีการเตือนรัสเซียว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรสูงสุด คือตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลกและระบบสวิส ซึ่งตอนหลังคาดว่ามีการพิจารณาใหม่ น่าจะมีการปรับเปลี่ยนมาตรการนี้ไม่ให้ถึงขั้นสูงสุด เนื่องจากไม่ใช่แค่รัสเซียที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการนี้ จะกลายเป็นว่าจะกระทบยุโรปเกือบทั้งหมดด้วย โดยเฉพาะจะเกิดวิกฤตด้านพลังงานเพราะตอนนี้ยุโรปอาศัยพลังงานแก๊สธรรมชาติจากรัสเซียทั้งนั้น ถ้ารัสเซียใช้แก๊สเป็นตัวต่อรอง ยุโรปอาจจะตายทั้งทวีปเพราะขาดแคลนแก๊สในช่วงฤดูหนาวและต้องไปซื้อแก๊สที่มีราคาแพงขึ้น อันนี้เป็นส่วนที่ส่งผลกระทบทั้งหมดถ้าดำเนินมาตรการดังกล่าวและจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจพลังงานตามมาด้วย


ในสถานการณ์แบบนี้ไทยจะต้องทำตัวอย่างไร นักธุรกิจจะต้องรับมืออย่างไรในกรณีแบบนี้ การค้าขายจะเป็นอย่างไร

ถ้ามองในมุมวิเคราะห์เรื่องนี้มองว่าอาจจะกระทบไทยอยู่บ้าง แต่อาจจะไม่จังๆ เหมือนฝั่งยุโรปหรือจีน ฝั่งไทยที่น่าจะกระทบคือผู้ค้าที่เป็นคู่ค้ารัสเซีย เนื่องจากถ้ารัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรหรือมีสงครามมีการปะทะเกิดขึ้นก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของสถาบันการเงินต่างๆ หุ้น ราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน สิ่งเหล่านี้ถ้าพูดถึงประเทศรัสเซียอย่างแรกเศรษฐกิจเขาจะดรอปลง ก็จะเกิดปัญหาการซื้อขายระหว่างประเทศ อย่างไทยต้องมีการทบทวนกันใหม่ อาจจะไม่ตรงตามความคาดหมายที่เคยพูดไว้ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ คนในประเทศรัสเซียก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจตรงนี้ พลังงานราคาสูงขึ้น ซึ่งพอพลังสูงขึ้นก็กระทบไปหมดไม่ว่าจะเป็นค่าคมนาคม ค่าน้ำมัน โลจิสติกส์ ค่าเดินทาง เครื่องบิน กำลังซื้อที่เคยมีก็ต้องดรอปลง มันก็ส่งผลกระทบไปเรื่อยๆ

ถ้าพิจารณาจากฝั่งไทย เรื่องการคาดการณ์การค้าที่เคยวางแผนกันไว้ต้องหันมาทบทวนกันใหม่ถ้าเศรษฐกิจในรัสเซียได้รับผลกระทบจากเรื่องวิกฤตพลังงาน นอกจากนั้นรายได้อีกอย่างที่ไทยได้รับจากรัสเซียที่โดดเด่นมากคือการท่องเที่ยว เราทราบกันดีนักท่องเที่ยวรัสเซียเป็นอันดับต้นๆ ที่นิยมมาเที่ยวประเทศไทยเพราะชอบที่พักสวยงาม คนไทยมีน้ำใจ ราคาไม่แพง แต่ถ้ากำลังซื้อหรือเศรษฐกิจในประเทศรัสเซียไม่ดี การท่องเที่ยวของคนรัสเซียก็ลดลงไปด้วย เนื่องจากเขาต้องเลือกในสิ่งที่จำเป็นก่อน ท่องเที่ยวเอาไว้ทีหลัง

ค่าเครื่องบินก็จะสอดคล้องกับการใช้พลังงานน้ำมัน ถ้าเพิ่มสูงขึ้น อย่างตอนนี้น้ำมันของเราก็ขึ้นพรวด ถ้าเป็นลักษณะใหญ่อย่างเครื่องบิน ตั๋วก็จะแพงขึ้น ใครจะมาเที่ยว เรียกว่ามันเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นลักษณะแบบนี้เรื่องอัตราการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจะต้องต่ำลงอยู่แล้ว ทั้งที่ช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่เราพยายามฟื้นฟูการท่องเที่ยวหลังจากซบเซาจากเรื่องโควิด แต่ต้องมาพิจารณาเรื่องของผลที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีเรื่องโควิดแต่นักท่องเที่ยวรัสเซียก็ยังเข้ามาเยอะพอสมควรทั้งที่ภูเก็ต สมุย เพราะตอนนี้รัสเซียไม่ได้รู้จักแค่พัทยาแล้ว เรียกว่าทั้งประเทศเราเป็นเป้าหมายสำคัญที่ชาวรัสเซียชอบ ภูเก็ต สมุย หัวหิน กาญจนบุรี เชียงใหม่ ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวไทยน่าจะถูกกระทบในส่วนนี้ด้วย


223 views

Comentários


bottom of page