top of page
379208.jpg

วิกฤต 'อาหารสัตว์'...ถั่วเหลือง/ข้าวโพด/ข้าวสาลี ขาดแคลน


ผู้ผลิตอาหารสัตว์สะดุ้ง! หลังถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุให้ราคา หมู เป็ด ไก่ แพงทั้งแผ่นดิน ชี้แจงผู้ผลิตอาหารสัตว์เป็นเพียงหนึ่งข้อต่อในห่วงโซ่อาหารปศุสัตว์ซึ่งถูกกระทบจากราคาวัตถุดิบที่ทะยานสูงทั่วโลก โดยเฉพาะวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลือง-ข้าวโพด-ข้าวสาลี ที่ขาดแคลนทั่วโลกและราคาแพงขึ้นถึง 20% อีกทั้งยังติดกับดักจากข้อกำหนดของภาครัฐที่ห้ามนำเข้าข้าวโพด รวมถึงกำหนดสัดส่วนนำเข้าข้าวสาลี ทำให้วัตถุดิบที่ผลิตอาหารสัตว์ขาดแคลนและราคาแพงเกินความเป็นจริง ติงรัฐต้องจัดกฎระเบียบต่างๆ ใหม่หมดให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์รายย่อยจะเจ๊งทั้งขบวน พร้อมฟันธง...ราคาหมู เป็ด ไก่ จะยังแพงไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน


Interview : คุณพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย


มีการวิจารณ์ว่าผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตอาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาหมู เป็ด ไก่ แพงทั้งแผ่นดิน จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

ก็ตกใจ สะดุ้ง เพราะคนเข้าใจผิดกัน ที่สะดุ้งก็สะดุ้งแต่ก็ต้องอธิบายกันนิดหน่อย คือ อาหารสัตว์เป็นข้อต่อห่วงโซ่อาหารปศุสัตว์ในลำดับที่ 2 และ 3 พูดง่ายๆ ว่าวัตถุดิบแพง อาหารสัตว์ต้องเติมวัตถุดิบอาหารสัตว์ซึ่งแพงทั่วโลก เราต้องเห็นภาพตรงนี้ให้ตรงกัน ต้องบอกว่าการผลิตอาหารสัตว์บ้านเราต้องนำเข้าส่วนของโปรตีนบ้านเรามีแป้งและคาร์โบไฮเดรตเยอะ ส่วนถั่วเหลืองซึ่งเป็นโปรตีนนั้นเราต้องนำเข้า เวลานี้ถั่วเหลืองขึ้นราคามาก ผมติดตามเรื่องนี้อยู่ ไม่ได้นิ่งนอนใจ นักธุรกิจติดตามตลอดเวลาเพราะตอนนี้คล้ายๆ วิกฤต วัตถุดิบตัวหลักที่เรานำเข้ามาใช้มันแพงและยังแพงต่อไปอีก ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่เรานำเข้ามา 6 ล้านตันมันอยู่ช่วงขาขึ้น ถ้าแปลงเป็นเงินไทย ขณะนี้เทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาขึ้นมา 20% และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ต้องเข้าใจกันก่อนว่าวัตถุดิบที่เราเอามาใช้ผสมเป็นอาหารสัตว์ในประเทศไทยใช้ข้าวโพดเป็นหลัก มันสำปะหลัง ปลายข้าว ซึ่งราคาก็ขึ้นตลอดเวลา สรุปอย่างนี้ยิ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เรายิ่งขาดแคลน เราปลูกได้ 5 แต่ต้องการ 8 ก็เป็นเรื่องปกติของอุปทานอุปสงค์ไม่ตรงกัน ผู้ค้าผู้ขายก็มีกดดันราคาเนื่องจากราคาต่างประเทศขึ้น เขาก็ถือโอกาสขึ้นอยู่แล้ว โดยรวมอยากให้ทราบตรงกันว่าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์แพง เพราะฉะนั้นต้นทุนถูกกระทบไปที่ตัวสัตว์ ต้องให้เห็นภาพตรงกัน ไม่อย่างนั้นผมเป็นจำเลยสังคม


ถั่วเหลืองแพงเพราะอะไร

มี 2 ปัจจัยหลักกับ 1 ปัจจัยเล็ก ปัจจัยที่ 1 คืออากาศไม่ดี ภัยแล้ง ผลผลิตถั่วเหลืองที่บราซิลหายไป 3-4 ล้านตัน ประการที่ 2 ประเทศจีนเข้ามาซื้อถั่วเหลืองจำนวนมาก ทำให้อุปสงค์เยอะ เมื่อกดดัน 2 ทางมาด้วยกันทำให้ราคาไม่ลงแน่นอน ยิ่งตอนนี้ราคาน้ำมันขึ้นมา 30 เหรียญ สหรัฐเริ่มมองแล้วว่าต้องใช้พลังงานทดแทนจากพืชอีกแล้ว แนวโน้มอย่างนี้ทำให้เป็นปัญหาและอันตรายพอสมควรสำหรับเราซึ่งเป็นผู้ซื้อมาใช้ อยู่ดีๆ จะปรับราคาขึ้นมาเองไม่ได้ ถ้าผลผลิตมีตามปกติ แต่ปีนี้เหมือนวิกฤตน้อยๆ ทำให้ราคาในประเทศไทยสูงขึ้นไปด้วย แม้จะผลิตข้าวโพดได้ไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมาแต่เมื่อราคาต่างประเทศสูงราคาในบ้านเราก็ตามสูงไปด้วย หลักๆ ก็เป็นแบบนี้


อาหารสัตว์ที่โรงงานไทยผลิตเป็นการผลิตเพื่อเลี้ยงหมู ไก่ หรืออะไรมากที่สุด

ทั้งหมดหลักๆ เป็นหมู เป็ด ไก่ และมีหลายประเภท มีไก่เนื้อ ไก่ไข่ ที่ผลิต 20 ล้านตันและยังมีบางส่วนใช้กับเรื่องเลี้ยงสัตว์น้ำจำพวกปลา กุ้ง


เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ไม่มีส่งออกใช่ไหม

อาหารสัตว์สำเร็จรูปที่พวกเราทำกันอยู่นี้ใช้กับสัตว์ในประเทศทั้งหมด ที่เราส่งออกจะเป็นเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด หรือหมูบ้าง ถ้าจะมีก็น้อยมากๆ เราต้องเข้าใจว่าอาหารสัตว์ที่ผมผลิตกับอาหารสัตว์เลี้ยงมันคนละอย่างกัน อาหารสัตว์เลี้ยงที่เราพูดถึงกัน คืออาหารแมวกระป๋อง อาหารหมา อันนี้เราผลิตและส่งออกเลย แต่มันคนละธุรกิจกัน ระวังจะสับสนตรงนี้


อาหารที่เลี้ยงสัตว์ หมู เป็ด ไก่ ไม่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนใช่ไหม

ขาดแคลน อย่างข้าวโพดจำนวนไม่ขาดแคลนแต่ราคาขึ้นจากปัจจัยที่ว่ามา สำหรับประเทศไทยเราต้องการข้าวโพด 5 แต่ผลิตได้ 3 เราต้องนำเข้าทดแทนคือข้าวสาลีซึ่งใกล้เคียงกัน แต่ราคาข้าวสาลีวันนี้ก็เกือบจะเท่าข้าวโพดไทยอยู่แล้ว เรื่องวัตถุดิบตามชายแดนอย่างข้าวโพด เขมร พม่า ลาว พม่า จะเยอะที่สุดสามารถเอามาขายได้ แต่เรามีเงื่อนไขจำกัดการนำเข้าตั้งแต่เดือนกันยายนถึงมกราคม ห้ามนำเข้า เพราะเรามีผลผลิตของเราเองและกลัวจะกระทบกับเกษตรกรเรา แต่การจำกัดการนำเข้าที่ผ่านมาไม่ได้ปิดกั้นอย่างแท้จริง ยังมีรั่วไหลเยอะแยะไปหมด อันนี้ก็ต้องมาดูกันใหม่ว่าเราจะจัดสมดุลนี้อย่างไร อย่าง 3 ล้านตันจากชายแดนจริงๆ เป็นแหล่งที่เราสามารถใช้ประโยชน์ได้ เพราะเป็นข้าวโพดต่างชาติอาจจะขายในราคาถูกได้ แต่ก็ไม่ราบรื่นเท่าไหร่จะเอา 3 ล้านตัน ก็ไม่พออยู่ดี เราก็มีอุปสรรคในสินค้าทดแทนตรงนี้ ข้าวสาลีเราก็ถูกจำกัดว่าถ้าจะเอาเข้ามาต้องซื้อข้าวโพดไทย 3 ตันต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ตัน สมมติผมจะนำเข้าข้าวสาลี 3 ล้านตัน ผมก็เอาเข้ามาไม่ได้เพราะข้าวโพดในประเทศไทยมีแค่ 5 ล้าน ถ้าผมจะเอาเข้ามาตามกฎ 3 ล้านตัน 3 ต่อ 1 ตัน ผมเอาเข้ามาได้แค่ล้านกว่าตัน ซึ่งเราก็ขาดที่อุปทาน เราขาดเพราะมีกฎระเบียบของรัฐบาลที่ห่วงเรื่องช่วยเกษตรกร แต่ก็ไปทำให้เกษตรกรอีกส่วนนึงต้องซื้อวัตถุดิบราคาแพงอย่างผู้เลี้ยงหมู ไก่

ทุกวันนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดได้ผลประโยชน์เพราะราคาสูง มีประกันรายได้ แต่เนื่องจากราคาข้าวโพดเวลานี้เกือบ 11 บาทแล้ว เกษตรกรได้ประโยชน์เราไม่เถียง แต่ต้นทุนที่สูงขึ้นก็โอนไปที่เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ด หมู ตรงนี้เป็นปัญหา ต้องจัดสมดุลให้ได้ และที่แน่ๆ ต้องลดต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ให้เยอะที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ ตอนนี้ก็คือลดภาษีนำเข้าสินค้าบางตัวเช่นกากถั่วเหลือง นำเข้าประมาณ 3 ล้านตันเราต้องเสียภาษี 2% ซึ่งเป็นภาษีที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ปกป้องอะไรเลยเพราะที่ตั้งใจจะปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองนั้น ความจริงมีผลผลิตแค่ 35,000 ตันต่อปี ซึ่งเราต้องซื้อในราคาสูงมาก รัฐบาลขอให้ผมซื้อเราก็ช่วยซื้อกันหมด ถั่วเหลืองตรงนี้ไม่กระทบใครเลย ก็ขอร้องว่ารัฐบาลควรลดภาษีให้เราตรงนี้ 2% ช่วยบรรเทาให้เราตรงนี้ได้บ้าง

ข้าวโพดอาจจะไม่เหมือนถั่วเหลืองเพราะมีคนปลูกเยอะ อาจจะมีวิธีการดูแลอยู่ เพียงแต่รายละเอียดอยู่ที่การจัดการไม่ให้การนำเข้ากระทบกับฤดูกาลที่ผลผลิตในประเทศออกมา ทุกวันนี้จำกัดจำนวนที่ชัดเจน แต่จำกัดเดือนไม่ชัดเจน ทำให้มีการลักลอบการนำเข้ามาเยอะ ดีที่สุดก็จดทะเบียนคนนำเข้า สมมติมี 20 คนก็จดทะเบียนให้หมดเลยว่าคนไหนเป็นใคร นำเข้าเดือนไหน รัฐบาลก็พูดกับเขาและจัดระเบียบให้ถูกต้อง ทำให้ข้าวโพดไทยไม่ถูกกระเทือนจากการนำเข้าและข้าวโพดนอกก็เข้ามาอย่างสง่าผ่าเผย พวกผมก็จะมีข้าวโพดมากพอในการผลิตอาหารสัตว์ เนื่องจากที่มีในประเทศแค่ 3 ล้านตัน พวกผมก็ต้องนำเข้า ราคาเท่าไหร่ก็ต้องนำเข้า มันไม่เกี่ยวกับราคา แต่เกี่ยวกับจำนวนที่ขาดแคลน ถ้าผมไม่นำเข้ามาอาหารสัตว์โดยรวมก็ขาดอยู่ดี ไม่มีอาหารเลี้ยงสัตว์ ก็ยิ่งขาดแคลนเข้าไปใหญ่ เราต้องดูปัญหาให้ออก แก้ให้ถูกจุด


ปัญหากลไกการค้าทำให้กลายเป็นเเตี้ยอุ้มค่อม อุ้มกันไปมา เป็นอุปสรรคทำให้ราคามีปัญหา

ใช่ แบกกันไปมา สุดท้ายวนกลับมาที่เดิม ดีที่สุดคือเมื่อรัฐบาลดูแลเกษตรกร มีประกันรายได้แล้ว ก็ปล่อยให้เสรีไปเลย เพื่อแข่งขันกัน เพราะเกษตรได้รับผลประโยชน์อยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นเราก็ไปยกข้างนึงสูงและไปกดข้างนึงต่ำ อย่างวันนี้บอกหมู ไก่ ห้ามขึ้นราคา จะห้ามขึ้นได้อย่างไร เหมือนลูกโป่งเมื่อคุณกดมากๆ ลูกโป่งก็แตก ซ้ายมือจะให้แพง ขวามือจะให้ต่ำ มันผิดธรรมชาติ ก็ต้องมาคิดกันใหม่


สภาพแบกกันไปมาแบบนี้คนที่กระเทือนหนักคือ SME เกษตรรายย่อยทั้งหลาย รายใหญ่ไม่กระเทือน รายย่อยเจ๊งกันหมด

ใช่ เพราะอยู่ในธุรกิจเดียวกัน รายใหญ่เป็นพวกมีเทคโนโลยีซึ่งธุรกิจขนาดกลางๆ ก็มีได้ คือลงทุนแล้วทำให้ถูกต้องและมีจำนวนที่ซื้อเท่ากับตลาดพอดีจะได้ราคาดี อย่างรายย่อย 10% ในธุรกิจผลิตอาหารสัตว์รายเล็กหรือผสมเองไม่มีสิทธิ์นำเข้าหรือไปทางอื่นเลยนอกจากซื้อภายในประเทศ พวกนี้จะถูกบีบให้ซื้อวัตถุดิบในราคาสูง โดยธรรมชาติรายเล็กไม่แข็งแรงพอ ไม่มีสายป่านที่ยาว ไม่มีพลังเจรจาต่อรอง ระบบนี้ชัดเจนอยู่แล้ว รายย่อยถูกกระทบมากที่สุด ก็ต้องจัดใหม่ มาคุยให้เป็นระบบ พยายามแข่งขันให้ได้มากที่สุด แล้วตลาดจะกำหนดด้วยตัวมันเอง มีกฎระเบียบน้อยๆ พอที่จะเดินหน้าในตลาด ไม่อย่างนั้นมันจะเป็นอย่างที่เป็นอยู่ วนไปมารอบนึงก็วนมาจุดเดิม สุดท้ายไม่ได้พัฒนาอะไรเลย


เรื่องหมูถ้าจะไม่ให้แพงต้องทำอย่างไร

ระยะสั้นแก้ค่อนข้างลำบากมาก นอกจากไปแก้ต้นทุนอาหารสัตว์ จำนวนมันขาดไป 4-5 ล้านตัว ถ้าเราบริโภคปกติมันก็ไม่พอ ดังนั้นต้นทุนที่ขณะนี้มีอยู่และแพงด้วย ขาดด้วย ก็ต้องนั่งลงและหาวิธีลดต้นทุนตรงนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่จะไม่ได้แก้ปัญหาทันที

วิธีที่ 2 เรื่องจะทำอย่างไรให้จำนวนเพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด คือตอนนี้ทำอยู่แล้ว แต่ธรรมชาติจะไม่เร็วขนาดนั้น ต้องรอเวลาไป

วิธีที่ 3 ที่ช่วยอยู่ตอนนี้ที่ทำบ้างแล้วคือ สนับสนุนผู้บริโภคที่ตอนนี้ต้องจ่ายแพง รัฐบาลต้องเอาเงินลงมาช่วย 1,400 ล้าน มากระจายให้ราคาถูกลงไป ซื้อแพงขายถูก และโครงการคนละครึ่งก็พอจะบรรเทาได้ แต่ก็ยังไม่ถูกอยู่ดี เพียงแต่บรรเทาราคาไม่ให้สูงลิบลิ่ว จะแพงกว่าปกติ 20-30% ซึ่งบางคนยังพอจ่ายได้ แต่บางคนจ่ายไม่ได้จริงๆ ก็เลี่ยงไปทานอย่างอื่น แต่จะให้กลับมาเหมือนเดิมภายใน 6 เดือนนี้คงเป็นไปไม่ได้

225 views

コメント


bottom of page