top of page

3 ความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญ...เตรียมรับมือ วางแผนการเงินให้ดี


Interview: ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์


ดร.ตีรณชี้...3 ความเสี่ยงที่โลกต้องเผชิญ 1. โควิดยังเป็นความลับที่ดำมืด ยากที่จะตีโจทย์ ยากที่จะป้องกัน-รักษา หวั่นจะระบาดอีกหลายระลอก แถมมีโอกาสกลายพันธุ์ เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกมิติ 2. สงครามการค้าอเมริกา-จีนจะกลับมาอีกครั้งและกลับมาเร็วกว่าที่คิด 3. ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากผลกระทบของโควิดที่จะยืดเยื้อยาวนาน เตือน...เตรียมรับมือให้ดี ยึดหลัก ทำงาน-เก็บเงิน อยู่อย่างสมถะ งดเที่ยว งดกิน-ใช้อย่างฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คน หวั่น NPL จะสูงทะลุปรอท แนะรัฐบาล อย่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุคโควิดโดยใช้เงินเป็นตัวนำ เพราะเป็นเกมยาว บทสรุปของโควิดไม่ง่ายและไม่สวยงาม

ถึงตรงนี้จะเอาเงินที่เก็บไว้มาเริ่มทำงานได้หรือยัง

ขณะนี้ถือว่าความเสี่ยงยังสูงอยู่ หลักใหญ่มี 3 เรื่อง

1. เรื่องโควิด มนุษย์รู้จักโควิดไม่มากนัก เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วถือว่ารู้น้อยมาก วันนี้รู้มากขึ้นแต่รู้พอไหม ก็ยังรู้ไม่พอ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะมีเวฟต่อๆ ไปหรือคลื่นลูกใหม่ของการแพร่ระบาดกลับมาอีกก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่ คืออย่าไปปิดโอกาสว่าเกิดครั้งเดียวแล้วจบ คงไม่มาอีก คงจะเหมือนซาร์สไม่มี second wave แต่ซาร์สไม่ติดต่อระบาดง่าย ตัวโควิดเป็นเชื้อที่ว่าระบาดได้ง่าย มีโอกาสที่เกิด second wave สูง ช่วงที่จะเกิด second wave คือช่วงประมาณปลายปีซึ่งเป็นฤดูหนาว โดยเฉพาะประเทศที่หนาวเย็นอยู่แล้ว ก็จะลำบากหน่อย เพราะฉะนั้นการเดินทางระหว่างประเทศยังคงอีกนานแม้จะมีวัคซีนออกมา การติดต่อกันระหว่างประเทศ การเดินทางระหว่างประเทศยังยากมาก ในระหว่างนี้จนถึงปลายปีอาจจะมีคลื่นเล็กคลื่นน้อยเกิดใหม่

2. เรื่องการค้า ส่วนตัวประเมินว่าหลังจากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบ 2 จะทำสงครามการค้ากับจีนอีกรอบ วันนี้สถานการณ์อาจจะเร็วขึ้น เนื่องจากทรัมป์ต้องการพิสูจน์ให้คนเห็นว่าเอาจริงเอาจัง ให้ฐานเสียงรู้สึกว่าเป็นประธานาธิบดีที่อเมริกาไม่เคยมีมาก่อนเลย ตรงนี้เป็นไปได้ว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับอเมริกาอาจจะกลับมาเร็วกว่าที่คิด เดิมคาดว่าน่าจะหลังจากเลือกตั้ง แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่แล้ว


3. ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากการโจมตีโดยโควิด เกิดการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจเสียหายบางส่วน หลายประเทศยังไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ระบบเขาไม่มีประกันสังคม เป็นระบบตัวใครตัวมัน ทำงานรายวัน รายเดือน รายปี ไม่เหมือนประเทศเรา ส่วนใหญ่ทำงานบริษัทก็จะจ้างไปเรื่อยๆ แต่การจ้างงานต่างๆ ในอเมริกา-ยุโรปจะถูกกระทบ ตรงนี้จะซ้ำเติมเศรษฐกิจในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า แล้วประเทศที่ใช้จ่ายมากๆ หมายถึงกำลังหรือกระสุนที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในรอบใหม่ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ทั้ง 3 เหตุผลนี้เป็นการบอกเราว่าอย่านิ่งนอนใจ ถ้าสมมุติรัฐบาลไทยผ่อนคลายล็อกดาวน์ซึ่งก็ผ่อนคลายๆ ได้ในบางส่วน เราก็ต้องรีบทำงาน อย่าเน้นเที่ยวหรือการบริโภคฟุ่มเฟือย เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่แบบสมถะ ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น

ของไทยจะมีเรื่องพันธบัตรซึ่งยังไม่จบ คิดว่ายังไม่ถึงจุดต่ำสุดเพราะยังมาอีก หมายถึงสถานการณ์ที่ตราสารหนี้ถึงเวลาจะโอเวอร์ คือต้องออกมากู้เพื่อที่จะจ่ายคืนของเก่า ซึ่งของใหม่จะขายไม่ได้ ของใหม่ออกมาจะไม่มีคนซื้อ ถ้าคนจะซื้อจะต้องจ่ายดอกสูง ซึ่งจ่ายดอกสูงก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนซื้อ เพราะฉะนั้นก็ต้องหาที่พึ่งพิง พวกที่อยู่ระดับ non investment grade พวกนี้คิดว่าน่าจะเป็นเงามืด ปัญหาคือสมมุติพวกนี้ออกมาปีละครั้ง ถึงเวลาก็ต้องมาต่อเพื่อคืนให้พันธบัตรเก่า ของใหม่จะออกมาไม่ได้ ออกมาก็ไม่มีคนซื้อแล้วใครจะรับซื้อไป อันนี้เป็นปัญหาที่จะตามมา ถ้ามองตั้งแต่คนชั้นกลางหรือรายได้น้อยก็ต้องระมัดระวังเพราะสถานการณ์ยังแค่เริ่มต้น สิ่งที่จะได้เห็นยังไม่มา ตัวเลข NPL ก็สะสมกำลังอยู่ ยังไม่โผล่ แบงก์ชาติเริ่มผ่อนคลายกฎว่าการรายงาน NPL ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนคลายขึ้น จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน แต่พอถึงเวลา 6 เดือนตัวเลขก็จะพุ่งขึ้นมา ช่วงเวลาปลายปีต้องระวัง ตั้งแต่สิงหาคม-ตุลาคม ต้องระวัง NPL กลับมา มีตัวเลขให้เห็นมากขึ้น

การมองสถานการณ์เศรษฐกิจทั้ง 3 ส่วน ทั้งเรื่องโควิด สงครามการค้า ภาวะเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องพวกนี้ จะบอกว่าลักษณะนี้โดยพื้นฐานเศรษฐกิจยังไม่ต่ำสุด แต่เรื่องราคาหุ้นเป็นอีกเรื่อง ถ้าช่วงไหนมีโอกาสก็เร่งทำมาหากิน ต้องประหยัด ต้องปรับปรุงการผลิตเราให้ทันสมัยขึ้น หลีกเลี่ยงการพบปะ


เศรษฐกิจไทยอย่าง GDP พึ่งตัวเลขรายได้การส่งออกและท่องเที่ยว ปีนี้จะทำอย่างไรถ้ายังต้อง ทำตาม Social Distancing

จะยาว คือคนจะไม่นำเข้า ส่วนท่องเที่ยวนั้นต้นทุนการเดินทางจะแพง และคนจะรู้สึกไม่สบายใจเวลาเดินทางมากกว่าเดิม ต้นทุนการเดินทางจะแพงขึ้น ความหวังของประเทศไทยที่จะไปพึ่งท่องเที่ยวแทนส่งออกเหมือนที่เราเคยทำนั้นหวังไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนแย่ส่งออกแย่ก็พึ่งท่องเที่ยว ตอนนี้เราพึ่งท่องเที่ยวไม่ได้แล้ว ตอนนี้เป็นสิ่งวัดฝีมือว่าภาพรวมเราจะพึ่งอะไรได้ เพราะท่องเที่ยวคิดว่าคงพึ่งยากไปอีก 1-2 ปี และถ้าเกิด second wave จริง อันนี้เหนื่อย ถ้าไม่เกิดก็ถือว่าโชคดี ถ้าสังเกตจะเห็นว่านักท่องเที่ยวไม่มาแต่ค่าเงินบาทยังแข็งอยู่ อันนี้เป็นอะไรที่ผิดปกติ เป็นอะไรที่ไม่ปกติมานานแล้ว คือส่งออกไม่ดีแต่ค่าเงินบาทก็ยังแข็ง ท่องเที่ยวดีเราบอกบาทยังแข็งได้ แต่ตอนนี้ท่องเที่ยวไม่ดี บาทก็ยังแข็งอยู่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวัง


ลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้วค่าเงินบาทก็ยังแข็งอยู่

อาจจะไม่ใช่ค่าเงินบาทไปแล้ว เป็นค่าอะไรก็ไม่รู้


เฉพาะหน้านี้ รัฐบาลควรคิดอ่านอย่างไรเพื่อฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด

รัฐบาลต้องแก้ปัญหาโดยไม่เน้นการใช้เงิน ต้องใช้ความคิดเป็นตัวนำ เพราะเงินมีอยู่จำกัด แทนจะคิดว่าพยายามไปแก้กฎหมายยกหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น 60 เป็น 70% คิดว่าเงินที่มีอยู่น้อยทำอย่างไรในสิ่งที่ได้ผลโดยไม่ต้องใช้เงินแก้ปัญหา คือต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง เงินค่อยไปใช้ตามจุดที่จำเป็น ผมเชื่อว่าต้องเริ่มตรงนั้น แต่ถ้าเริ่มเอาเงินแก้ปัญหาไปก่อน อันนี้จะลำบาก เพราะเป็นเกมยาวไม่ได้เป็นเกมสั้น ไม่ใช่ว่ารอบนี้ใช้ไปแล้ว พอเปิดล็อกดาวน์แล้วจะกลับมาดี อย่าไปคิดอย่างนั้น มันไม่สวยงามขนาดนั้น เรายังรู้จักโควิดน้อยไป ไว้เราเรียนรู้มากขึ้นเราอาจจะเห็นภาพในอนาคต ก็ค่อยๆ เรียนรู้กันไป ระหว่างนี้เราต้องระมัดระวัง

ยกตัวอย่าง ในอนาคตถ้าเกิด second wave เราต้องเตรียมตัวแล้วว่าระบบ testing ที่แม่นยำวัดการระบาดได้จริง การเทสต์ไม่ได้หมายถึงวัดการระบาดได้ 100% มันวัดได้ระดับเดียว ต้องไปคิดว่าจะทำยังไงถึงวัดได้ดี และคิดวิธีจะทำอย่างไรไปลงทุนในจุดที่จำเป็น เพราะเรื่องวัคซีนเป็นเรื่องใหญ่ ในอนาคตวัคซีนจะแพงมาก คิดว่าข่าวดีที่มีวัคซีนแข่งกัน เรายังไม่รู้ว่ามันจะประสบความสำเร็จจริงหรือเปล่า ถ้าสำเร็จต้นทุนจะแพงแค่ไหน คนไทยจะมีปัญญาไปซื้อหรือไม่ ถึงแม้จีนยินดีจะช่วย แต่เราต้องคิดวิธีพึ่งตัวเอง อันนี้เป็นส่วนนึงที่รัฐบาลต้องอาศัยกลไกของรัฐผลักดันให้มีวัคซีนของเราเองโดยใช้วัคซีนเทคโนโลยีที่ไม่เป็นภัยต่อคนทดสอบ คือใช้ตัวที่เป็นเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังอันตรายพอสมควร ตอนนี้ก็พยายามปูพรมคนอยากมาลองว่าวัคซีนไม่ได้เสี่ยงมาก แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่โดยธรรมชาติ อันนี้เป็นตัวอย่างนึงว่าเราต้องลงทุนกับเรื่องพวกนี้ ลงทุนการเทสต์ การทำวัคซีนเป็นของเราเองว่าอย่างน้อยถ้าเราออกมาช้าเขาออกมาเร็วแล้วคิดแพง อย่างน้อยวันนึงคนไทยมีวัคซีนที่ถูก และถ้ามันกลายพันธุ์ก็เป็นประเด็นของ second wave ว่าถ้ามันยังมาอีกหลายๆ รอบ 2 ปีมาอีก ถ้าเราไม่มีพื้นฐานด้านวัคซีนเราจะทำอย่างไร

70 views

コメント


bottom of page