ยังอยู่ในกรอบขาลง!
"นายหมูบิน" ยังคงยืนยันมุมมองเดิมในทางเทคนิคนะครับว่าปัจจุบัน SET ยังคงแกว่งตัวอยู่ในแนวโน้มหลักขาลง และตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดเหนือบริเวณ 1,700 จุด เพื่อยืนยันการจบรอบการพักฐานได้ “นายหมูบิน” ยังคงตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่าการดีดตัวขึ้นในระยะสั้นของ SET อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการที่ SET เกิดภาวะ Positive Divergence ในช่วงที่ SET ลงมาทดสอบจุดต่ำสุดใหม่ของปี 2562 ที่ 1,546 จุดในวันที่ 22 ธ.ค. 2562 เป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น โดยมีแนวต้านสำคัญที่ 1,600, 1,670 และ 1,700 จุด
ขณะที่ในกรณีของ Downside Risk นั้น แนวรับที่ต้องระวังให้มากที่สุดคือบริเวณ 1,547 จุด ทั้งนี้ในกรณีที่ SET หลุดแนวรับดังกล่าวลงไป จะเป็นการยืนยันรูปแบบ Descending Triangle และ SET มีโอกาสลงไปที่ 1,450 จุดได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เกิดจากรูปแบบ Head and Shoulder Top ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ SET หลุด 1,590 จุดลงมายืนยันแนวโน้มขาลง ตั้งแต่วันที่ 2 ธ.ค.2562 แล้ว โดยเฉพาะคำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดเกี่ยวกับโอกาสที่เฟดจะไม่ลดดอกเบี้ยอีกในระยะสั้นนั้น ไม่สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ล่าสุดตัวเลข Initial Jobless claims ของสหรัฐเพิ่มขึ้นแตะระดับ 252,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560 และเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ที่ 213,000 ราย ขณะที่ดัชนี PPI ทรงตัว ในเดือน พ.ย. 2562 สวนทางกับที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ต.ค. 2562 ขณะที่ Core CPI ในเดือน พ.ย. 2562 ขยายตัว 0.2% ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน
นอกจากนี้ในปี 2563 ยังคงมีความเสี่ยงที่สำคัญมากรออยู่จากประเด็นของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ตลาดให้ความสำคัญกับนโยบายภาษี Corporate Taxes ของผู้สมัครประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี Donald Trump ลดลงจาก 35% เหลือ 21% ทั้งนี้หากประธานาธิบดี Donald Trump ยังได้ดำรงตำแหน่งต่อก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่หากผู้ท้าชิงจากพรรค Democrats ชนะการเลือกตั้ง ประเด็นนี้จะกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐแน่นอน ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลกในปี 2563 ทางสำนักวิจัย UBS ประเมินว่ากำไรของบริษัทในตลาดหุ้นสหรัฐปี 2563 จะเพิ่มขึ้นเพียง 5% เท่านั้น
ตลาดหุ้นไทยแพงในเชิงเปรียบเทียบ : ในส่วนของปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่จะกดดันทิศทางตลาดหุ้นโลกในช่วงต้นปี 2563 คงหนีไม่พ้น 2 ประเด็นคือการขยายตัวที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และภาวะอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยที่ในส่วนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นในปี 2563 จะเป็นการขยายตัวที่ชะลอลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มาอยู่ที่ 3.0% จากระดับ 3.1% ในปี 2562 และ 3.8% ในปี 2661 โดยที่เศรษฐกิจของสหรัฐ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งหมด ขณะที่ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อนั้น อัตราเงินเฟ้อของโลกในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.9% ลดลงจาก 3.0% ในปี 2562 โดยที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ของ Emerging Market จะมีอัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ 3.9% จาก 4.2% ในปี 2562
ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หรือ Developed Market จะมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.6% จาก 1.4% ในปี 2562 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ต่ำมาก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยในช่วงต้นปี 2563 ยังคงมีแนวโน้มที่จะ Underperform ต่อเนื่อง หลังจากขาดปัจจัยหนุนใหม่ภายในประเทศที่ตลาดเชื่อถือ และมีนัยสำคัญเพียงพอ ก่อนจะปรับตัวขึ้นได้ในช่วงปลายสัปดาห์ จากปัจจัยหนุนจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน สะท้อนออกมาจากการที่ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ตอบสนองในด้านบวกเลยกับการที่สถาบันจัดอันดับ S&P ปรับเพิ่มเครดิตไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปี และกลับมาอยู่ในมุมมอง Positive ในรอบ 16 ปี ขณะเดียวกันยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ และระยะสั้นที่ A-2 ตลอดจนมีการคงอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทระยะยาวที่ A- และระยะสั้นที่ A-2
ทั้งนี้สาเหตุที่ประเทศไทยได้รับมุมมองที่ดีขึ้น ทั้งนี้เมื่อเข้าไปดูในเชิงของ Valuation จะพบว่าประเด็นนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยไปต่อยาวๆได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันระดับ P/E Ratio ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ระดับ 18.4 เท่า สูงกว่า หรือมี Premium เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17.0 เท่าถึง 8.4% ขณะที่ P/E Ratio ที่ระดับดังกล่าวยังคงมากกว่าของดัชนี Asia ex Japan ที่ 15.6 เท่า ถึง 17.9%
นอกจากนี้ถ้าเทียบในส่วนของ P/BV Ratio จะพบว่าตลาดหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ระดับ P/BV Ratio ราว 2.0 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาว แต่ P/BV Ratio ที่ระดับดังกล่าวยังคงมากกว่าของดัชนี Asia ex Japan ที่ 1.5 เท่า ถึง 33.3% สรุปคือระดับราคาของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันแพงกว่าทั้งค่าเฉลี่ยตัวเอง และค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นภูมิภาค
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,600 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก "นายหมูบิน" ได้ในรายการ "เซียนเศรษฐกิจ" ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ
Comments