top of page
312345.jpg

ถอยไม่หลุด 1,600 มีลุ้นดีดกลับ...บนความกลัวที่เพิ่มขึ้น !



ตลาดสหรัฐในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเริ่มเห็นการดีดกลับที่ชัดเจนขึ้นอีกครั้งนะครับ หลังจากความกังวลเกี่ยวกับประเด็นการขยายเพดานหนี้ หรือ Debt Ceiling ของสหรัฐลดน้ำหนักลง หลัง สภาคองเกรส มีมติขยายเพดานหนี้ภาครัฐไปถึงต้นเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ประกาศออกมายังคงแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ที่ลดลงสู่ 3.26 แสนราย ดีกว่าที่ Consensus คาดที่ 3.48 แสนราย สอดคล้องกับตัวเลขอัตราการว่างงาน หรือ Unemployment Rate ที่ถูกประกาศออกมาลดลงมาอยู่ที่ 4.8% ดีกว่าที่ Consensus คาดไว้ที่ 5.1% และลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ 5.2%

อย่างไรก็ดีในระยะต่อไปมีโอกาสที่ตลาดหุ้นสหรัฐจะมีความผันผวนมากขึ้นจากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ล่าสุดปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกที่ยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ประชุม OPEC+ ตกลงที่จะคงมติทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องจากประเทศขนาดใหญ่ โดย OPEC+ ชี้แจงเหตุผลของการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตเนื่องจากความกังวลต่อการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพลังงานในหลายประเทศ

เมื่อรวมเข้ากับความเสี่ยงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน (แม้ว่าก่อนหน้านีผู้นำทั้งสองฝ่ายพูดคุยกันทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 9 กันยายน และมีกระแสว่าจะมีพูดคุยกันทางออนไลน์ภายในสิ้นปีนี้) โดยเมื่อ 6 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาได้มีการเจรจากันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์แต่จากความตึงเครียดบนช่องแคบไต้หวันที่จีนส่งเครื่องบินเข้ามาในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน ทำให้ประเด็นความตรึงเครียดระหว่างจีน ไต้หวัน และสหรัฐยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม

ทั้งนี้ความอ่อนแอของการดีดกลับของตลาดหุ้นสหรัฐ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 2.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 25.50% ต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่แม้ว่าจะลดลง 3.90% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ที่ 36.80%

ยืนเหนือ 1,600 จุดได้ยังไม่มีอะไรน่ากังวล ! แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับการขยับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด หรือการเข้าสู่ Exit Strategy ของเฟด หลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะสั้นผันผวนแน่นอน โดยเฉพาะหลังจากที่ Dot Plot แสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในปี 2565 ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมในการประชุมครั้งก่อนหน้า อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงไม่อยากให้นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์นี้ว่าจะกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากเกินไป เนื่องจากถ้าพิจารณาจากระดับราคาโดยเปรียบเทียบของแต่ละตลาดหุ้นผ่าน Earnings Yield Gap ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นราคาน่าสนใจ โดยการเอาอัตราผลตอบแทนจากกำไรของตลาดหุ้น หรือ Earning Yield มาเทียบกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีในตลาดตราสารหนี้

ทั้งนี้ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หมายความว่าตลาดหุ้นของประเทศนั้นซื้อขายอยู่ในโซนแพง หรือ Overvaluation ในทางตรงกันข้าม ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต หมายความว่าตลาดหุ้นของประเทศนั้นซื้อขายอยู่ในโซนถูก หรือ Undervaluation ซึ่งปัจจุบัน Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นสหรัฐอยู่ที่ระดับ 2.2% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีที่ระดับ -1.0SD ขณะที่ Earnings Yield Gap ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 3.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีที่ระดับ +0.2SD

จากระดับดังกล่าวสะท้อนว่าตลาดหุ้นสหรัฐนั้นอยู่ในระดับ Overvaluation และตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับ Undervaluation เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

ดังนั้นจากระดับราคาที่ยังไม่แพง และมี Potential Downside Risk ต่ำ ปัจจัยกดดันจากต่างประเทศจะกระทบตลาดหุ้นไทยไม่มาก โดยที่ในทางเทคนิค “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันว่าการปรับตัวลงในระหว่างสัปดาห์ของ SET จะเป็นเพียงการพักตัวเพื่อขึ้นต่อ โดยเป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ บริเวณ Fib Node 0.382 หรือ 38.2% ที่ 1,600 จุดของ SET ยังจะทำหน้าที่เป็นแนวรับ และจุดหมุนที่สำคัญ โดยที่ตราบใด SET ไม่หมุนลงต่ำกว่า 1,600 จุดอีกครั้ง SET น่าจะขยับกรอบการเหวี่ยงตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,650-1,700 จุดได้ หลังจากได้ปัจจัยหนุนจากแนวโน้มการเข้าซื้ออย่างต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ที่สะท้อนมาจากการที่ดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมาทำสัญญาณ Buy Signal อีกครั้ง และตราบใดที่นักลงทุนต่างชาติไม่กลับมาขายสุทธิต่อเนื่องอีกมากกว่า 2.0 หมื่นล้านบาท เป้าหมายในระยะ 1-2 สัปดาห์ที่การแกว่งขึ้นไปในกรอบ 1,650-1,700 จุดก่อนในเบื้องต้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการเซียนเศรษฐกิจ ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

18 views
bottom of page