
นิตยสารดอกเบี้ย และ นสพ.ดอกเบี้ยธุรกิจ ประกาศผลการเลือกเฟ้นหาธนาคารที่โดดเด่นที่สุด เป็นสุดยอดธนาคารแห่งปี หรือ Bank of the Year ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา นับเป็นการประกาศยกย่องธนาคารที่ประสบความสำเร็จโดดเด่นในแต่ละปีที่เต็มเปี่ยมด้วยเกียรติยศ ศักดิ์และสิทธิ์ที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ธนาคารและพนักงานทุกคนที่ได้ร่วมกันทำงานเหน็ดเหนื่อยทุ่มเทมาตลอดปีจนเป็นที่โดดเด่นเข้าตากรรมการ
สำหรับธนาคารที่โดดเด่นที่สุดเป็น สุดยอดธนาคารแห่งปี 2562 หรือ Bank of the Year 2019 นี้ ได้แก่...ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส.
ตามที่ทราบกันดีว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เป็นหนึ่งในธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่เน้นเป็นพิเศษในเรื่องของการช่วยเหลือสนับสนุนให้คนไทยมีบ้าน ปล่อยสินเชื่อบ้านมายาวนานหลายทศวรรษจนมีความชำนาญพิเศษ
แต่ในรอบปี 2562 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีหนึ่งที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทำงานได้โดดเด่นมากเป็นพิเศษ โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือรัฐ ช่วยเติมเต็ม ช่วยเป็นมือที่อุ้มชูเศรษฐกิจไทยและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างยอดเยี่ยมท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ประสบปัญหาอย่างหนักหน่วงที่สุดอีกปีหนึ่ง
ทั้งนี้สภาพโดยรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562 เป็นปีที่เผชิญปัญหาที่ท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจที่ดูแล้วซบเซามากกว่าปีก่อนๆ และท้าทายรัฐบาลมากๆ ว่าจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจไทยทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 3% ได้หรือไม่ ขณะที่ฝ่ายกำกับมีท่าทีเป็นห่วงเป็นใยในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นจนเกรงว่าจะมีปัญหาต่อเรื่องของความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ สภาพความเชื่อมั่นที่ลดลงของประชาชนในเรื่องของการหารายได้ที่อาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งซ้ำเติมส่งผลให้เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน และกลับมีโอกาสที่จะมีสภาพซบเซาถดถอยมากขึ้น ปัญหาเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าใครในภูมิภาคจนทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบ รายได้จากการส่งออกของไทยลดลง และการรอดูผลการเลือกตั้งใหญ่ของประเทศไทย ขณะที่ภาพปัจจัยภายนอกประเทศกดดันซ้ำเติม ทั้งในเรื่องของท่าทีของสหรัฐอเมริกาและจีนในการก่อสงครามการค้า เทรดวอร์ เคอเรนซี่วอร์ และ เทควอร์ ตลอดจนปัญหาเรื่องสหรัฐกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งปัญหายืดเยื้อเรื่อง Brexit ของอังกฤษ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวในยุโรป
ทั้งหมดนี้ทำให้การทำธุรกิจเป็นไปด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ส่วนตัวธุรกิจเองต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ธุรกิจธนาคารเองต้องปรับตัวในเรื่องของมาตรฐานการทำบัญชีใหม่ IFRS9 การตั้งสำรองและความระมัดระวังในเรื่องเอ็นพีแอล การถูกแบงก์ชาติคุมเข้มในการทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อบ้าน โดยออกมาตรการ LTV การคุมเข้มสินเชื่อบัตรเครดิต...แน่นอนนั่นส่งผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย
ตั้งแต่ปลายปี 2561 จน ต้นปี 2562 ผู้ประกอบการแสดงออกถึงความไม่สบายใจกับแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เกรงว่าจะหดตัว ธนาคารไม่ปล่อยกู้ และเป็นปัญหาโดมิโนที่เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา ก็จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมซบเซาเป็นปัญหางูกินหาง
ดังนั้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะกระตุ้นผ่านทางการออกโดยมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการต่างๆ ทำผ่านการทำงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นหลัก ซึ่งตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาต้องยกความดีความชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐอย่างแข็งขันในการสนับสนุนมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวม
จะเห็นว่าทางการเองมองแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้นออก เช่นเดียวกับที่ภาคเอกชนส่งเสียงบอกกล่าว จึงได้ประกาศนโยบายออกมาตรการ “บ้านล้านหลัง” ตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่ง ธอส. รับลูกอย่างรวดเร็ว จัดเตรียมการรองรับคนที่จะมาจองสิทธิ์เข้าโครงการบ้านหลังแรกกันแบบไม่มีอิดออด
โครงการบ้านล้านหลัง เป็นมาตรการที่ฮือฮาคนมาจองสิทธิ์กันล้นหลามกว่า 1.5 เเสนคน แต่เจ้าหน้าที่ ธอส.ก็ให้บริการอย่างเป็นระบบด้วยดีเป็นที่ประทับใจ ผ่าน 3 เดือนแรกของปี 2562 ปล่อยสินเชื่อบ้านล้านหลังไป 3,580 ราย รวมวงเงินสินเชื่อ 2,200 ล้านบาท จากผู้ที่ยื่นกู้ทั้งหมด 4,100 ราย วงเงินกู้ 2,560 ล้านบาท ขณะที่จำนวนผู้ที่ยื่นจองสิทธิ์ 127,000 ล้านบาท ทำให้ดำเนินการบ้านล้านหลังเฟส 2 ในเดือนกันยายน 2562 วงเงิน 100,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ ธอส. ใช้วิธีการระดมทุนมาใช้ในโครงการ โดยออกสลากออมทรัพย์วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ทำให้ชดเชยภาระดอกเบี้ยลงได้บางส่วน และไม่จำเป็นต้องขอชดเชยจากรัฐเหมือนบ้านล้านหลังเฟสแรก โดย ธอส. ถือโอกาสฉลองครบรอบ 66 ปี ธอส.ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจทำโครงการสลากออมทรัพย์ (ผ่านคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562) ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท จำนวน 27,000 หน่วย หรือคิดเป็นกรอบวงเงิน 27,000 ล้านบาท แล้วตามด้วยการออกสลากเลี่ยมทองซูเปอร์พรีเมียม ชุดพราวพิมาน หน่วยละ 10 ล้านบาท
อีกทั้งจะขยายวงเงินปล่อยสินเชื่อจาก 90% ของราคาสินทรัพย์ เพิ่มเป็น 95-100% ให้เฉพาะลูกค้าสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งจะพิจารณาคิดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่า 3% สำหรับผู้จองสิทธิ์บ้านล้านหลังที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน
เมื่อผ่านไตรมาสแรกของปี 2562 สภาพความซบเซายังมีอยู่ รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์อีกยก กล่าวคือ
1. มาตรการทางภาษี สำหรับกลุ่มผู้ซื้อที่เสียภาษี โดยเป็นการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก เพื่อเป็นการซื้ออยู่อาศัยจริงในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
2. มาตรการช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย คือ มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ซื้อที่อยู่อาศัยให้เหลือ 0.01% จากอัตราปกติที่ 2.0% ของราคาประเมินทุนทรัพย์
และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ ให้เหลือ 0.01% จากอัตราปกติที่ 1.0% ของมูลค่าจดจำนอง โดยผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่อาจมีงบประมาณจำกัดในการซื้อที่อยู่อาศัย และมีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจมากกว่ากลุ่มอื่น มาตรการนี้น่าจะช่วยในการแบ่งเบาภาระรายจ่ายในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ระดับหนึ่ง
ต่อมาเมื่อเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 เดือนตุลาคม ได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแรงขับเคลื่อนได้ต่อเนื่องโดยมีมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่ 1. มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย โดยได้ปรับเพดานราคาที่อยู่อาศัยจากเดิม 1 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท 2. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท สำหรับซื้อ (ทั้งมือหนึ่งและมือสอง) และซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ
แถมด้วยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายปลายปี ภายใต้โครงการ “บ้านดีมีดาวน์" เพื่อเป็นการลดภาระและสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งนับเป็นการออกมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการลดภาระรายจ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2562 นี้ โดยภาครัฐสนับสนุนเงินเพื่อลดภาระการผ่อนดาวน์ 50,000 บาทต่อราย สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน หรือไม่เกิน 1,200,000 บาทต่อปี จำนวน 100,000 ราย ช่วยหนุนด้านการตลาดของผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยในการที่จะทำแคมเปญกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี และก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปยังห่วงโซ่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ รวมถึงช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย
ธอส.รับลูกโครงการ บ้านดีมีดาวน์ โดยให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม-31 มีนาคม 2563 (ถึง 18 ธันวาคม 2562 มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 71,531 ราย ธอส. ได้เริ่มโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ตามบัญชีที่ผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้กู้หลักแล้ว) ซึ่งรัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณรวมจำนวน 5,000 ล้านบาท ให้ ธอส. ทำหน้าที่โอนเงินดังกล่าวให้แก่ประชาชน 100,000 รายแรก เพื่อลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชน อีกทั้งเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ ธอส.ยังได้ปล่อยสินเชื่อตาม “มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคาร” อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1-3 คงที่ 2.50% ต่อปี กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็น มาตรการสินเชื่อ 1 ใน 3 ของสิทธิพิเศษตาม โครงการ "บ้านในฝันรับปีใหม่" ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้ ธอส. ร่วมกับ 3 สมาคมอสังหาริมทรัพย์ และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศจัดทำขึ้นภายใต้สโลแกน "ซื้อปุ๊บ โอนปั๊บ รับทันที 3 สิทธิพิเศษ"
อีกทั้ง ธอส.ยังกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายปลายปีโดยทำโครงการ “ให้ 1,000 ของขวัญปีใหม่”...มอบเงินปีใหม่ 1 พันบาทให้แก่ลูกค้าในเดือนธันวาคม 2562 เพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินสำหรับลูกค้า ธอส. ผู้มีรายได้น้อย" ผ่าน Application GHB ALL สำหรับลูกค้าผ่อนดีมีวินัยและมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ลูกค้าที่จะได้รับสิทธินี้มีกว่า 1.7 แสนราย
ธอส.ยังสนับสนุนนโยบายท่องเที่ยวเมืองรอง เปิดตัวผลิตภัณฑ์สินเชื่อ Homestay และ Home Lodge ดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก 4.20% ต่อปี สำหรับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่ให้บริการด้านที่พัก Homestay หรือ Home Lodge อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-5 คงที่ 4.20% ต่อปี ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ฟรี!! ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ และค่าประเมินราคาหลักประกัน ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 20 ปี
เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2562 ธอส.ร่วมมือกับ กรมธนารักษ์-ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 4,000 ล้านบาท ผลักดันโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ ทั้งสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1-3 เท่ากับ 3% ต่อปี และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1-4 เท่ากับ 2.75% ต่อปี ให้กู้เพื่อที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ ระดับราคา 350,000-700,000 บาท/หน่วย ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 30 ปี ถือเป็นโครงการที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างความมั่นคง และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่ง ธอส. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ทั้งในด้านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ร่วมกับธนาคารออมสิน
ความร่วมมือของโครงการ “บ้านคนไทยประชารัฐ” บนที่ดินราชพัสดุ ถือเป็นการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินโครงการที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2561 ซึ่งโครงการมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ประชาชนที่อยู่ในทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลัง 2.ประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อคนต่อเดือน และ 3.ประชาชนทั่วไป (อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด) โดยให้สิทธิพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการจากประชาชนที่อยู่ในทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับกระทรวงการคลังเป็นลำดับแรก
นอกจากการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของรัฐ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างมากมายตลอดปี 2562 ที่ผ่านมาแล้ว ... ธอส. ยังทำหน้าที่นำร่องในฐานะธนาคารของรัฐ ในการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาด้วย โดย ธอส. ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% ต่อปี ประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ย MLR ลดลงเหลือ 6.125% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย MOR ลดลงเหลือ 6.875% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย MRR ลดลงเหลือ 6.625% ต่อปี มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2562
จากนั้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 2 ในรอบปี 2562 ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) จาก 6.125% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.000% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) จาก 6.625% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.500% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จาก 6.875% ต่อปี ลดลงเหลือ 6.750% ต่อปี กำหนดให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2562 ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยที่ต่ำที่สุดในระบบสถาบันการเงิน
ในด้านผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรก ของปี 2562 ณ วันที่ 30 กันยายน...ธอส. ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 148,693 ล้านบาท 106,285 บัญชี แบ่งเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 73,395 ราย ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3/2562 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2561 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,173,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.18%
มีสินทรัพย์รวม 1,229,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.65% เงินฝากรวม 984,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.32% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 54,451 ล้านบาท คิดเป็น 4.64% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.47% และมีกำไรสุทธิ 10,319 ล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 14.66% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ในด้านสังคม ธอส.ยิ่งให้ความสำคัญ เช่นครั้งเกิดพายุโพดุลน้ำท่วมใหญ่ ... ธอส. ได้ประกาศ 7 มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือลูกค้าประชาชนจัดทำ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในหลายจังหวัดโดยเฉพาะ ในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 สำหรับลูกค้าเดิมของ ธอส. กรณีหลักประกัน(ที่อยู่อาศัยที่จดจำนองกับธนาคาร) ของตนเองหรือ คู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอลดอัตราดอกเบี้ยและเงินงวดผ่อนชำระเดือนที่ 1-4 อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 4.125% ต่อปี เดือนที่ 17-24 อัตราดอกเบี้ย 4.625% ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ย 5.625% ต่อปี และปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีลูกค้าสวัสดิการ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปีกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR-0.50% ต่อปีกรณีกู้เพื่อชำระหนี้หรือซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ดอกเบี้ยเท่ากับ MRR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR ธอส. อยู่ที่ 6.625% ต่อปี)
มาตรการที่ 2 สำหรับลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมของ ธอส.ที่หลักประกันของตนเองหรือคู่สมรสได้รับความเสียหายจากการประสบอุทกภัยสามารถขอกู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ เพื่อปลูกสร้างอาคารทดแทนหลังเดิมหรือกู้ซ่อมแซมอาคาร ที่ได้รับความเสียหายคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี หลังจากนั้น กรณีลูกค้าสวัสดิการ คิดอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ส่วนลูกค้ารายย่อย คิดอัตราดอกเบี้ย MRR -0.50% ต่อปี สำหรับลูกค้าผู้ที่ต้องการยื่นกู้ตามมาตรการที่ 2 ธนาคารกำหนดวงเงินให้กู้ต่อรายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 หลักประกันและยังยกเว้นค่าธรรมเนียมในรายการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยค่าตรวจสอบหลักประกัน ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าธรรมเนียมการขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการกู้
มาตรการที่ 3 ลูกหนี้ที่หลักประกันได้รับความเสียหายและกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ให้ลูกหนี้ประนอมหนี้ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรกโดยไม่ต้องชำระเงินงวดจากนั้นเดือนที่ 5-16 อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือนและเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 4 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี โดยให้ผ่อนชำระเงินงวดไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยรายเดือนและเมื่อครบระยะเวลาประนอมหนี้ให้ลูกหนี้กลับมาใช้อัตราดอกเบี้ยตามสิทธิเดิมก่อนที่จะใช้มาตรการนี้
มาตรการที่ 5 ลูกหนี้ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระโดยใช้อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่คงเหลือตามสัญญากู้
มาตรการที่ 6 กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้ในส่วนของราคาอาคารและให้ผ่อนชำระต่อเฉพาะในส่วนของที่ดินที่คงเหลือเท่านั้น
มาตรการที่ 7 พิจารณาสินไหมเร่งด่วน (Fastrack) สำหรับลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยซึ่งคุ้มครองภัยธรรมชาติรวมถึงกรณีน้ำท่วม หรือ ลมพายุพิจารณาจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ประสบภัยทุกรายอย่างเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ15,000 บาทและหากประเมินความเสียหายของที่อยู่อาศัยแล้วพบว่าสูงกว่า 15,000 บาท หรือมีน้ำท่วมตัวที่อยู่อาศัยตั้งแต่ 100 เซนติเมตรขึ้นไปลูกค้ามีสิทธิ์ได้รับค่าสินไหมตามจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ด้วยการทำหน้าที่อย่างเต็มเหนี่ยวตลอดปี 2562 ที่กล่าวมาข้างต้น นิตยสารดอกเบี้ย และ นสพ.ดอกเบี้ยธุรกิจ จึงยกย่องให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เป็น...สุดยอดธนาคารแห่งปี 2562 หรือ Bank of the Year 2019
Comments