top of page
image.png

ใช้จังหวะดีดขึ้นขายออกมาก่อน...ขึ้นดักสภาพคล่องไหลเข้า !



การดาหน้าเข้ามาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน อย่างมิได้นัดหมายของรัฐบาล และธนาคารกลางทั่วโลก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะรักษา Momentum ของการแกว่งตัวขึ้นต่อไปได้ สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด ปรับตัวลดลง 18.1%, 10.4% และ 7.6% หลังจากที่มีปัจจัยกระตุ้นเข้ามาใหม่จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ออกมาตรการเพิ่มเติม มูลค่าสูงถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญเพื่อเป็นเงินกู้ให้กับภาคธุรกิจในสหรัฐ โดยที่เบื้องต้นเงินกู้จะเริ่มต้นที่ขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญ และสูงสุด 25 ล้านเหรียญ โดยจะเป็นเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ

มาตรการนี้จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการ SMEs นอกจากนี้การช่วยเหลือในตลาดรอง อาจเป็นการเข้าซื้อกองทุน ETF ต่าง ๆ โดยจะพุ่งเป้าไปยังบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) อยู่ในระดับ "น่าลงทุน” หรือ “Investment Grade"

ส่วนเม็ดเงินที่เหลือจะให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทที่ลงทุนในตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงของสหรัฐ หรือ US high-yield bond ซึ่งถือว่าเป็นการเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องแบบไม่จำกัดอย่างต่อเนื่องของเฟด หลังจากที่ในรายงานประชุมเดือน มี.ค. 2563 ระบุว่าเฟดยืนยันที่จะตรึงดอกเบี้ยใกล้ 0% จนกว่าผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 จะจบลง พร้อมทั้งเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ และได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ฉุกเฉินสำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 1.25% สู่ระดับ 0.25% รวมทั้งขยายอายุเงินกู้เป็นเวลา 90 วัน

ทั้งนี้ในรายงานการประชุมดังกล่าว ยังระบุอีกว่าสมาชิก FOMC ทุกคนได้แสดงความกังวลว่าผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะใกล้นี้ และจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาจากตัวเลขผู้เข้าขอรับสวัสดิการการจ้างงานเป็นครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claim ของสหรัฐล่าสุดออกมาที่ 6.6 ล้านราย สูงกว่าที่ Consensus คาดไว้ที่ 5 ล้านรายอย่างมาก

การออกมาอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และตลาดการเงินของธนาคารกลาง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่กระจายของไวรัส COVID-19 นอกจากเฟดที่ระดมเครื่องมือทางการเงินออกมาใช้อย่างต่อเนื่องในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ล่าสุดก็คือธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ซึ่ง Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ได้ออกมาระบุชัดเจนว่าการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นตกอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนอย่างมาก โดยที่ Haruhiko Kuroda ได้ให้คำมั่นว่าบีโอเจจะใช้มาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมหากจำเป็น เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

ระยะยาวออกไปนักลงทุนยังกังวล ! อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐส่วนใหญ่จะมองว่าการดีดตัวขึ้นในระยะสั้นของตลาดหุ้นยังคงเปราะบางมากๆ และมีโอกาสเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น สะท้อนออกมาจากการที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ระบุว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 2.36% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 36.60% แต่ยังคงต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่แม้ว่าจะลดลง 7.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาแต่ยังคงอยู่ที่ระดับ 44.67%

ทั้งนี้ชัดเจนว่านักลงทุนที่เน้นเข้าลงทุนในระยะยาวยังคงไม่มีความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจของโลก และสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยที่ล่าสุด JPMorgan ได้ออกมาประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสลดลง 40% ในไตรมาสที่ 2 และอัตราการว่างงานพุ่ง 20%

อย่างไรก็ดีถ้าวิกฤตจบภายในช่วง มิ.ย. 2563 ทาง JPMorgan มองว่าเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 ของสหรัฐอาจดีดขึ้นแรงมากถึง 23% และไตรมาสที่ 4 เองก็มีโอกาสไปต่อได้ 13% แต่ในภาวะปัจจุบันโอกาสที่วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะจบภายในช่วง มิ.ย. 2563 เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะในสหรัฐที่ในเวลานี้ยอดผู้ติดเชื่อ และเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 สูงที่สุดในโลกแล้ว

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ใช้โอกาสที่ SET ยังคงยืนเหนือ 1,250 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


 

Commentaires


bottom of page