top of page
369286.jpg

ทริสเรทติ้งคงอันดับ SINGER ที่ "BBB-"

กิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ คุยจะก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจด้านการเงินและสินเชื่อเช่าซื้อที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศ หลังทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรระดับน่าลงทุน SINGER ที่ “BBB-” พร้อมปรับมุมมองแนวโน้มขึ้นเป็น “Stable” จาก “Negative” สามารถทำกำไรขึ้นทุบสถิติ ขณะที่ NPL ลดลง ฐานลูกค้าเติบโต มีแหล่งเงินทุนหนุนสภาพคล่อง รองรับแผนขยายธุรกิจ

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ตอกย้ำอย่างเชื่อมั่น จะนำทีมพาบริษัทก้าวเป็นผู้นำในธุรกิจด้านการเงินและสินเชื่อเช่าซื้อที่เข้มแข็งที่สุดของประเทศ หลังจากที่ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB-” แถมยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ”

เนื่องจากการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพสินทรัพย์ เสถียรภาพของรายได้ และคุณภาพของผลประกอบการที่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และฐานทุนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง จากความสำเร็จของผลประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยงวดครึ่งปีแรก 2563 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี

สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น พอร์ตสินเชื่อรถทำเงินเติบโต ผลจากการปรับโครงสร้างองค์กรในช่วงที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สนับสนุนการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ไม่กระทบสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการล็อกดาวน์ปิดเมือง พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจสินเชื่อให้แข็งแกร่งในอนาคต โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ในชื่อ “รถทำเงิน” ซึ่งจะเป็นดาวเด่นทั้งในด้านพอร์ตที่เติบโตก้าวกระโดด และความสามารถในการคุมสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออยู่ที่ระดับ 0.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563

การประเมินของทริสเรทติ้งในครั้งนี้ สะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงของซิงเกอร์ที่ดีขึ้น การตัดหนี้สูญและระบบการจัดเก็บหนี้ที่ดีขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลง อัตราส่วนสำรองหนี้สูญให้แข็งแกร่งขึ้น ในขณะที่การรุกเข้าไปในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ที่มีอัตราการชำระหนี้ล่าช้าน้อยกว่า ก็ช่วยทำให้คุณภาพสินทรัพย์โดยรวมแข็งแกร่งขึ้น และช่วยกระจายความเสี่ยงธุรกิจได้ อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงสู่ระดับ 6.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 12.2% ในปีก่อน ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง 24% การก่อตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็ลดลง สู่ระดับ 9.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากระดับ 19.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

ผลประกอบการของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นโยบายควบคุมราคาขายของตัวแทนจำหน่ายจะช่วยหนุนกำไรขั้นต้นของบริษัทให้อยู่ในระดับที่ดีได้ อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ธุรกิจรายย่อยซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศประกอบกับการรุก เข้าสู่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ น่าจะช่วยสร้างผลตอบแทนจากการปล่อยกู้ที่มีการปรับค่าความเสี่ยงที่มั่นคงได้มากขึ้น และคาดว่าการขยายธุรกิจผ่านช่องทางแฟรนไชส์จะช่วยรักษาระดับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ให้อยู่ในระดับต่ำได้ ประมาณการความสามารถในการทํากำไรของบริษัทซึ่งวัดโดยอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยที่ระดับประมาณ 5.3% ในปี 2563 และ 4.1% ในปี 2564-2565 บริษัทสามารถปรับปรุงผลกำไรให้ดีขึ้นตั้งแต่ปี 2562 โดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนหักภาษีต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น สู่ระดับ 2.7% ในปี 2562 จากระดับ -1.1% ในปี 2561 โดยมีต้นทุนทางเครดิตที่ลดต่ำลง ประกอบกับกําไรขั้นต้น และประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นปัจจัยหลัก

SINGER ประกอบไปด้วยธุรกิจจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนแบบเงินผ่อน และการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ซึ่งมุ่งเน้นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม โดยมีขนาดสินทรัพย์รวมของบริษัทมีมูลค่า 6.9 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีการกระจายแหล่งรายได้และสินเชื่อที่ดี ส่วนเครือข่ายทั่วประเทศของบริษัทซึ่งอยู่ในช่วงของการขยายตัวประกอบด้วย 175 สาขา 1,360 แฟรนไชส์ และพนักงานขายกว่า 3,800 คน เป็นปัจจัยเกื้อหนุนความกระจายตัวของพื้นที่ครอบคลุมทางธุรกิจ

ที่มาของรายได้หลักของบริษัทมาจากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ประมาณ 60% ของรายได้รวม ในปี 2562 ตามมาด้วยรายได้จากดอกเบี้ย ประมาณ 40% นอกจากนี้ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 25% ซึ่งเป็นระดับที่บริหารจัดการได้

SINGER มีระดับฐานทุนยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระดับสูง สนับสนุนรายได้จากการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า และการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ให้เติบโตขึ้น และอัตราการจ่ายเงินปันผลตามนโยบายของบริษัทที่ระดับ 60% สะท้อน SINGER จะเป็นบริษัท Growth Stock และ Dividend Stock ที่มีแหล่งเงินทุน และสภาพคล่องมั่นคงเพียงพอต่อความต้องการใช้เงินทุนในระยะยาว และสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องได้ในอนาคต โดยตั้งเป้าหมาย จะปล่อยสินเชื่อรถทำเงินในปีนี้ 2,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นเท่าตัวจากพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินปีก่อน ส่วนเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้วางไว้จะเติบโตแตะ 5,800 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 61%”

5 views

Kommentare


bottom of page