แผลเป็นที่ไวรัสโควิด-19 ทิ้งไว้นอกจากที่ปอดคนแล้ว ยังเป็นที่เศรษฐกิจและสังคมอย่างมหาศาล มองว่ากว่าจะฟื้นได้ ต้องกินเวลาถึง 5 ปี ยาวกว่า Great Recession
ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขณะนี้ คือการย่อขนาดของเศรษฐกิจโลก
ราคาน้ำมันดิบจากระดับ 65 ดอลลาร์/บาร์เรล เมื่อก่อนเกิดการระบาด ขณะนี้อยู่เรี่ยๆ 20 ดอลลาร์/บาร์เรล สาเหตุเกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันลดลงค่อนข้างรุนแรง เห็นได้จากจีน ที่โรงงานอุตสาหกรรมผลิตเพื่อส่งออกและเพื่อการบริโภคในประเทศปิดตัวลง การขนส่งระหว่างประเทศปิดตัวลงช่วงการระบาดรุนแรงตามไปด้วย
แม้จีนจะเปิดเมืองที่กลับมาเป็นปกติได้แล้ว แต่บาดแผลที่ไวรัสทิ้งไว้ให้กลายเป็นบาดแผลเรื้อรัง...คาดว่ากว่าจะฟื้นคืนสภาพเดิม จะต้องใช้เวลาถึง ปี 2023
เหตุมาจาก ผลิตผลของโลกจะลดลงไม่ต่ำกว่า 20% ทำให้คนตกงานมาก เฉพาะไทย คาดว่าจะตกงานกว่า 7 ล้านคน
นั่นหมายถึงการบริโภคจะลดลงไม่ต่ำกว่า 20% ของโลกก่อนโควิด-19 ระบาด
สหรัฐที่โดนไวรัสถล่มสาหัสที่สุดในขณะนี้ เฟดต้องงัดตำราเดิม อัดเงิน QE ลงไปในตลาดสินทรัพย์ที่เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาสภาพคล่องได้เหมือนครั้งแก้ปัญหา Great Recession ปี 2008 นั้น ก็อาจจะแก้ได้ไม่เหมือนเดิม เพราะครั้งนั้น เศรษฐกิจถดถอยเกิดแต่สหรัฐชาติเดียว ชาติที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่เป็นชาติที่มีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับสหรัฐแน่นเหนียว อย่างเช่นประชาคมยุโรป ญี่ปุ่น และจีน
ทำให้สหรัฐฟื้นตัวเร็วจนกลับมาเป็นปกติ ทำให้เฟดหันกลับมาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ 4 ครั้ง จากระดับ 0.00-0.25%ไต่ระดับขึ้นมาถึง 233.33%ในปี 2015 จากนั้นทรงๆตัวและค่อยๆลดลง จนถึงต้นปี 2020 เฟดลดดอกเบี้ยนอกรอบติดกัน 2 ครั้ง -96.77% เมื่อทั้งเจอสงครามการค้า สมทบด้วยโคโรนาไวรัสระบาด
จึงมองกันว่า มาตรการลดดอกเบี้ยและ QE รอบนี้ คงจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้เร็วเหมือนครั้งก่อน คาดกันว่าจะต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะคืนกลับมาได้ เท่าระดับก่อนเกิดปรากฏการณ์ไวรัส ทั้งนี้เพราะเป็นความเสียหายที่ได้รับกันถ้วนหน้า มิใช่แต่สหรัฐชาติเดียวเหมือนครั้งก่อน
หากโดนกันถึง 194 ประเทศ ทำให้จากนี้เศรษฐกิจโลกจะย่อส่วนลงกว่า 3.5%
อุตสาหกรรมที่เคยเฟื่องฟู กลายเป็นฟุบ เช่นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องเช่นการบิน โรงแรม อาหาร บริการ ฯลฯ
อุตสาหกรรมที่จะเสียหายหนักไม่แพ้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็คือ อุตสาหกรรมส่งออกที่เชื่อมโยงตั้งแต่โรงงานผลิตไปจนถึงการค้าและการขนส่ง
องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า การค้าโลกในปีนี้จะลดขนาดลง ตั้งแต่ 13% ถึง32%
บังเอิญเป็น 2 อุตสาหกรรมนี้ถือเป็น 2 เครื่องยนต์เท่านั้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปได้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมานี้
ทางด้านการเงินโลก IMF รายงานผลสำรวจการเงินโลกช่วงนี้ พบว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ถึง 100 พันล้านดอลลาร์
“นี่คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเงินโลก” Kristalina Georgieva กรรมการอำนวยการไอเอ็มเอฟชี้
เป็นการเตือนภัยที่ต้องทบทวนกันหลายรอบ เพราะตลาดเกิดใหม่นั้นรวมไทยด้วย แม้รัฐบาลโดยธปท.จะมีทางออกด้วยการตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุน ในวงเงินไม่เกิน 400,000 ล้านบาท แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่าควรจะให้เป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ของรัฐมากกว่าดำเนินการโดยธนาคารกลาง
เป็นแง่ของกฎหมาย ไม่ใช่หลักการ แต่ในความรู้สึกของสังคม มองว่าความเสียหายของภาคเอกชนรายย่อยที่รวมกันแล้วสาหัสกว่ารายใหญ่ที่มีศักยภาพในการออกตราสารหนี้ได้ ไม่ต่างจากเงินเยียวยาผู้เสียหายจากไวรัสระบาด 5,000 บาทที่คนได้รับมีแต่คนที่เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต
แต่ชาวนา คนยากคนจนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือที่เดือดร้อนจริงๆไม่ได้รับประโยชน์จากเงินเยียวยานี้
นี่ไม่ใช่แผลเป็นจากไวรัสโควิด-19 ทิ้งไว้ให้ หากแต่เป็นบาดแผลเรื้อรังที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยมานับเป็นศตวรรษแล้ว
Comments