Interview: คุณสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ (ประธานกรรมการ บริษัท เอ็กซ์เซลเล้นท์ บิสเนส คอร์ปอร์เรชั่น อินเตอร์แนชชั่นแนล จำกัด (EBCI) และ ที่ปรึกษาด้านโลจิสติกส์ในเขตอีอีซี)
โควิด-19 กระทบธุรกิจโลจิสติกส์ไทยเต็มๆ ทั้งในส่วนการเดินทางและการขนส่ง เฉพาะเดือน ม.ค.-ก.พ. ยอดนำเข้า-ส่งออกหดหายไปแล้ว 15-20% โรงงานหลายแห่งไม่มีออร์เดอร์สั่งซื้อ ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตที่นำเข้าจากจีน ต้องหยุดกิจการให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวโดยไม่มีกำหนด ประเมินเบื้องต้นธุรกิจโลจิสติกส์ไทยชะงักงันตลอดครึ่งปีแรก แนะผู้นำเข้า-ส่งออกไทยต้องรอบคอบรัดกุมในกระบวนการขั้นตอนผลิต นำเข้า-ส่งออก ทั้งการจองระวางเรือ กำหนดเรือออกจากท่า กำหนดการเทียบท่าของเรือ จัดหาวัตถุดิบในการผลิตทดแทนวัตถุดิบเดิมที่ขาดแคลน ตรวจสอบ L/C ไม่ให้หมดอายระหว่างสัญญาซื้อขาย พร้อมชี้...การเฝ้าระวังการแพร่ของโควิด-19 อย่าเฝ้าระวังเฉพาะคนที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น แต่ควรตรวจสินค้า อาหาร เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ฯลฯ ที่นำเข้าจากประเทศกลุ่มเสี่ยงด้วย
พิษอู่ฮั่น โควิด-19 กระทบต่อโลจิสติกส์ยังไงบ้าง
ที่กระทบเพราะไทยค้าขายกับจีนเยอะ ตัวเลขปี 2561 ตลาดหลักเป็นจีนอันดับ 1 มูลค่า 9.6 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 12% ซึ่งอู่ฮั่นเป็นโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ประเทศไทยส่วนหนึ่ง เมื่อชิ้นส่วนฯส่งจากจีนมาไม่ได้ รถยนต์ของไทยก็ผลิตไม่ได้ส่งออกไม่ได้ อันนี้ก็กระทบเกี่ยวกับการค้า ส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งก็กระทบด้วยเพราะขณะนี้มีปัญหาว่าการค้าต่างๆ ทั่วโลกลดน้อยลง ส่วนหนึ่งเกิดจากโควิด-19 เวลาที่เราสั่งของจากจีนหรือเราส่งของไปจีน ยกตัวอย่าง มีเพื่อนส่งของจากไทยไปที่คุนหมิง ประเทศจีน ตอนเหนือของไทย เขาบังคับว่าต้องส่งกับ Courier Post หรือการจัดส่งสินค้าด่วนระหว่างประเทศทางอากาศไปที่ฮ่องกงและจากจุดฮ่องกงเป็นจุดกระจายสินค้าไปทั่วจีน ค่าขนส่งแพงมาก ถ้าขนส่งแบบเดิมปกติส่ง 3 วันก็ถึงแล้ว แต่ส่งกับ Courier Post ทั้งหมด 2 อาทิตย์เป็นอย่างน้อยกว่าของจะถึง ดังนั้นโรงงานต่างๆที่เป็นห่วงโซ่การผลิตจะต้องกระทบกระเทือน เช่น โรงงานนี้รอชิ้นส่วนที่ส่งมาจากจีนหรือฮ่องกงก็จะต้องรอว่าชิ้นส่วนที่มาทั้งหมดมีทั้งหมด 2 ชิ้นและต้องมาประกอบในประเทศไทย แบบนี้ก็จะติดขัดไปหมด 1. กระบวนการขนส่งจะช้า 2. ค่าขนส่งแพง เรียกว่าติดขัดไปหมด
ดูแล้วกระทบลากยาวแค่ไหน
ล่าสุดไม่รู้จริงหรือเปล่า เวลารับข่าวต้องระมัดระวัง คือมีข่าวว่าจีนคิดค้นยาแก้โควิด-19 ได้แล้ว ตอนนี้ไทยกำลังซื้อมา ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นได้อย่างน้อย 2-3 เดือน เรียกว่าครึ่งปีแรกของปีนี้เราคงไม่ได้ทำมาหากินอะไรมากมาย พวกร้านค้า ศูนย์การค้า ต้องลดค่าเช่าหรือไม่เก็บค่าเช่า อันนี้เห็นด้วย
มีประเด็นที่อยากให้ข้อมูลผู้นำเข้าและส่งออกคือในระหว่างนี้วัตถุดิบที่มาจากจีนอาจจะขาดแคลน สิ่งแรกที่ต้องมอง คือ 1. เราใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ไหม ขณะเดียวกันสมมุติว่าการซื้อขายระหว่างประเทศต้องใช้ระบบ L/C เปิด L/C มาถึงจะส่งสินค้าไป ทีนี้ L/C มีเงื่อนไขกำหนดว่าจะต้องส่งสินค้าลงเรือไม่เกินเท่านี้เท่านั้น ถ้าผู้ส่งออกส่งสินค้าบนเรือเกินกว่าที่ L/C กำหนด สมมุติ L/C กำหนดส่งสินค้าลงเรือและต้องรับเอกสารจาก BL (Bill of Landing) ไม่เกินวันที่ 10 มีนาคม ถ้าผู้ส่งออกมองแล้วผลิตไม่ทันเพราะวัตถุดิบไม่เพียงพอ หรือกรณีหน้ากากก็ต้องใช้วัตถุดิบจากจีน ในกรณีนี้อาจจะต้องคุยกับผู้ซื้อว่าให้แก้ไขเงื่อนไข L/C ได้ไหมจากวันส่งมอบ 10 มีนาคม ขอเลื่อนเป็น 20-30 มีนาคม คำถามถ้าผู้ซื้อไม่ยอมแก้ไขเราอาจจะต้องมีวิธีการ 1. เร่งผลิตให้ได้ 2. อาจจะต้องโดนฟ้อง คือยังไงเราก็ผลิตไม่ทันเราอาจจะต้องโดนปรับ อันนี้ต้องเจรจากับคู่ค้าให้ดี อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ นี่คือปัญหานึงที่จะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันการจองเรือหรือเครื่องบินไปยังประเทศต่างๆ ก็ต้องระวัง เช่น ของที่ส่งทางเรือจากเราไปจีนเมื่อก่อนอย่างมากอาทิตย์นึง แต่ตอนนี้จะกลายเป็น 2 อาทิตย์ เพราะคนทำงานบริษัทโลจิสติกส์ทั้งหลายที่จะส่งมอบสินค้ากัน จะต้องตรวจ ใส่หน้ากาก ต้องใส่ชุดป้องกันตัวเอง สินค้าบางเมืองอาจจะไม่มีการส่งเลย อาจจะส่งเป็นครั้งคราวอาทิตย์ละครั้ง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับกระบวนการโลจิสติกส์ส่งสินค้าระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ที่ส่งสินค้าไปต้องกำหนดวันใหม่ อย่างส่งจากไทยไปคุนหมิง 3 วัน แต่ตอนนี้ตั้ง 14-15 วันกว่าจะถึง คือต้องมีการกระจายสินค้า ร้านค้าต้องมีการเตรียมของ รถบรรทุกต้องมีการทำความสะอาด คนขับต้องมีการเตรียมตัวป้องกัน ทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกันหมด อันนี้เป็นประเด็นทำให้สินค้าที่เราส่งอาจจะไปไม่ถึงที่หมายตามที่กำหนด
อีกอย่างที่มักเตือนผู้ส่งออกว่าเวลาที่ซื้อขายกับจีน คือขณะนี้เราจะใช้ฟอร์ม E จากจีนเพื่อนำเข้าประเทศไทย ประเด็นคือตอนนี้เกิดวิกฤตการณ์แบบนี้ บางทีซื้อของจากจีนมาแบบฟอร์มอาจจะยังมาไม่ถึง ติดราชการต่างๆ แบบฟอร์มที่จะมาถึงเมืองไทยมาช้า ผู้ส่งออกต้องมีวิธีการทางด้านพิธีการศุลกากร คือยอมชำระภาษีอากรไปก่อน แต่สงวนสิทธิ์ในการขอใบฟอร์ม E มาให้ทีหลัง ถ้าไม่ทำแบบนี้ต้องชำระอากรนำเข้า 5-10% แล้วแต่ประเทศหรือสินค้าวัตถุดิบ อันนี้เป็นอีกเรื่องนึงที่กระทบจากโควิด-19
ต้องขอสงวนสิทธิ์ใช่ไหม
ต้องขอสงวนสิทธิ์ในการนำแบบฟอร์มมาให้ทีหลัง แต่เราต้องชำระอากรไปก่อนเพื่อเอาของมาผลิตส่งออกให้ทัน อันนี้เป็นขั้นตอนซึ่งผู้ประกอบการอาจจะลืมนึกถึงเรื่องนี้ไป
เห็นภาพชัดไหม 1 เดือนที่ผ่านมาที่มีโควิด-19 กระทบการนำเข้าส่งออกทำให้ระบบโลจิสติกส์ต่างๆ มีปัญหาแค่ไหน
ต้องยอมรับว่าจำนวนตัวเลขการนำเข้าส่งออกของประเทศไทยเดือนมกราคมมาถึงวันนี้มันกระทบ 1. เกิดจากการค้าระหว่างประเทศที่หดตัวลง 2. อย่าลืมว่าเราค้าขายกับจีนเยอะประมาณ 12% เพราะฉะนั้นสินค้านำเข้าส่งออกจากจีนก็จะกระทบตามไปด้วย บางบริษัทยอดนำเข้าส่งออกหายไป 15-20% หลายบริษัทเท่าที่ผมทราบเริ่มให้พนักงานอยู่กับบ้านไม่ต้องมาทำงาน เพราะไม่มีงานทำกัน
อย่างส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก อย่างไปฮ่องกงเพื่อกระจายสินค้าต่อ บางคนบอกไม่ไป
อันนี้ยังไม่เจอกับตัวเอง แต่ยังไม่ทราบว่ามีไหม แต่เพื่อนผมทดลองส่ง Courier Post ไปคุนหมิง ปรากฏว่าไปรษณีย์บอกไม่ได้ คุณจะถูกบังคับให้ส่งไปที่ฮ่องกงก่อน อันนี้เป็นเครื่องบิน ฮ่องกงเป็นจุดกระจายสินค้าไปทั่วจีน ผมคิดว่ากรณีทางเรืออาจเป็นไปได้ว่าบางเส้นทางสายเดินเรือถ้าจะเข้าจีนต้องเข้าฮ่องกงเช่นเดียวกัน อันนี้ไม่ยืนยัน แต่เชื่อว่าขนส่งทางอากาศเป็นแบบนี้ ทางเรืออาจจะมาบีบบังคับท่าเรือ อย่างเสิ่นเจิ้นอาจเป็นท่าที่นำเข้าจีนต้องมาพอร์ตนี้ ถ้าจะไปพอร์ตที่จีนต้องผ่านฮ่องกง ก็จะมีการจัดระบบให้เป็นระบบที่ควบคุมการขนส่งควบคุมเรื่องโควิด-19 ด้วย
เวลานี้ในส่วนสายการบินเริ่มเห็นชัด มีการยกเลิกบินตรง ยกเลิกโดยปริยายเพราะไม่มีผู้โดยสาร จะส่งผลถึงการส่งสินค้าเข้าออกไหม
จะมีไฟล์ทบางไฟล์ทที่รับส่งสินค้าอย่างเดียว อาจจะไม่มีผู้โดยสารก็ได้ เพราะที่จริงแล้วรายได้สายการบินนอกจากผู้โดยสารแล้วอีกส่วนก็คือคาร์โก้ที่ส่งสินค้าทางเครื่องบิน แต่อาจมีบางสายการบินที่มีไฟล์ทบางไฟล์ทที่ขนส่งเฉพาะสินค้า อันนี้ไม่กระทบ ผมคิดว่าการขนส่งสินค้าแบบนี้อาจจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำไปเพราะมีความจำเป็นในการขนสินค้าระหว่างประเทศ ไม่มีผู้โดยสารไม่เป็นไรก็เอาพวกคาร์โก้เข้าไปแถม และคิดค่าบริการคาร์โก้ให้มันถูกลงเพื่อให้คนมาใช้บริการการขนส่งทางอากาศขึ้น ก็อาจเป็นทางออกทางหนึ่งของสายการบินในปัจจุบัน แต่กำไรเมื่อเทียบกับผู้โดยสารอาจจะต่างกัน ก็มีบางไฟล์ทที่ผมจัดส่งสินค้าคาร์โก้อย่างเดียว เดี๋ยวนี้การขนส่งไม่ใช่แค่ว่า 2-3 กิโลกรัม แต่ขนาด 5-10 ตันก็ขนส่งทางเครื่องบิน เพราะเกี่ยวกับเรื่องเวลา ความเร่งด่วน การขนส่งทางเครื่องบินเมื่อก่อนส่งแค่ 1-5 กิโลกรัมชิ้นเล็กๆ ทุกวันนี้การขนส่งทางเครื่องบินกลายเป็นไฟล์ทนึง 5-20 ตันก็มีแล้ว
การขนส่งพืชผักผลไม้ ทุเรียน จะมีปัญหาไหม
ช่วงนี้เป็นช่วงทุเรียนออก ตอนนี้ชาวสวนทุเรียนกลุ้มใจว่าจีนซื้อน้อยลงมาก เพราะบางเมือง เช่น อู่ฮั่นห้ามออกจากบ้าน จะออกจากบ้านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ตรงนี้เป็นเรื่องที่พูดได้เลยว่าผลไม้ของเรา โดยเฉพาะทุเรียนขายได้น้อยลง
อย่างผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบุว่าเป็นประเทศเสี่ยง ต้องเข้มงวดตรวจขัน แล้วสินค้าที่ส่งมาเริ่มเข้มงวดตรวจขันหรือยัง
ผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางเครื่องบิน แต่ผมเชื่อมั่นว่าถ้าผมเป็นรัฐบาล เมื่อโควิด-19มาพร้อมความเย็น ตอนนี้บอกว่าไม่ควรกินปลาดิบหรืออาหารดิบ ปลาดิบแซลมอนที่มาจากยุโรปหรือต่างประเทศ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นรัฐบาลผมต้องส่งคนเข้าไปดูแลและตรวจเข้มผลไม้อาหารที่มาจากประเทศเสี่ยง ถ้าวัดไข้คงวัดไม่ได้เพราะพวกนี้มาอุณหภูมิไม่ถึง 38 อยู่แล้ว ประมาณ 10-14 หรือลบ 20 เป็นอุณภูมิอาหารทะเลหรือพืชผักผลไม้ สินค้าที่เป็นอาหารทะเลหรือผักผลไม้ที่มาจากประเทศญี่ปุ่นหรือจีนก็แล้วแต่ต้องมีการตรวจเข้ม เหมือนที่ชายแดนผมก็ดีใจที่ชายแดนมีการตรวจคนเข้าออก พวกองุ่นที่มาจากจีนมีเยอะมาก พวกดอกไม้ ผัก ส่วนใหญ่มาจากจีนตามเส้นทาง R3A หรือเส้นทาง R12 มาจากจีน เวียดนาม เข้ามานครพนม ด่านพวกนี้ถือว่ามีการตรวจเข้ม ถ้าไม่มีก็สบายใจไป โควิด-19 มากับความเย็น ถ้ามาไทยแล้วตรวจแบบหละหลวมก็จะเป็นช่องทางนึงที่เกิดการแพร่ระบาดโรคได้
สรุปผู้ส่งออกและนำเข้าไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหาโลจิสติกส์อย่างไร
1.การจองเรือส่งสินค้าไปต่างประเทศต้องตรวจสอบชัดเจนว่าเรือจะออกเมื่อไหร่ ใช้ระยะเวลากี่วัน เพื่อสินค้าจะเดินทางไปถึง กรณีนำเข้าต้องถามให้แน่นอนว่าเรือจะเข้าท่าไหน เพราะอาจมีการเปลี่ยนสายเดินเรือ ต้องรู้กำหนดว่าใช้เวลากี่วันจากผู้ขายมาถึงผู้ซื้ออย่างเรา 2. การขนส่งสินค้าบางอย่างที่เป็นพืชผักผลไม้ การตรวจสอบที่ปลายทางที่เป็นผู้รับต้องตรวจสอบให้ชัดเจน และระบบแพ็กกิ้งต่างๆ ซึ่งอยู่ในกระบวนการห้องเย็นควรมีการตรวจสอบกล่องต่างๆที่จะมาแพ็ก ควรมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน 3. ควรใช้วัตถุดิบที่ทดแทนกันได้ในการผลิต ถ้าวัตถุดิบมาไม่ทันจากกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ที่ล่าช้า 4. ต้องตรวจสอบ L/C ว่าจะหมดอายุหรือยัง ถ้าหมดอายุอาจต้องขยายระยะเวลา L/C ออกไปเพื่อที่เราจะได้ส่งทัน เพราะเมื่อ L/C หมดอายุเราจะไม่ได้เงินค่าสินค้าเลย
Σχόλια