top of page
369286.jpg

'สุญญากาศ' ซ้ำเติมวิกฤต...หวังพึ่งรัฐบาล-นายกฯใหม่


เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังน่าห่วง โดยเฉพาะภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีนายกฯ ตัวจริง ทำให้เศรษฐกิจกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองยังมีอยู่ อาจเกิดเหตุแปลกๆ ปาฏิหาริย์ที่คาดไม่ถึง ได้แต่หวังว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะราบรื่น ได้ทีมเศรษฐกิจที่บริหารจัดการตามหลักการที่ถูกต้อง ไม่ถูกอิทธิพลทางการเมืองก้าวก่าย ทีมเศรษฐกิจและรมว.คลังไม่จำเป็นต้องมีอายุมากหรือประสบการณ์สูง ขอเพียงมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทของรัฐต่อการบริหารจัดการเศรษฐกิจ มีความเข้าใจปัญหาในโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น-ระยะยาว รู้ว่าควรทำอะไรก่อนอะไรหลัง แนะ...งานเร่งด่วนคือปรับโครงสร้างการคลัง-เศรษฐกิจที่มีปัญหาสะสมเรื้อรัง ไม่เหมาะกับบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ควรเร่งปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ควบคู่กับการหารายได้เข้ารัฐได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย รวมทั้งแก้ปัญหาระบบผูกขาดทางการค้าที่เอื้อนายทุนรายใหญ่ กดขี่คนตัวเล็กตัวน้อยจนขาดโอกาสในการทำมาหากิน


Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์


มองเศรษฐกิจโลกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

โดยทั่วไปเศรษฐกิจโลกก็ไม่ถึงขั้นจะเป็นรีเซสชั่น คือมีแนวโน้มที่อ่อนตัวลงบ้าง แต่เป็นการเติบโตอย่างช้าๆ พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ก็คงจะเป็นยุโรปตะวันตก ทั่วๆ ไปก็ไปได้ดีพอสมควร ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่คนคิดว่าจะต้องเกิดรีเซสชั่นอะไรมากมาย ในสหรัฐอเมริกา ตัวเลขเงินเฟ้อก็เริ่มอ่อนกำลังลง หลายๆ ตัวเริ่มดีขึ้น ตัวเลขนำเข้า เริ่มขยายตัวขึ้น หมายความว่าเศรษฐกิจมีกำลังซื้อที่ไปได้โดยที่ค่าครองชีพไม่ได้สูงขึ้น ตัวนี้เป็นตัวที่ผ่อนคลายความกังวลที่มีต่อตลาดทุน และธนาคารกลางหรือเฟด ก็สบายใจมากขึ้น

การประชุมในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาก็คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาถือว่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว เพียงแต่ไม่ได้สูงมากเหมือนในช่วงปกติเท่านั้นเอง อัตราดอกเบี้ยประมาณนี้น่าจะเพียงพอ เพราะเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาเริ่มอ่อนกำลังลง แต่ว่าภาวะเงินเฟ้อตัวนี้ อย่านิ่งนอนใจ แต่ถ้ามีความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่รุนแรงขึ้น ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้น ค่าครองชีพก็กลับมาสูงใหม่ได้ ยังไม่มีความแน่นอนอยู่ แต่ทั่วไปถ้าไม่มีปัญหาทางการเมือง ตัวเลขเงินเฟ้อก็ถือว่าอยู่ในระดับที่อ่อนกำลังลงแล้ว

หลายประเทศก็เป็นทำนองนั้น ยกเว้นไม่กี่ประเทศโดยเฉพาะยุโรปตะวันตกเท่านั้นเองที่ค่าครองชีพสูงมาก เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่เฟดขึ้นไปก็มีอยู่ไม่กี่จุดของโลกยังมีเรื่องของการที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มต่อไป แต่โดยทั่วไปของโลก อัตราดอกเบี้ยอยู่ในจุดที่เรียกว่าพอสมควรแล้ว

จุดนี้ก็จะผ่อนคลายความกังวลที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุน ในนี้เราอาจสังเกตว่าช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาหรือในช่วงอนาคตก็อาจจะมีแรงซื้อเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วก็จะคลายกังวลไปเยอะเลย


ไทยเราเป็นอย่างไร


สำหรับเมืองไทย ตัวเลขค่าครองชีพเราต่ำมาก แล้วก็ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้นไป ฉะนั้น ดอกเบี้ยที่ว่าจะเป็นขาขึ้นไปเรื่อยๆ ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร คิดว่าโอกาสที่ กนง. จะมีนโยบายใกล้เคียงกับเฟด คือมีโอกาสที่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ตอนนี้ยังคงเดิมไปก่อน


หลายๆ อย่างดูดีขึ้น

คิดว่าในแง่ของสภาพแวดล้อมทางการเงินอะไรต่างๆ ค่อนข้างจะไปได้ วิกฤตทางการเงินในแบงก์โดยเฉพาะที่เป็นแบงก์ท้องถิ่นที่เคยมีปัญหาอย่าง SVB ที่เราได้ข่าวมาว่ามีปัญหาเรื่องตลาดพันธบัตรอะไรต่างๆ ตอนนี้ก็ผ่อนคลายไปแล้ว สภาพคล่องในสหรัฐอเมริกาก็เริ่มปกติขึ้นพอสมควร และการถอนนโยบาย QE ที่ทำๆ มาก็สามารถดำเนินต่อไป ส่วนสภาพคล่องที่อัดฉีดไปยังคงไปอยู่ในส่วนที่ช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหา ในส่วนที่เป็นภาพรวมของสหรัฐอเมริกาเอง ก็ถือว่ากลับมาปกติแล้ว เพราะฉะนั้น ความกังวลเมื่อช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ก็ไม่เกิดขึ้น


กรณีเปลี่ยนจาก QE เป็น QT ที่มีประเมินว่าหลังการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา อาจจะทำให้กลายเป็นมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องขึ้นมาอีก ตรงนี้อาจารย์มองว่าน่ากังวลแบบนั้นหรอไม่ หรือคนไปห่วงกังวลกันมากเกินไป

เรากังวลมากเกินไป 2 ส่วนนี้เป็นคนละส่วนกัน ส่วนแรกก็คือ QT เป็นการใช้แทนนโยบาย QE ที่เริ่มถอนเงินออกจากระบบ ก็คือลดการซื้อสินทรัพย์ที่ธนาคารทำไว้ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีจนต้องอัดสภาพคล่องเข้าไปเยอะๆ แต่ตอนนี้ก็กลับไปปกติแล้ว ก็คือโปรแกรมในการปรับลดตัวสภาพคล่องที่เฟดไปซื้อสินทรัพย์ไว้ เริ่มทยอยกลับไปเป็นปกติ ส่วนที่อัดฉีดเข้ามาก็เพื่อช่วยสถาบันการเงินที่มีปัญหาเท่านั้นเอง แต่ส่วนที่ไม่ใช่ส่วนนี้ก็เริ่มกลับไปเหมือนเดิมแล้วก็คือเริ่มทยอยทำ QT ไปเรื่อยๆ ฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นความมั่นใจที่เฟดมีแล้ว ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ส่วนเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่เพดานหนี้ตามความหมายที่คนไทยหรือหลายๆ ประเทศเข้าใจ ของเราจะเข้าใจว่าเพดานหนี้หมายถึงหนี้ของประเทศเทียบต่อจีดีพีเท่านั้นเท่านี้ ที่ว่าไม่ควรเกิน 50% ถ้าไปไม่รอดอาจต้องเพิ่มเป็น 60-70-80% แสดงถึงความแย่แล้ว น่ากังวลแล้ว แต่ว่าการขายเพดานหนี้ของสหรัฐนั้นเครดิตอะไรต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาก็ยังคงดีเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกามันเป็นเพดานหนี้ตามระบบงบประมาณ หมายถึงเวลาที่จะก่อหนี้ต้องไปขออนุมัติจากรัฐสภา และระบบการก่อหนี้ของเขานอกจากผูกกับการอนุมัติของรัฐสภาแล้วยังผูกกับเรื่องโครงการต่างๆ ที่รัฐใช้จ่ายด้วย ก็คือรัฐใช้จ่าย จะไม่มีระบบแบบบ้านเราที่จ้างข้าราชการเป็นการถาวร ของสหรัฐอเมริกานั้นองค์กรจำนวนมากของเขาเป็นการจ้างเจ้าหน้าที่รัฐชั่วคราว ก็คือจ้างปีต่อปีเป็นเทอม เป็นสัญญาจ้าง

ดังนั้น เมื่อถึงระยะเวลาที่ต้องต่อสัญญาก็จะตกช่วงเวลาที่จะต้องขอเพิ่มเพดานหนี้ทุกปีพอดี เพราะฉะนั้นสหรัฐอเมริกาจะเจอแบบนี้ทุกปี แล้วทุกปีก็จะมีข่าวมองว่าแย่แล้วเป็นข่าวร้าย แต่ท้ายที่สุดก็คุยกันได้ เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ก็คือสหรัฐอเมริกาทำงานไม่ได้ คนจะไม่มีงานทำไป 2-3 อาทิตย์แล้วกลับมาทำงานใหม่ ฉะนั้นก็จะเดือดร้อน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานแล้วกินเงินเดือนตามสัญญาจ้างบางแห่งก็อาจจะมีการยกเลิกไป การยกเลิกไม่เกี่ยวกับเพดานหนี้ แต่โดยตัวของมันเอง เกี่ยวกับว่าภารกิจอาจจะจบแล้ว ยกเลิกไปได้แล้ว ระบบเขาเป็นระบบตลาดมากกว่าบ้านเรา เป็นระบบธุรกิจมากกว่าบ้านเรา

บ้านเราเวลาตั้งองค์กร ตั้งโครงการมา จะไม่ยอมเลิกกัน พอหมดภารกิจแล้วก็ยังรักษาไว้ แล้วไปหางานใหม่ เพิ่มมาตรการเข้ามาเพื่อให้องค์กรเจ้าของโครงการได้มีงานทำต่อ หรือไม่ก็ตั้งองค์กรใหม่เข้ามาเรื่อยๆ บ้านเราจะติดปัญหานี้ แต่ของสหรัฐอเมริกาไม่มีปัญหาแบบนี้ ของเขาเป็นระบบ ถ้าสมมติว่าองค์กรไม่มีงานเขาก็ยุบทิ้ง หรือมีงานน้อยเกินไปไม่คุ้มเขาก็ยุบทิ้ง แล้วก็ไปหางานใหม่กันคนทำงานก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่มีงานองค์กรนี้ ก็มีงานที่องค์กรอื่น ปัญหาไม่เหมือนบ้านเรา

ฉะนั้น เรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐที่กังวลกันก็จบแล้ว ตอนนี้เขาก็ตกลงกันได้เรียบร้อย ไม่มีปัญหา แม้ว่าปกติต้องได้เรียบร้อยวันที่ 1 มิถุนายน แต่คราวนี้ได้ช้าออกมาหน่อย ดีเลย์ไปไม่กี่วันก็ไม่เป็นไร


จะเห็นว่าตลาดดาวโจนส์ เอสแอนด์พี แนสแด็ก ทำนิวไฮ

ขึ้นมาหลายวันเลย โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ก็ไปได้เร็วมาก ปรับขึ้นมา เพียงแต่ว่าจะแรลลี่ได้นานแค่ไหน ก็เป็นเรื่องมุมมองที่แตกต่างกัน


มองว่าการแรลลี่ของหุ้นดาวโจนส์เป็นของจริงแล้ว

คิดว่าก็ยังไปได้อยู่ เพียงแต่ว่าปัญหาทางการเมืองจะเป็นปัญหาที่อาจจะมากระทบกระเทือนเป็นช่วงๆ เพราะฉะนั้นใครที่มองการแรลลี่นี้ว่าจะเป็นแรลลี่ระยะยาวๆ ผมคิดว่าอาจจะต้องเผื่อใจไว้สักนิดหนึ่ง อาจจะกลับมาเร็วขึ้น แต่ว่าจะเร็วเป็นช่วงๆ พวกหุ้นเทคฯ เข้าใจว่า P/E ยังสูงอยู่ ถึงแม้ว่าราคาจะตกลงมาเยอะมากแล้ว แต่โดยเฉลี่ยก็ยังสูงอยู่ โดยทั่วไปจะมีเซกเตอร์ที่ไปได้ดีแค่ 2 เซกเตอร์ก็คือ เทคฯ กับเฮลท์แคร์ที่ไปได้ดีหน่อย

แต่ในระยะต่อไป ก็จะมีบางตัวที่เข้ามาทำได้ดีเป็นช่วงๆ อย่างเช่น พลังงาน บางทีอาจจะกลับมาได้ เพราะราคาพลังงานตกลงไปมาก ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาใหม่ เฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ก็อาจทำให้สภาพคล่องเอื้ออำนวยให้ราคาพลังงานไม่ต่ำกว่าปกติ แล้วก็ทำให้ทุกเซกเตอร์ที่เป็นพลังงานดีขึ้น แต่ว่าเทคโนโลยีที่เป็นกองทุน หรือFIF ที่พวกเรารู้จักกันดีเป็นกองทุนต่างประเทศที่เป็นตลาดทุน ที่เป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ก็จะมีบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่กี่แห่งที่มีกองทุนนี้ ก็เพราะอาจจะเสี่ยงมากๆ ก็เลยไม่ค่อยมีบริษัท Asset Management เสนอขายกองทุนประเภทนี้

แต่โดยทั่วไปคิดว่ามีทางเลือกให้ลงทุนพอสมควร อย่างเทคฯ เฮลท์แคร์ ยังไปได้ ตัวที่ดีมากจะเป็น เอสแอนด์พี 500 ก็อาจจะกลับมาช่วยทำให้นักลงทุนสามารถไปลงทุนในระยะสั้นๆ ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัว


มองเศรษฐกิจไทยเราจะเป็นอย่างไร

ยังเป็นช่วงสุญญากาศ เพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2560 เขาออกแบบให้การถ่ายโอนอำนาจเกิดขึ้นไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือจาก คสช.มาเป็น คสช.คุมนักการเมือง ตรงนี้มันเป็นอะไรซึ่งอาจจะไม่ได้ตั้งใจให้เกิด แต่ว่ามันเกิดขึ้นแล้ว โดยที่คนที่เป็น คสช.มาเล่นการเมืองเอง มาเป็นรัฐบาลเอง มาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง อันนี้เกิดขึ้นมาแล้ว และกินเวลามาประมาณ 8-9 ปี

ระยะต่อไป ยังเป็นระยะที่อยู่ในช่วงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ช่วงนี้เป็นช่วงที่การเปลี่ยนผ่านจะใช้เวลานาน เช่นการรับรองผลของการเลือกตั้งโดย กกต.ก็ใช้เวลานาน คือมีการออกแบบให้มันนาน จงใจออกให้มันนาน ดังนั้น ช่วงที่มันนาน มันเป็นช่วงที่กินเวลาการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งทำให้รัฐบาลใหม่ไม่สามารถเข้ามาทดแทนรัฐบาลเก่าได้

แล้วพอจบระยะการรับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ก็เป็นช่วงของการที่จะกำหนดตัวคนที่จะมาเป็นประธานรัฐสภา คนนี้จะเป็นคนที่จะสนองอะไรต่างๆ ที่ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นคนคุมวาระต่างๆ เหล่านี้ แต่ที่ว่ามาก็ไม่ใช่ตัวแปรหลัก ตัวหลักก็คือ ส.ว.จะเป็นตัวชี้ขาดในการที่จะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้มีมากกว่า 200-250 เสียงมันมากพอที่จะกำหนดว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ดังนั้น จะมีช่วงที่เว้นช่วงหนึ่งตามบทเฉพาะกาล ซึ่งก็ไม่แน่ว่าคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ไม่รู้ว่าเขาจะรวมเสียงในสภาได้หรือไม่ แล้วมากพอหรือไม่ที่จะดึงเสียงจาก ส.ว. มารวมแล้วได้เยอะเพียงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีคนที่เป็นจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่มาจากรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือรัฐบาลเสียงข้างมาก อันนี้ก็ยังไม่รู้อีก

ดังนั้น ระยะนี้อาจจะกินเวลาไปถึงสิงหาคม ซึ่งก็มองว่าระยะนี้จะเป็นระยะที่เป็นสุญญากาศ อำนาจอยู่ที่รัฐบาลรักษาการ ซึ่งเราก็มองว่าเป็นตัวแปรที่ไม่มีความแน่นอนทางการเมือง เช่นอาจจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาอะไรก็ได้ที่แปลกๆ ปาฏิหาริย์ แต่จะออกมาได้ในช่วงที่สุญญากาศทางการเมืองที่กฎหมายรัฐธรรมนูญทางบทเฉพาะกาลเปิดช่องไว้ให้และสุญญากาศนี้สามารถมีกฤษฎีกา


เป็นจังหวะน่าเสียดายที่ไทยไม่ควรเจอบรรยากาศแบบนี้ เพราะที่อื่นเศรษฐกิจเขาก็เริ่มคลี่คลายเดินหน้ากัน

คือภายนอกเริ่มดีขึ้นแล้ว แต่ภายในมันก็จะอึมครึมๆ เป็นอะไรที่น่าห่วง อย่างน้อยงบประมาณแผ่นดิน ก็เบิกไม่ได้ ช่วงนี้จริงเป็นช่วงจะต้องเคาะรัฐบาลแล้ว ก็เคาะไม่ได้ สิงหาคมก็เคาะไม่ได้ และต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นไปก่อน งบประมาณลงทุนอะไรก็ทำไม่ได้ อะไรหลายๆ อย่างเดินไปไม่ค่อยได้ รัฐบาลรักษาการก็ไม่มีอำนาจในการโยกย้ายข้าราชการอะไรทั้งสิ้น ต้องขออนุญาต กกต. และ กกต.ตัวหลักเขาก็ต้องยึดประเพณีการปกครองว่าจะต้องให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ ดังนั้น จะเป็นช่วงรอยต่อที่นานมาก


รอยต่อที่นาน ก็ว่าน่าห่วง แต่สิ่งที่ห่วงที่สุดคือหัวใจของประเทศ คือกระทรวงการคลัง ที่จะมาดูแลเศรษฐกิจของไทย มองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังควรมีจุดยืนในการดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างไร

กระทรวงการคลังและกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นปัญหาทางโครงสร้างของไทยมานานแล้ว คือว่าเราไม่มีมือเศรษฐกิจที่เป็นรัฐมนตรีจริงๆ ที่ผ่านมาจะมีข้าราชการบางคนมาเป็นให้ หรือเป็นนักการเมือง

แต่ถ้าถามว่ามองจากคุณสมบัติรัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่างไรในฐานะที่เป็นนักวิชาการ มองคือไทยเป็นประเทศที่ขาดทีมเศรษฐกิจในการดูแล ทีมเศรษฐกิจที่เราพูดถึงทุกวันนี้ มันคือทีมการเมืองที่มาดูแลในเรื่องเศรษฐกิจ เป็นนักการเมืองที่มี Agenda เศรษฐกิจ เป็น Agenda การเมือง ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นปัญหาทางโครงสร้างซึ่งระบอบการปกครองของเราขณะนี้ยังแก้ไขไม่ได้ และเกิดขึ้นมา 10 ปีแล้ว


ในสถานการณ์สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเช่นตอนนี้ หากคนเป็นรัฐมนตรีเป็นคนรุ่นใหม่ จะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พอได้หรือไม่

อายุก็เป็นสิ่งแสดงคุณสมบัติบางอย่าง ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งที่แสดงคุณสมบัติบางอย่าง แต่ 2 ปัจจัยนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่ใหญ่จริงๆ ปัจจัยใหญ่จริงๆ เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของรัฐที่จะดูแลเศรษฐกิจว่าจะบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างไร แล้วไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างหรือปัญหาระยะสั้นอะไร อะไรที่จะต้องแตะก่อน/แตะหลัง ตรงนี้ก็ต้องอาศัยคนที่มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอสมควร


สิ่งที่เป็นห่วงอีกเรื่องคือเรื่องงบประมาณ

ก็ต้องแก้ปัญหาเป็นเปลาะๆ ไป แต่ทิศทางของเราไม่ใช่จำนวนของเงินงบประมาณ แต่เป็นเรื่องว่าเราจะเน้นไปลงทุนอะไร ตรงนั้นเป็นตัวสำคัญมากกว่า และจะผลักดันระบบงบประมาณอย่างไรให้ทันสมัยขึ้น ขณะนี้ระบบงบประมาณเราหลักๆ ก็คือไปขึ้นอยู่กับเงินเดือนค่าจ้าง เงินเดือนราชการ และไปขึ้นอยู่กับงบกลางซึ่งเป็นงบประชานิยม เป็นงบแล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะใช้ ก็เลยไม่รู้ประเทศนี้เขาบริหารประเทศหรือเขาบริหารการเมือง ก็เป็นเรื่องที่หลายคนต้องกลับไปคิด

ตรงนี้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าใครจะเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา


อยากจะฝากอะไรถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่(ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร)

หลักใหญ่ก็คือรัฐมนตรีคลังเหมือนคนคุมกระเป๋าเงินของครอบครัว หรือคนที่ดู Balance Sheet ของบริษัท ดังนั้น ก็จะต้องเป็นคนที่เคร่งครัดในเรื่องเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามที่จะเอาเรื่องการเมืองเข้ามาปะปนให้น้อยที่สุด ซึ่งในสภาพการเมืองคงทำไม่ได้หมด แต่จะต้องเป็นคนที่สามารถอธิบาย/ยืนยันได้ว่าเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีหรือไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ไม่เห็นด้วยกับกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หรือกระทรวงไหน เมื่อถูกตั้งคำถามก็ต้องตอบได้อธิบายได้


ตอนนี้ไทยมีปัญหาอะไรบ้างที่รัฐมนตรีคลังควรต้องแตะก่อน

เรามีปัญหาหนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งภาคครัวเรือนด้วย ทุกวันนี้สิ่งที่รัฐบาลทำกันมาก็เป็นการเลื่อนปัญหาไป มีการใช้จ่าย ต้องลงทุน ก็พยายามไปลงทุนที่ออกนอกระบบงบประมาณ ส่วนที่อยู่ในงบประมาณ ก็มีได้น้อย เนื่องจากระบบค่าจ้างเงินเดือนข้าราชการหรือพนักงานมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ต้องก่อหนี้ แล้วไปปรากฏอยู่ในบัญชีของภาครัฐบาลคือรัฐบาลกลาง ก็คือตัวรัฐบาลนั่นเอง

ในส่วนนี้จะมีปัญหาก็คือทางด้านรายจ่าย มีช่องว่างที่รัฐบาลจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะติดโครงสร้างในส่วนที่เป็นค่าจ้างเงินเดือน ส่วนที่เหลือจะเป็นงบลงทุนไม่มาก แล้วไปติดงบกลาง ซึ่งงบกลางก็จะติดปัญหาว่าส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งไว้เพื่อสะดวกในการใช้จ่ายของตัวนายกรัฐมนตรีที่หลายๆ ครั้งก็จะกลายเป็นบริหารการเมืองมากกว่าบริหารเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีก็ทำหน้าที่เหมือนเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ว่า Agenda คือการเมือง ตรงนี้คือเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้นโยบายภาครัฐไม่ตอบสนองกับทิศทางประเทศว่า ทำอย่างไรประเทศจะดีขึ้น และระยะยาวจะดีขึ้นได้อย่างไร เลยกลายเป็นว่าทุกอย่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ในท้ายที่สุดปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ ปัญหาใหม่ก็สะสม

ตรงนี้คือปัญหาทางด้านรายจ่าย แล้วก็เป็นปัญหาเรื่องการก่อหนี้ภาครัฐ รายจ่ายก็เพิ่มขึ้น ภาษีก็เก็บไม่เข้าเป้า เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดีจริง ในท้ายที่สุดก็ต้องพยายามเพิ่มตัวหนี้ภาครัฐบาลหรือเพดานหนี้รัฐบาล

ทางด้านฝั่งภาษี ที่ผ่านมาเราก็เก็บได้ไม่มาก และภาษีก็จะตกอยู่กับภาษีหลักๆ 2 ส่วน คือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวนี้ภาษีก็จะสูงมากสำหรับคนทำงานที่รายได้สูงมากๆ และอีกส่วนหนึ่งคือภาษีที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะมีการเก็บในอัตราที่สูงพอสมควร ไม่ถือว่าต่ำ ส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนที่เราพึ่ง

ที่ผ่านมารัฐบาลก็ทำอะไรได้ไม่มาก ยกเว้นไปเพิ่มภาษีประเภทอื่นขึ้นมา เป็นการขยายรายได้จากภาษี

ตัวที่เพิ่มมาจะเป็นภาษีมรดกซึ่งก็จิ๊บจ๊อย ภาษีทรัพย์สินก็ไม่ชัดเจนว่าจะได้แค่ไหน ฉะนั้น ด้านฝั่งภาษีเราก็ได้ไม่มาก ส่วนที่ได้มากก็กลายเป็นการรีดประชาชน เพราะเราจะเก็บจากคนมีรายได้ คนทำงาน ไม่ได้เก็บจากคนไม่ทำงาน หรือเก็บจากคนรวยจริงๆ เพราะคนที่มีรายได้เยอะอาจจะไม่รวยก็ได้ อาจจะได้รายได้สูงแค่ในช่วงนั้น ตรงนี้ก็เป็นจุดอ่อนของระบบภาษีเรา

ระบบนี้จะเป็นระบบที่เป็นปัญหาของประเทศ ถ้าเราเข้าใจทั่วไปก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะภาษีเราต่ำไปหรือสูงไปในเชิงของอัตรา แต่จริงๆ แล้วไทยเราและประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปมีปัญหาคล้ายๆ กัน ก็คือฐานภาษีน้อย ฐานภาษีมันแคบ ฉะนั้น ถึงขึ้นไปก็เก็บไม่ได้มาก ลดลงไป รายได้ก็หายเยอะ เลยทำให้วิธีการแก้ไขปัญหาด้านภาษีเรามักจะไปสนใจเรื่องการขึ้นหรือลดอัตราภาษี และการหาภาษีใหม่ๆ เข้ามาชดเชย

ส่วนการขยายฐานภาษีนั้นเรามีจุดอ่อนเยอะ ตอนนี้ฐานภาษีจะขยายอย่างไร จะขยายได้มากเพราะอัตราภาษีมันสูง ถ้าอัตราภาษีสูง ทุกคนก็อยู่นอกระบบ ใครจะมาจ่าย จ่ายไปก็กินทุนหมด ดังนั้น เศรษฐกิจนอกระบบก็ยิ่งเข้มแข็งขึ้น หรือขยายตัวขึ้น

การคอร์รัปชันก็เป็นปัญหาใหญ่ การผูกขาดตัดตอนก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาทางภาษีก็เลยกลายเป็นอะไรที่ต้องรักษาอำนาจ เพราะต้องไปขยายฐานภาษีที่จะทำให้การคอร์รัปชันน้อยลง การผูกขาดตัดตอนน้อยลง ซึ่งภาษีของเราต่ำ ที่มันตัดได้น้อยส่วนหนึ่งก็เพราะเราเสียโอกาสในการเก็บภาษีนำเข้า คือพอเราเข้าไปร่วมกับเวทีต่างๆ อย่าง WTO เราก็ต้องลดภาษีนำเข้า ทีนี้ข้าราชการ กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงต่างประเทศก็จะมีอิทธิพลค่อนข้างจะเยอะเหมือนกันในการกำหนดอัตราภาษี เลยทำให้อัตราภาษีนำเข้าต่ำมากๆ ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไป ถือว่าต่ำกว่าที่ควรจะเป็นพอสมควร

แต่นี่ก็เป็นความเชื่อของนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ และกระทรวงเศรษฐกิจที่เชื่อว่า การเปิดเสรีทางการค้า ให้มีการนำเข้ามาถูกๆ เข้ามาแบบไม่เสียภาษียิ่งดี เป็นไปตามความเชื่อ ซึ่งทฤษฎีที่หนุนหลังก็มีเหมือนกัน แต่เป็นทฤษฎีใหม่ๆ ไม่ใช่ทฤษฎีระดับชั้นสูง ฉะนั้น ความเชื่อตรงนี้ทำให้ไทยเราสูญเสียภาษีที่ควรจะได้จากการนำเข้าไปเยอะพอสมควร

ดังนั้น ในแง่รัฐบาลใหม่ในอนาคต ก็ควรจะไปปรับโครงสร้างภาษีพวกนี้ ดูว่าควรจะทำอย่างไร ที่ผ่านมาก็อาจจะมีการเพิ่มบางชนิด แต่ไม่ได้มีผลอะไรมากมาย แล้วส่วนหนึ่งพยายามเพิ่มการลดหย่อน การลดหย่อนก็คือการทำให้โอกาสเก็บภาษีมีน้อยลง เพราะเราลดไปเรื่อยๆ และต่อๆ ไปก็ลดหย่อนตรงนั้น ตรงนี้ แต่การลดหย่อนเป็นอะไรที่พอเข้าใจได้ เนื่องจากว่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของเรามันสูงมาก เอาคนรายได้เท่ากันในสหรัฐอเมริกากับในไทยมาเทียบกัน เราเสียภาษีมากกว่าคนอเมริกันอีก

ขณะเดียวกันเราก็มีปัญหาอีกอย่างคือ เวลากำหนดนโยบายการคลัง บางทีอำนาจก็ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงการคลังอย่างเดียว บางทีก็อยู่กับกระทรวงอื่นๆ อย่างเช่น กระทรวงท่องเที่ยวขอนั่นขอนี่ กระทรวงนั้นขอโน่นขอนี่ ก็จะมีมาเหมือนกัน ขอลดหย่อนตรงนั้น ขอยกเว้นภาษีตรงนี้ ก็ต้องเข้าไปผ่าน ครม. หรือผ่านการคุยกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำตัวเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

หรือยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ คนต่างชาติมาทำงานในไทย ที่เป็นพวกมีความรู้ ทำงานในธุรกิจการเงินที่มีรายได้สูงมากๆ เราก็มีแพ็กเกจใหม่ขึ้นมา ยกเว้นให้พวกนี้ไม่ต้องเสียภาษี เพราะกลัวว่าคนเก่งๆ ที่มีความรู้ อาจจะไม่เข้ามา ด้วยการสมมติว่าคนฝรั่งถ้าอยู่ในธุรกิจแบบเดียวคนไทย ต้องเก่งกว่าคนไทย แล้วทำประโยชน์ได้มากกว่าคนไทย ฉะนั้น เสียภาษีน้อยกว่าคนไทย ตรงนี้ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากว่าประเทศอื่นเขาคงไม่ทำแบบเรา คือคนในประเทศเสียภาษีมากกว่าคนต่างประเทศ ณ ระดับรายได้เดียวกัน มันไม่น่าจะมี ก็จะมีพวกลดหย่อนแบบนี้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ดังนั้น ในแง่ปฏิรูปโครงสร้างภาษีเลยกลายเป็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจควรเอื้อให้ภาคการคลังเข้มแข็งนั้นของเราขาดไป


งานนี้ใหญ่มาก เป็นการรื้อระบบ

ใช่ ทีมเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตต้องคิดในเชิงระบบ และคิดโครงสร้างภาษีที่เป็นหลักๆ มากกว่าไปแก้ในจุดเล็กจุดน้อย


ถ้าได้ยินคำว่าปรับโครงสร้างภาษี ก็จะนึกถึงการขึ้นภาษี

ใช่ ส่วนใหญ่จะอารมณ์จะไปทางขึ้นภาษี สาเหตุก็เพราะรัฐบาลปิดงบประมาณไม่ลง เวลาจะเสนอส่วนใหญ่ เป็นภาษีตัวเพิ่ม แต่ว่าตัวลดไม่มี ตัวยกเลิกไม่มี การยกเลิกอาจจะไม่จำเป็น คิดว่าภาษีโดยทั่วไปที่เมืองไทยทำอยู่มันเป็นภาษีที่มีประโยชน์ คือที่ทำไว้ก็พอใช้ได้ ไม่ถึงขนาดมีภาษีที่แบบว่าไม่ควรจัดเก็บเลย ไม่มีปัญหานี้ แต่มีปัญหาว่าภาษีหลายตัวไม่ควรสูงแบบนั้น ฉะนั้น รัฐบาลต้องไปคิดว่าภาษีอะไรบ้างที่มันต่ำผิดปกติ ก็ปรับให้มันขึ้นสักหน่อยหนึ่ง ภาษีตัวไหนที่สูงไปก็ปรับลดให้พอเหมาะพอควร ภาษีของไทยค่อนข้างสูง ของเราคิดว่าถ้าสามารถปรับลดต่ำลงได้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจคล่องตัวขึ้น ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น หมายถึงว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีในระยะยาวมากขึ้น แล้วคนที่จะเข้ามาสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็น่าจะมีมากขึ้นด้วยซ้ำ


ภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT ควรเป็น 10% เพราะเก็บ 7% มานานมากแล้ว

เรื่องนี้มี 2 มุมมอง มุมมองดั้งเดิมมองว่า 10% ดีแล้ว ในสมัยนั้นเขาคำนวณรายได้จากภาษี 2 ระบบ คือภาษีการค้ากับภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วเทียบรายได้แล้วมันจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่จริงๆ คิดว่าไม่น่าจำเป็นต้องสูงขนาดนั้น 7% ก็ดีแล้ว ต่ำกว่า 7% ก็ยังพอได้ ตรงนี้คือความเห็นส่วนตัว มันจะช่วยรากฐานเศรษฐกิจให้เข้มแข็งขึ้น ดีกว่าไปเก็บเพื่อหวังรายได้เข้ารัฐบาลอย่างเดียว ถ้ามองมุมนั้นก็กลายเป็น 10% หรือ 15% ตรงนี้ถือว่าสูงไป

ส่วนภาษีนิติบุคคลตอนนี้เราลดมาที่ 20% ก็ถือว่าพอไปได้ ถือว่าอยู่ในระดับที่พอรับได้ บางทีภาษีนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องสูงมาก เนื่องจากการแข่งขันทางด้านการลงทุนระหว่างประเทศทำให้การเก็บภาษีที่สูงมากๆ ไม่ได้เป็นประโยชน์ ส่วนใหญ่ทั่วไปเขาพยายามลดอัตราภาษีให้อยู่ประมาณ 20% ในหลายๆ ประเทศค่อยๆ ขยับลงมา โดยเฉพาะประเทศที่รวยแล้ว

แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มยังพอจะปรับได้ ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็น่าจะปรับลดลงมาได้ คิดวิธีว่าจะปรับอย่างไร และในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดว่าอยู่ในระดับนี้ก็พอรับได้ไม่ได้เป็นปัญหา ขณะที่ภาษีนำเข้าคิดว่าน้อยเกินไป เก็บต่ำกว่าเกินความจำเป็น สามารถปรับเพิ่มได้ และภาษีที่เป็นเรื่องออนไลน์ที่ได้รับผลกระทบจาก Globalization ทำให้เราเก็บภาษีไม่ได้ ในขณะที่ประชาชนทำธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับต่างประเทศต้องเสียภาษี ส่วนคนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Globalization ไม่ต้องเสียภาษี ตรงนี้เป็นอะไรที่ต้องคิดแก้ไขทั้งระบบ ไม่เช่นนั้นก็จะเหลื่อมล้ำว่าคนที่อยู่เซกเตอร์หนึ่งอยู่สบายเลย ภาษีไม่ต้องจ่าย ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากระบบรัฐ


ต้องทำงานร่วมกันในเรื่องปรับโครงสร้างภาษี

กระทรวงการคลัง ควรจะเป็นเจ้าภาพ แต่ว่าการตัดสินใจควรจะมองออกนอกกรอบคลัง คือออกจากระบบภาษีปกติ แต่ไม่ใช่ว่าใครอยากจะแก้ภาษีอย่างไร ใครก็แก้ได้ มันควรมีเจ้าภาพ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมานานพอสมควร ควรจะมีการสะสาง ก็ควรจะต้องทำ ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่เป็นธรรม ระบบที่จะได้รับสวัสดิการบัตรทองได้เท่ากันหมด แต่พอเสียภาษี มีคนกลุ่มหนึ่งเสียภาษีจนเอาตัวไม่รอด กับอีกพวกหนึ่งไม่ต้องเสียภาษี สบาย และสิทธิทางการเมืองเท่ากันทุกคน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบบ้านเมืองเท่าๆ กับประโยชน์ที่ตัวเองได้รับไปด้วย ขณะที่ภาษีหุ้น อยู่ในระบบอยู่แล้ว จะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด เป็นของตาย ขึ้นๆ ลงๆ ก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร ที่ต้องคิดคืออะไรที่อยู่นอกระบบเอาเข้ามาอยู่ในระบบ และอะไรที่อยู่ในระบบ แล้วสูงเกินไป ควรจะปรับลดลงมา ถ้าคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง รัฐบาลจะทำประโยชน์ได้อีกเยอะ


อย่างที่วิตกกันมาก ว่าก้าวไกลมาเป็นรัฐบาล แล้วจะมีการเข้าไปดูเรื่องธุรกิจผูกขาด จนทำให้หุ้นตกในวันแรกๆ หลังเลือกตั้ง

ก็ควรจะต้องทำ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็ซื้อในราคาที่ถูกลง ไม่แพงมาก และมีธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือรายที่ย่อยลงมาหน่อย สามารถลืมตาอ้าปากได้ มีพื้นที่ให้เขาได้ ไม่ใช่ให้ธุรกิจ 70-80% อยู่ในมือไม่กี่ตระกูล วันนี้มันหนักกว่า 20 ปีที่แล้ว คือโอกาสที่จะให้คนได้ทำมาหากินในฐานะผู้ประกอบการมันน้อยมาก ก็กลายเป็นลูกจ้างกันไปหมด และจะมีอีกส่วนหนึ่งก็คือว่า ไม่เป็นลูกจ้างเลย คือทำงานบ้างไม่ทำบ้าง พวกนี้ก็จะเป็นพวกที่อนาคตทางเศรษฐกิจไม่ค่อยมั่นคง แต่อย่างน้อยเขาก็รู้สึกว่าก็มีความสุขหน่อย เพราะถ้าไปทำงานในระบบเป็นเรื่องเป็นราว ชีวิตก็ลำบากพอสมควร ก็จะมีคนอีกส่วนที่เป็นแบบนั้น

ฉะนั้นก็จะมีปัญหาว่าถ้าเรายังไม่เอาจริงเอาจังกับเรื่องการผูกขาด หรือการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงธุรกิจที่เป็นขนาดดีพอสมควร แล้วภาษีเป็นธรรม ก็เสียดายเหมือนกัน จะไปขออนุญาตทำอะไรถ้าชาวบ้านทั่วไปก็ต้องไปเสียใต้โต๊ะ ขณะที่ธุรกิจใหญ่ไม่มีปัญหาเพราะเขาไปต่อสายไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ราบรื่นหมด พวกนี้มันควรจะต้องแก้ไขให้จริงจัง ประชาชนจะได้มีโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

90 views

Comentários


bottom of page