top of page
369286.jpg

ก.ล.ต.ดีเดย์ ‘มิถุนายน’ เปิดแนวทางเงินดิจิทัล


สัมภาษณ์พิเศษ คุณพราวพร เสนาณรงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต.

 

ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายควบคุมเงินดิจิทัล Cryptocurrency และ ICO

ค่ะ ถ้าเป็นของที่อื่นเหมือนมีหลักทรัพย์ก็ใช้กฎหมายหลักทรัพย์ ส่วนไหนเป็นเรื่องของการชำระเงินก็มีกฎหมายอาจจะเป็นของแบงก์ชาติของเขาดูแลไป ของเรารวมให้ดูแลโดย พ.ร.ก.ฉบับเดียวกันเลยหรือรวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน

จากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต.เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับการลงทุนดิจิทัลโดยตรง

ใช่ คือ ก.ล.ต.จะเป็นผู้กำกับทั้งการออกเสนอขาย ICO และการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

ที่กฎหมายต้องออกมา เพราะว่ามีการออก ICO และการซื้อขาย Cryptocurrency กันเยอะ หลายๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ นำโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารชาติ ก.ล.ต. และ ปปง. เขามีความเป็นห่วงเรื่องการฟอกเงิน เลยคุยกันว่า ให้ก.ล.ต.เป็นผู้กำกับดูแลส่วนนี้ เพื่อที่จะให้นำเทคโนโลยีต่างๆ นี้ เพราะพวกนี้เกิดเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วย เราเห็นว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์ จึงน่าทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยที่ยั่งยืน ไม่ใช่มีการหลอกลวงหรือผู้ลงทุนถูกเอาเปรียบเต็มไปหมดถ้าไม่มีการกำกับดูแล ก็จะน่าเสียดายว่าแทนที่จะได้นำเทคโนโลยีนี้มาพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปก็จะทำให้เสียไปเลย อีกอย่างหนึ่งผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพเขาก็น่าจะได้ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ได้โดยสุจริตตามที่กฎหมายรองรับ

สุดท้ายคือ เพื่อเป็นการป้องกันการฟอกเงิน ไม่ให้นำสินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านี้ไปเกี่ยวข้องกับการประกอบการฟอกเงินหรือการทำอาชญากรรมต่างๆ ก็เป็นหลักๆ เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้

อีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องพวกนี้อยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ก็ต้องมีเรื่องของการที่จะให้เกิดความปลอดภัยจากการถูกแฮก ก็เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย

พอมีกฎหมายออกมาแบบนี้ เท่ากับว่าเรารองรับการระดมทุนสินทรัพย์ดิจิทัล การออก ICO ว่าทำได้ถูกต้องใช่หรือไม่

ถ้าถามถึงขอบเขตของกฎหมายนี้ว่ากฎหมายนี้จะพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ตัวด้วยกัน

1. Cryptocurrency ก็จะเป็นพวกบิทคอยน์ อีเทอเรียม และจะมีเรื่องของโทเคนที่ออกมาจาก ICO ซึ่ง ICO ก็มี 2 ประเภทหลักๆ

1. เป็นโทเคนเพื่อการลงทุน อันนี้ก็จะคล้ายหลักทรัพย์มาก คือ มีสิทธิ์ในการที่จะให้สิทธิ์กับคนที่ถือโทเคนในการจะเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการ และได้รับส่วนแบ่งรายได้หรือส่วนแบ่งกำไรที่คล้ายหลักทรัพย์มาก

2. ICO เป็น Token Utility คือ จะให้สิทธิ์ในการรับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง ก็เป็น 3 ประเภทหลักๆ ที่อยู่ในนี้ นอกจากนี้เรื่องของการเสนอขาย ICO ที่อยู่ภายในขอบเขตภายในพ.ร.ก.นี้ เป็นเรื่องด้านการระดมทุน คือ การเสนอขาย ICO และในเรื่องด้านการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล คือมีทั้ง exchange broker dealer ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็ต้องได้รับอนุญาต ก็เป็นของเขตหลักๆ

การที่ ก.ล.ต. เปิด hearing เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง พ.ร.ก.มีผลบังคับ หมายความว่าตัวพ.ร.ก.อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกฎระเบียบได้อีกใช่ไหม

ใช่และไม่ใช่ ... คือจริงๆแล้ว การออกพ.ร.ก.นี้ถือว่าออกไปแล้วมีผลบังคับใช้ 14 พฤษภาคม 2561 และสภาฯ ให้การรับรองไปแล้ว เพราะฉะนั้นตัว พ.ร.ก.นี้เรียกว่ามีผลบังคับใช้ แต่เนื่องจากว่า พ.ร.ก.นี้มีความเกี่ยวข้องกับของใหม่ที่มีวิวัฒนาการแทบทุกวัน ดังนั้น พ.ร.ก.จึงกำหนดเป็นกรอบกว้าง แต่จะเปิดช่องไว้ว่าเกณฑ์หรือระเบียบรายละเอียดที่เกี่ยวข้องก็จะมาเป็นเรื่องของ ตัวประกาศลูก ที่ออกโดยก.ล.ต.และกระทรวงการคลัง

โดยเราทำ hearing ได้เปิดบนเว็บไซต์เอาร่างหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขาย ICO และร่างประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล คือ ที่จะเป็น exchange broker dealer ว่าจะต้องมีคุณสมบัติอะไร ทำอะไรบ้าง เราเอาขึ้นบนเว็บไซต์ตั้งแต่ 26 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และสามารถเข้ามาเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าไปให้ความคิดเห็นได้จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 หลังจากนั้นเราจะนำมาดูว่าต้องปรับร่างประกาศอะไรไหม รีบนำเสนอคณะกรรมการก.ล.ต.ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน

ถ้าได้รับความเห็นชอบก็ไปลงประกาศพระราชกิจจานุเบกษา คิดว่าเดือนมิถุนายนต้องมีประกาศออกมามีผลบังคับใช้ได้เลย

การที่มีกฎหมายออกมา ถูกมองเป็น 2 แง่ คือทั้งดี และไม่ดี ด้านหนึ่งบอกว่าพอมีกฎหมายแบบนี้ออกมาก็ทำให้ขีดขวางเพราะมีภาษี แบบนี้ก็หนีไปจดเมืองนอก ไม่ทำในไทย ทำให้ไทยเสียโอกาส .. อีกกลุ่มมองว่าทำให้เราเป็นตรายางทำให้เมืองนอกเข้ามาใช้เราเป็นช่องทางฟอก เพราะที่อื่นไม่มีกฎหมายรองรับ จะมาใช้เราเป็นตัวอ้างอิง กลายเป็นของถูกกฎหมาย คุณพราวพรมองว่าอย่างไร

ที่ว่าจะออกไปเพราะว่าเรามีกฎเกณฑ์ เขาก็ต้องไปเจอกฎเกณฑ์ในต่างประเทศเหมือนกัน เพราะถ้าดิจิทัลโทเคนที่ออกมามีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่เราเห็นเขาก็ต้องเข้าเกณฑ์ ก.ล.ต.ประเทศนั้นๆ หนีไปก็ต้องไปเจอกฎของที่นั่นอีกเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ตั้งในต่างประเทศจะมาใช้เกณฑ์ออก ICO ในบ้านเรา ตอนนี้ในพ.ร.ก.ไมได้กำหนดสัญชาติของบริษัทที่จะออก ICO ไว้

มีข้อถกเถียงมากมายเรื่องสัญชาติในการออก ICO คือ หลายคนบอกว่าเป็นโอกาสถ้าไทยเป็นฮับของ Start Up เพราะว่า ICO ออกมาตอบโจทย์การระดมทุน Start Up เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีประวัติการดำเนินงานก็ออกได้ ไม่เหมือน IPO ที่เราต้องมีประวัติการดำเนินงาน เราเลยบอกว่าถ้าอยากเป็นฮับของ Start Up ก็น่าจะให้บริษัทที่ตั้งในต่างประเทศมาออก ICO ได้ แต่บางคนก็จะบอกว่าไม่ควรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นแรก เราเพิ่งเริ่ม ก.ล.ต.อาจจะไม่คุ้นชิน เพราะฉะนั้นเอาเฉพาะบริษัทจัดตั้งไทยก่อน หรือบางคนบอกว่าอย่าเพิ่งให้บริษัทต่างชาติมาแย่งบริษัทไทยออกเลย

คือ ถกเถียงกันเยอะมากจนถึงตอนนี้ก็ยังถกเถียงกันอยู่ ดังนั้นเกณฑ์นี้ก็รับมาจากนโยบายกระทรวงการคลังว่าขั้นแรกให้เฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในไทยก่อนที่จะออก ICO ตามเกณฑ์นี้ได้

สรุปขั้นต้นตอนนี้ ใครที่ยังสงสัยอะไรก็น่าจะปรึกษา ก.ล.ต.ก่อนก็จะดีกว่า

ใช่ค่ะ อย่างวันที่ 8 มิถุนายน นี้เราก็จะมีเปิดให้ลงทะเบียนเข้ามาได้ในเว็บไซต์ถ้าอยากจะมาสอบถามเรื่องความชัดเจนต่างๆ

9 views

Comments


bottom of page