top of page
379208.jpg

จับตาทิศทางการเมืองสหรัฐฯภายหลังชัยชนะของนายไบเดน และสถานการณ์การระบาดของโควิด-19


วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 9 – 13 พ.ย. 2563


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-6 พ.ย.) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการคาดการณ์ที่ว่า นายโจ ไบเดนจะชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ หลังมีคะแนนนำประธานาธิบดีทรัมป์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในรัฐที่คาดคะแนนเสียงได้ยาก (Toss-up) และจากการคาดการณ์ที่ว่า จะไม่มีพรรคใดครองอำนาจเบ็ดเสร็จในสภาคองเกรส โดยพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มที่จะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้นโยบายขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของนายไบเดน ผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ประกอบกับที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ให้คำมั่นว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย 2% ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกค่อนข้างมากเช่นกัน หลังบริษัทจดทะเบียนในยุโรปรายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ออกมาแข็งแกร่ง ประกอบกับขานรับที่ประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ได้เพิ่มการซื้อพันธบัตรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษได้ขยายโครงการช่วยเหลือประชาชนที่ถูกพักงานเนื่องจากไวรัสโควิด-19 สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้น หลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีน โดยไฉซิน ในเดือนต.ค. ขยายตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ด้านตลาดหุ้นไทยปิดบวก จากความคาดหวังที่ว่า หากนายไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลาดหุ้นเอเชียจะผันผวนน้อยลง และจะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น จากคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มโอเปกพลัส จะเลื่อนแผนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในปี 2021 ออกไป เนื่องจากความกังวลที่ว่า การใช้มาตรการ lockdown รอบใหม่ในหลายประเทศ จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับ Sentiment ในเชิงบวก จากการที่นายไบเดนชนะการเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ขณะที่ พรรคเดโมแครตมีแนวโน้มไม่ได้ครองเสียงส่วนใหญ่ทั้ง  2 สภา ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นภาษีและการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นทำได้ยาก พร้อมทั้งยังส่งผลให้นโยบายด้านต่างประเทศของสหรัฐฯ มีความประนีประนอมมากขึ้น และนโยบายขาดดุลทางการคลัง เพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 และปฏิรูปเศรษฐกิจ ยังดำเนินต่อไป นอกจากนี้ ในสัปดาห์นี้ ตลาดฯยังได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากแนวโน้มการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อ จากประธานธนาคารกลางของยุโรป (ECB) และสมาชิก ECB และการทยอยรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2020 ที่มีแนวโน้มออกมาดี รวมทั้ง สัญญาณความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 หลังบริษัท AstraZeneca วางแผนที่จะเริ่มการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทางคลินิกในขั้นต้น และขั้นกลางที่จีน ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาทางการคลังรอบใหม่ของสหรัฐฯ ความกังวลการระบาดระลอกใหม่ในสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้ช่วงฤดูหนาว และจะส่งผลกระทบต่อภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในระยะถัดไป ตลอดจนความเสี่ยงในประเด็น No-Deal Brexit และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯที่ยังมีอยู่ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และกล่าวว่า ผลการลงคะแนนไม่ยุติธรรม พร้อมทั้ง เรียกร้อยให้นับคะแนนใหม่ จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดฯ และยังกดดันภาพรวมการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลก


เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· ติดตามความไม่แน่นอนทางการเมืองของสหรัฐฯ แม้ว่านายไบเดนจะชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยได้รับคะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง 290 เสียง แต่ทางนายทรัมป์ ยังไม่ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมอ้างว่า ถูกโกงการนับคะแนนในหลายรัฐ และจะฟ้องคัดค้านต่อศาลสูงสุด


· ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้มาตรการ lockdown โดยยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ ยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในยุโรปที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้อิตาลี สวีเดน และอังกฤษ ใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้มงวดขึ้น โดยอังกฤษได้ใช้มาตรการ lockdown ทั่วประเทศรอบใหม่ จนถึงวันที่ 2 ธ.ค.


· ติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนและยาต้านโควิด-19 โดยบริษัท AstraZeneca ได้เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนที่จะเริ่มการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ทางคลินิกในขั้นต้น และขั้นกลางที่ประเทศจีน ภายในปีนี้ พร้อมทั้งมีการคาดการณ์ว่า วัคซีนข้างต้นอาจได้รับการอนุมัติให้ใช้ในจีนภายในกลางปีหน้า ด้านออสเตรเลียได้ทำข้อตกลงจองซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อีก 40 ล้านโดส จากบริษัท Novavax และ 10 ล้านโดส จากบริษัท Pfizer และบริษัท Biontech


· ติดตามข้อพิพาททางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้า โดยสเปนกำลังเตรียมออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีร้อยละ 5.0 จากบริษัทที่ให้บริการสตรีมมิ่งรายใหญ่หลายแห่ง รวมถึง Netflix เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ช่วยอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ ด้านสหรัฐฯได้ประกาศการจัดเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนของรัฐบาลต่อยางรถยนต์ที่นำเข้าจากเวียดนาม โดยจะเรียกเก็บในอัตรา 6.23-10.08%


· ติดตามประเด็น Brexit โดยอังกฤษ และยุโรปจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้าหลัง Brexit ในสัปดาห์นี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่ทั้งสองที่จะยังไม่สามารถตกลงกันได้ หลังจากที่ได้มีการหารือเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ต.ค. โดยหัวข้อที่ยังตกลงกันไม่ได้คือ เรื่องของการประมงและน่านน้ำ


· ติดตาม ECB Forum โดยถ้อยแถลงของสมาชิกธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีหลายประเด็น เช่น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในโลกยุคหลังโควิด-19, เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อและการสื่อสารของธนาคารกลาง และนัยทางการเงินและมหภาคต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


· ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาผู้บริโภค และการปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ของจีน, ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดย ZEW ของเยอรมนี, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ GDP ในไตรมาส 3 (รายงานครั้งที่ 2) ของยูโรโซน, ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานและทั่วไป ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานและทั่วไป ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ของสหรัฐฯ, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และ GDP ในไตรมาส 3 ของอังกฤษ, ดัชนีราคาผู้ผลิต และ GDP ในไตรมาส 3 (รายงานครั้งแรก) ของญี่ปุ่น, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ของไทย

 

วิเคราะห์โดย: เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด จตุรภัทร ทนาบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

6 views

Comments


bottom of page