top of page
312345.jpg

มองธุรกิจฟื้นครึ่งปีหลัง...แต่ยังไม่ใช่เวลาขยายกิจการ


Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

นักเศรษฐศาสตร์มหภาค

แจง...IMF ประเมินเศรษฐกิจโลกติดลบ 5% เศรษฐกิจไทยติดลบ 8% เพราะมองว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงหนักหนาสาหัส และมีทีท่าว่าจะสร้างปัญหายืดเยื้อยาวนาน แต่สำหรับไทยสถานการณ์อาจไม่ย่ำแย่มากเท่าที่แบงก์ชาติหวาดวิตก เพราะไทยเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดได้ดีขึ้น มีโอกาสที่เศรษฐกิจ-ธุรกิจจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เว้นแต่ธุรกิจการบิน-ท่องเที่ยวที่ยังน่าเป็นห่วง ส่วน NPL อาจเพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่น่าจะซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะแบงก์มีความเข้มงวดรัดกุมในการปล่อยกู้มากขึ้น แนะผู้ประกอบการยังไม่ควรขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่ม ด้านภาคครัวเรือนเน้นใช้จ่ายอย่างประหยัด สำรองเงินสด ถ้าจะลงทุนควรฝากแบงก์ ลงทุนในตราสารการเงิน-ตลาดหุ้น แต่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ เหตุความเสี่ยงสูง

ล่าสุดไอเอ็มเอฟคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีของเศรษฐกิจโลกว่าติดลบไปถึง 5% ส่วนของไทยติดลบไปเกือบ 8% มองเรื่องนี้อย่างไร

คือไอเอ็มเอฟก็มองสถานการณ์ขยับในทางขาลงมากขึ้น ซึ่งการประเมินรอบแรกไม่หนักเท่านี้ ในประเทศหลักๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะมีน้ำหนักทางด้านเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ประเทศเหล่านี้มีปัญหาสถานการณ์โควิด-19 หนักขึ้น ทำให้การประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจมีส่วนมากขึ้นไปด้วย เพราะเวลาประเมินเขาจะต้องประเมินว่าการที่จะมีล็อกดาวน์บ้างอะไรบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งจะกระทบในเรื่องเศรษฐกิจด้วย คือสถานการณ์คล้ายๆ จะหนักขึ้น ตัวเลขโดยรวมจึงออกมาทำนองนี้

เราต้องเข้าใจด้วยว่าจริงๆ ไอเอ็มเอฟไม่ได้พยากรณ์ด้วยตัวเองทั้งหมด ถึงแม้จะมีส่วนงานที่รับผิดชอบดูในภาพรวม แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็คงจะต้องมีตัวเลขจากหน่วยงานของประเทศต่างๆ ส่งมา แล้วก็อาจจะมาปรับบ้าง เพื่อให้ระบบตัวเลขต่างๆ อยู่ในระบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นตัวเลขก็อาจจะใกล้เคียง กับประเทศต่างๆ ที่ส่งมา ปกติก็จะเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นตัวเลขของไอเอ็มเอฟมักจะขอตัวเลขจากทางแบงก์ชาติของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะไม่หนีกันมากนัก จะใกล้เคียงกัน ส่วนของเวิลด์แบงก์มักจะขอตัวเลขจากทางสภาพัฒน์ หรือหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ ถ้าเป็นทางเกาหลีก็จะขอทางองค์กรวางแผนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งดูแลตัวเลข GDP โดยตรง ฉะนั้นตัวเลขก็อาจจะใกล้เคียงกับแต่ละประเทศที่ทางการประมาณการไว้ ไม่ว่าจะเป็นทางธนาคารกลางหรือจะเป็นหน่วยงานวางแผนทางด้านเศรษฐกิจเป็นผู้ดำเนินการ

ก็จะได้เข้าใจว่า ทำไมไอเอ็มเอฟจึงไม่เหมือนตรงนั้นตรงนี้ ใครจะเชื่อได้มากกว่ากัน จริงๆ ก็เชื่อได้หมดแหละ เพียงแต่ว่าสมมุติฐานตอนนี้ เป็นเรื่องของทางด้านหน่วยงานที่ประเมิน เช่น แบงก์ชาติประเมินอย่างไร สภาพัฒน์ประเมินอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น ดังนั้นตัวเลขที่ออกมาขณะนี้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับทางแบงก์ชาติที่ให้ไว้ลบ 8.1 ก็ถือว่าใกล้เคียงกัน ซึ่งทางแบงก์ชาติก็ประเมินสถานการณ์เลวร้ายขึ้น จากประมาณลบ 5 กว่าก็ปรับขึ้นมาใกล้เคียงที่หลายๆ แห่งประมาณการ

ต้องเข้าใจนิดนึงว่าไม่มีใครรู้อนาคตการระบาดของโควิด เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับมุมมองด้วยว่าเขาจะมองสถานการณ์เป็นอย่างไร สิ่งที่ยากสำหรับการประมาณการในช่วงนี้ก็คือมีความไม่มั่นใจว่าสถานการณ์โควิด-19 จะอยู่อีกนานแค่ไหน จะหนักประมาณไหน ช่วงไหนจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นประมาณการตัวเลขก็แตกต่างกันได้ แต่ก็แตกต่างในลักษณะที่ไม่ต้องไปกังวลมากว่ามันลบ 8 หรือจะลบ 10 ก็คือว่าใกล้เคียงกัน ต้องมองแบบคร่าวๆ อย่าไปมองว่าฝ่ายนั้นให้ลบเท่าไหร่ อีกฝ่ายให้ลบเท่าไหร่ จริงๆ ทั้งหมดมันใกล้เคียงกันมาก คือขณะนี้มันยากมาก แต่ละท่านที่ดูแลเรื่องการพยากรณ์ก็จะไม่ค่อยมั่นใจ เพียงแต่ว่าจะทำตัวเลขอย่างไรให้พอรับได้ โดยทั่วไปก็จะเป็นแบบนี้ ไอเอ็มเอฟกับแบงก์ชาติของเรามองไปในทิศทางเดียวกันก็คืออาการจะหนักขึ้นเมื่อเทียบกับการประเมินในรอบที่ผ่านมา

อย่างนี้ก็แปลว่าสถานการณ์หนักหนาสาหัส


ถูกต้อง อาจจะหนักกว่านี้หรือเบากว่านี้ก็ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโควิด-19 ซึ่งเป็นอะไรที่ประมาณการยากว่าจะกระทบแรงแค่ไหน ขณะนี้ก็เป็นการมองแค่พอประมาณ

ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าไทยไม่อยู่ในสถานะที่แย่มากนัก การควบคุมเรื่องของโควิด-19 ต้องบอกว่าค่อนข้างดี ซึ่งตรงนี้อาจจะไม่หนักมากก็ได้ใช่หรือไม่ ถ้าเปิดครึ่งปีหลังก็อาจจะมีความหวังมากขึ้น

ใช่ ก็ยังมีอยู่ คือขณะนี้ถ้าเราดูตัวเลขจริงๆ ของประเทศพัฒนาแล้ว สถานการณ์มันหนักขึ้น เพราะเขาเป็นสังคมเมืองและเขาเป็นประเทศหนาว อากาศเป็นใจ ดังนั้นการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวนี้ อาจจะหนักขึ้นหรือแรงขึ้น การระบาดอาจจะรุนแรงกว่าที่คาดคะเนไว้ ส่วนประเทศไทยอาจจะเป็นสังคมเมืองที่น้อยหน่อย การระบาดจึงอาจจะเบาลง การกลายพันธุ์ความรุนแรงจึงอาจไม่มาก ไวรัสก็อ่อนแอเมื่อเจอรังสี UV เรื่องที่ประมาณการ ก็อาจจะเป็นมุมมองต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกันมากนัก

เพราะฉะนั้นโดยรวมจะเป็นแบบนี้คือ ประเทศพัฒนาแล้วดูสถานการณ์น่าจะหนักขึ้นไปในหลายประเทศ พอๆ กับวิกฤตซับไพรม์ ช่วงปี 2008-2009 เป็นสิ่งที่ในสหรัฐอเมริกาก็ประเมินในทำนองใกล้เคียงกัน คือความรุนแรงจะอยู่ประมาณใกล้วิกฤตซับไพรม์ แต่ว่าวิกฤตซับไพรม์ในช่วงนั้น ไทยเราไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง ของไทยจะเบาหน่อย มองว่ามันจะหนักพอๆ กับสมัยวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย

ส่วนตัวคิดว่าในช่วงหลังที่แบงก์ชาติประเมินอาจจะประเมินสถานการณ์เลวร้ายไปก็ได้ ส่วนตัวมองว่าที่ประเมินลบ 8 จะดูอนุรักษนิยมนิดนึง คือมองสถานการณ์หนักไป จริงๆ อาจจะไม่แรงขนาดนั้น โควิด-19 อาจสร้างปัญหาให้ไทยไม่รุนแรงเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว คือมันอาจจะไม่เกี่ยวเรื่องการควบคุมโรค แต่จะมีเรื่องสภาพแวดล้อมทางสังคมและทางเศรษฐกิจ ประเด็นหลักคือเวลาที่โจมตี มันโจมตี Supply Chain ตรงนี้เป็นตัวที่ยากที่สุดของการประเมินว่า Supply Chain ของแต่ละประเทศเสียหายมากน้อยแค่ไหน ขณะนี้เราค่อนข้างรู้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและทางยุโรปโดนโจมตี Supply Chain ค่อนข้างจะหนัก เขาก็เลยจำเป็นที่จะต้องปล่อยให้ประชาชนออกมาใช้ชีวิตปกติมากขึ้น เพราะเขาล็อกดาวน์ไม่ไหว เพราะยิ่งล็อกดาวน์ก็ยิ่งเป็นผลร้ายในทางเศรษฐกิจ ส่วนของไทยโควิด-19 โจมตีไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ฉะนั้นถ้าสหรัฐอเมริกาติดลบ 10 โอกาสติดลบ 10 ของไทยคงยากหน่อย

มองว่าอาจจะประเมินเลวร้ายเกินไปเสียด้วยซ้ำ

ใช่ ตัวเลขโดยส่วนตัวมองว่าเลวร้ายไปนิดนึง ปัญหาจากโควิด-19 อาจจะไม่แรงขนาดนั้น ในช่วงนี้ ส่วนตัวมองว่าก็ต้องไปดูปลายปีอีกที เพราะเป็นช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว และเป็นช่วงที่อากาศนิ่งมากๆ PM2.5 เริ่มเป็นปัญหา ดังนั้น การระบาดของโควิด-19 ในไทยอาจจะแรงขึ้น ขณะที่ปีหน้า ส่วนใหญ่จะมองคล้ายๆ กันก็คือสถานการณ์น่าจะดีขึ้น ตัวเลขก็อาจจะดีขึ้น ความเลวร้ายอาจจะไม่แรงเหมือนปี 2563

ถ้าไม่นับช่วงกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาที่ตลาดหุ้นตก ก่อนหน้าหุ้นก็ขึ้นมาตลอด


ใช่ เพราะคนประเมินว่าสถานการณ์น่าจะโอเคแล้ว และรัฐบาลก็มีการกระตุ้นมากขึ้นด้วย แต่พอตัวเลขของสหรัฐอเมริกาเริ่มไม่ดี คนก็เริ่มกังวล ก็อย่างที่ส่วนตัวได้บอกว่าการพยากรณ์รอบนี้มันเป็นการพยากรณ์ที่ยาก เพราะเป็นการพยากรณ์ โควิด-19 ที่เป็นปัจจัยภายนอก ในอดีตการประเมินภาวะการลงทุน ประเมินว่าทิศทางการลงทุนจะเป็นอย่างไร มันง่ายกว่า เพราะดูแค่ตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจ


ถ้าประเมินแนวโน้มผิดก็จะออกนโยบายผิดไปด้วย

ก็ถูก เพราะฉะนั้นนโยบายเศรษฐกิจจะต้องมีหลักยืดหยุ่น คือหมายถึงว่าเข้าทำงานเร็วและออกจากการทำงานเร็ว คือต้องเร็ว แต่ปกติมันจะเข้าช้าออกช้า ดังนั้นหลักใหญ่ของมันก็คือเวลาแก้ปัญหาต้องรีบแก้ให้เร็วที่สุด เพราะการระบาดจะไม่ให้หนัก ต้องแก้ตอนที่ระบาดไปแล้ว มันต้องแก้ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ อย่างของไทยที่ผ่านมาเราไปพลาดตอนที่มันเริ่มแรกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เราปล่อยปละละเลยมาก จำนวนคนติดเชื้อก็ขึ้นมากระฉูด เกิดความตกใจกันหมด ดังนั้นมาตรการที่ออกมาจึงรุนแรงมาก ต้องปิดนู่น ปิดนี่กันไปหมด ตรงนี้ที่เกิดปัญหาเพราะเราช้าเกินไป แต่ว่าของประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นปัญหาอีกแบบ ส่วนตัวมองว่าการจะเปรียบเทียบต้องเข้าใจในระบบประเทศที่แตกต่างกัน อย่าไปมองว่าของเรามีปัญหาน้อยเพราะเราเก่ง ประเทศที่ปัญหาเยอะเพราะเขาแย่ เขาไม่เก่ง มองอย่างนี้ไม่ได้ เพราะสังคม วัฒนธรรมการใช้ชีวิต วิธีการทำงาน วิธีการเดินทางต่างๆ นี้มันแตกต่างกัน อย่างประเทศพัฒนาแล้วเขาใช้ระบบการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น อังกฤษจะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ของสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน พวกนี้จึงเจอปัญหาหนักมาก เพราะคนเยอะขนาดนั้นไม่มีทางเลือกอื่น จะใช้แท็กซี่ก็แพงมาก คนไม่สามารถนั่งแท็กซี่ได้เพราะไม่ไหวจริงๆ ส่วนที่ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ก็ใช้ระบบโดยสารสาธารณะอย่างรถไฟ ซึ่งก็ไม่มีค่อยใครใช้รถแท็กซี่ ซึ่งตอนนี้ประเทศพัฒนาแล้วก็หันมาใช้รถส่วนตัวกันมากขึ้น

สถานการณ์ขณะนี้มีผลต่อ NPL แค่ไหน

ของเราถ้าว่ากันจริงๆ ไม่ถึงกับน่ากลัวมาก แต่ว่าอาการจะแย่ลงไปเรื่อยๆ ถามว่าน่ากลัวมากหรือไม่ ก็คงไม่ขนาดนั้น ไม่เหมือนกับปี 2540 ที่ระบบสถาบันการเงินของภาคเอกชนของเราปล่อยกู้กันมาก สถานการณ์หนักมากเช่นธนาคารอิสลาม ส่วนก่อนที่จะเกิดโควิด-19 พวกแบงก์ต่างๆ เขาก็ไม่ได้ปล่อยกู้เยอะมาก ส่วนที่จะมากู้ก็กู้ยาก เอกชนบางส่วนที่กู้แบงก์ไม่ได้ก็ต้องไปออกหุ้นกู้เอง ฉะนั้นก็ไปโผล่ที่หุ้นกู้ที่บริษัทเอกชนไปออกกันเอง ออกกันแบบไม่มีระบบรองรับกันสักเท่าไหร่ และการกำกับดูแลไม่มี ตรงนั้นก็โผล่ขึ้นมา และตัวนี้ก็เป็นตัวใหญ่ที่เราก็ต้องรอดู ถ้าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นกู้ก็จะทำให้เกิด NPL ในทิศทางที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ การมากขึ้นเรื่อยๆ ของ NPL เราจะดูอย่างไร คือ 1. ดูตัวเลขที่รายงานมา 2. ดูภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งตัวที่สองก็แล้วแต่ละคนจะคอยสังเกต ส่วนตัวแรกที่เป็น NPL ตรงนี้จะขึ้นอยู่กับการชำระดอกเบี้ย เงินต้นต่างๆ ว่าขาดหรือไม่ ขาดกี่เดือน ซึ่งแบงก์ชาติก็ผ่อนปรนแล้ว เริ่มผ่อนมาตรการ คือให้รายงานเบาขึ้น ไม่เข้มเหมือนในอดีต เช่นการขาดชำระจาก 3 เดือนเลื่อนเป็น 6 เดือน ตรงนี้มันจะไปโผล่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ดังนั้นเรื่องมาตรการแขวนดอกเบี้ยแขวนหนี้ก็เป็นมาตรการย่อยๆ ไม่ใช่มาตรการแก้ไขปัญหา แต่เป็นมาตรการที่สะสมปัญหา คือมันทั้งดีและเสีย แต่ว่าเวลาเราปฐมพยาบาลเราก็ต้องเผื่อตรงนี้ไว้ว่าตัวเลขตัวนี้ที่จะต้องรายงานเดือนกันยายนมันยังไม่ชัวร์ อย่าไปมั่นใจมันมาก เพราะตัวเลขนี้ยังไม่โผล่ หรือโผล่บ้าง บางแบงก์อาจจะโผล่ เพราะวิธีนับ NPL เขาอาจจะแตกต่างกัน อาจจะโผล่ หรือไม่โผล่ แต่โดยรวมๆ ส่วนตัวคิดว่าขณะนี้ NPL ของสถาบันการเงินมันมีเงินกองทุนที่รองรับไว้เพียงพอ คือมีปริมาณเงินทุนที่รองรับไว้เผื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน มันตกลงมา 18% ปกติ 11% คือต่ำมาก บางแบงก์ก็ 22% ก็แล้วแต่แบงก์ ถ้ามองอย่างนี้คิดว่า โอกาสที่ NPL จะไปสร้างความปั่นป่วนในระบบสถาบันการเงินยังมีน้อย ฉะนั้นข่าวในช่วงที่ผ่านมาที่แบงก์ชาติพยายามผ่อนคลายตรงนั้นตรงนี้อาจจะทำให้ตลาดเข้าใจคลาดเคลื่อน คือเข้าใจว่ามันกำลังจะแย่ แบงก์ชาติก็พยายามแก้ปัญหาแบบหนึ่ง ซึ่งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ควรตีความว่ามาตรการที่ออกมาเพราะสถานการณ์จะเลวร้าย อย่าไปคิดขนาดนั้น ไม่เหมือนตอนปี 2540 ที่มีการปล่อยเงินกู้โดยไม่มีหลักประกัน แต่ขณะนี้ ตอนนี้ปล่อยกู้ยากมาก เขาจึงไปออกหุ้นกู้กัน

แบงก์ชาติจึงกังวล ต้องขอร้องแกมบังคับว่าแบงก์อย่าจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล มองเรื่องนี้อย่างไร

คือเป็นการป้องกันไว้ก่อน แบบประเภทไม่แก้ปัญหา เพียงแต่ช่วยแบงก์ต่างๆ ที่รู้สึกว่าตัวเองทำแล้วไม่สบายใจ แล้วผู้ถือหุ้นจะว่าเอา จะฟ้องเอา คือจะได้อ้างว่าแบงก์ชาติสั่งมา คือหลายแบงก์สิบกว่าแห่งส่วนใหญ่เขามีการปันผลครึ่งปีคือการปันผลระหว่างกาล ที่เขาปันผลปีละครั้งก็ไม่ใช่ระหว่างกาล ก็คือปันผลหลังจากงบเดือนธันวาคมออกแล้ว

เรื่องของมุมมอง มองว่าน่าจะแย่ GDP ออกมาติดลบ 8% แต่ก็ยังคงดอกเบี้ยไว้ 0.5%

เพราะมันจะไปลงกว่านี้ ในสถานการณ์ที่มันไม่รอบด้าน แล้วก็คงจะแปลกอยู่ ถ้าเขาจะลดก็คงจะลดตั้งนานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาลดตอนนี้ แต่ในเรื่องของการถูกโจมตี ส่วนตัวคิดว่าแบงก์ คนอาจจะมอง NPL แล้วกลัวจนตกใจ ขณะนี้ส่วนที่ถูกโควิด-19 โจมตีมากที่สุดก็คือธุรกิจการบิน การเดินทาง การท่องเที่ยว พวกนี้จะโดนโจมตีหนักที่สุด เครื่องบินหนักที่สุดเลย ฉะนั้นธุรกิจโรงแรมก็จะหนัก ซึ่งธุรกิจโรงแรมก็จะมีที่พึ่งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ พวกที่พึ่งระหว่างประเทศส่วนใหญ่จะเหนื่อย พวกนี้จะโดนโจมตีแรงที่สุดเพราะพึ่งลูกค้าต่างประเทศ ก็ต้องใช้เวลานาน อาจถึง 24 เดือน เราต้องเผื่อไว้ คือมันอาจจะมีวัคซีน แต่วัคซีนไม่กว้างขวางเพียงพอ คนก็เลยไม่มั่นใจมากนัก ตรงนั้นจะทำให้คนที่เดินทางระหว่างประเทศหายไปหลายเดือน

สรุปว่าจะต้องมีความระมัดระวังเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แม้อาจไม่แย่ถึงขั้นปีที่เกิดต้มยำกุ้ง

ใช่ โอกาสไม่น่าจะถึงขั้นนั้น ที่เราเป็นห่วงก็คือเรื่องหุ้นกู้ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนตัวอื่นยังน้อย ส่วนเรื่องการลงทุนนั้นตอนนี้ควรเก็บเป็นเงินสด ส่วนที่เป็นผู้ประกอบการอย่าเพิ่งไปลงทุนประเภทขยายกิจการหรือไปซื้อโรงงานไปซื้อบริษัท ถ้าเป็นครัวเรือนอย่างพวกเราที่เป็นคนออมและเอาเงินทุนเล็กๆ น้อยๆ ควรจะเลือกระหว่างการฝากแบงก์ การลงทุนในกองทุนตราสารการเงิน หรือไม่ก็ไปลงทุนในหุ้น ซึ่งหุ้นก็ต้องเลือกดู Sector ดีๆ อย่าวิ่งไป Sector ที่ดูผิดปกติ ที่เสี่ยงมากๆ

ส่วนที่เป็นการลงทุนในหุ้นกู้ ให้ระวังที่สุด หรือลงทุนในพันธบัตรเอกชนให้ระวังที่สุด ขณะนี้มีบางท่านไม่ระวังเพียงพอ พอมีคนออกหุ้นกู้มา เห็นให้ดอกแพงๆ ก็เอาหมดเลย คือเขาให้ดอกเบี้ยแพงๆ 5-6% เราก็มองว่าถ้าเขาประเมินมาก็ต้องประเมินดีแล้ว เขาถึงจะออกมาได้ นี่คือความเสี่ยงของพวกเราที่อยากจะได้ดอกเบี้ยแพงๆ แต่ว่าดอกเบี้ยตรงนี้อาจไม่คุ้มความเสี่ยง ซึ่งเราเอาดอก 0% ดีกว่า เพราะมั่นใจได้ว่าเงินที่เก็บไว้ถึงเวลาเราจะเอาออกมาทำอะไรก็ได้

8 views
bottom of page