top of page
379208.jpg

ตลาดหุ้นยังรับแต่ปัจจัยลบมากกว่าบวก...ราคาน้ำมันฉุดตลาดหุ้นโลก !



ชัดเจนว่าแรงกดดันใหม่ที่เข้ามาทำให้ตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่อง คือการปรับตัวลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันดิบโลกในสัปดาห์นี้ หลังรัสเซียและ OPEC ไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการลดปริมาณการผลิตน้ำมันได้ โดยทาง OPEC อยากให้ทางกลุ่มและรัสเซียลดการผลิตของโลกลงไปอีกประมาณ 2% (1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน) แต่ทางรัสเซียไม่ต้องการลดการผลิตแล้ว โดยอ้างว่าต่อให้ลดการผลิตไปก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร เพราะน้ำมัน Shale Oil ของสหรัฐก็จะยังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดอยู่ดี ดังนั้นลดการผลิตไปก็ทำให้รายได้ของรัสเซียหายไป ส่งผลให้ซาอุดีอาระเบียได้ออกมาประกาศปรับลดราคา OSP Premium น้ำมันดิบของตัวเอง ทำให้ราคาน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียนั้นมีราคาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี และจะหยุดลดกำลังการผลิต (ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ที่ 14.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) หันกลับมาผลิตเต็มที่


เหตุผลหลักน่าจะเป็นเพราะการประชุม OPEC ที่น่าผิดหวัง ที่ทางซาอุดีอาระเบียไม่สามารถชวนให้พันธมิตรใหญ่อย่างรัสเซียมาร่วมกันลดกำลังการผลิตได้ และการแตกหักของพันธมิตรที่ดีกันมาตลอด 3 ปีอาจทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องเปลี่ยนแผนระยะยาวใหม่หมดเลย แทนที่พยายามจะลดการผลิตมาตลอด 3 ปีแล้วก็ไม่สามารถดันราคาขึ้นไปสูงได้สำเร็จเพราะการผลิต Shale Oil ของสหรัฐก็ยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วย ขณะเดียวกันการตัดสินใจของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้เป็นการประกาศ สงครามราคาตลาดน้ำมัน (Price War) หรือการลดราคาน้ำมันของตัวเองเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดกับสหรัฐ และรัสเซีย

แน่นอนว่าสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลกระทบด้านลบต่อราคาหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนัก 35% ของตลาดหุ้นโลก และ 45% ของตลาดหุ้นไทยแน่นอน


เมื่อประกอบกับการที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้มีการประชุมนอกหมายกำหนดการ และมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% จากระดับ 1.50-1.75% สู่ระดับ 1.00-1.25% เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกกลับมากังวลถึงการรีบดำเนินการของเฟด ซึ่งอาจสะท้อนว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อาจกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเลวร้ายกว่าที่ประเมิน และถือเป็นการลดดอกเบี้ยนอกการประชุมครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตปี 2551 สอดคล้องกับคำแถลงการณ์ของ Jerome Powell ประธานที่ระบุว่าไวรัส COVID-19 กำลังส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ และจะมีผลไปอีกสักระยะ


ปัจจัยลบมีน้ำหนักมากจริงๆ ! ชัดเจนว่าเมื่อเปรียบระหว่างปัจจัยบวกกับปัจจัยลบจากประเด็นสงครามน้ำมันดิบ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ดูเหมือนว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโลกจะให้น้ำหนักกับปัจจัยลบมากกว่า เพราะแม้ว่าการที่ Joe Biden อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในศึก "Super Tuesday" ที่เป็นการเลือกตั้งแบบ Primary ของพรรค Democrat เพื่อเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือน พ.ย. 2563 ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจาก Joe Biden มีนโยบายสายกลาง ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่งอย่าง Bernie Sanders วุฒิสมาชิกรัฐเวอร์มอนต์ ที่มีแนวโน้มใช้นโยบายทางเศรษฐกิจที่สุดโต่ง (Conservative) อาทิ Joe Biden อาจนำกฎหมายประกันสุขภาพ "Affordable Care Act" หรือที่รู้จักกันในนาม "Obamacare" กลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านสุขภาพและประกันสุขภาพ ต่างจากนโยบาย "Medicare For All" ของ Bernie Sanders ซึ่งเป็นระบบประกันสุขภาพที่ครอบคลุมถึงแผนการลดราคายาและเวชภัณฑ์ แต่ตลาดหุ้นโลกแทบไม่ให้น้ำหนักกับประเด็นนี้เลย โดยยังคงมองไปที่ประเด็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นหลัก เพราะแม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในจีนจะปรับตัวลงอย่างมากในสัปดาห์นี้ แต่สวนทางกับตัวเลขของผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ปรับตัวขึ้นอย่างน่าตกใจ ส่งผลให้ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 กลับมาอีกครั้ง สะท้อนผ่านทาง CDS ทั่วโลกที่ยังมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลักๆ แล้วเกิดจากประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป (อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) ที่มียอดผู้ติดเชื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


ในขณะที่ทางสหรัฐเอง จนถึงขณะนี้มีรัฐต่างๆ ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับไวรัสโคโรนาแล้ว 5 รัฐ ซึ่งมี 3 รัฐ ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินภายในวันเดียว สำหรับการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีขึ้นหลังพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19 โดยก่อนหน้าผู้เสียชีวิตทั้งหมด 10 ราย เกิดขึ้นในรัฐวอชิงตันทั้งหมด นอกจากนี้นั้นยังมีการค้นพบผู้ติดเชื้อใหม่เป็นครั้งแรกในรัฐอื่นๆ อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่ามาตรการรับมือของสหรัฐ อาจจะยังไม่สามารถควบคุมได้ดีพอ


นอกจากนี้นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกยังคงมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก เป็นเพียงการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบที่แท้จริงที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแค่ไหน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีน้อยลง รวมถึงตลาดการเงินที่ผู้ออกตราสารทางการเงินจะถูกลดอันดับเครดิต


อีกทั้งบริษัทขนาดกลางและเล็กจะมีแนวโน้มขาดสภาพคล่องจากการที่มีสายป่านไม่ยาว ยังมีผลต่อ Supply Chain ในการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งนี้สุดท้ายแล้วเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นได้จะขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศทั่วโลกว่าจะสามารถควบคุมการแพร่กระจายของการระบาดได้ดีแค่ไหน รวมถึงการคิดค้นวัคซีนที่ใช้ได้จริงรวดเร็วแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดยังคงไม่มีคำตอบ และเป็นความเสี่ยงของตลาดหุ้นโลกต่อไป


ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,360 จุด (+/-) ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค 120 นาที (120 Mins)


Source: Wealth Hunters Club

34 views

留言


bottom of page