top of page
379208.jpg

ถอยระยะสั้น..ถ้าไม่ต่ำกว่า 1,632 ไม่น่ากังวล


สหรัฐดอกเบี้ยชะลอ และเศรษฐกิจดีกว่าคาด ! ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้ หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 มาอยู่ที่ 2.9% ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน ตุลาคม 2565 แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ยังคงต่ำกว่าการขยายตัวที่ระดับ 3.4% ในปี 2565

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 1.4 ในปี 2566 ซึ่งปรับเพิ่มขึ้น 0.4% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน ตุลาคม 2565 ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ดีกว่าตลาดคาดการณ์ โดยเฟด มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75%

หลังจากการแถลงข่าวของประธาน เฟด ตลาดการเงินคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) จะอยู่ที่ 4.892% ภายในเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งลดลงจากระดับ 4.92% ก่อนการแถลงข่าวของ ประธานพาวเวล

ขณะที่ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐเริ่มชะลอตัวลง หลังสหรัฐประกาศตัวเลขดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.0% ในเดือนธันวาคม 2565 เมื่อเทียบรายปี และชะลอตัวจากระดับ 5.5% ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อเทียบรายเดือน โดยที่ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน ธันวาคม 2565 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% เช่นกันในเดือน พฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือน ธันวาคม 2565 เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือน พฤศจิกายน 2566 เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน ธันวาคม 2565 สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน พฤศจิกายน 2565

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่ง ทำให้นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนักมากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession สะท้อนออกมาจากผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงาน เพิ่มขึ้น 572,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.0 ล้านตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2565 สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าลดลงสู่ระดับ 10.25 ล้านตำแหน่ง จากระดับ 10.44 ล้านตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 3,000 ราย สู่ระดับ 183,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 200,000 ราย

ขณะที่ ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 47.4 ในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 ในเดือนมกราคม 2566 จากระดับ 46.2 ในเดือนธันวาคม 2565 และสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 46.8

ส่วนผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะกลับเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +1.50% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 29.90% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -2.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 34.60%

จีนและญี่ปุ่นนำเอเชียโดดเด่น ! ตลาดหุ้นเอเชียยังคงโดดเด่นต่อเนื่อง จากปัจจัยเฉพาะตัวในภูมิภาค โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ในส่วนของจีน Momentum ทางเศรษฐกิจที่ดีเป็นปัจจัยบวกอย่างมาก ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นยู่ที่ระดับ 50.1 จากระดับ 47 ในเดือนธันวาคม 2565 และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 49.8

ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัว และเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 หลังจากรัฐบาลจีนประกาศยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถเดินสายการผลิตได้รวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือนมกราคม 2566 ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 54.4 จากระดับ 41.6 ในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนเริ่มมีการขยายตัวเช่นกัน

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัว 5.2% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.8% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนตุลาคม 2565 และขยายตัว 4.5% ในปี 2567 ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม 2565

ในส่วนของญี่ปุ่น ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือนมกราคม 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 โดยดัชนีดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางเงินเฟ้อทั่วประเทศ ด้านนักวิเคราะห์ระบุว่าเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวขึ้นโดยได้แรงหนุนจากราคาอาหารและเชื้อเพลิงเป็นส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็ได้แรงหนุนจากราคาสินค้าที่ปรับตัวขึ้นแบบเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% และปรับขึ้นเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2524 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังปรับตัวขึ้น 3.9% ในเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่ BOJ เปิดเผยว่าทางธนาคารจะออกเงินกู้ระยะเวลา 5 ปีโดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ นับเป็นครั้งที่สองแล้วที่ BOJ ยื่นข้อเสนอในลักษณะดังกล่าว หลังจากที่เร่งดำเนินโครงการสนับสนุนเงินทุนในเดือนนี้ เพื่อป้องกันนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทย เมื่อมองผ่านมุมมองในทางเทคนิค พบว่าในระยะสั้นหาก SET ไม่สามารถยืนเหนือ 1,675 จุด การพักฐานระยะสั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันที่ 1,632 จุด ยังคงไม่มีอะไรน่ากังวล หรือมีสัญญาณของการเปลี่ยนทิศในระยะสั้นๆ

กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,632 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ



ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


8 views

Comments


bottom of page