top of page
312345.jpg

อย่าใช้ GDP เป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา


Interview : คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


เหตุรัฐบาลอเมริกาอัดฉีดงบการเงิน-การคลังแบบบาซูกา หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ-ช่วยเหลือคนอเมริกันในยุคโควิด-19 ทำให้ GDP ขยายตัวดีขึ้นผิดหูผิดตา ดึงเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงตามไปด้วย หวั่นกระทบตลาดเงิน-ตลาดทุน-เศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้ เตือนไทย...เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง อย่าเอาตัวเลข GDP เป็นตัวตั้งในการแก้ปัญหา อย่ากระตุ้นเศรษฐกิจจนเกินเหตุโดยเฉพาะกู้มาแจก เพราะจะเป็นการสร้างหนี้สาธารณะจนแบกรับไม่ไหว ด้านมาตรการป้องกันโควิด-19 ต้องไม่วาดฝันว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะต้องเป็นศูนย์ แต่ต้องให้ข้อมูลประชาชนในการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง เพราะต้องอยู่ร่วมกับโควิด-19 ไปอีกอย่างน้อย 12-18 เดือน ธุรกิจทุกภาคส่วนต้องเร่งปรับตัวให้ทันเหตุการณ์ บริหาร Cash Flow อย่างระมัดระวัง อย่าคิดการใหญ่ขยายกิจการแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ส่วนคนที่มีเงินเย็นๆ เต็มหน้าตักถือเป็นโอกาสดีในการซื้อทรัพย์สิน-ที่ดิน ฯลฯ


ประเมินสถานการณ์ตอนนี้อย่างไร

ภาพเศรษฐกิจโดยรวมเวลานี้ ถ้าเอาสหรัฐอเมริกาเป็นหลักก่อน ในแง่ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ GDP ต่างๆ ในไตรมาส 2 ต่อเนื่องไป 3 เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงมาก จนทำให้หลายๆ คนที่ไม่ได้ติดตามอาจจะงงว่าทำไมสูงได้ถึง 6-7% แต่คนอาจจะลืมว่ารัฐบาลสหรัฐมีการใช้จ่ายด้านนโยบายการคลัง ในความเห็นผมคิดว่าใช้มากไป เป็นการอัดเงินลงไปสู่ประชาชนเต็มที่ เรียกว่าสร้างความสบายใจ ส่วนนึงมาจากสมัยวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008-2009 รัฐบาลสมัยโอบามาเคยใช้เงินช่วยบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าจำได้อย่างบริษัท เอไอเอ บริษัทรถยนต์ รัฐบาลสหรัฐช่วยเหลือเยอะมาก พอมาเที่ยวนี้เป็นผลกระทบไปสู่ประชาชน เขาคงมองเห็นว่าถ้าไม่ใช้เงินช่วยเหลือประชาชนในลักษณะใกล้เคียงกัน ในทางการเมืองอาจจะยอมรับไม่ได้ ตรงนี้เลยทำให้มีการใช้จ่ายมาก เวลานี้ตัวเลข GDP ขึ้นมาชั่วคราวอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสที่ขึ้นไปเยอะ พอ GDP ขึ้นเยอะทำให้เกิดปัญหาอัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อมีแนวโน้มขึ้นไปชั่วคราว อาจทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวเริ่มปรับสูงขึ้น จริงๆ เริ่มปรับสูงขึ้นในระยะนึงแล้ว เวลานี้หยุดนิ่ง แต่ในอนาคตหากตัวเลขออกมามีการขยายตัวของเงินเฟ้อสูงขึ้นมากก็จะมีคนตกใจ แล้วอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไปอีก ตรงนี้ก็จะไปกระทบตลาดเงินตลาดทุน ในแง่เศรษฐกิจใหญ่ๆ ของโลกต้องจับตาระมัดระวังอยู่แล้ว

ต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจไทยมันยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะการท่องเที่ยวของเราตั้งเป้าวาดฝันไว้ว่ามีการเปิดแบบผ่อนคลาย ค่อยเป็นค่อยไป แต่ดูแล้วท่าจะยาก ประกอบกับต่างชาติเวลานี้ถ้าเศรษฐกิจเขาเกิด accident ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐมันก็จะสะเทือนไปหมด และเกิดกระทบไปตลาดเงิน ตลาดทุน ราคาทรัพย์สินต่างๆ ก็จะทำให้การประคองเศรษฐกิจของไทยในอนาคตต้องระมัดระวังมากขึ้น เรียกว่าเราอยู่ในจังหวะที่ต้องจับตาใกล้ชิดมาก


ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ Q1 โต 18% เกิดจากมีเงินพิเศษมากระตุ้นทำให้เติบโต แต่ของเราสวนทาง มีแต่ขาลง ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ดูแล้วน่ากลัวไหม

ประเทศโดยทั่วโลกหากรัฐบาลมีการอัดเงินเข้าระบบอย่างในอเมริกาเรียกว่าบาซูกา อัดฉีดทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง อัดคู่ แต่ประเทศอื่นอย่างจีนไม่ได้กระตุ้นอะไรมาก เอเชียหลายประเทศไม่ได้กระตุ้นแบบนั้น ผมยังมองว่าการกระตุ้นมากเกินไปแบบประเทศตะวันตกนั้นเป็นการพยายามบังคับให้เศรษฐกิจโตเหมือนมะม่วงบ่มก๊าซ ถ้าทำแบบนั้นอาศัยรายได้ปกติของรัฐ เช่น ปกติมีการเก็บภาษีเยอะก็ลดลงมา ลดรายได้ลงมาหน่อย แต่ปรากฏเวลานี้ทุกประเทศทำเหมือนกันหมดคืออาศัยเงินกู้ทั้งนั้น เวลานี้ถ้าเราเห็นตัวเลขประเทศอื่นที่ GDP วิ่ง เราอย่าไปพยายามวาดแผนของเราออกมาไปเทียบเคียงกับเขา ในแง่นี้เราควรเน้นสิ่งที่เราทำได้ในวิธีที่เราไปได้โดยการพัฒนาเรื่องพื้นฐานของเรา ถึงตัวเลขไม่ไล่เขาหรือใกล้เคียงก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร


สิ่งที่เกิดขึ้นในไทยเวลานี้ที่น่าเป็นห่วงคือสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าน่ากลัว เป็นแบบนี้มีอนาคตไหม

มองย้อนไปตอนโควิดระบาดครั้งแรก ในเชิงการแพทย์และสังคม รัฐบาลตอนนั้นมีทางเลือก 2 ทาง ทางที่หนึ่งอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นโรคที่กระจายได้โดยที่ไม่แสดงอาการด้วยซ้ำ มีความเสี่ยง ถ้าเป็นแล้วบางกรณีมีแผลเป็นในปอดก็อันตราย นอกจากนี้เตียงและอุปกรณ์ช่วยหายใจมีจำกัด ถ้าเกิดเป็นขึ้นมาก็มีปัญหา วิธีป้องกันคือให้ใส่แมสก์ Social Distancing ล้างมือบ่อยๆ ภาพออกไปแบบนี้ไม่มีลักษณะล็อกดาวน์เป็นทางการ เราไม่ต้องกังวลอะไรมาก คือทำให้ประเทศเราบริหารจัดการอยู่กับโควิดให้ได้ ในหลายประเทศก็ทำแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ เกาหลี เราไม่จำเป็นต้องควักกระเป๋าออกมาช่วยประชาชนมากเกินไป ช่วยแค่กลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ เพราะบางธุรกิจถูกกระทบแน่นอน เช่น ท่องเที่ยว

แต่ปรากฏรัฐบาลไปใช้วิธีปิดตาย พอผมไปศูนย์การค้าครั้งแรก เข้าไปตกใจ นึกว่าไปเขตสงคราม พอปิดอีกจนกระทั่งเชื้อลงมาเหลือศูนย์ หลังจากนั้นคนก็ผ่อนคลายกลับไปกินใช้เหมือนเดิมโดยที่ไม่ได้คำนึงว่ามีความเสี่ยง ปรากฏความเสี่ยง 3 ครั้งมาจากพฤติกรรมคนภาครัฐทั้งนั้น ครั้งแรกทางทหารจัดชกมวยที่สนามมวย ครั้งที่ 2 รัฐบาลบีบจนตัวเลขเหลือศูนย์ ก็ผ่อนคลาย แจกเงินให้คนไปเที่ยว กลายเป็นแรงงานขาด แรงงานบนดินมาไม่ทัน ก็มีการติดสินบนก็พาโควิดมาจากพม่า ครั้งที่ 3 พอคลายตัวก็ผ่านมาจากเขมรมีคนบอกมาจากทางบ่อน เขาบอกเจ้าของบ่อนก็เป็นคนไทย กลายเป็นทำให้คนไทยคลายตัวว่าทุกอย่างเข้าที่กลับเป็นเหมือนเดิม จริงๆ ถ้าออกเป็นแนวแรกทำให้คนไทยอยู่กับมันผมคิดว่าต้องอยู่กับมันอย่างน้อยอีก 1-2 ปี เวลานี้การกลายพันธุ์ไม่รู้จบตรงไหน ถ้าให้ประชาชนคนไทยล็อกดาวน์เป็นการส่วนตัว ใครที่มีความเสี่ยงสูงก็ล็อกดาวน์ตัวเอง แต่ถ้าใครคิดว่าไปไหนมาไหนได้ ไปทำงานปกติก็ต้องระมัดระวังตัว ถ้าเป็นแบบนี้ก็จะเป็นไปเรื่อยๆ จะไม่ลงไปเหลือศูนย์แล้วคนก็เฮ ทุกคนระมัดระวังตัวตลอดแบบนี้ก็ไม่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเกินเหตุ ไม่ต้องไปสร้างหนี้สาธารณะจนแบกรับไม่ไหว


ดูรัฐบาลออกอาวุธ 9 ข้อครั้งล่าสุด ดูแล้วเที่ยวนี้กับเดิมๆ เป็นอย่างไร

ถ้าเราดูปัญหาเวลานี้ ตัวโควิดกลายพันธุ์เร็วมาก ในบราซิลมีบางเมืองที่ตัวกลายพันธุ์เข้มข้นมาก ก่อนหน้านี้ที่เขาบอกกลายพันธุ์เข้มข้นสุดที่อเมริกาใต้ แต่ตอนนี้บราซิลแซงแล้ว ข่าวของบลูมเบิร์กรายงานการกลายพันธุ์ที่ทำให้คนติดเร็วในอินเดีย เขาใช้คำว่ากลายพันธุ์ 2 ชั้น ลักษณะแบบนี้คิดว่าการดำเนินการในเรื่องวัคซีนเพื่อจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาเร็วนั้นอาจจะลำบาก ถ้าหากเราไม่เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดไปเรื่อยๆ 6 เดือนหรือ 12 เดือน ถ้าไม่ฝึกคนของเราให้คิดแนวนี้แล้วหวังให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาเหลือศูนย์ แล้วก็เชิญเที่ยวด้วยกัน อย่างนี้ไม่ได้ เราต้องอยู่แบบลักษณะระวังตัวไปตลอด 12-18 เดือน อย่างนี้เราเรียกว่าตีลูกยาว มีทรัพยากรน้อยเราก็อยู่ได้ ค่อยๆ ไป ก็ไปได้ในระยะยาว เพราะการจะกลับมา 100% เหมือนเดิมไม่ใช่ง่าย อย่าคิดว่าการกลายพันธุ์อยู่ที่อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ แล้วจะไม่กระจายไปทั่วโลก เป็นไปไม่ได้ สักพักนึงมันก็จะแพร่ไปทั่ว


ภาคธุรกิจเอกชนต้องเรียนรู้อะไรบ้าง มีคำแนะนำอย่างไร

มองว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจท่องเที่ยวหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ขายต่างประเทศจะหวังทุกอย่างกลับมาเร็วนั้น หวังแบบนั้นไม่ได้ โรงแรมหรือท่องเที่ยวต้องหาทางผ่อนหนักให้เป็นเบา ยืดหยุ่น ถ้าเป็นไปได้แบงก์ชาติหรือกระทรวงการคลังจะต้องหาทางเจรจากับแบงก์ให้แบงก์มี การตัดลดหนี้กันเต็มที่ เวลานี้เขาทำออกมาเหมือน Warehouse เอาหนี้ไปเก็บในโกดังชั่วคราว ผมคิดว่าต้องหาทางออก ถ้าแบงก์จะเอาเงินคืนกลับมาจะต้องยอมเสียเลือดเสียเนื้อบ้าง กำไรสะสมในอดีตต้องตัดให้กับลูกค้าบ้าง ไม่อย่างนั้นลูกค้าก็ฟื้นได้ ที่ทำต้องไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มโรงแรม ต้องขยายออกไปธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องด้วย แม้แต่ธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวโดยตรงก็ต้องระวังเพราะการบริหาร Cash Flow ต้องมีความระวังอยู่มาก


กลัวไหมว่าจะเกิดวิกฤตกับสถาบันการเงิน เจอหนี้เสียต่างๆ เก็บดอกเบี้ยไม่ได้

ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาใหญ่ เป็นปัญหาที่ทุกคนกำลังเป็นห่วงอย่างในสหรัฐ คนที่ค้างผ่อนบ้านเขาบอกไม่เป็นไรปล่อยให้ค้างได้ ขณะเดียวกันค้างค่าเช่าก็แบบเดียวกัน ลักษณะอย่างนี้กลายเป็นว่างบการเงินของแบงก์มันดีกว่าที่เป็นจริง ก็ไม่สะท้อนการสำรองเผื่อหนี้สูญไว้ แล้วในไตรมาสที่ผ่านมาจะเห็นแบงก์ฝรั่งที่ก่อนหน้ากันเงินสำรองเผื่อหนี้สูญไว้เยอะ ปรากฏไปถอยตัวเลขกันสำรองเผื่อหนี้สูญ กลายเป็นกำไรเยอะขึ้น แต่ไม่ได้มาจากการค้าขาย แต่มาจากหนี้เดิมที่จะเสียเยอะแล้วถอยกลับ แต่สถานการณ์ยังไม่ได้กลับปกติ อย่างในสหรัฐค้างค่าเช่าเยอะมาก ค้างผ่อนชำระบ้านเยอะมาก กลายเป็นเวลานี้มีลักษณะเหมือนตัว K ด้านขวามีเส้นชี้ขึ้นกับชี้ลง กลุ่มที่ปรับตัวได้มีฐานะดีขึ้นเยอะเลย แต่กลุ่มที่ปรับตัวไม่ได้ธุรกิจอยู่ไม่ได้ก็ชี้ลง ตรงนี้เกิดกันทั่วโลก ผมว่าในแง่นักธุรกิจต้องระมัดระวังตรงนี้


มองว่าอย่าเพิ่งคิดการณ์ไกล อย่าเพิ่งเดินหน้าลุย

ผมคิดว่าไม่ได้เลย ขณะนี้ต้องอยู่ในโหมดประคองตัว ถ้าจะขยายต้องเป็นคนที่มองอะไรแล้วมีจุดที่เด่นจริงๆ อย่างที่คนอื่นทำไม่ได้ คนอื่นคิดไม่ถึง แต่ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไปแล้วชะลอลงเพราะภาวะเศรษฐกิจ อย่าเพิ่งขยาย เพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่ได้กลับมา


คนมองตอนนี้ต้องซื้อที่ดิน ซื้อบ้าน ฯลฯ เพราะของถูก ไม่ใช่อย่างนั้นใช่ไหม

ผมว่าช่วงนี้กับช่วงข้างหน้า 6-12 เดือน ถ้าใครมีเงินออมอาจเป็นจังหวะซื้อของได้ถูกมาก แล้วเป็นของดี ซึ่งตรงนี้มีอยู่แล้ว เพียงแต่คนที่วางแผนจะซื้อต้องคิดให้ดีว่าซื้อแล้วเอามาทำอะไร ซื้อมาใช้ในออฟฟิศแล้ว Work from Home จะเหลืออยู่เท่าไหร่ แล้วเวลาคนมาทำงานในออฟฟิศมันลดลงกว่าเดิม ร้านค้าปลีกที่อยู่ในตึกขายอาหาร ขายของ จะขายได้ไหม ต้องมองเผื่อแบบหลายชั้น แต่ต้องยอมรับตอนนี้เป็นโอกาสที่จะซื้อถ้ามีเงินออมเหลืออยู่เยอะ ก็เป็นจังหวะที่นานๆ จะมาสักครั้ง

10 views
bottom of page