การระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงแรก พบว่าหากมีเด็กติดเชื้อจะไม่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย แต่ปรากฎว่าได้มีการค้นพบความเชื่อมโยงกับโรคที่มีอาการคล้ายโรคคาวาซากิ ที่ส่งผลให้เด็กเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ฉะนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากพบอาการใกล้เคียงที่น่าสงสัยควรพาไปพบแพทย์ทันที
นพ.อภิชัย คงพัฒนะโยธิน กุมารแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อ COVID-19 มักไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 (หลังมีการระบาดอย่างหนักในยุโรปประมาณ 1 เดือน) กุมารแพทย์ในประเทศอังกฤษพบว่ามีเด็กเกิดอาการป่วยที่ไม่สามารถอธิบายได้ เช่น อาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียน บางรายมีผื่นและอาการช็อก ซึ่งคล้ายกับ Toxic Shock Syndrome และบางรายมีผื่น ตาแดง ปากแดง ซึ่งเป็นอาการที่ครบข้อบ่งชี้ของการวินิจฉัยในโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยบางรายมีการโป่งพองของเส้นเลือดโคโรนารี (Coronary Artery) เหมือนกับเด็กที่ป่วยด้วยโรคคาวาซากิ โดยพบว่าผู้ป่วยเกือบทั้งหมดมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่แสดงว่าเคยมีการติดเชื้อ COVID-19มาก่อน
ทั้งนี้ โรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) ถูกค้นพบครั้งแรกโดย Dr.Tomisaku Kawasaki กุมารแพทย์ชาวญี่ปุ่น สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มักพบในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี โดยมีลักษณะอาการไข้มากกว่า 4 - 5 วัน เกิดผื่น ตาแดง ปากและหรือลิ้นแดง (Strawberry Tongue) มือเท้าบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และผลแทรกซ้อนที่สำคัญของโรคนี้คือ การอักเสบของเส้นเลือดหัวใจ (Coronary Artery) โดยในบางรายอาจเกิดการโป่งพองของเส้นเลือดหัวใจ ( Coronary Artery Aneurysm) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ได้
ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับอาการของโรคที่เกิดขึ้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยให้ชื่อว่า Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19หรือ MIS-C ที่ส่งผลทำให้เกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ อาการของเด็กที่ป่วยมีความคล้ายคลึงกับเด็กที่เป็นโรคคาวาซากิ เช่น ไข้สูง ผื่น ตาแดง ปากแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนอาการช็อกมีรายงานในผู้ป่วยบางราย แต่ระหว่าง MIS-C และ โรคคาวาซากิ มีลักษณะที่แตกต่างกันหลายประการ เช่น อายุของเด็กที่ป่วยเป็น MIS-C มักเป็นในเด็กโต ต่างจากโรคคาวาซากิมักเกิดในเด็กเล็กกว่า มีอาการที่เกี่ยวกับทางระบบทางเดินอาหารและอาการช็อกใน MIS-C มากกว่าในโรคคาวาซากิ นอกจากนี้ MIS-C ยังเป็นอุบัติการณ์ที่พบได้น้อยกับในเด็กแถบเอเชียตะวันออกซึ่งเป็นเชื้อชาติที่พบอุบัติการณ์ของโรคคาวาซากิที่สูงที่สุด
การรักษาผู้ป่วย MIS-C ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนเหมือนโรคคาวาซากิ เนื่องจาก MIS-C เป็นโรคที่พบใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะหัวใจและระบบไหลเวียนของโลหิต ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายที่จะเป็นโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์ ซึ่งจะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป ผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็น MIS-C ควรได้รับการรักษาเพื่อติดตามเฝ้าระวังในโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยของโรคคาวาซากิมักได้รับการรักษาตามแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานของโรคนี้ ส่วนในผู้ป่วยอื่นๆ มักเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) และ/หรือให้ยาในกลุ่มที่ใช้ยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีการทำงานมากเกินกว่าปกติ
ทั้งนี้ MIS-C และ คาวาซากิ เกิดจากการมีภาวะภูมิคุ้มกันที่สูงผิดปกติ (Autoimmune Process) ซึ่งแสดงอาการคล้ายกัน ส่วนการติดเชื้อ COVID-19 สามารถทำให้เกิด Kawasaki Disease หรือไม่ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้น หากพบว่าเด็กมีอาการคล้ายคลึงกับ MIS-C หรือโรคคาวาซากิ แม้จะไม่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ -COVID-19 ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ทันที เพราะการรักษาโดยเร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสหายและรอดชีวิตได้ นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกัน ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รวมถึงการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อความปลอดภัยและห่างไกลจาก COVID-19
Comments