top of page
358556.jpg

การกลับมาของไวรัส กดดันตลาดหุ้นไทย


ตลาดหุ้นโลกยังดูดี !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.72% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดังกล่าว สะท้อนออกมากจากทิศทางของดัชนี VIX Index หรือดัชนีความกลัว ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของตลาดหุ้น โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงลดลง 2.62%, 0.73% และ 0.38% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดัชนี MSCI ACWI ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา และสอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ที่แม้ว่าจะลดลง 4.63% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ที่ 43.43% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 26.29% โดยที่ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นโลก สอดคล้องกับมุมมองในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลกขึ้นอีก 0.1% ลงมาอยู่ที่ -5.3% ในทิศทางเดียวกับการที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นสหรัฐ และ Asia ex Japan ขึ้น 0.1% และ 3.2% ตามลำดับในสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดีในด้านของความสามารถในการทำกำไร ตลาดหุ้นไทยดูแย่กว่า สะท้อนจากอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -38.3% ยังถือว่าอ่อนแอมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก, สหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ -5.3%, +0.9%, +3.2% และ -27.3% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี US Dollar Index ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 1.09% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ Asian Dollar Index ของค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้น 0.14% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูด Foreign Fund Flow เข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย ที่จะได้ประโยชน์มากๆ จากสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่มีอยู่มากในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของฝั่งยุโรปที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ยังคงยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินมากขึ้น รวมถึงการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารต่างๆ และมีแผนที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆออกมาเพิ่มเติมด้วย ซึ่งบอกเป็นนัยได้ว่า ECB จะไม่หยุดยั้งการผ่อนคลายนโยบายลงอีก

ขณะที่ในฝั่งของสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดยังคงให้คำมั่นว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมีการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเหนือระดับเป้าหมาย 2% นอกจากนี้เฟดยังระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือน รวมทั้งใช้เครื่องมืออื่นตามที่จำเป็น โดยขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ โดยทางด้าน Goldman Sachs ประเมินว่าเฟดจะคงที่ 0% ไปจนถึงปี 2568 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ Goldman Sachs มองว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังจะเข้าสู่ขากระทิง หรือ Bullish ทั้งนี้หากดอกเบี้ยสหรัฐจะคงตรึงอยู่ที่ 0% ไปอีก 5 ปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในเอเชียจะปรับตัวสูงขึ้นก่อนสหรัฐ จะทำให้เอเชียยิ่งน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนต่างชาติเข้าไปอีก และเงินทุนจะไหลเข้าสู่เอเชียโดยเฉพาะในจีนเป็นหลัก

COVID รอบใหม่ดันเงินต่างชาติไหลออก ! ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงของเทคนิค การที่ Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมามีสัญญาณ Negative Convergence อีกครั้ง หลังจากที่ประเทศไทยพบกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการไหลออกของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยจะยังคงมีอยู่ในระยะสั้นต่อไป ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การที่ SET ไม่สามารถทะลุผ่าน 1,500 จุดไปได้ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา ทำให้ “นายหมูบิน” มองว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถทะลุผ่าน 1,500 จุดไปได้ ในระยะสั้น SET ยังคงอยู่ในทิศทางของการแกว่งตัวลง โดยมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รอบใหม่เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ และมีบริเวณ 1,400-1,350 จุดเป็นกรอบแนวรับที่ SET จำเป็นต้องสร้างฐานต่อไป ขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ P/E ratio ราว 25.3 เท่า ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ระดับ 17.0 เท่าค่อนข้างมาก หรือคิดเป็น Premium ที่ถึง 49.2% นอกนี้ถ้าเทียบกับระดับ P/E ratio ของดัชนี MSCI Asia ex Japan ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 25.1 เท่า ถือว่าตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคโดยเฉลี่ย เนื่องจากความสามารถในการทำกำไรของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ MSCI Asia ex Japan พอสมควร

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,500 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club

23 views

Comments


bottom of page