top of page
379208.jpg

ตลาดผันผวนต่อเนื่อง ! ยังคงหาปัจจัยบวกชัดๆ ไม่เจอ


ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงผันผวนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 3 พ.ย. นี้ โดยที่ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลก ซึ่งออกแบบมาเพื่อสะท้อนด้านเคลื่อนไหวของราคาตลาดหุ้นโลก และคิดคำนวณโดย Morgan Stanley Capital International (MSCI) ประกอบด้วยหุ้นจากตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลง 3.29% ขณะที่ล่าสุดตลาดหุ้นโลกยังถูกประเด็นกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่อาจจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้

รวมถึงการกลับมาระบาดของ COVID-19 ในแถบยุโรป โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ซึ่งล่าสุดที่ปรึกษารัฐบาลอังกฤษเปิดเผยว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส รายใหม่ในอังกฤษเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 7 วัน หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็จะทำให้อังกฤษมีผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่จำนวน 50,000 รายต่อวันภายในกลางเดือนหน้า และจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 รายต่อวัน แม้ว่าอังกฤษจะยังไม่ประกาศล็อกดาวน์ประเทศรอบ 2 แต่ได้ออกมาตรการให้ประชาชนทำงานจากที่บ้าน รวมทั้งผับ และร้านอาหารจะต้องปิดร้านตั้งแต่เวลา 22.00 น. โดยมีการระบุถึงความเสี่ยงที่จะล็อกดาวน์รอบ 2 หากไม่สามารถคุมสถานการณ์ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ได้

นอกจากนี้ความล่าช้าในการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐยังคงเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือคนว่างงานซึ่งได้หมดอายุลงแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 63 ทั้งนี้พรรค Republican ต้องการลดวงเงินช่วยเหลือคนว่างงานลงสู่ระดับ 300 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ แต่พรรค Democrat ต้องการรักษาวงเงินดังกล่าวเอาไว้ที่ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ อย่างไรก็ตามยังมีความคืบหน้าเล็กน้อย หลังจากมีข่าวว่าสมาชิกพรรค Democrat กำลังพิจารณามาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากผลกระทบของไวรัส COVID-19 วงเงินประมาณ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ Nancy Pelosi ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐยืนยันว่าพร้อมที่จะเจรจากับทำเนียบขาว

ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาจากทิศทางของดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด และมีความสัมพันธ์ หรือ Correlation ในทิศทางตรงกันข้ามกับตลาดหุ้น โดยเป็นการหาค่า Volatility (ค่าความผันผวน) ผ่านตัว Option โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ และยุโรป เพิ่มขึ้น 7.75% และ 25.71% สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น

สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 7.13% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 24.89% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 5.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 45.99%

เศรษฐกิจโลกเริ่มดึงไม่ขึ้น ! ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่อาจจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่ Jerome Powell ประธานเฟดยังคงย้ำว่าสหรัฐจำเป็นต้องมีนโยบายการคลังออกมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังดีขึ้น แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกลก่อนที่จะเกิดการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และทิศทางของเศรษฐกิจในอนาคตยังมีความไม่แน่นอนสูงมาก ประกอบกับตัวเลขดัชนี Composite PMI ของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือน ก.ย. 63 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 54.6 ในเดือน ส.ค. 63 สอดคล้องกับดัชนี Composite PMI ของ EU ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือน ก.ย. 63 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน จากระดับ 51.9 ในเดือน ส.ค. 63

ขณะที่ตัวเลข Initial Jobless Claims สหรัฐเพิ่มขึ้นจำนวน 870,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 840,000 ราย หลังจากอยู่ที่ระดับ 866,000 รายในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ประกอบกับความเสี่ยงใหม่ที่ต้องจับตาและกระทบต่อความเชื่อมั่นแน่นอนคือการที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี แม้จะมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวก็ตาม ขณะที่ธนาคาร 4 แห่งของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมการโอนเงินที่น่าสงสัย

แนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคระยะสั้น “นายหมูบิน” ยังคงยืนยันมุมมองเดิมว่าสำหรับตลาดหุ้นไทย ตราบใดก็ตามที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิด เพื่อสร้างฐานในกรอบ 1,370-1,400 จุดได้ การดีดตัวขึ้นช่วงสั้นยังคงมองว่าเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น และยังคงไม่สามารถยืนยันการปรับตัวขึ้นต่ออย่างจริงจังได้ รวมทั้งโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.6 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,370 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, ADVANC และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club


14 views

Comments


bottom of page