top of page
312345.jpg

e-Service ขุมทรัพย์ใหม่ภาษี...วาดฝันเก็บ VAT เป็นกอบเป็นกำ


Interview : คุภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง TARAD.com

และกรรมการ สมาคมผู้ประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย


ช่องทางรายได้ใหม่ จัดเก็บภาษี e-Service กรมสรรพากรคาดเก็บภาษีได้เหนาะๆ อย่างน้อยปีละ 3,000 ล้านบาทจากการทำธุรกรรมบนออนไลน์ของคนไทยในปัจจุบันปีละ 4 หมื่นล้านบาท วาดฝัน...อีก 20 ปีข้างหน้าจะเก็บภาษี e-Service ได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว

จากที่ครม.อนุมัติเรื่องกฎหมาย e-Service กฎหมายนี้คืออะไร และจะมีผลอย่างไร

ต้องบอกว่าตอนนี้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 70% แล้ว คือคนไทย 100 คนจะใช้อินเทอร์เน็ต 70 คน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นจากการมาของ 3G 4G และก็ 5G และยิ่งในช่วงโควิด-19 ยิ่งทำให้คนไทยได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เร็วขึ้นมาก แต่พอเราไปดูเรื่องบริการที่ใช้อยู่ในมือถือที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน หากสังเกตดีๆ มันแทบจะไม่มีบริการของคนไทยเลย ลองใช้ Line ซึ่ง Line ก็เป็นของญี่ปุ่น เกาหลี ใช้ Facebook ก็เป็นของอเมริกา Tiktok ของจีน ทั้งหมดล้วนเป็นโปรแกรมที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศทั้งนั้นเลย แล้วหลายคนใช้เงินในการซื้อบริการต่างๆ เช่น ถ้าเราเป็นพ่อค้าแม่ค้าก็มีการซื้อโฆษณาใน Facebook ส่วนใหญ่ซื้อกันเดือนละหลายพันบาท บางคนเจ้าใหญ่ๆ หน่อยก็หลายหมื่นบาทหรือหลายแสนบาท หรือเป็นล้านบาทต่อเดือน เป็นมูลค่ามหาศาล หรือบางทีจะดาวน์โหลด Application ซื้อสติกเกอร์ ดูหนังฟังเพลง แล้วเราก็จ่ายเงินไป รู้หรือไม่ที่จ่ายไปทั้งหมดประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย โดยเฉพาะการรูดบัตรเครดิตไป หรือมีการหักผ่าน Google Apple Pay พวกนี้ ต้องบอกว่ารายได้ออกไปนอกประเทศทันที ประเทศไทยไม่ได้อะไรตรงนี้เลย

ขณะที่แนวโน้มคนไทยใช้บริการออนไลน์ตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และบริการตรงนี้เริ่มเข้ามาทำร้ายธุรกิจเดิมๆ ของประเทศไทยให้เริ่มแย่ลง รายได้ของภาครัฐจากที่ได้ในเรื่องของภาษีจากบริการต่างๆ ก็ได้น้อยลง กลายเป็นว่าเงินไหลออกไปต่างประเทศมากขึ้น เหล่านี้คือที่เรียกว่า e-Service บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ คือบริการออนไลน์ทั้งหมดเลย ดังนั้น รัฐบาลเลยมองว่า ถ้าเราปล่อยตรงนี้ไป โดยนี่แค่จุดเริ่มต้นที่คนไทยเริ่มใช้ออนไลน์มากขึ้น ถ้าต่อจากนี้ไป 5 ถึง 10 ปีจะเป็นอย่างไร พอเราจินตนาการกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน ที่โทรศัพท์มือถือยังทำอะไรไม่ได้เหมือนสมัยนี้ ใครจะไปรู้ว่าเราจะเอาโทรศัพท์มือถือมาคุยผ่านวิดีโอได้ ใครจะไปรู้ว่ามือถือ ปัจจุบันสามารถมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ เมื่อ 20 ปีที่แล้วใครจะคิดว่าโทรศัพท์จะทำเหล่านี้ได้ ฉะนั้นถ้า มองต่อไปใน 20 ปีข้างหน้ามันจะคนละเรื่องเลย

ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ รัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ดิจิทัลเต็มๆ ยิ่งคนไทยใช้ดิจิทัลมากขึ้นเท่าไหร่ ประเทศไทยยิ่งขาดดุลดิจิทัลมากขึ้นเท่านั้น ก็เลยเป็นประเด็นให้รัฐบาลเริ่มสนใจ ซึ่งจริงๆ ประเด็นเหล่านี้ทางภาคเอกชนก็มีการพูดคุยกันมาก่อนแล้วว่า ปัจจุบันคนดูทีวีน้อยลง มีการซื้อโฆษณาในสื่อหลักน้อยลง แต่ไปซื้อโฆษณา Google และ Facebook มากขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้รายได้ไม่เข้าประเทศไทยเลย นี่คือที่มาของการจัดเก็บภาษีตัวนี้

ประเทศอื่นก็มีการเก็บภาษีตัวนี้

ใช่ หลายประเทศในโลกนี้เริ่มมีการเก็บภาษีตัวนี้ เพราะถ้าไม่เก็บก็จะไม่ได้อะไรเลย และยิ่งทำให้ประเทศนั้นๆ สูญเสียรายได้ จริงๆ รายได้ของ Google หรือ Facebook อย่าง Google แค่บริษัทเดียว รายได้ต่อปีของเขา เกือบ 3 ล้านล้านบาท หรือ 4 ล้านล้านบาทต่อปี นั่นหมายถึงรายได้ของ Google บริษัทเดียวมากกว่างบประมาณแผ่นดินของประเทศไทย คำถามคือ เขาดึงเงินไปได้อย่างไร ก็คือดึงเงินจากคนทั้งโลกผ่านทางอินเทอร์เน็ตเข้ามา พอมันออนไลน์ ทุกอย่างมันก็เชื่อมโยงกันหมด บางคนเป็น SME อยู่ที่เชียงราย เป็นบริษัทเล็กๆ อยู่ที่ประเทศอิตาลี หรืออยู่ที่มาเลเซีย ทุกคนก็จ่ายค่าโฆษณาบนออนไลน์หมด ไปลงที่ Google อยู่ที่ Facebook นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และทุกประเทศก็กังวลเรื่องการเปลี่ยนแปลงในแง่ของโครงสร้างการใช้เงินในการซื้อบริการด้านดิจิทัลมากขึ้น

ตรงนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจบนออนไลน์ไหม

อาจจะมี คือต้องบอกว่าเพราะมีการเก็บเงินจากคนไทย รัฐก็เลยมองว่า ถ้าใครก็ตามแต่ก่อนคุณมีบริการออนไลน์ คุณดึงเงินคนไทยออกไป รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ เพราะเขาไม่มีตัวตนในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายไปบังคับเขา ดังนั้น เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายตัวใหม่ออกมา ตัว e-Service ใครก็ตามที่ดึงเงินคนไทยออกไปเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ตรงนี้ต้องมีภาระหักภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับภาครัฐบาลไทย และเมื่อกฎหมายผ่าน ต่อไปหากเราซื้อโฆษณา Facebook 100 บาท Facebook ต้องทำหน้าที่ในการหักภาษี 10% เพื่อส่งคืนให้กับรัฐบาลไทย หรือจะจ่ายค่าอะไรก็ตามบนออนไลน์ทั้งหมด บริษัทที่ได้เงินไปมีภาระหน้าที่ต้องหักเงินคืนให้กับภาครัฐบาลไทย

เขาเก็บจากแพลตฟอร์มที่เป็นต่างประเทศ ของในไทยจะไม่เกี่ยว ไม่ได้รับผลกระทบจากการเก็บจากตรงนี้ ใช่หรือไม่

ของไทยโดนอยู่แล้ว คนไทยอยู่ในโครงสร้างภาษีของประเทศอยู่แล้ว ในแง่ธุรกิจ ใครทำธุรกิจก็ตาม จะเป็นบุคคลที่ต้องเสียภาษี หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี คุณต้องมีภาระจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับธุรกิจไทย กฎหมายเรามีครอบคลุมอยู่แล้ว ตรงนี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียม ขณะเดียวกันคนขายที่เป็นคนไทยอาจจะต้องมีการปรับตัวนิดนึง เพราะว่าหากผู้ซื้อ เขาซื้อบริการจากออนไลน์ จากเมื่อก่อนเราจ่าย 600 บาท บางผู้ให้บริการเมื่อเห็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เขาอาจจะมีการผลักภาระภาษีมาให้ผู้บริโภค เช่นเคยโหลดหนัง 100 บาท ต่อไปต้องจ่าย 110 บาท อาจจะหรือแล้วแต่เจ้า บางเจ้าอาจจะรับภาระไว้เอง หรือบางเจ้าอาจจะผลักภาระภาษีมาให้กับผู้บริโภค


แต่ถ้าเราเป็นผู้ให้บริการ เราเป็นคนไทย เราเป็นธุรกิจที่ซื้อบริการจากต่างประเทศอยู่แล้ว เมื่อเราอยู่ในขอบข่ายของภาษีแวตอยู่แล้ว คือบริษัทเราจดแวตอยู่แล้ว คุณสามารถนำเอาแวตที่เราจ่ายผู้ให้บริการจากต่างประเทศเอามาขอคืนได้

ถ้าเขาผลักภาระให้กับผู้บริโภค ก็เท่ากับว่าเขาไม่ได้เสียหายอะไรเลย เขาก็ได้รับเงินเต็มๆ ไปอยู่ดี

เหมือนเดิม แต่สิ่งที่น่าสนใจคือจากเดิมคนไทยจ่ายเงินเรื่องออนไลน์ไปเท่าไหร่ไม่รู้ จากบริการ Google จากการซื้อคลาวด์ เราไม่รู้ว่าเราใช้เงินขนาดไหนในการซื้อบริการจากต่างประเทศ ฉะนั้นต่อไปเราจะเริ่มรู้ และเมื่อรู้ จะได้เห็นข้อมูล ทางภาครัฐบาลก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ต่อไปได้ หรือมาวางแผนโครงสร้างในการดึงบริษัทเหล่านั้น มาลงทุนในประเทศไทยได้ ซึ่งหลังจากกฎหมายตัวนี้ออกมาน่าจะมีการเก็บภาษีได้ประมาณปีละ 3,000 ล้านบาท เข้าใจว่าทางสรรพากรคาดการณ์ว่าคนไทยเอาเม็ดเงินไปซื้อออนไลน์ในปีหนึ่งประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่น้อยเลยที่คนไทยจ่ายทางออนไลน์ ฉะนั้นถ้าเก็บ 7% เราจะได้มาสัก 3,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาทางสรรพากรมีการเข้าไปพูดคุยกับบรรดาผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ เช่น Google, Facebook, Line พวกนี้ก็ยินดีที่จะเข้ามาในกฎหมายตัวนี้ของประเทศไทย สรุปว่า กฎหมาย e-Service ที่จะออกมา จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จากจุดที่เราไม่เคยได้มาก่อน ขณะเดียวกัน จะทำให้เรารู้ว่าเราขาดดุลการค้าเรื่องดิจิทัลเท่าไหร่ คือเมื่อดูภาพรวมแล้วถือว่าคุ้มค่า ซึ่งยังไม่ต้องมองประเด็นในอนาคตที่มันจะเกิดขึ้นต่อไป

58 views
bottom of page