Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์มหภาค
โควิด-19 หลอนโลก กระทบเศรษฐกิจจังเบอร์ GDP ไทยปีนี้อย่างเก่งโตแค่ 1.5-1.7% ภาคท่องเที่ยวอ่วมสุด ผู้บริโภครัดเข็มขัดเอวกิ่ว ถือเป็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ แนะ กนง.ลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อตั้งรับความผันผวนในระยะยาว
อาจารย์เคยบอกว่า GDP ประเทศเราที่เหมาะสม ดูหล่อสวย ต้องประมาณ 5-6% แต่ตอนนี้มีหลายฝ่ายประเมินแล้วว่าอาจจะติดลบหรือไม่ถึง 1%
ขณะนี้คนวิตกกังวลเยอะทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐบาลและคนที่ดูแลตัวเลขเศรษฐกิจ รู้สึกว่าช่วงไม่กี่สัปดาห์นี้เริ่มตกใจมากขึ้น แบงก์ชาติก็ไม่นิ่งนอนใจ เริ่มปรับลดดอกเบี้ย ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่การคาดคะเนขณะนี้ค่อนข้างแกว่งพอสมควร เพราะขึ้นอยู่กับการประเมินเรื่องไวรัสโควิด-19 ว่าจะส่งผลยาวแค่ไหน ในหลายจุดยังมีปัญหาอยู่ มีข่าวว่าอาจจะมีการคิดค้นวัคซีนรักษาได้ ขณะนี้คนประเมินว่าช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่แน่เพราะการคาดคะเนต่างๆ ยังทำให้ตัวเลขผันผวนมาก บางรายบอกไม่ถึง 1% บางรายบอก 1-2%
สำหรับผมให้แนวแบบนี้คิดว่ามองแบบ conservative คือไม่ตกใจมาก ดูแล้วพอไปได้ ไม่มองในเชิงการแกว่งตัวของตัวเลข ก็น่าจะตกประมาณ 1.5-1.7% ของปีนี้ ส่วนปีหน้าอาจจะมากกว่าประมาณ 2 เศษๆ ขึ้นอยู่กับว่าปัญหาไวรัสยาวนานแค่ไหน วัคซีนจะทดลองกับคนก็น่าจะประมาณเดือนเมษายน เพราะฉะนั้นปีนี้เป็นปีที่สถานการณ์หนักหน่อย แต่อย่านิ่งนอนใจ สถานการณ์อื่นอาจจะไม่ดีเพิ่มขึ้นมาอีก ยังมีสถานการณ์อื่นที่ไม่ทราบว่าจะมาอย่างไร อาจจะมาเชิงลบหรือบวกขณะนี้ยังไม่มองไม่เห็น แต่ถ้ามองขณะนี้ก็ตกประมาณ 1.4-1.7%
ส่วนที่มองติดลบก็ยังมีอยู่เหมือนกัน ต่ำกว่า 1.5 ก็มีคนประเมินไว้ แต่แนวที่ผมคิดว่านอกจากมองตรงนี้คือต้องมองแนวที่สองว่าตัวเลข GDP อาจไม่ได้เป็นตัวเลขที่สะท้อนความยากลำบากของประชาชนมากนัก เพราะประชาชนที่มีปัญหาขณะนี้เป็นประชาชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจที่เป็นเรื่องท่องเที่ยว ภาคท่องเที่ยวมีตั้งแต่โรงแรมที่อยู่ในระบบทางการกับตัวเลขชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ระบบทางการ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบทางการตัวเลขจะแย่มากๆ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้เอามานับใน GDP เวลาที่เขาประเมิน คำนวณ เขาจะเอาตัวเลขตลาดหลักๆ ไม่ได้เอาตัวเลขจากตลาดทั่วไปที่ใช้ชีวิตปกติซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบที่เป็นทางการ อันนี้เป็นตัวที่น่าเป็นห่วงมากหน่อย
ถึงแม้ตัวเลข GDP จะตกมากอยู่ที่ 1.5-1.7% ไม่ได้หมายถึงสถานการณ์จะแย่มากเหมือนหลายๆประเทศ เช่น เยอรมนี สิงคโปร์น่าจะใกล้ 0.5% แต่ของเรามีภาคที่ไม่เป็นทางการ ภาคคนทั่วไป ค่อนข้างจะมาก ส่วนนี้เป็นส่วนที่ลำบากพอสมควรมากกว่าคนทั่วไป คนที่มีฐานะดี 1% สูงสุดของประเทศพวกนี้สบาย ถือสินทรัพย์หลากหลายประเภท เขาไม่มีปัญหาว่าถ้าท่องเที่ยวแย่แล้วเขาจะแย่ด้วย เขาอาจจะทำธุรกิจโรงแรมบ้าง แต่ก็เป็นแค่ส่วนนึงของการลงทุน
ปีนี้เป็นปีที่น่าเป็นห่วงมาก และเราก็ไม่ทราบว่าหลังจากนี้สถานการณ์จะรุนแรงแค่ไหน กลัวจะเอาไม่อยู่ ถ้าเอาไม่อยู่การค้าขายทั่วโลกจะซบเซาหนัก ชะงักนานพอสมควร และเรายิ่งพึ่งท่องเที่ยวด้วยจะยิ่งหนัก ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังเวลาที่คนในบ้านเมืองมาพูด บางส่วนอยากจะพูดให้สบายใจกัน บางส่วนอาจจะพูดเพื่อบอกว่าผมไม่ผิด คนอื่นผิด
คิดว่าตอนนี้ปัญหาใหญ่สุดคือถ้าอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศจะหนักมาก คนที่เกี่ยวข้องกับเมืองใหญ่ก็จะมากหน่อย อย่างสิงคโปร์ก็มีความเป็นเมืองใหญ่จะเจอปัญหานี้ ก็จะทรุดเร็ว อย่างของเราเป็นจุดที่เกี่ยวกับเขตเมือง อย่างกรุงเทพฯ ก็อาจจะมากกว่าต่างจังหวัด เชียงใหม่ ภูเก็ต กระทบมากเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวหรือเป็นแหล่งเมืองใหญ่ ก็จะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นเมืองเล็กทั่วไปก็จะปัญหาน้อย
เป็นสัญญาณหรือเปล่าว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งร้ายแรงอีกครั้ง
ก็เป็นในเชิงเทคนิค คือ เกิดปัญหาระยะสั้นโจมตีเข้ามา ธุรกิจในขณะนี้เป็นระยะที่ประชาชนไม่มีกำลังซื้อจริงๆ แต่ไม่ถึงกับทรุดแรงๆ ไม่ถึงขนาดนั้น ประเทศต่างๆอย่างธนาคารกลางสหรัฐ ปรับลดดอกเบี้ยผ่อนคลายเยอะมาก คือเป็นตัวพยุงทำให้เศรษฐกิจลงไม่แรง แต่การใช้มาตรการในการพยุงเศรษฐกิจก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน คือช่วยพยุงระยะสั้น แต่ระยะยาวช่วยให้โตไม่ได้ การค้าขายก็ลำบากหน่อย คนที่สบายคือคนที่ถือหุ้นต่างๆ ที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคน 0.1-1% ของโลก พวกนี้ถือสินทรัพย์ค่อนข้างหลากหลาย เขาไม่ได้ถือเฉพาะเงินฝากธนาคาร
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยคงจะลดอีกใช่ไหม
ถ้าถามใจผมคิดว่าควรลดอีก แม้ว่าขณะนี้ลงมา 1% ร้องไม่อยากลงเลยเพราะเลข 1 เป็นเลขที่ดีที่สุดแล้ว จะลงต่ำก็ดูกังวล อันนี้เป็นบทเรียนที่แบงก์ชาติควรปรับตั้งนานแล้ว เพราะเศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ 2 ปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่เกิดมาเรื่อยๆ แล้วตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งก็เป็นอัตราที่ผิดปกติ อย่างที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าค่าเงินบาทแข็งมันผิดปกติเพราะนำเข้าน้อย อันนี้เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวแรง สิ่งที่แบงก์ชาติคาดคะเนน่าจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด คงมองว่าเมษายน-พฤษภาคมคงยังจบไม่ง่าย อาจจะต้องเผื่อไว้ด้วยการลดดอกเบี้ยเพิ่มกว่าเดิม ถ้าผมเป็น กนง.ก็จะลดอีกจาก 1.5 เหลือ 1.25 ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นก็ปรับขึ้นได้ เพราะเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องระยะสั้นอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่าต้องคาไว้ให้นาน
ประชาชนก็ต้องระมัดระวัง อย่าใช้จ่ายมือเติบ มีโปร ลด 50% ก็อย่าเพิ่งไปซื้อ
คือดอกเบี้ยลดไม่ได้เกี่ยวกับการบริโภคของประชาชนทั่วไป ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจระยะสั้นๆ เพราะนโยบายการเงินก็ต้องใช้เวลา ที่สำคัญที่สุดคือการลงทุน การที่ลดดอกเบี้ยไม่ได้หมายความว่าเขาจะลงทุน เพราะไม่รู้ว่าลงทุนแล้วจะขายให้ใคร เพราะฉะนั้นการลดดอกเบี้ยผลอาจจะไม่แรงมากนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย ก็ยังมีช่องอื่นอีกที่ส่งผ่านเช่นราคาสินทรัพย์ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในมือประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้ลงทุนในสินทรัพย์ แต่ไปอยู่ในรูปของตัวอื่น การบริโภคจะน้อย อย่างตอนนี้เราเจอภัยแล้ง
Comments