เงินบาทยังอ่อนค่า...ทิศทางครึ่งหลังปี 2564 แปรผันตามความเสี่ยงโควิด และสัญญาณคุมเข้มของเฟด (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วท่ามกลางสัญญาณความเสี่ยงที่ชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ระลอกที่สามที่มีแนวโน้มควบคุมได้ยาก เพราะต้องรับมือกับโควิด 19 ที่เป็นเชื้อกลายพันธุ์ โดยเงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 15 เดือนที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ระหว่างชั่วโมงการซื้อ-ขายในวันที่ 9 ก.ค. 2564) ทั้งนี้ความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิดที่ยืดเยื้อเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยให้ขาดดุลมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทกำลังอ่อนแอลง พร้อมๆ กับความเสี่ยงต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี
คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงจากวิกฤตโควิดเป็นตัวแปรสำคัญที่กดดันให้เงินบาทอ่อนค่า ทั้งในช่วงที่มีการระบาดของโควิดในปี 2563 และการระบาดของโควิดในปี 2564 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความแตกต่างสำคัญจะอยู่ที่การฟื้นตัว (แข็งค่า) กลับมาของเงินบาทในปีนี้ จะต้องเผชิญกับเงื่อนไขข้อจำกัดที่ท้าทายกว่า อย่างน้อย 2 ด้าน ได้แก่ 1) การระบาดของโควิดรอบสามยืดเยื้อและกินเวลานานกว่าการระบาดรอบแรก และ 2) เศรษฐกิจสหรัฐฯ และไทยมีจังหวะการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ทยอยส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินได้ก่อน
สำหรับมุมมองต่อค่าเงินบาทนั้น มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทอาจอ่อนค่าต่อเนื่องไปทดสอบระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนสิ้นปี 2564 (เช่นเดียวกับระดับการอ่อนค่าของเงินบาทในโควิดรอบแรก) หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศยังไม่ลดระดับความเสี่ยงลงมา และเฟดสามารถเริ่มทยอยส่งสัญญาณเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินได้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/2564 ตามที่ตลาดประเมินไว้ อย่างไรก็ดี หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ไม่แรง หรือเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโควิดอีกระลอก ก็อาจส่งผลทำให้ตลาดต้องกลับมาประเมินการคาดการณ์ในเรื่องจังหวะการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า และอาจช่วยหนุนให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้ โดยเฉพาะหากสถานการณ์โควิดในประเทศคลี่คลายลง
Comments