top of page
image.png

ยังไม่ใช่จังหวะเพิ่มน้ำหนักการลงทุน


ความเชื่อมั่นตกต่ำ !

แม้ว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในภาพรวมจะยังคงไม่ได้ปรับตัวลงทันทีอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในภาพรวมต้องยอมรับว่าเริ่มออกอาการที่เรียกว่าทรงตัวไม่ได้ให้เห็นแล้ว สังเกตง่ายๆจากในทางเทคนิคที่ Indicator ระยะสั้น อย่าง RSI และระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Stoxx 50 ของตลาดหุ้นยุโรป และดัชนี Nikkei ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นกลับมามีสัญญาณขาลง หรือ Bearish ในระยะสั้นแล้ว

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐแม้ว่าในด้านของราคาจะยังคงยืน Outperform ตลาดหุ้นสำคัญอื่นๆได้ แต่ในด้านของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต้องถือว่าน่าเป็นห่วงมากๆ และดูเหมือนว่าแรงขับเคลื่อนในระยะต่อไปจะจำกัดลงเรื่อยๆ สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 23.29% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 47.60% บนสถานการณ์ที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ Mike Pompeo รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เรียกร้องให้ทำการแบนแอปพลิเคชันต่างๆ ของจีนจากแพลตฟอร์มแอปสโตร์ของบริษัทสหรัฐ โดยระบุว่าแอปของจีนไม่น่าไว้ใจ และเป็นภัยคุกคามข้อมูลส่วนบุคคลของชาวอเมริกัน อีกทั้งยังได้เรียกร้องให้ทำการแบนบริษัทจีนบางรายด้วยเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนด้วย

ขณะที่จีนเตือนว่าจะใช้มาตรการในระดับเดียวกันเพื่อตอบโต้หากสหรัฐฯ ไม่ยอมต่อวีซ่าให้กับนักข่าวของจีน ขณะที่หัวหน้ากองบรรณาธิการของ Global Times คาดว่ามีโอกาสที่นักข่าวของจีนทุกคนจะต้องเดินทางออกจากสหรัฐ ทั้งนี้ล่าสุดมีข่าวออกมาว่าสหรัฐเตรียมเพิกถอนบริษัทจีนออกจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ หากบริษัทเหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการตรวจสอบบัญชีของสหรัฐได้ภายในเดือน ม.ค.2565 ขณะที่ทุกสายตาในเวลานี้โฟกัสไปที่การติดตามการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ที่ได้มีการกำหนดมาแล้วว่าเป็นวันที่ 15 ส.ค. 2563 เพื่อประเมินเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ทั้งสองประเทศลงนามกันไปเมื่อต้นปีนี้

ในส่วนของการเคลื่อนไหวของเงินทุนระหว่างประเทศ หรือ Foreign Fund Flow พบว่ามูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่ม Emerging market ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นลบ หรือไหลออก โดยตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ -107.37 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติในประเทศภูมิภาคเอเชียอื่นๆ อาทิ อินโดนีเซีย -134.24 ล้านดอลลาร์ ฟิลิปปินส์ -44.43 ล้านดอลลาร์ และเกาหลีใต้ -169.74 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ในทางเทคนิค โอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย หรือ Foreign Fund Flow จะยังคงไหลออกยังคงมีอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะขายสุทธิออกมาแล้ว 2.3 แสนล้านบาทตั้งแต่ต้นปี 2563 หลังจากที่ Indicator ระยะกลางอย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ “Negative Convergence” อย่างต่อเนื่อง

ขาดปัจจัยบวกใหม่ชัดเจน ! ทั้งนี้ความเชื่อมั่นที่ตกต่ำลงของตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นไทย สอดคล้องกับมุมมองในเชิงของปัจจัยพื้นฐาน หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงอีก 1.27% ลงมาอยู่ที่ -30.9% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2563 Bloomberg Consensus ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นไทยลงมาแล้วถึง 41.4% เทียบกับที่ Bloomberg Consensus ปรับประมาณการการขยายตัวของกำไรสุทธิในตลาดหุ้นโลก, สหรัฐ, ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ตั้งแต่ต้นปี 2563 ลง 30.2%, 28.1%, 34.8% และ 21.5% ตามลำดับ

ขณะที่อัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นไทยที่ -30.9% ยังถือว่าอ่อนแอมากเมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิปี 2563 ในตลาดหุ้นโลก, สหรัฐ, ยุโรป, ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ -11.5%, -7.8%, -21.9%, -21.9% และ -7.5% ตามลำดับ

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยอยู่ในภาวะขาดปัจจัยหนุนใหม่ หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปีตามที่ตลาดคาดกันไว้ โดย กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงการกลับแพร่ระบาดระลอกสอง ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ทั้งนี้ กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี สำหรับการที่กิจกรรมกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศหดตัวทั้งกำลังซื้อและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่มีมติปรับลดตัวเลขกรอบประมาณการเศรษฐกิจในปี 2563 ใหม่ โดยปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP Growth เป็น -9% ถึง -7% จากเดิมประเมินว่า -8% ถึง -5%, ตัวเลขการส่งออก ประเมินว่า -12% ถึง -10% จากเดิม -10% ถึง -7%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคงเดิมที่ -1.5% ถึง 1.0% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ต่างๆกำลังจะสิ้นสุดลง ทำให้สถานการณ์การจ้างงานยังคงเปราะบาง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังกลับไปยืนเหนือ 1,370 จุด (+/-) ไม่ได้ เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น CPALL, BJC, BEM, EGCO, BCH, GPSC, BTS, HMPRO, ADVANC และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: Wealth Hunters Club


15 views

Comentarios


bottom of page