ท่ามกลางวิกฤตโควิด ทั้งอเมริกา-ยุโรปพากันอัดฉีดเงินเต็มสูบเพื่อผลักดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจ การลงทุนในอเมริกา ยุโรป และทั่วโลกวิ่งฉิวเกินจริง เปรียบเหมือนการเหยียบคันเร่งโดยอาศัยเงินกู้ในอนาคตมาใช้ แต่ปีหน้าเป็นต้นไปภาพจะเปลี่ยน โดยอเมริกา-ยุโรปจะชะลอและลดการอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจ เม็ดเงินที่เป็นกระสุนพิเศษจะลดแผ่วทั่วโลก ภาวะเช่นนี้จะกระทบถึงไทยที่กู้มาสู้วิกฤตจนเกือบเต็มเพดานแต่โควิดยังแพร่แบบไม่บันยะบันยัง ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ยังบริหารแบบเดิมคือผ่าตัดโดยใช้มีดอีโต้ เศรษฐกิจไทยมีแต่พังกับพัง แนะ...รัฐบาลต้องใจกว้าง เปิดทางให้เอกชนเข้ามาช่วยกู้วิกฤตโดยเฉพาะการให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีภายใต้การรับรองของภาครัฐ เร่งการสร้างงานในภาคชนบทรองรับคนตกงานในเมืองที่กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด ส่วนแบงก์ชาติต้อง Take Action เข้ามากำหนดเพดานลดดอกเบี้ยทั้งเงินกู้-เงินฝาก โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากของผู้ฝากรายใหญ่ต้องลดลงมาให้มากที่สุด เพื่อทำให้ช่องว่างดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้แคบลงมา ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระลูกหนี้ได้ดีและรวดเร็ว
Interview : คุณธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้คิดว่าน่าเป็นห่วงไหม
เราควรเริ่มต้นที่เศรษฐกิจโลกของประเทศใหญ่ๆ โดยเฉพาะของสหรัฐก่อน ถ้าเราดูแง่นี้ก็เข้าใจว่าเศรษฐกิจของสหรัฐก่อนโควิดและหลังโควิดเป็นอย่างไร สมมติว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ได้ทำอะไรเลย กิจกรรมจะกลับไปเท่ากับก่อนโควิดทันทีนั้นมันเป็นไปไม่ได้ เพราะมีหลายธุรกิจที่คนยังไม่มีความสบายใจ การเดินทางท่องเที่ยว การใช้จ่าย Work from Home คือลักษณะของกิจกรรมที่เรียกว่าเศรษฐกิจ 90% โดยตัวของมันเอง แต่ที่ผ่านมาเศรษฐกิจอเมริกาวิ่งฉิว กลายเป็นตัวเลข GDP การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคประชาชนมันวิ่งแซงก่อนโควิดเกิดขึ้นได้ มันเกิดจากปัจจัยเดียวคือจากการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐในครั้งนี้ เอาวิกฤตก่อนหน้าที่รัฐบาลใช้จ่ายเอามาบวกกัน 5-6 วิกฤตยังไม่เท่าครั้งนี้ ตอนนี้รัฐบาลสหรัฐใช้เงินเยอะมาก และลักษณะคล้ายกันคือยุโรปก็ใช้เงินเยอะมาก
สหรัฐมีการจ่ายเงิน 3 ระลอก สมัยทรัมป์ 2 ระลอก ไบเดน 1 ระลอก เวลานี้การเจรจาเพื่อมีการใช้จ่ายเพิ่มเติมมันออกมาในรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งเงินจะค่อยๆ เข้าไป ไม่ใช่ก้อนใหญ่ ใช้เวลา 10 ปี วงเงินที่ตกลงกันได้ยังน้อยอยู่ไม่ถึง 1 ล้านล้าน ขณะนี้แนวทางการใช้เงินไม่เหมือนเดิม ไม่แจกเงิน และการใช้จ่ายแบบนั้นในปีถัดไปคนจะเริ่มตั้งคำถามว่าจะใช้อย่างเดียวโดยอาศัยเงินกู้ โดยไม่เก็บภาษี จะเป็นไปได้อย่างไร กลายเป็นว่ารีพับลิกันต้องหันมามองว่าจะเก็บภาษีได้ไหม แม้แต่ภาษีการลงทุนที่ได้กำไรจากตลาดหุ้น
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การใช้จ่ายในอนาคตต่อไปในสหรัฐจะชะลอ ที่ผ่านมาการใช้จ่ายโดยการกระตุ้นจากรัฐบาลในสหรัฐเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั่วโลก และเราจะเห็นได้ในกรณีของไทยที่อัตราขยายตัวส่งออกพุ่งขึ้นมาในเดือนที่ผ่านมา 10% แต่ต่อไปการอัดเงินการคลังของอเมริกาจะแผ่วลง ตรงนี้จะชะลอ ปัญหาคือเศรษฐกิจโลกเดิมเหมือนเหยียบคันเร่ง อาศัยเงินกู้อนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ถึงจุดนึงมีการหยุดชะลอ มันกำลังจะเกิดผล ก็เป็นปัญหาที่ไทยเจอปัญหาหนักเรื่องโควิดเพราะฉะนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา ที่เลี้ยงๆ กันแบบนี้ถึงจุดนึงเสิร์ฟจานสุดท้ายแล้วก็ต้องกลับมาสู่สภาพความเป็นจริงใช่ไหม
ไม่มีประเทศไหนในโลกที่รัฐบาลอาศัยเงินกู้ในการอุดหนุนให้ประชาชนไปเรื่อยๆ ถึงจุดนึงจะเกิดความไม่เชื่อมั่นในฐานะของรัฐบาล เพราะรัฐบาลบอกภาษีไม่เก็บ อาศัยเงินกู้มาใช้จ่าย ของประเทศไทยก็ทำนองเดียวกัน ที่ผ่านมาเราอาศัยเงินกู้ 1 ล้านล้าน และออกพระราชกำหนด 500,000 ล้าน เวลานี้กำลังจะติดเพดานหนี้แล้ว ก็จะเกิดปัญหาว่ากระสุนที่จะยิงมันเริ่มแผ่วทั่วโลก ของไทยแผ่วในจังหวะที่ปัญหาโควิดของเรากำลังเข้าขั้นเข้มข้น ข้อมูลเวลานี้ที่วนเวียนตามโซเชียลมีเดียมีการประเมินโดยสาธารณสุขที่มองไปข้างหน้าว่าต้องล็อกดาวน์เข้ม และถ้าล็อกดาวน์เข้มขึ้นอีกตัวเลขคนติดเชื้อจะพีคที่ 35,000 ต่อวันในอีก 1-2 เดือน ถ้าหากรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์บริหารงานเหมือนเดิมโดยใช้นโยบายล็อกดาวน์แบบเรียกว่าผ่าตัดโดยใช้มีดอีโต้ เศรษฐกิจไทยปีนี้ลำบากแน่นอน
ไม่มีลมใต้ปีกมาหนุน และโควิดยังไม่จบ แบบนี้รัฐบาลจะทำอย่างไรดี
ผมเสนออะไรต่อรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์คงจะยาก เพราะถ้าเสนออะไรไปแล้วเขายอมเห็นด้วยกับแนวคิดผม เท่ากับเขายอมรับสิ่งที่ทำมาในอดีตผิดพลาดและต้องขอโทษประชาชน ต้องกลับหลังหันใหม่ เวลานี้เราต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะหกคะเมนตีลังกาในเรื่องไหน อย่างเรื่องวัคซีนกว่าเราจะสร้างภูมิต้านทานหมู่หมายความว่าต้องฉีดวัคซีน 70% ขึ้นไป ขณะนี้เราได้แค่ 7% กว่าจะได้ภูมิต้านทานหมู่ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมีความเชื่อมั่นเข้ามาคงอีกหลายเดือนมาก
ถ้ารัฐบาลยังใช้แนวเดิมคงไปกันใหญ่แน่นอน แต่ถ้าเป็นแนวใหม่คือต้องเริ่มปรับกระบวนท่าใหม่ ตอนนี้ประชาชนรู้จักโควิดมาปีครึ่งแล้ว เหมือนเราจีบสาวมาปีครึ่ง เรารู้นิสัย จุดแข็งจุดอ่อน ไม่ใช่ประชาชนไม่รู้ เที่ยวนี้ที่แพร่กระจายมากเพราะรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ใช้นโยบาย Covid Zero ตามข้อแนะนำของสาธารณสุขอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงด้านเศรษฐกิจ ปรากฏว่าไปกระตุ้นให้คนไทยออกเที่ยว มีช่วยค่าโรงแรมครึ่งนึง กลายเป็นทำให้หลายคนการ์ดตก ขณะเดียวกันการควบคุมสถานบันเทิงก็ไม่เข้มงวด คุมบ่อนก็ไม่เข้มงวด ป้องกันการลักลอกตามชายแดนพม่าก็ไม่เข้มงวด กลายเป็นว่าแทนที่จะบอกว่า Covid Zero ถึงรัฐบาลจะเป็นฮีโร่ก็จริงแต่มันยังอยู่กับเรา แต่เปล่า ไปกระตุ้นให้คนมีการใช้จ่าย มีการเดินทาง อย่างญาติผมไปภูเก็ตกันเยอะ ไปอยุธยา หัวหิน ทั้งหมดนี้พอถึงเวลาเดลตามามันแทรกซึมโดยไม่รู้ตัว พอรู้ตัวก็สายไปแล้ว
ต่อไปนี้ต้องเปลี่ยนแนวคิดการดูแลประชาชน ประชาชนรู้แล้วว่าวิธีการป้องกันตัวเป็นอย่างไร แทนที่ไปบีบไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ต้องเปลี่ยนเป็นให้มีการเปิดเผยข้อมูล ใครมีข้อมูลอะไรต้องเปิด ขณะเดียวกันต้องเร่งการนำเข้าวัคซีนเสรี มีคนวิจารณ์บอกคนขายไม่ยอมขายให้กับเอกชน อันนี้เข้าใจ แต่รัฐบาลควรเปิดให้เอกชนไปติดต่อกับหน่วยงานของรัฐและบอกว่าต้องการวัคซีนแบบนี้ ผมช่วยรัฐบาลโดยออกเงินเอง และรัฐบาลก็ใช้หน่วยราชการเป็นคนออกหน้าและไปสั่งมา พอสั่งก็มอบให้เอกชนไปประสานตามโรงพยาบาลกันเอง ก็เป็นวิธีบริหารที่เรียกว่าไม่ต้องแบกรับอยู่คนเดียว เอกชนมีหลายองค์กรที่เขาพร้อมดูแลพนักงาน ดูแลลูกค้า แรงงานต่างชาติ กลับกลายเป็นว่าเวลานี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาช่วย
หลายสำนักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าปีนี้ GDP ไทยอาจจะติดลบเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงท่านนึงของธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกมาพูดว่า GDP ไทยอาจจะบวกแค่ 0.7% พูดถึงว่าแบงก์ชาติหมดกระสุนแล้ว
คือแบงก์ชาติมีนโยบายในมือ 2 นโยบาย นโยบายการเงิน คือดูแลปริมาณเงินให้พอเหมาะ กับนโยบายสถาบันการเงิน ทำให้การบริหารสถาบันการเงินเข้าท่า สอดคล้องกับเศรษฐกิจ นโยบายการเงินตอนนี้คือหมดกระสุนแล้ว ไม่ว่าจะทำให้เงินบาทอ่อน ก็อ่อนอยู่แล้ว ลดดอกเบี้ยก็ลดไม่ไหว แต่นโยบายสถาบันการเงินผมว่าแบงก์ชาติควรจะมาคิด เพราะที่ผ่านมาผมพยายามพูดหลายครั้งแล้วว่าแบงก์ต้องลดราวาศอกกับลูกหนี้โดยยอมแฮร์คัตบ้าง ช่วยลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ เพราะถ้าบอกเลื่อนการชำระหนี้ออกไปแล้วหวังให้ลูกหนี้ประคองตัวเองได้มันเป็นไปได้ยาก ตรงนี้ถ้าปล่อยให้แบงก์คิดกันเอง เจรจากับลูกหนี้เอง อาจจะไม่ได้ผล แบงก์ชาติอาจต้องใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่กำหนดเพดานทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งฝั่งเงินให้กู้และฝั่งดอกเบี้ยเงินฝากโดยเน้นให้ผู้ฝากเงินรายใหญ่รับภาระเยอะหน่อย คือทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากแคบลงโดยอัตโนมัติ อย่างนี้ถึงช่วยผ่อนภาระ
ในส่วนนี้ยังมีกระสุนอยู่และป่านนี้ยังไม่ได้ใช้ ผมพูดมาหลายทีก็ไม่ยอมใช้ แต่คนที่มีกระสุนอยู่ในมือควรที่จะต้องใช้ในขณะนี้คือคลังรัฐบาล ในแง่การใช้จ่ายผมคิดว่ายังจำเป็นต้องใช้จ่ายอยู่ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจไม่รอดแน่ แต่การใช้จ่ายจะใช้จ่ายแบบเดิมคงไม่ไหวแน่ มันต้องเปลี่ยนการใช้ แทนที่จะไปเน้นเรื่องอุปโภคบริโภค ต่อลมหายใจให้ประชาชน อันนั้นผมว่าพอแล้ว ต้องเน้นใช้จ่ายลักษณะสร้างความสามารถการแข่งขัน โดยเฉพาะสร้างงานในชนบท เพราะเวลานี้คนย้ายจากกรุงเทพฯกลับต่างจังหวัดเป็นแถว แล้วพวกนี้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ควรทำให้มีการจ้างงานในต่างจังหวัด ควรจะใช้เงินตรงนี้ ต่อให้ทะลุเพดานหนี้เกิน 60% ก็คุ้ม
ควรหันมาสร้างงานในชนบทรวมถึงกับคนที่ตกงานในเมือง
ถูกต้อง เพราะขณะนี้คนที่มาจากต่างจังหวัดมาตั้งรกรากในเมืองแล้วถูกกระทบจากโควิด กลายเป็นไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าก็ต้องไปอยู่ตามถนน เรามี Homeless อยู่ตามถนน ผมว่าเขาลำบากที่จะกลับบ้าน เราจึงต้องทำสะพานกลับบ้านให้เขา จัดงบส่วนนึงลงไปให้เขามีวิธีตั้งตัว จับมือกับวัด โรงเรียน ชุมชน ในต่างจังหวัดว่าจะรับพวกนี้กลับบ้าน คือไม่ใช่กลับเพราะป่วยโควิด แต่เอาคนธรรมดากลับแล้วไปสร้างงาน ทำให้เกิดความคึกคักในต่างจังหวัด ตรงนี้ต้องรีบทำด่วน
ต่อให้ต้องกู้เงินเกิน 60% ของเพดานเงินกู้สาธารณะก็ควรที่จะต้องทำใช่ไหม
ต้องยอมทำ แต่ว่าจะทำอย่างนั้นได้ ในระบบปัจจุบันคือต้องอาศัยผ่านรัฐสภา รัฐบาลจะต้องใจกว้าง คุยกับฝ่ายค้านด้วยภาษาคน ภาษาเดียวกัน ให้ออกมาร่วมมือกัน ต้องสร้างความเป็นผู้นำทำให้เกิดความร่วมมือกันให้ได้ เพราะถ้าไม่มีเงินการบริหารประเทศจะลำบาก
ช่วยพูดถึงดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ที่ควรจะลงมา รวมทั้งแบงก์ชาติควรใช้วิธีแฮร์คัตต่างๆ ช่วยขยายตรงนี้หน่อยได้ไหม
แบงก์ชาติมีกฎหมายที่เขามีอำนาจที่จะกำหนดเพดานดอกเบี้ยทั้ง 2 ฝั่ง วิธีที่จะให้ประโยชน์เกิดกับลูกหนี้คือจะต้องกำหนดเพดานว่าสำหรับลูกหนี้แบ่งเป็นชั้นสเกล ลูกหนี้รายย่อยหน่อยอาจจะได้สัดส่วนลดมากหน่อย รายใหญ่ลดน้อยหน่อย แต่ขณะเดียวกันคนที่จะเข้ามาแล้วมีบทบาทที่จะช่วยคือผู้ฝากเงิน เขาควรออกประกาศเดียวกันกำหนดเพดานฝั่งผู้ฝากให้เข้ามาใกล้ กดฝั่งเงินกู้ให้อยู่ในระดับต่ำ แล้วกดดอกเบี้ยเงินฝากให้อยู่ในระดับต่ำกว่าสำหรับเงินฝากรายใหญ่ อาจจะเน้นว่าเงินฝากเกินกว่า 1 ล้านหรือเกิน 10 ล้าน ต้องกำหนดเป็นขั้นบันได ยิ่งฝากมากต้องยิ่งกดลงไปเพื่อต่ำไว้ก่อน เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีบทบาทช่วยให้แบงก์ดูแลลูกหนี้ช่วงนี้ ขณะเดียวกันพอกำหนดแบบนี้แล้วผลกำไรของแบงก์มันลดโดยอัตโนมัติ
ส่วนแคร์ฮัต ปัญหาคือเราบังคับแบงก์ไม่ได้ ไม่มีอำนาจบังคับเขา ไม่มีกฎหมายไปให้อำนาจแบงก์ชาติ แต่แนวที่น่าลองศึกษาดูคือเรื่องการฟ้องลูกหนี้ มีหลายกรณีที่ลูกหนี้กู้เงินแล้วมีโครงการเป็นหลักประกันแล้วแบงก์ดูว่าเข้าท่าแล้ว แต่แบงก์ต้องถอนแถมต้องให้กรรมการของลูกหนี้มาค้ำประกันส่วนตัวทั้งที่เป็นโครงการใหญ่ การพิจารณาแรกเอาโครงการเป็นหลัก ลักษณะแบบนี้ต้องออกกฎหมายตัดสิทธิ์ที่แบงก์พาณิชย์ไปเรียกกับผู้ค้ำประกันลักษณะแบบนี้ต้องทำให้อำนาจต่อรองของลูกหนี้สูงขึ้น ตรงนี้ละเอียดอ่อนและต้องไปปรึกษาหารือกับนักกฎหมาย
Comments