โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง เหตุพึ่งพาธุรกิจหลักแค่ไม่กี่ภาคส่วน อีกทั้งธุรกิจหลักทั้งส่งออกและท่องเที่ยวยังง่อนแง่น ไร้ทิศทาง ไร้อนาคต คาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบสูงถึง 33% ของ GDP ท่ามกลางแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ฉุดราคาสินค้า-บริการอุปโภค บริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่เป็นขาขึ้น ล้วนส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว เงินเฟ้อในไทยจะพุ่งสูง ขณะที่สินค้าภาคการเกษตรจะผันผวน ชี้...รัฐบาลดิ้นรนหาทางออกด้วยการกู้แหลก-แจกหนัก เอาเงินในอนาคตมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ทำให้คนรับแจกโครงการภาครัฐมีความสุขแบบลวงๆ โดยรอให้โชคช่วยในวันข้างหน้า!
Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์
เศรษฐกิจไทยขณะนี้เปราะบางขนาดไหน
โครงสร้างมีปัญหา เพราะพึ่งธุรกิจไม่กี่ชนิด โดยเฉพาะเรื่องท่องเที่ยว ซึ่งยากที่จะฟื้นฟู ขณะที่นำเข้าก็เลิกที่จะนำเข้ามากขึ้น ฉะนั้นตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดหรือตัวเลขดุลการค้า เป็นสิ่งที่ต้องจับตา ส่วนตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบนั้นมีการคาดการณ์ว่าจะถึง 33% ของจีดีพี เพราะราคาน้ำมันขึ้น ซึ่งราคาน้ำมันจะเป็นตัวที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย เพราะหมวดพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่วนเรื่องนำเข้าก็เหมือนกัน เดิมราคาพลังงานที่เรานำเข้า เรานำเข้ามาในราคาที่ถูก ตอนนี้กลับขึ้นไปแพง ตัวนี้จะเป็นปัจจัยลบกับค่าเงินบาท ตรงนี้เป็นตัวเลขเดือนกันยายน ก็ถือว่าเป็นแรงกดดันส่วนที่เป็นราคาสินค้าขั้นปฐม ถ้านำเข้ามาโดยเฉพาะพลังงานมันก็เป็นตัวรั่ว ทำให้เศรษฐกิจมีรายได้น้อยลง
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ดุลบัญชีเงินสะพัดของเราอ่อนลงด้วย ตัวเลขจริงๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม ก็อ่อนลงมานิดหนึ่ง และเดือนสิงหาคมดีขึ้น แต่ตอนนี้กลับลงมาใหม่ ก็น่าจะมีแนวโน้มติดลบ เพราะราคาน้ำมัน ยังสูงมากอย่างน้อยอีก 2-3 เดือน และน่าจะยังไปต่อนิดหน่อย และก็ดูว่าจะยังคงตัวระดับไหน แต่ตัวนี้กดดันค่าเงินบาทแน่นอน คือจะทำให้บาทอ่อนค่าไปเรื่อยๆ
ส่วนแรก เป็นเรื่องค่าเงินดอลลาร์ คือขณะนี้สหรัฐอเมริกามีความจำเป็นจะต้องลดสภาพคล่องลง ในขณะที่ยังต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ ตัวนี้ที่เป็นแรงกดดันดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ ถึงแม้ว่าด้วยนโยบายการเงินของเฟด ดอกเบี้ยอาจจะไม่ต่ำก็ตาม แต่ว่ามีแรงกดดันอยู่เหมือนกัน แต่ส่วนที่เป็นสภาพคล่องที่มาจากนโยบายของเฟด ค่อนข้างชัดเจนว่าปลายปีนี้ก็คงจะต้องลดการซื้อสินค้า มาตรการ QE จะต้องลดลง ถ้ามองในแง่ดีหน่อยก็อาจจะบอกว่าก่อนจะลดต้องผ่านสิ้นปีนี้ไปแล้ว แต่คิดว่าน่าจะประมาณปลายปีนี้ก็น่าจะได้เห็นแล้วว่าจะเริ่มทยอยลดลง สาเหตุที่ทยอยลดก็เพราะที่ผ่านมาช่วงโควิด ทางเฟดได้เข้าไปซื้อสินทรัพย์มาก ยังไงตัวนี้ก็ต้องลดแน่ๆ แล้ว แต่จะลดในอัตราเท่าไหร่เท่านั้นเอง
ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็ยังไม่น่าจะปรับขึ้น เพราะฐานเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในระยะสั้นดูเหมือนกับว่ามีแรงกดดันทำให้เงินเฟ้อมากขึ้น และตัวนี้เป็นตัวที่มองว่ามันขึ้นในช่วงหนึ่ง ในช่วงที่ราคาวัตถุดิบอะไรต่างๆ มีไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อผ่านตรงนี้ไป 2-3 เดือน น่าจะปรับตัวลง ฉะนั้นจึงยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยก็ได้
พูดง่ายๆ คือเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในระยะยาว ไม่ได้โตแรงมาก ถ้านับจาก 2-3 ปีนี้ไป ยังไม่แรงมาก เฟดก็ยังต้องระมัดระวังในเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยอยู่ พยายามที่จะหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจที่โตไม่มาก ปีนี้อาจจะได้ 5% ปีหน้าอาจจะโต 4% ฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินยังต้องทำอยู่ ฉะนั้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นก็ขึ้นไม่มาก แต่การที่เศรษฐกิจเขาไปได้เร็วมันก็เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ขึ้น ฉะนั้นทิศทางของเราก็ต้องมองว่าค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางขาขึ้น
อีกปัจจัยหนึ่งคือ เรื่องเศรษฐกิจภายในเราเอง โดยพื้นฐานเราพึ่งพาการส่งออกกับการท่องเที่ยว เรื่องส่งออกคงไปช้า เรื่องท่องเที่ยวมีปัญหาว่าเมื่อไหร่จะฟื้นขึ้นมาได้ และการที่จะไปเสียสละ เรียกว่าให้ประชาชนยอมรับโรคระบาดมากขึ้น เพื่อให้คนมาเที่ยวมากขึ้น มันก็เป็นอะไรที่รัฐบาลจำเป็นต้องอธิบายได้ มันไม่ใช่สิ่งที่เลี่ยงได้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยถ้าเราเลือกให้ประชาชนรับภาระด้านสุขภาพเพื่อที่จะให้คนมาเที่ยว มันอาจจะไม่ใช่นโยบายที่ดี ก็คือว่าพอทำไปแล้วมันก็อยู่ไม่ได้ พอท้ายที่สุดพอระบาดหนัก ก็ต้องปิดเมืองอีกอยู่ดี มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกระดับที่เหมาะสมตามที่รัฐบาลเข้าใจ ฉะนั้นวิธีการแบบนี้ในท้ายที่สุดก็เป็นการชี้ว่า ส่วนที่เกี่ยวกับพื้นฐานเศรษฐกิจไทยเอง สถานการณ์ของไทยเอง มันไม่เอื้ออำนวยให้ค่าเงินบาทแข็งค่า
ขณะนี้เรากำลังเจอสถานการณ์ 2 เด้ง เรื่องแรกก็คือภายนอกดอลลาร์วิ่งไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาดูเหมือนเยอะ แต่จริงๆ ยังไปได้อีก ส่วนภายในก็เจอปัญหาเรื่องราคาพลังงานที่เรานำเข้ามา ตรงนี้ก็เป็นตัวที่บวกกับเรื่องท่องเที่ยวอะไรต่างๆ ทำให้ค่าเงินบาท ดุลบัญชีเงินสะพัดต้องกระทบแน่นอน
ส่วนที่สำคัญอีกเรื่องคือ บัญชีทุน หมายความว่า คนต่างประเทศมาซื้อสินทรัพย์ในไทย ไล่เข้าไล่ออก ที่รัฐบาลอยากให้ต่างชาติเข้ามาซื้อเยอะๆ มันอาจจะเป็นความฝัน เพราะจะเข้ามาต้องดูหลายกลุ่ม เขาไม่ได้ดูแค่ตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเปิดให้ต่างชาติเข้ามาซื้อแล้วคนจะมาเยอะๆ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก เวลาคนต่างชาติมาลงทุน มาทำอะไรยาวๆ เขาคิดแล้วคิดอีก และเขาดูหลายปัจจัย ไม่ใช่ปัจจัยเดียว ไม่ใช่ดูว่าจะได้วีซ่าอย่างไร ไม่ใช่ดูว่าเขาจะถือที่ดินเยอะๆ ได้ไหม เขาต้องดูหลายอย่าง ทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางการเมือง ต่อไปจะมีสงครามเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้หรือไม่ ต้องดูเยอะมากๆ
เพราะฉะนั้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวที่บอกว่า ทิศทางค่าเงินบาทในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจไทยชี้ไปในทางค่าเงินบาทอ่อนลง ส่วนเงินเฟ้อก็ต้องขึ้นเพราะราคาพลังงานมันขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็ผันผวนไปตามสภาพ ขณะนี้ก็ไม่มีเครื่องชี้ที่บอกว่าค่าครองชีพที่เป็นอาหารจะแพง...ไม่ใช่ แต่จะมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น อาจไม่เหมือนยุค 1970 ที่เราพึ่งการนำเข้าน้ำมันเยอะมาก การใช้สินค้าทุกชนิดใช้น้ำมัน ตอนนี้ก็เบาไปเยอะ แต่ว่าทิศทางแบบนี้มันชี้ว่าค่าเงินบาทมีทิศทางขาลง อาจจะอ่อนลง
ดุลชำระเงิน กระทบไปถึงดุลสำรองระหว่างประเทศ
ถือไว้เยอะ มันเยอะเกินด้วยซ้ำไป จริงๆ ไม่จำเป็นต้องถือมากขนาดนั้น เราถือเยอะไปจนค่าเงินบาทมันแข็งค่าผิดปกติ ตรงนี้เป็นเรื่องอธิบายให้เข้าใจได้ยากเหมือนกัน เพราะคนมักเข้าใจว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศหมายถึงความร่ำรวยของคนไทย ที่มีมากมันช่วยในแง่ให้ค่าเงินบาท ไม่ตกง่ายมาก แต่รัฐบาลและแบงก์ชาติต้องเข้าไปเอาทุนสำรองขึ้นมาช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ถ้าไม่ทำก็ยังสูงอยู่อย่างนั้น
กรณีหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ปริมาณหนี้สาธารณะอยู่ที่ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองอยู่ที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์
คือตัวนี้เอามาดูประกอบกันไม่ได้ มันคนละเวอร์ชัน คือถ้า 2 ตัวนี้จะโยงกันถ้าเราพูดถึงเรื่องค่าเงินบาท แต่ถ้าพูดถึงทิศทางเศรษฐกิจไม่ได้โยงกัน การที่รัฐบาลไทยจะเพิ่มหนี้สาธารณะให้เพิ่มขึ้นได้ ความจริงรัฐบาลก็มองภาพมาตลอด เดิมมองว่าพอ แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่พอ ทีนี้ตรงนี้ขยับขึ้นไป มันเหมือนเปิดช่องให้รัฐบาลปัจจุบันใช้จ่ายสบายขึ้น คือเอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน และให้ลูกหลานในอนาคตมาจ่ายหนี้ต่อ วิธีการแบบนี้หมายถึงตอนนี้ขอใช้เงินก่อน และค่อยไปทำให้รวยๆ ในอนาคต และจ่ายคืน
บางคนบอกว่าค่าเงินบาทอ่อนก็ดี
ดีในระยะสั้น โดยรวมคือเราอยากรวยในวันนี้ ใช้จ่ายเยอะวันนี้ แต่ปีหน้าเราจน คือแทนที่เราจะมีเงินเก็บ แต่เราซึ่งคือรัฐบาลใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเกินไป ไม่เก็บเผื่อด้วย พอเจอโควิดเข้า เงินก็ไม่มี ก็พยายามกู้ๆ ๆ และพอโควิดจะหมดก็บอกว่าต้องกู้อีก จะไปเลือกตั้ง ก็ต้องทุ่ม คือจะเลือกตั้งปีหน้า แต่ความจำเป็นที่จะให้รัฐบาลอยู่ได้อย่างดีในปีนี้ก็คือต้องใช้เยอะๆ ก็ต้องกู้ กู้เกินเพดาน พอกู้เกินเพดาน ก็ต้องออกกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มันทำได้ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คือทำให้คนแฮปปี้ในระยะสั้น คนละครึ่งจะง่ายขึ้น ยิ่งใช้ยิ่งได้ก็จะไปมากขึ้น แทนที่จะไปจบเดือนธันวาคมก็ไปจบเดือนเมษายน คนได้ประโยชน์ก็แฮปปี้ ฉะนั้นระยะสั้นได้ แต่ระยะยาวไม่ดี เหมือนระยะยาวค่อยว่ากัน ไปรอโชคช่วยเอาข้างหน้า
Comments