top of page
369286.jpg

'ดร.สันติ' แนะพักยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี...ช่วยธุรกิจ-คนไทยรอดจากปากเหว



Interview : ดร.สันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ


เศรษฐกิจติดลบ ทำคนไทยเหนื่อยถ้วนหน้า ภาคเอกชนหมดแรงขับเคลื่อน ภาครัฐต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจสุดแรงเกิด ควรพักเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีไว้ก่อน หันมาระดมสรรพกำลังให้คนไทยไม่อดตาย ให้ธุรกิจรอดจากปากเหว การใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจต้องถูกที่ถูกทาง ทยอยใช้งบเพื่อดูว่าเกิดประโยชน์ตรงตามเป้าหรือไม่ เน้นโครงการจ้างงานเพื่อคนระดับรากหญ้า เลิกโครงการเดิมๆ เช่นสร้างสะพาน ซ่อมถนน ที่เงินเข้ากระเป๋านายหน้า-ผู้รับเหมา ที่สำคัญคืออย่าใช้งบแบบมือเติบ เพราะถ้าใช้หมดหน้าตักจะหมดแล้วหมดเลย ยากที่จะกู้มาเพิ่มได้อีก พร้อมแจงคุณสมบัติ 10 ข้อทีมเศรษฐกิจใหม่ เน้นต้องเก่งจริง ไม่มีเวลามาลองผิดลองถูก ใจซื่อมือสะอาด สื่อสารได้รู้เรื่อง ทำงานเป็นทีม ไม่ทำงานแบบข้ามาคนเดียว หรือเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ

เศรษฐกิจแบบนี้ดูภาพแล้วเป็นอย่างไร

พูดสั้นๆ คำเดียวเหนื่อย เพราะน่าจะมีความกังวลใจเยอะ

คำว่าเหนื่อยนี่เป็นกันทุกระดับชั้นเลย ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าไปจนถึงธุรกิจระดับกลางระดับใหญ่เลย ไม่เหมือนตอนต้มยำกุ้งที่ยังมีคนมีแรงช่วยประคับประคอง

ใช่ หลายคนพยายามจะเทียบกับต้มยำกุ้ง ซึ่งผมพูดไปหลายครั้งว่าเทียบไม่ได้ เพราะต้มยำกุ้งเป็นวิกฤตที่เกิดจากภาคสถาบันการเงิน และเกิดปัญหาในวงจำกัดเฉพาะประเทศไทย มาเลเซีย เกาหลี ขณะที่ทั้งโลกไม่ได้เป็นอะไร ถ้าจำได้นอกจากต้มยำกุ้งอีกครั้งในปี 2008 ตอนเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส เกิดเฉพาะซีกโลกตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาเป็นหลัก ก็จำกัดภูมิภาคอีก

แต่ปัญหาคราวนี้ไม่ได้เกิดจากภาคธุรกิจ เกิดจากโรคระบาดไปบั่นทอน 1. การไปมาหาสู่ซึ่งกันและกัน การเคลื่อนที่ของคนไปมาไม่ได้ สินค้าก็ขนส่งลำบาก ตอนที่ล็อกดาวน์เกือบทั้งโลกทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งโลกโดยเฉพาะภาคธุรกิจจริงหดตัวอย่างรุนแรง 2. ภาคการเงินก็สั่นคลอน ปัญหาเกิดทุกที่ ทุกแห่ง ทุกหน ทุกขนาด และไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนก็เดือดร้อน ถ้าจำได้ตอนต้นปี 2562 กับปลาย 2561 หนังคนละม้วน ตอนนั้นเราบอกว่าอัตราการว่างงานของไทยต่ำมาก ขาดแคลนแรงงาน แต่คราวนี้ตรงกันข้าม คนเริ่มตกงาน ซึ่งภาคเอกชนคาดว่าจะตกงานกันถึง 8 ล้านคน ขณะที่ภาคราชการประเมินว่าจะมีคนตกงาน 3 ล้านคน ซึ่งตัวเลข 2 ตัวนี้ต่างกันเยอะ ผมก็ทักท้วงภาคราชการว่าคิดจากฐานอะไรถึงคิดว่าแค่ 3 ล้านคน ขณะที่สภาหอฯ และสภาอุตฯ คาดการณ์ว่าน่าจะเห็นคนตกงานถึง 8 ล้านคนได้ เพราะฉะนั้นครั้งนี้ขนาดและความรุนแรงของปัญหาแตกต่างกันมากจากที่เราเคยมีประสบการณ์กันมา

ถ้าเป็นแบบนี้จะใช้หลักวิชาการแบบเดิมดูแลแก้ไขไม่ได้แล้ว

ไม่ได้ ผมคิดว่าทีมเศรษฐกิจเก่าก็เห็นภาพเดียวกัน มันคงต้องมีโรดแมปและเชิญหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนมานั่งคุยกันที่คณะกรรมาธิการการเงินการคลัง ผมยังถามเลยว่ามีการคาดการณ์หรือทำคล้ายๆ กับไทม์ไลน์หรือไม่ นับจากวันนี้ กลางปี 2563 เราคาดว่าปลายปี 2563 จนกระทั่งถึงกลางปี 2564 ปลายปี 2564 ต้นปี 2565 ซึ่งผมตกใจนิดหน่อยว่าไม่มีใครคิดถึงเรื่องนี้ ผมเองเชื่อว่าถ้าเราคาดการณ์เป็นระยะเวลา สมมุติทุกไตรมาส เราจะได้กำหนดกลยุทธ์มาตรการต่างๆ ให้พอเหมาะพอสม ทีมเศรษฐกิจเก่าก็คงเห็นคล้ายกัน เพราะฉะนั้นในขั้นที่กำลังเกิดวิกฤต คนไม่มีกำลังซื้อ จึงจำเป็นต้องแจกเงิน แจกให้เขาอยู่รอดก่อนไม่อย่างนั้นจะหากินได้อย่างไร พอแจกเงินแล้วถัดไปก็จำเป็นจะต้องสร้างงาน ซึ่งในวิกฤตอย่างนี้ไม่มีเอกชนที่มีแรงแน่ๆ ราชการต้องเป็นคนทำและเป็นคนเริ่มการจ้างงานอย่างจริงจัง ก็หวังว่าทีมเศรษฐกิจใหม่ที่เข้ามาจะมองเห็นภาพคล้ายๆ แบบนี้

ต้อง set zero เลย

ใช่ เพระทุกอย่างแทบล้มไปหมดเลย จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคราชการต้องออกแรงอย่างหนัก

ยุทธศาสตร์ 20 ปีก็ต้องหยุดไปก่อน

สำหรับยุทธศาสตร์ 20 ปี ผมคิดว่าเป็นการวางเป้าหมายในระยะยาว แต่เป็นการคาดหวังเปลี่ยนไปก็ต้องปรับเปลี่ยน ถ้าในระยะสั้นยังไม่รอด ในระยะยาวก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่คาดหวังว่าประเทศไทยจะเป็นอะไรก็รั้งไว้ได้ ใจเย็นๆ เอาระยะสั้นให้คนรอด ให้ธุรกิจรอด ให้ประชาชนคนไทยไม่อดตาย เรื่องนี้สำคัญกว่า

มาตรการที่จะใช้เฉพาะหน้าให้เห็นกัน เช่นโครงการ 4 แสนล้านที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจและจะมีโครงการต่างๆ ให้สภาพัฒน์ดูแล อันนี้ควรจะออกมาแบบไหนถึงจะเหมาะสม

ที่คิดกำหนดกรอบกันไว้มี 4 อัน ต้องไม่คิดถึงโครงการเดิมๆ อย่างเช่น สร้างสะพาน ซ่อมถนน เพราะรายได้หรือเม็ดเงินจะไปตกอยู่กับกลุ่มเดิมๆ คือผู้รับเหมา สำหรับโครงการ 4 แสนล้านจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคิดถึงโครงการจ้างงานให้กระจายไปในระดับรากหญ้า ระดับชุมชน ซึ่งคิดว่าตั้งแต่ตอนที่พูดถึง 4 แสนล้าน จาก 1 ล้านล้าน และสภาพัฒน์ไปคัดกรองโครงการต่างๆ ในเบื้องต้น 4 แสนล้านเข้าใจว่าจะใช้ประมาณ 1 แสนล้านเศษๆ ก่อน ไม่ได้ปล่อยออกมาทั้งก้อน เพราะถ้าปล่อยไปทั้งหมดจะไม่สามารถประเมินผลได้เลยว่าแนวคิดนี้หรือการคัดกรองโครงการต่างๆ จะเกิดผลตามที่คาดหวังหรือไม่ ถ้ายิงออกหมดแล้วก็แก้ยาก กู้ใหม่ก็เหนื่อย มันก็ติดเรื่องเพดานหนี้

ถ้าติดเรื่องเพดานหนี้ รัฐบาลกู้อีกไม่ได้แล้ว จะเป็นปัญหาไหม

ตอนผมอยู่ในกรรมาธิการการเงินการคลัง ผมกับอาจารย์พิสิษฐ์ พิริยาพรรณ คิดคล้ายๆ กันว่าไปกำหนดวินัยเพดานหนี้ไว้แข็งๆ ไม่ค่อยเหมาะสม เพราะการไปกำหนดวินัยไว้อย่างนี้แล้วทำให้เกิดข้อจำกัดในการกู้เงินในยามจำเป็น ก็จะรู้สึกมีคนสนใจ ที่จริงการกำหนดเพดานหนี้สาธารณะ 60% ผมเข้าใจว่าอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่าถ้าเกิดกู้ไม่ได้ ที่จริงไม่ใช่ตัวเลขอันนี้ เป็นตัวเลขที่กันเอาไว้คล้ายๆ กับเหมือนเวลาเราขับรถแล้วเหยียบคันเร่งไปมากๆ หรือทำอะไรก็ตามจนกระทั่งขึ้นไปแตะจุดที่ต้องระวัง หมายความว่าเราไม่สามารถขับรถเร็วกว่านั้นได้ มันเป็นเพียงแค่สัญญาณเตือน ไม่ได้บอกว่าถ้าเกินเพดาน 60% แล้วจะกู้ไม่ได้

ผมคิดว่าคนดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้ดี ในภาวะปกติเราอาจจะกำหนดวินัยได้ว่าไม่อยากให้กู้เกิน 60% ของ GDP แต่ตอนนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ ต้องเอาชีวิตรอด แต่ขณะเดียวกันการเอาชีวิตรอดไม่ใช่จะกู้ตะบี้ตะบัน เพราะถ้าใช้แล้วไม่เกิดผลก็จะเป็นผลเสียต่อไป

เพราะฉะนั้นตอนนี้คิดว่าคนที่ต้องทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะเห็นภาพแล้วยังต้องคาดการณ์ได้ด้วยว่าสิ่งที่ตัวเองจะทำจะเกิดอะไรตามมา พร้อมกันนั้นผมเองรู้สึกว่ามือเติบไม่ได้ ต้องคิดว่าทรัพยากรของชาติที่เราใช้เหมือนกับทรัพยากรของเราเอง อย่าไปคิดว่าอันนี้ไม่ใช่เงินของเราและก็ใช้สุรุ่ยสุร่าย ก็เป็นเรื่องที่กังวลใจ

เป็นห่วงไหมที่มีการเปลี่ยนม้ากลางศึก

ก็ห่วงเหมือนกัน แต่คิดว่าเกิดเหตุการณ์ไปแล้วก็ไม่ต้องมากังวลใจแล้ว คงต้องเดินหน้ากันต่อไป

ถ้าจะเดินหน้าเราต้องการคนแบบไหนในฝันที่พาเราเดินรอดไปได้

ก็มีนั่งคิดเหมือนกันนะว่าน่าจะเป็นคนแบบไหน ผมคิดได้เป็น 10 เรื่อง

อย่างแรกใครก็ตามที่มาต้องน่าเชื่อถือก่อน เพราะในยามจำเป็นถ้ามัวแต่มาทดลองงาน เป็นคนไม่น่าเชื่อถือ แล้วต้องขอความร่วมมือกับทุกฝ่าย ก็จะไม่ได้ความร่วมมือ ความน่าเชื่อถือที่ว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่ต้องเกิดจากเคยมีผลงานที่จับต้องได้ สามารถบอกได้ว่าเคยทำงานมา

สอง ต้องมีวิสัยทัศน์ เข้าใจปัญหา ปัญหาเศรษฐกิจที่เราเจอตอนนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เราเจอทั้งโครงสร้างปัญหาระยะสั้น การแก้ปัญหาระยะสั้น พร้อมๆ กันนั้นต้องคิดด้วยว่าโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาจะแก้อย่างไร ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาระยะสั้นก็ต้องสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างระยะยาวด้วย

สาม คิดว่าจำเป็นมาก คือต้องเข้าใจระบบราชการ กลไกราชการไม่ง่าย ผมเคยทำงานตลาดหลักทรัพย์ คือ กึ่งๆ ราชการ แต่พอมาเจอราชการจริงๆ จะไม่เข้าใจกลไกนั้น เพราะมีกฎหมาย มีระเบิด หลุมพรางเต็มไปหมด พลาดพลั้งเหยียบกับระเบิดตายก่อนที่จะสำเร็จ

สี่ คือคนที่ไม่ใช่ข้ามาคนเดียว ต้องทำงานเป็นทีมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้กระทรวงเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นแค่ของกระทรวง เป็นเรื่องของทุกกระทรวงเลยที่ต้องมุ่งเน้นไปทางเศรษฐกิจ ต้องรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ประสานงานกันได้ ถ้าเป็นประเภทข้ามาคนเดียว คนอื่นโง่หมด ทำงานไม่ได้ เละเลย

ห้า ต้องใช้คำว่าทำงานเป็น ทำงานให้เกิดผลสำเร็จ หลายคนพูดเก่ง แต่พอเริ่มลงมือทำงานกลับคิดไม่ออก งงว่าจะทำอะไรก่อน อย่างนี้ตาย ในภาวะแบบนี้ผมยังย้ำเหมือนเดิมว่ามาลองงานไม่ได้ มันต้องรู้เลยว่าจะทำอะไร

หก อันนี้เป็นเรื่องของการสื่อสาร ทำงานเก่ง แต่สื่อสารไม่ได้ก็เจ็บ ไม่รู้เลยว่าทำอะไรอยู่ คนอื่นไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังทำอะไร คิดอะไร อย่างนี้เจ๊งทั้งระบบ เก่งให้ตายแค่ไหนแต่สื่อสารไม่ได้ก็พัง

เจ็ด คุณสมบัติในฝันเลย ใจต้องสะอาด มือสะอาด มีคนเก่งหลายคนแต่ไม่ใช่คนดี ผมว่าน่ากลัว เราอยากได้ทั้งคนดีและคนเก่งในคนเดียวกัน

แปด ตัดสินใจเร็วและรอบคอบ ไม่ใช่ตัดสินใจเร็วแล้วไม่รอบคอบ ถ้ามาจากภาคเอกชนไม่ค่อยกังวลเพราะเคยชินกับบริบทที่ต้องตัดสินใจในข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนทั้งหมด

เก้า กรุณาอย่าเอานักทฤษฎีหรือนักวิชาการมาทำงาน ผมว่าต้องเอานักปฏิบัติที่เข้าใจว่าทฤษฎีเป็นอย่างไร เพียงแต่ประยุกต์เป็น ไม่อย่างนั้นพัง ล้มทั้งยืน

สิบ ใครก็ตามที่จะมาต้องติดดิน ไม่ใช่นั่งแต่ในออฟฟิศของตัวเองและฝันเอา เพ้อเอา ผมว่าต้องเดินตลาด ดูภาคเอกชนเยอะๆ เพราะจะได้รู้ว่าเขายากลำบากอะไร แต่ฟังแล้วต้องกรองเป็น ไม่ใช่ฟังแล้วเชื่อ

ใน 10 ข้อนี้ผมฝันว่ามันต้องอยู่ในทุกๆ คนในทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่เอาทุกคนมารวมเป็น 10 ข้อ ทุกคนต้องมีคุณสมบัติ 10 ข้อนี้ คือต้องใช้คำว่าครบเครื่อง มีคนในสเปกกผมเยอะที่มีคุณสมบัติไล่มาตั้งแต่ข้อ 1-10 คนที่ทำงานในลักษณะแบบนี้มีเยอะ

เท่าที่เห็นรายชื่อ คิดว่าดีพอไหม

ไม่อยากคอมเมนต์ เพราะที่ทำมาไม่ทราบว่าดีหรือไม่ดี แต่ผมคิดว่าตอนนี้ลูกบอลอยู่ในมือท่านนายกฯ แล้ว ถ้าท่านไม่สามารถหาคนที่ดีกว่าเดิมได้ ผมว่านับถอยหลัง

17 views

Commenti


bottom of page