เฟดกดดันต่อ !
ทิศทางของตลาดหุ้นโลกเข้าสู่แนวโน้มของการพักตัวในระยะสั้นอย่างชัดเจน หลังจากที่ในเชิงเทคนิค การที่ดัชนี MSCI ACWI ขยับลงมาเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 วัน สะท้อน Momentum ที่สูญเสียไปของแนวโน้มขาขึ้นในราย 3 เดือน แม้ว่าการที่ดัชนี MSCI ACWI ยังคงยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วัน จะยังสะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มรายปีของตลาดหุ้นโลกได้ก็ตาม โดยที่ปัจจัยกดดันหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ที่การเดินหน้าเข้าสู่ Exit Strategy อย่างเติมที่ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงทรงตัวอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่าดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 4.8% ในเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2526
ขณะที่ล่าสุด โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย Fed Fund Rate รวม 5 ครั้งในปี 2565 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง โดยมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2565 เลย อันเป็นผลมาจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ออกมาเปิดเผยหลังจากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC ครั้งแรกของปี 2565 ว่าเฟดมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565 และยืนยันแผนยุติโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเดือนเดียวกัน เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
โกลด์แมน แซคส์ประเมินว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 2565 และ พ.ค. 2565 รวมทั้งจะประกาศเริ่มต้น “การลดขนาดงบดุล” ในเดือน มิ.ย. 2565 จากนั้นจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในเดือน ก.ค. 2565, ก.ย. 2565 และ ธ.ค. 2565 ตามลำดับ โดยเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.00-0.25%
นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์ยังคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2566 และปรับขึ้นดอกเบี้ยให้แตะ 2.50-2.75% ในปี 2567 ด้วย
อย่างไรก็ดีในระยะสั้นต้องยอมรับว่าในกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก มีเพียงสหรัฐเท่านั้นที่ส่งสัญญาณในการลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศอื่นยังคงจำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายต่อไป เพื่อหนุน Momentum การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฝั่งของเอเชีย ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาแนะนำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านเงินเฟ้อ พร้อมกับแนะนำให้ BOJ พิจารณากำหนดเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสำหรับพันธบัตรที่มีอายุไถ่ถอนสั้นลงด้วย เพื่อทำให้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมีความยั่งยืนมากขึ้น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นซึ่งยังคงอ่อนแออยู่ที่ราวระดับ 0.5% และการคาดการณ์ที่ว่าอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีดตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% นั้น BOJ จึงยังจำเป็นต้องรักษาจุดยืนด้านการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อไป
ท่าทีของ IMF ในครั้งนี้ สอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF ออกมาระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สกุลเงินดอลลาร์จำนวนมาก
การเมืองระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวที่เปราะบาง ! นอกจากนี้ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งมาพร้อมกับความเสี่ยงของการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามด้วย หลังจากที่ล่าสุดกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้ยิงขีปนาวุธข้ามพรมแดนเพื่อหวังโจมตีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE อีกระลอก โดยนับเป็นครั้งที่ 3 ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่กลุ่มกบฏฮูตีก่อเหตุโจมตี UAE ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวร่วมสำคัญของกองกำลังพันธมิตรภายใต้การนำของซาอุดีอาระเบีย ขณะที่กลุ่มกบฏฮูตีได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิหร่านซึ่งเป็นคู่ปรับของซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้เพิ่มคำเตือนให้ระวังอันตรายจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธหรือโดรนในการเดินทางไปยัง UAE ในภาวะที่อีกฝั่งด้านหนึ่งพบว่าสถานการณ์ในยูเครนยังคงตึงเครียด โดยที่ล่าสุดกระทรวงกลาโหมสหรัฐออกมาระบุว่ารัสเซียยังคงเพิ่มกำลังทหารบริเวณพรมแดนติดกับยูเครนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย หากว่ามีการตัดสินใจบุกยูเครน ขณะที่สหรัฐและชาติพันธมิตรกำลังหาทางเพิ่มแรงกดดันทางทหารและการทูตต่อรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียเคลื่อนกำลังพลประมาณ 100,000 นายเข้าใกล้ยูเครน และมีกำหนดซ้อมรบในเดือนหน้าที่เบลารุสซึ่งก็มีพรมแดนติดกับยูเครนเช่นกัน แม้ว่ารัสเซียจะได้ออกมาระบุว่าไม่มีแผนที่จะบุกยูเครนก็ตาม แต่ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐได้ออกมาระบุแล้วว่าจะส่งทหารอเมริกันไปยังยุโรปตะวันออกและประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพันธมิตร NATO ที่เตรียมเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียนับแสนรายที่สั่งสมกำลังตามแนวชายแดนที่ติดกับยูเครน
ขณะที่ในเชิงเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แต่เศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ยังคงมีการฟื้นตัวที่เปราะบาง ที่ชัดเจนคือจีน ซึ่งล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน หรือ NBS ออกมาระบุว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ PMI ภาคการผลิตปรับตัวลงแตะระดับ 50.1 ในเดือน ม.ค. 2565 จากระดับ 50.3 ในเดือน ธ.ค. 2564 ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการของจีนในเดือน ม.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 51.1 ชะลอตัวลงจากระดับ 52.7 ในเดือน ธ.ค. 2564 โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุปสงค์ที่อ่อนแรงลง ทั้งนี้การพุ่งขึ้นของยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในหลายเขตของจีน ทำให้ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการปรับตัวลดลง 1.7% จากเดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 50.3 ในเดือน ม.ค. 2565 ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในภาวะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาส่งสัญญาณว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก แต่ก็เป็นไปอย่างไม่สมดุล เนื่องจากมียอดการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอ รวมถึงความไม่แน่นอนจากการใช้มาตรการปราบปรามธุรกิจในภาคเทคโนโลยี และภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง โดยที่ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 4.8% ในปีนี้ และ 5.2% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าระดับของปี 2564 ที่ขยายตัวถึง 8.1% สอดคล้องกับในฝั่งของยุโรปที่สมาพันธ์อุตสาหกรรมอังกฤษ หรือ CBI ออกมาให้ข้อมูลว่าธุรกิจในอังกฤษรายงานการเติบโตที่ชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งเดือน เม.ย. 2564 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา หลังความต้องการในการใช้บริการแบบพบหน้าของผู้บริโภคหดตัวจากการที่สายพันธุ์โอไมครอนแพร่ระบาด
ขณะที่ในฝั่งของเยอรมัน สำนักงานสถิติเยอรมันระบุว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของเยอรมันหดตัวลง 0.7% มากกว่าระดับคาดการณ์ในไตรมาส 4 ปี 2564 เนื่องจากมาตรการสกัดโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงเทคนิคตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,637 จุด) อีกครั้ง แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,637 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,591 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวล
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments