top of page
369286.jpg

ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวน จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้บริษัทจดทะเบียน



ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 เม.ย.) ตลาดหุ้นโลกเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP โลก ในปีนี้หดตัว -3% ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1929 ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความหวังที่ว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีทรัมป์ จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และกลับมาเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯอีกครั้ง ขณะที่ตลาดยุโรปปิดบวกเล็กน้อยได้รับแรงหนุนจากสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใกล้แตะระดับสูงสุดแล้วในบางพื้นที่ของยุโรป ประกอบกับนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ได้ประกาศแผนผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ด้านตลาดหุ้นจีนปรับเพิ่มขึ้นหลังยอดส่งออกและยอดนำเข้าของจีน ในเดือน มี.ค.ปรับตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ประกอบกับธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีลง 0.2% อยู่ที่ 2.95% และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ 100 พันล้านหยวน สำหรับตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยในช่วงแรกปรับลดลงจากแรงขายนำในหุ้นกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ตามการปรับลดลงของราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ดัชนีฯลดช่วงลบ และปิดบวก หลังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาระบุว่า จะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางส่วน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ ด้านราคาน้ำมันดิบ ปรับลดลงอย่างมาก หลังสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เตือนว่า วิกฤตการณ์จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันทั่วโลก ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับเพิ่มเป็นสัปดาห์ที่ 12 ติดต่อกัน


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจาก ความกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแม้ธนาคารกลางและรัฐบาลของหลายประเทศ ออกมาตรการทางการเงิน และการคลัง ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสก็ตาม ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1/2020 ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปมีแนวโน้มออกมาหดตัวลง นอกจากนี้ตลาดฯอาจได้รับปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลดลง จากความกังวลเรื่องอุปสงค์น้ำมันโลก แม้ว่าตลาดฯอาจได้แรงหนุนบางส่วนจากความคาดหวังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของประเทศต่างๆ ในระยะเวลาอันใกล้ก็ตาม ด้านตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มได้รับแรงหนุนบางส่วนจากเว็ปไซด์ราชกิจจานุเบกษา ที่เผยแพร่พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกซอฟท์โลน เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 5 แสนล้านบาท, ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (BSF) มูลค่า 4 แสนล้านบาท และให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่า ในส่วนของพ.ร.ก.กู้เงิน จะมีเม็ดเงินจะเข้าระบบได้ในเดือน พ.ค.นี้


เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และยุโรป เริ่มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง

· ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศแผนการเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยจะแบ่งเป็น 3 เฟส โดยความคืบหน้าในแต่ละเฟส จะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ ว่าได้ชะลอลงในช่วง 2 สัปดาห์หรือไม่

· การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี และสหราชอาณาจักร โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P (24 เม.ย.)

· การทยอยประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ยุโรป และไทย

· ติดตามการประชุมของรัฐมนตรีคลังของกลุ่มยูโรโซนในช่วงปลายสัปดาห์ ในประเด็นการออกมาตรการด้านการคลัง เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสอง และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนของสหรัฐฯ, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น, ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) และดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจ (Ifo) ของเยอรมนี

  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งใน และต่างประเทศ, ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ, การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2020 ของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ยุโรป และไทย


วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

11 views

댓글


bottom of page