โดย คุณกิตติพงษ์ เรือนทิพย์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS
Key Highlights
= การระบาดระลอก 3 ในไทยที่ยืดเยื้อและรุนแรง ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศมีโอกาสหดตัวเหลือ 63.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 81.2 ล้านคน-ครั้ง
= การใช้โมเดล Sandbox ช่วยให้นักท่องเที่ยวมาไทยไม่มากนัก เนื่องจากหลายชาติยังไม่แนะนำให้มาไทย และไทยก็ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากหลายชาติ
= Krungthai COMPASS ประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2022 จะมีเพียง 9.9 ล้านคน จากความเสี่ยงที่จีนยังไม่เปิดประเทศ และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้การท่องเที่ยวทำไม่ได้โดยสะดวก
= มองว่าในปี 2022 นักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมียมจะฟื้นก่อน จากความสามารถในการเที่ยวที่มากกว่า โดยการมาเที่ยวจะเป็นแบบเที่ยวด้วยตัวเอง แบบกลุ่มเล็กมากยิ่งขึ้นจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
ระบาดระลอก 3 ยืดเยื้อรุนแรง ท่องเที่ยวในประเทศปีนี้มีโอกาสหดตัวลงจากที่เคยประเมินไว้
ตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศในเดือน พ.ค. ต่ำมาก และในเดือน มิ.ย. ก็น่าจะไม่ต่างกันนัก ผลกระทบจากการระบาดในประเทศระลอก 3 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศในเดือน พ.ค. อยู่ที่เพียง 1.4 ล้านคน ต่ำที่สุดในรอบ 1 ปี (รูปที่ 1) ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่เพียง 5% เท่านั้น สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือน มิ.ย. หากประเมินสถานการณ์ผ่าน High-Frequency Indicators ต่างๆ (รูปที่ 1-2) คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยว ในเดือน มิ.ย. น่าจะอยู่ระดับต่ำไม่ต่างกับเดือน พ.ค. เท่าใดนัก
คาดท่องเที่ยวในเดือน ก.ค. ยังไม่ฟื้น จากภาวะระบาดรุนแรงและมาตรการกึ่งล๊อกดาวน์รอบล่าสุด สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในวันที่ 2 ก.ค. ที่อยู่ในระดับมากกว่า 6 พันราย ประกอบกับมาตรการควบคุมการระบาด ที่ผู้ที่เดินทางจากจังหวัดสีแดงเข้มทั้ง 10 จังหวัด (มีกรุงเทพฯ รวมอยู่ด้วย) ต้องกักตัวเมื่อเดินทางไปจังหวัดอื่น ตลอดจนการห้ามรับประทานอาหารในร้านในหลายจังหวัดที่มีการระบาด ล้วนเป็นปัจจัยลบในการตัดสินใจที่จะเดินทางท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าการท่องเที่ยวคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเดือน ก.ค.
การระบาดระลอก 3 ยืดเยื้อรุนแรงกว่าคาด กดดันให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศทั้งปีอาจเหลือเพียง 63.6 ล้านคน-ครั้ง ผลของการระบาดและการมีมาตรการกึ่งล๊อคดาวน์ครั้งล่าสุดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเดือน ก.ค. มีโอกาสอยู่ในระดับต่ำ และทำให้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวชะลอลงไปอีก (เส้น New Base ในรูปที่ 3) ทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศปีนี้เหลือเพียง 63.6 ล้านคน-ครั้ง ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ช่วงจากที่เคยประเมินไว้ที่ 81.2 ล้านคน-ครั้ง (Old Baseline) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นประมาณ 9.7 หมื่นล้านบาท
ด้วยการระบาดในประเทศที่รุนแรงขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศหดตัวกว่าที่คาด หลายฝ่ายอาจเริ่มหวังไปที่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก Sandbox Model และคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ดีในปีหน้า ในส่วนถัดไป จะทำการวิเคราะห์ว่านักท่องเที่ยวจะฟื้นได้มากแค่ไหนหลังการเปิดประเทศแล้ว
Sandbox Model จะช่วยให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้มากแค่ไหน?
แม้ว่าจะมีการทำ Sandbox ในไตรมาส 3 แต่คาดว่ายังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่มากนัก ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. จะมีการ Reopen Thailand โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ต้องกักตัวในระยะแรก ในกลุ่ม 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และอาจรวมถึง กรุงเทพฯ ซึ่งแม้การทำ Sandbox จะไม่มีการเลื่อนหรือยกเลิกกลางคัน
ก็เป็นที่คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวในช่วงนี้จะยังมาไม่เยอะนัก เนื่องจาก ไทยยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศความเสี่ยงสูงหลายประเทศ ซึ่งหลายประเทศเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เคยมาไทย โดยหากพิจารณากลุ่มประเทศหลักที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทย พบว่าหลายประเทศยังอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อินเดีย มาเลเซีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น (รูปที่ 4) ทำให้ไทยยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้ การที่รายชื่อประเทศในแต่ละกลุ่มความเสี่ยงมีการปรับเปลี่ยนได้เสมอ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การวางแผนท่องเที่ยวมีความไม่แน่นอนสูง
หลายประเทศก็ยังไม่แนะนำให้ประชาชนเดินทางไปเที่ยวไทย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ตลอดจนประเทศทางตะวันตกอย่าง สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ที่ยังไม่แนะนำหรืออนุญาตให้ประชาชนในประเทศตัวเองเดินทางมาไทย และหากมีการเดินทางกลับจากไทยก็ต้องทำการกักตัวเป็นระยะเวลาประมาณ 7-14 วัน ทำให้ความไม่สะดวกในการมาเที่ยวไทยมีสูงขึ้นมาก การเปิด Sandbox จึงอาจไม่ช่วยให้ไทยสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ในทันที แต่เป็นการวัดความสามารถในการควบคุมการระบาดพร้อมกับการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย ก่อนจะนำไปสู่การเปิดประเทศในลำดับถัดไป อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะเปิดประเทศในปีหน้า แต่การท่องเที่ยวในปีหน้า ก็ยังเผชิญกับความเสี่ยงมากมายที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ในระดับที่ต่ำ
แม้เปิดประเทศในปี 2022 แต่โอกาสที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังต่ำมากก็มีสูง
ไวรัสที่กลายพันธุ์ทำให้วัคซีนบางตัวมีอัตราการป้องกันโรคที่ลดลง ข้อมูลทางการแพทย์ผ่านการรวบรวมโดย Business Insider แสดงให้เห็นว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่บางสายพันธุ์ทำให้อัตราการป้องกันโรคของวัคซีนบางตัวลดต่ำลง[1] ส่งผลให้หลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้ประชากรในสัดส่วนที่สูงแล้วอย่าง อังกฤษ และอิสราเอล ที่มี 49.6% และ 55.6% (ข้อมูล ณ 3 ก.ค. 2021) ตามลำดับ ต้องประสบกับจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีกขึ้น
หากมีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นในไทย บางชาติก็อาจไม่แนะนำให้เดินทางมาไทยได้ นอกจากปัจจัยเรื่องความปลอดภัยแล้ว นักท่องเที่ยวอาจหลีกเลี่ยงมาเที่ยวประเทศที่กำลังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่ เนื่องจากเมื่อกลับถึงประเทศตนเอง ต้องทำการกักตัวเป็นเวลาหลายวันตามข้อกำหนดของหลายประเทศ อย่างเช่น กรณีของประเทศอังกฤษที่มีการจัดกลุ่มประเทศต่างๆตามการฉีดวัคซีนและการระบาดของโรคโควิด-19 หากการระบาดในประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศนั้นก็สามารถถูกเปลี่ยนจากกลุ่มสีเขียว (ไม่ต้องกักตัวเมื่อกลับเข้าอังกฤษ) ไปเป็นกลุ่มสีแดงได้ (ต้องกักตัว 14 วันเมื่อกลับอังกฤษ) ในกรณีของอังกฤษ ที่แม้ ขณะนี้มีประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วเกือบ 50% แต่ก็ยังประสบกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ จึงมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะประสบกับภาวะการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ อย่างเช่น Gemma ในปีหน้า ถึงแม้ว่าไทยจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 50% ครบสองเข็มในช่วงสิ้นปีนี้ อย่างที่ตั้งเป้าไว้ก้ตาม
โดย ณ วันที่ 1 ก.ค. 2021 อังกฤษกำหนดให้ไทยเป็นประเทศกลุ่มสีแดง ซึ่งหากผู้อยู่ในอังกฤษเดินทางกลับมาแล้ว ต้องกักตัวในบ้านเป็นเวลา 14 วัน และในขณะที่ไทยกำลังเผชิญหน้าการระบาดรอบใหม่นี้อยู่ หลายประเทศที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาไทย เช่น เกาหลีใต้ จีน สิงคโปร์ ก็มีข้อกำหนดว่า หากเดินทางกลับจากไทย จะต้องทำการกักตัวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วันเป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสที่ไทยจะไม่รับนักท่องเที่ยวในบางประเทศ หากประเทศนั้นมีการระบาดเกิดขึ้น การระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่อาจเกิดขึ้นต่างประเทศเช่นกัน โดย ณ เดือน มิ.ย. แม้ประเทศที่ทำการฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนมากอย่างอังกฤษและอิสราเอลก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่มขึ้น ประเมินว่า ณ สิ้นปี 2021 หลายชาติที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยจำนวนมาก อาจมีอัตราการฉีดวัคซีนในสิ้นปีนี้ที่ไม่สูงมากนัก ทำให้ความเสี่ยงในการเกิดการระบาดในประเทศเหล่านั้นก็ยังมีอยู่
ในขณะที่จีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่มาไทย อาจยังไม่เปิดประเทศในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 จากความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่หากให้คนในประเทศเดินทางแล้ว อาจนำไวรัสสายพันธุ์ใหม่กลับมาระบาดในประเทศ ทำให้ทางการจีนมีแนวทางที่จะยังไม่เปิดประเทศไปอีก 1 ปี หรือจนถึงกลางปี 2022[2] หากจีนยังไม่เปิดให้คนในประเทศเดินทาง จะกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยอย่างมาก เนื่องจากในปี 2019 มีนักท่องเที่ยวจีนมาไทยถึงเกือบ 12 ล้านคน
ภาพท่องเที่ยวในปีหน้า: คนน้อย เที่ยวกันเอง ใช้จ่ายต่อหัวสูง
Krungthai COMPASS ประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2022 อาจมีเพียง 9.9 ล้านคน จากที่เคยสูงถึง 39.9 ล้านคนในปี 2019 ด้วยปัจจัยความเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่ทำให้ไทยมีโอกาสจะไม่รับนักท่องเที่ยวจากบางชาติ หรือหากมีการระบาดระลอกใหม่ในไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติก็อาจหลีกเลี่ยงการมาไทยได้ ตลอดจนการที่จีนอาจยังไม่เปิดให้ประชาชนท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปีหน้า ซึ่งตัวเลขอาจสูงกว่านี้ได้ หากภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโควิด-19สายพันธุ์ใหม่ๆ โดยในยามที่ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวได้เหมือนเคย การมุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพที่จะมาไทยในปีหน้าจึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น
ในปี 2022 การเที่ยวด้วยตัวเองจะมีมากขึ้น เดือน มิ.ย. 2021 แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะเที่ยวแบบกลุ่มเล็กหรือเที่ยวด้วยตัวเอง (Free Independent Travelers: FIT)ในช่วงหลังโควิด ซึ่งอาจมาจากเหตุผลด้านความปลอดภัยเนื่องจากการเที่ยวกลุ่มใหญ่กับกรุ๊ปทัวร์มีความเสี่ยงที่จะติดโรคมากกว่า
มีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงขึ้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวกลุ่มพรีเมียมจะฟื้นตัวก่อน วิเคราะห์ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มรายได้สูงจะเป็นกลุ่มที่กลับมาเที่ยวก่อน เนื่องจากน่าจะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการเดินทางมาท่องเที่ยวได้มากกว่ากลุ่มอื่นที่อาจได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด และเนื่องจากที่การเที่ยวต่างประเทศเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกไม่สามารถทำได้เป็นเวลานาน และยังไม่สามารถทำได้โดยสะดวกนักแม้จะมีการเปิดประเทศแล้ว ทำให้การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่พิเศษมากยิ่งขึ้น ผู้ที่เดินทางมาเที่ยวจึงอาจมีการใช้จ่ายต่อทริปที่สูงมากขึ้น
ซึ่งผลการสำรวจความเห็นจากนักท่องเที่ยวก็ดูจะสนับสนุนข้อสมมตินี้ โดยผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายมากขึ้นกับการเข้าพักโรงแรมที่มีคุณภาพและมีความปลอดภัย ตลอดจนเลือกที่จะท่องเที่ยวโดยการใช้บริการสายการบินฟูลเซอร์วิสมากขึ้น จึงประเมินว่าธุรกิจท่องเที่ยวในกลุ่มที่เน้นสินค้าและบริการพรีเมียมจะมีการฟื้นตัวได้ก่อน
[1] เช่น ประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อ มีแนวโน้มลดลงมากหรือป้องกันไม่ได้มากนักเมื่อเจอกับโควิดสายพันธุ์แอฟริกา (Beta) ในกรณีของ AstraZeneca และ Sinovac และสายพันธุ์บราซิล (Gemma) ในกรณีของ Sinovac เป็นต้น (ข้อมูลที่รวบรวมโดย Business Insider) [2] https://www.wsj.com/articles/china-to-keep-covid-19-border-restrictions-for-another-year-11624361777
Comments