top of page
358556.jpg

CIMBT เป้าสินเชื่อปี 63 โต 10% พร้อมลุย Digital Banking เต็มสูบ


แบงก์ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าสินเชื่อรวมปี 63 โต 10% จากสินเชื่อรายใหญ่โต 12-13% รายย่อยโต 8% ส่วนเอสเอ็มอีไม่เน้น หลังทยอยลดสัดส่วนจนหนี้เสียลดตามเหลือแค่ 5% ยันปี 63 ได้เห็นดิจิทัลแบงกิ้งใช้งานได้เต็มที่ทั้งในไทยและเชื่อมอาเซียน ส่วนกำไรก่อนหักภาษีคาดโต 20%


นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อรวมเติบโต 10% ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโตที่ 10% เช่นกัน โดยการเติบโตของสินเชื่อรวมจะมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ตั้งเป้าหมายเติบโต 12-13% จากการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งธุรกิจเอกชนรายใหญ่ยังมีขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกไปลงทุนในภูมิภาคอาเซียนที่ธนาคารมีเครือข่ายรองรับในทุกประเทศ นอกจากนี้ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ยังจะได้รับอานิสงส์จากระบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่จะมีการทยอยลงทุนในปี 2563


ส่วนทางด้านสินเชื่อรายย่อยตั้งเป้าหมายเติบโต 8% ซึ่งจะมาจากการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นหลัก หลังจากช่วง 2-3 เดือนก่อนสิ้นปี 2562 พบว่าลูกค้ามีความต้องการใช้สินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขอสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้ในปี 2563 ธนาคารวางแผนปล่อยสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น จากที่มีการเติบโต 14% ในปี 2562 เป็น 42% ในปี 2563 หรือมีสัดส่วนราว 3,000 ล้านบาทของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด ขณะที่การดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้สินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารจะมาจากการที่ได้มีการพัฒนาโซลูชันในการคิดดอกเบี้ยตามประวัติการชำระเงิน ทำให้ลูกค้าที่มีประวัติการชำระเงินที่ดีจะได้รับอัตราดอกเบี้ยถูกกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารขยายฐานลูกค้าใหม่ได้เพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารได้เดินตามกลยุทธ์ Fast Forward มีการกระจายธุรกิจออกไปในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำลง โดยมีการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้ารายย่อย จากเดิมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ทำให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารเหมือนกับธนาคารขนาดใหญ่ และสามารถควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2562 อยู่ในระดับทรงตัวที่ 5% และตั้งเป้าลดลงต่ำกว่า 5% ในปี 2563


นายอดิศร กล่าวต่อไปว่า หลังจากธนาคารได้วางโครงสร้างพื้นฐานและทำงานเกี่ยวกับการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเต็มที่ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ในปี 2563 ลูกค้าจะได้เห็นบริการด้าน Digital Banking ของธนาคารอย่างชัดเจนมากขึ้น และเมื่อผสานกับจุดแข็งด้าน ASEAN จึงเกิดเป็นยุทธศาสตร์ของธนาคารที่เรียกว่า ‘Digital Bank With ASEAN Reach’


“วันนี้ธุรกิจธนาคาร ทุกคนต่างได้ผ่านกระบวนการ Disruption จาก Digital Platform กันหมด เราจะฉีกให้มากขึ้นโดยยึดความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง โลกวันนี้มีการเข้าถึงแบบไร้ขีดจำกัด เราตั้งเป้าหมายว่าต้องพาลูกค้าให้เข้าถึงบริการที่ดีที่สุด ทำธุรกรรมทางการเงินทุกอย่างจากที่ใดในโลกก็ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมาสาขาด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย” นายอดิศร กล่าวและเผยต่อไปว่า


Digital Banking ของธนาคารจะตอบความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด ด้วย 3 แอปพลิเคชันหลัก คือ 1. CIMB THAI Digital Banking สำหรับทำธุรกรรมพื้นฐานโอนเงิน ชำระเงิน ซื้อขายกองทุน 2. Mobile Lending สำหรับปล่อยสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ผ่านมือถือ 3. Debt Consolidation การรวมหนี้เพื่อรีไฟแนนซ์ลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลง


ด้านลูกค้าธุรกิจ ธนาคารมีบริการธนาคารออนไลน์เพื่อธุรกิจ ‘BizChannel@CIMB’ ที่รองรับทุกอุปกรณ์ทั้งบนคอมพิวเตอร์/โน้ตบุ้ค และล่าสุดได้ออกบริการแอปพลิเคชัน ‘BizChannel@CIMB Mobile App’ ออกมาช่วยให้ลูกค้าสามารถดูแลธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลาทั่วโลกผ่านมือถือ/แท็บเล็ต


ขณะที่อีกหนึ่งจุดแข็งที่ธนาคารแข่งขันได้ดี คือ ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง หรือ Wealth Management ซึ่งธนาคารจะบริหารความมั่งคั่งให้ลูกค้า ทั้งลูกค้าบุคคลผ่านผลิตภัณฑ์การเงินที่ครบทุกความต้องการตั้งแต่พื้นฐานไปถึงการลงทุนที่ซับซ้อน ด้านลูกค้าธุรกิจธนาคารเป็นผู้นำตลาดที่มีเครื่องไม้เครื่องมือจัดการบริหารความเสี่ยงและผลิตภัณฑ์ครบทุกประเภทให้ลูกค้าธุรกิจและบริษัท นอกจากนี้ ธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็น ASEAN Bank ของบริษัทในไทย และเดินหน้าเพิ่มมูลค่า (add value) ให้ลูกค้าผ่านการสนับสนุนสินเชื่อ วาณิชธนกิจ บริหารเงิน เทรดไฟแนนซ์ โดยจะสนับสนุนลูกค้าในประเทศทั้งลูกค้าฝั่งสถาบันการเงินและลูกค้าฝั่งบริษัท ทั้งความต้องการขยายธุรกิจในประเทศและช่วยลูกค้าที่ต้องการออกไปโตในอาเซียนได้


นายอดิศร กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2563 คาดว่ากำไรก่อนหักภาษีจะเติบโตได้ 20% จากในปี 2562 ที่คาดว่าจะมีกำไรก่อนหักภาษีราว 1.8 พันล้านบาท เติบโตจากปี 2561 จำนวน 271 ล้านบาท จากแนวโน้มการกันสำรองที่ทยอยลดลงตั้งแต่ปี 2561 ที่มีการกันสำรอง 4.9 พันล้านบาท และลดลงเหลือประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 2562 จากการที่ระดับ NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

8 views

Comments


bottom of page