top of page
image.png

ยังคงเน้น "ดีดขึ้นขาย" ลดเสี่ยงออกไปก่อน


ตัวเลขเศรษฐกิจไม่สนับสนุน !

ดูเหมือนว่าในระยะสั้นท่ามกลางปัจจัยกดดันอื่นๆ มากมาย ตลาดหุ้นโลกจะมีปัจจัยหนุนหลักๆ เหลือเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ได้แก่ประเด็นความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 โดยที่ล่าสุดสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าการทดสอบวัคซีนในลิง 16 ตัวของบริษัท Moderna ได้ประสบความสำเร็จในการป้องกันไวรัส ขณะที่อีก 30,000 คนกำลังรอเข้ารับการทดสอบตัวยา ทั้งนี้มีรายงานว่าบริษัท Moderna ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐเพิ่มเติมอีก 472 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน Moderna ในการดำเนินโครงการทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ในเฟส 3 หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้รับเงินทุนจากรัฐบาลจำนวน 483 ล้านดอลลาร์ในเดือน เม.ย.2563

อย่างไรก็ตามปัจจัยในเชิงเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอมาก โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดตัดสินใจมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0% ตามตลาดคาด และยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับดอกเบี้ยเป็นลบหรือไม่ โดยที่ Jerome Powell ประธานของเฟดระบุว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐจะขึ้นอยู่กับการระบาดของไวรัสเป็นหลัก โดยยืนยันว่าเฟดจะพยายามใช้ทุกเครื่องมือทางการเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจโดยมีความหวังว่าทุกอย่างจะฟื้นฟูได้ดี แต่ได้มีการวางแผนรองรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นด้วย เพราะการฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้นจำเป็นต้องมาจากความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ทั้งนี้ Jerome Powell ประธานของเฟด ได้มองความเสี่ยงว่าแม้การ Lockdown เศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้นแล้ว แต่ยังเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการใช้จ่ายในภาคสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ผู้คนยังกังวลที่จะออกไปใช้จ่ายนอกบ้านและการเดินทางก็ยังต่ำ สอดคล้องกับตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐที่ออกมา -32.9% QoQ หดตัวมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ตัวเลขผู้ขอเข้ารับสวัสดิการการว่างงานเป็นครั้งแรก หรือ Initial Jobless Claims ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.434 ล้านราย ยังคงเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 1.422 ล้านราย และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน

สำนักข่าว Bloomberg มีการเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจของสหรัฐ จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นอย่างเช่นสหภาพยุโรป เนื่องจากความล้มเหลวในการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่การฟื้นตัวในช่วงหลังจากนี้ก็มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ไม่เหมือนกับช่วงแรกที่รัฐบาลผ่อนคลายข้อกำจัดลง ขณะที่ในฝั่งของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจเช่นกัน หลังจากตัวเลข GDP ของเยอรมันในไตรมาสที่ 2 หดตัวถึง 11.7% YoY มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัวลง 10.9% YoY สอดคล้องกับตัวเลข GDP ของยุโรปในไตรมาสที่ 2 ที่หดตัว 15.0% YoY มากกว่าตลาดคาดว่าจะหดตัวลงที่ 13.9% YoY

ความเชื่อมั่นตกต่ำลงมากในตลาดหุ้นสหรัฐ ! ความเสี่ยงหลักในปัจจุบันที่นักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐจับตามองคือข้อตกลงร่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ก่อนร่างเดิมหมดอายุ 31 ก.ค.2563 ซึ่งปัจจุบันพรรค Democrat และ Republican ยังไม่สามารถตกลงกันได้

ทั้งนี้ประเด็นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐที่ยังคงไม่แน่นอน เกิดขึ้นหลังจากพรรค Democrats ต้องการให้รักษาวงเงินดังกล่าวเอาไว้ที่ระดับ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ แต่พรรค Republican ต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ส่วนเงิน 1,200 ดอลลาร์จะเป็นการมอบเงินโดยตรงให้กับชาวอเมริกัน (จ่ายครั้งเดียวและมีรายได้ไม่เกิน 75,000 ดอลลาร์/ปี) ขณะที่เด็กจะได้รับเช็คเงินสดคนละ 500 ดอลลาร์ ส่วนโรงพยาบาลต่างๆ จะได้รับการจัดสรรเงินรวม 1.50 แสนล้านดอลลาร์ภายใต้มาตรการดังกล่าว และธุรกิจขนาดเล็กจะได้รับเงินช่วยเหลือในวงเงินรวม 3.67 แสนล้านดอลลาร์ โดยที่สถานการณ์ล่าสุดสมาชิกพรรค Republican ยังคงคัดค้านการจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวต่อไป (กรณีเงินช่วยเหลือ 600 ดอลลาร์/สัปดาห์) เนื่องจากพบว่าผู้มีสิทธิ์จำนวนหนึ่งที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐ กลับได้รับเงินมากกว่ารายได้ปกติ ขณะที่พรรค Democrats แย้งว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในปัจจุบันทำให้คนจำนวนมากรู้สึกไม่ปลอดภัยพอที่จะต้องกลับไปทำงานปกติ จึงสมควรจ่ายเงินช่วยเหลือต่อไป

ความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 5.83% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 20.23% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 1.64% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 48.47%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,430 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (Weekly)

Source: Wealth Hunters Club

20 views

Comentarios


bottom of page