top of page
312345.jpg

เงินดิจิทัลแก้ปัญหาค่าเงินผันผวนได้แค่ไหน


ค่าเงินโลกในยุคที่มาตรฐานมูลค่าเงินตราโลกกำลังเปลี่ยนแกน จากดอลลาร์ไปสู่สื่อกลางแลกเปลี่ยนอื่น

ในยามเศรษฐกิจโลกถูกโควิด-19 โจมตีกดดันจนถอยร่นเข้าสู่ภาวะถดถอย ค่าเงินแปรผันผวนตามดัชนีตลาดหุ้นและพันธบัตรโดยมีตัวแปรสำคัญคืออัตราดอกเบี้ย นักลงทุนพากันหันหาสินทรัพย์ทางเลือก (Alternative Assets) ที่มั่นคง แทนสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหลายที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

โลหะมีค่าอย่างทองคำและเงิน เป็นแหล่งหลบภัยที่หมายตากันมากที่สุด

อีกด้านหนึ่ง เงินตราดิจิทัลถูกยกขึ้นมาเทียบเคียงกับทองคำ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินตราซื้อขายแลกเปลี่ยนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยแม้จะมีอัตราผันผวนสูงกว่าค่าเงินในตลาด Forex คือคู่สกุลเงินต่างประเทศใน Forexมีความผันผวนเฉลี่ยประมาณ 1% และ 0.5% ขณะที่ Bitcoin มีความผันผวนประมาณ 5% ถึง 15%

แต่เมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหุ้น เมื่อเกิดภาวะผันผวน Cryptocurrency ทุกสกุลต่างก็พลอยได้รับผลกระทบตามตลาดหุ้นไปด้วย

ทว่าในช่วงฟื้นตัว กลับปรากฏว่า เงินคริปโตฟื้นตัวเร็วกว่า และมั่นคงกว่า

เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับทองคำและโลหะมีค่าอื่นๆในตลาดโภคภัณฑ์ พบว่าเงินคริปโตมีความปลอดภัยมาก เนื่องจากนักลงทุนเป็นผู้ถือเงินเอง มิใช่โบรกเกอร์

ในยามที่ดอลลาร์สหรัฐเริ่มเสื่อมความเชื่อถือและความเชื่อมั่นในฐานะสื่อกลางอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารกลางหลายชาติพยายามมองหาแหล่งเก็บมูลค่า (store-of-value ) สำหรับเงินตราของตน


ดอลลาร์สหรัฐ ทองคำ และสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) เป็นสำรองเงินตราระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ที่ใช้กันเป็นหลัก

สำหรับ ธปท. ได้สำรองในรูปของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างประเทศ เช่นพันธบัตรในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ 95.65% ทองคำ (Physical Goods) 3.37% และ SDR 0.98%

หลังภาวะถดถอยครั้งใหญ่ปี 2008 หลายธนาคารกลางหันมาศึกษาสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้เป็น store-of-value ของตนแทนดอลลาร์ เพราะช่วงเกิดภาวะถดถอยเฟดใช้มาตรการ QE พิมพ์ธนบัตรโดยไม่มีสินทรัพย์ค้ำมูลค่าอัดลงไปในตลาดพันธบัตรขนานใหญ่ และครั้งนี้ก็จะทำอีก ทำให้ความเชื่อถือในดอลลาร์เสื่อมลง

ขณะนี้หลายธนาคารกลาง เริ่มมีการใช้ Bankcoin Reserve (BCR) กันบ้างแล้ว

BCR จะผูกพันกับทองคำต่อออนซ์ ทำให้หลีกพ้นจากความผันผวนของราคา โดยธนาคารใช้ซอฟต์แวร์เฉพาะของตัวเองสนับสนุน แทนซอฟต์แวร์ที่ใช้เชื่อมต่อกับธนาคารอื่นๆ

นวัตกรรมใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีในธุรกรรมการเงิน นำไปสู่การลดการใช้เงินกระดาษกันเพิ่มขึ้น...จากการใช้บัตรเครดิตชำระราคาสินค้า การเสียบบัตรถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ขณะนี้มีการจ่ายผ่านการสแกนรหัสดิจิทัลของเจ้าของบัญชีเงินฝาก หรือ QR Code และ Pay Wave กันแล้ว

เป็นรูปแบบเดียวกันกับการใช้ Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งที่จีนมีการใช้กันแพร่หลายมาก เหตุผลคือสะดวก ปลอดภัย และไร้ธนบัตรปลอม

ส่วนคนไทย แรกๆก็ไม่ค่อยนิยมใช้กันมากนัก แต่ในช่วง lockdown คนไทยเกิดอาการผวาติดเชื้อไวรัสทั้งประเทศ พวกที่กลัวที่สุดก็คือคนมีอันจะกิน มีเงินฝาก

เงินกระดาษ หรือธนบัตร รวมทั้งเหรียญ ถูกระแวงการติดเชื้อ เพราะผ่านมือคนใช้ทุกระดับ ทุกอาชีพ ยิ่งมีผู้รู้ออกมาบอกกว่า เชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวของธนบัตรและเหรียญได้นานถึง 9 วัน ก็ยิ่งกลัวทั้งเหรียญทั้งธนบัตรกันใหญ่

บางคนไปจับจ่ายซื้อสินค้า ได้เงินทอนกลับมา ไม่ยอมใส่กระเป๋าสตางค์เหมือนเคย หากแต่เตรียมถุงก๊อบแก๊บไปใส่ เมื่อกลับมาถึงบ้านก็เอามาล้างด้วยสบู่แล้วนำไปตากแดด

ความระแวงหวาดกลัวติดโควิด-19 จากการสัมผัสเงินกระดาษและเหรียญ กลายเป็นตัวเร่งให้มีผู้หันมาใช้การจ่ายผ่านระบบดิจิทัลกันมากขึ้น

โดยเฉพาะที่จีน โควิด-19 เป็นตัวเร่งการออก Digital Yuan (Digital Currency ElectronicPayment หรือ DCEP) มาใช้ก่อนกำหนด

เพราะแม้จะยุติการระบาดของโรคได้แล้ว แต่แพทย์จีนยังกังวลการกลับมาระบาดซ้ำ เหตุพบว่า แม้จะหายป่วย ทว่าไวรัสยังคงไม่หมดเชื้อ ยังอยู่ในร่างกายต่อไปอีกถึง 45 วัน รัฐบาลจีนจึงกังวลต่อสื่อสัมผัสระหว่างบุคคล โดยเฉพาะเงินตราที่เป็นวัตถุตัวกลางที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

เหตุผลอีกด้านหนึ่งก็คือสงครามค่าเงิน ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่สหรัฐแทรกแซงค่าดอลลาร์จนอ่อนค่า ทำให้หยวนต้องทำให้ค่าของตนอ่อนตาม เพื่อมิให้เสียเปรียบ

แต่การแทรกแซงค่าเงิน เป็นการฝืนธรรมชาติ ทำให้เงินตราเสื่อมค่า จีนจึงต้องประดิษฐ์ดิจิทัลหยวนออกมาให้มีลักษณะเป็น “เหรียญ” ดิจิทัลที่มีค่าคงที่ (Stable Coin) โดยใช้หยวนเป็นสกุลเงินค้ำ หรือเก็บมูลค่า store-of-value แทนเงินกระดาษ ซึ่งต่างจากเงินคริปโตที่เป็น Trading Coins อยู่ในตะกร้าซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน มีสภาพเป็นรหัสล่องลอยในอากาศ มูลค่าและราคาขึ้นอยู่กับการเก็งกำไร

การเร่งออกดิจิทัลหยวน เป็นการตัดหน้า Libra ที่กำลังกลับมาดำเนินการใหม่หลังชะงักไปหลายเดือนจากการที่พันธมิตรสกุลเงินสำคัญถอนตัวจากการค้ำมูลค่า

ถ้าเกิดมี Digital Baht ขึ้นตามที่ธปท.คิดค้นและทดลองร่วมกับ 8 สถาบันการเงินในโครงการอินทนนท์ คนไทยจึงน่าจะรับกันได้

บาทดิจิทัล หรือ Digital Baht จะเป็น Stable Coin มีเงินบาทค้ำมูลค่าไม่ต่างจากหยวนดิจิทัล และมีธนาคารกลางรับรอง (Central Bank Digital Currency-CBDC) นำไปใช้ในการเชื่อมกับธุรกิจมูลค่าสูง (Wholesale CBDC) และใช้ในภาคผู้บริโภครายย่อย (Retail CBDC)

เป็นการเปิดประตูเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ไม่ต้องจับต้อง (Touchless) ธนบัตรอย่างสมบูรณ์เสียที

70 views
bottom of page