ปัญหาหนี้ท่วมโลกในภาวะโควิด-19 ระบาด ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐบาลทุกประเทศต้องกู้มาถมหลุมรายได้ ทดแทนรายได้ที่หายไป แต่จะไม่ปกติถ้ากู้มาแล้วเอาไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉก ไม่ก่อผลดีต่อเศรษฐกิจวันนี้และในอนาคต แจง...แม้หนี้สาธารณะหรือหนี้ภาครัฐของไทยจะน่าเป็นห่วง แต่ที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจเอกชนที่ตอนนี้กลายเป็นหนี้เสียรวม 1.2 ล้านล้านบาท ถ้าไม่สามารถแก้หนี้ได้ภายใน 2 ปี จะต้องเข้าสู่การบังคับคดี กลายเป็นแผลใหญ่ของสังคม โจทย์หนักที่จะท้าทายในวันข้างหน้าคือการว่างงาน การไม่มีรายได้ และหนี้ที่ไม่มีปัญญาชำระใน 3 กลุ่มคือหนี้ในระบบสถาบันการเงิน หนี้ในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์และหนี้ กยศ. ส่วนเกษตรกรเป็นหนี้ทั้งระบบรวม 1 ล้านล้านบาท โดยลูกหนี้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป
Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)
ปัจจุบันหนี้ท่วมโลก ยอดหนี้สูง 260% ของ GDP โลก ในฐานะดูแลเครดิตบูโรตกใจไหม
เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแทบจะทั่วโลก เพราะเราเคยทำมาค้าขายกัน แล้ววันหนึ่งโรคระบาดเกิดขึ้น แล้วเป็นเงื่อนไขว่าเราจะต้องหยุดการทำธุรกิจระหว่างกัน ผมเคยค้าขายชาบู หมูกระทะ มีร้านอาหาร คนเข้าร้านเต็ม แต่ตอนนี้ทำไม่ได้ สิ่งที่เกิดคือหลุมรายได้มันหายไป มันช็อตไป คำถามคือถ้าจะให้เขาเดินต่อไปเพราะเขาหยุดไม่ได้ สิ่งที่รัฐบาลของทุกประเทศต้องทำคือใช้จ่ายมากขึ้น เพราะเป็นเจ้ามือคนเดียวที่มีเงิน แต่ละประเทศก็มีเงื่อนไขว่ามันก็เหมือนบริษัท แต่ละประเทศบอกถ้าเงินในมือไม่พอใช้จ่ายเพราะปกติแต่ละประเทศรัฐบาลใช้จ่ายแต่ละปีเท่านั้นเท่านี้ จ่ายเงินเดือนค่าจ้างรัฐบาล เงินลงทุน พอมีเรื่องเงินเยียวยา ต้องช่วยเหลือคนในยามที่เงินคนขาดมือก็เกิดอาการ ต้องไปกู้เพิ่มเพื่อเอาเงินมากลบหลุมรายได้ แต่กลบได้ไม่หมดก็ต้องกลบระดับนึง
มาดูประเทศไทย รายรับรายจ่ายของรัฐจะมีการขาดดุล คือรับน้อยกว่าจ่าย รัฐก็ต้องกู้มาโปะ พอกู้มาก็เป็นหนี้ ก็เป็นอาการของทุกประเทศ คำถามที่สำคัญไม่ได้บอกว่ามีหนี้ คำถามคือเมื่อเอาเงินโปะลงไปแล้วเศรษฐกิจจะกลับมาหรือไม่ กลับมาเมื่อไหร่ กลับมาแล้วจะเก็บภาษีเพิ่มได้ไหม เมื่อเก็บภาษีเพิ่ม ประสิทธิภาพดีขึ้น หนี้ที่เราก่อไว้จะทยอยถูกชำระไปเรื่อยๆ
ดังนั้นหัวใจสำคัญ คือกู้มาเท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญว่ากู้มาแล้วเอาไปใช้ทำอะไร มันก่อดอกออกผลไหม เยียวยาส่วนนึง อีกส่วนนึงเรื่องลงทุนพัฒนา อาการแบบนี้เป็นทุกประเทศ ถ้าสังเกตจะลงทุนเรื่องที่ทำให้คนไม่ต้องเจอหน้ากันแต่ทำธุรกิจกันได้ หรือไปลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น ทางการแพทย์ อาหาร หรือการรีไซเคิลวัตถุดิบมาใช้แล้วใช้ซ้ำอีก อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องลงทุนไหมในอนาคต
สิ่งที่ผมเป็นห่วงเวลานี้ไม่ใช้หนี้สาธารณะ แต่เป็นหนี้ชาวบ้านหรือหนี้ครัวเรือน หนี้ก้อนนี้เป็นชีวิตจริงของแต่ละครอบครัว ตอนนี้ที่ผมมีข้อมูลคือ นาย ก. นาย ข. เป็นหนี้เสียไปแล้ว 900,000 ล้าน ส่วนนิติบุคคลที่เป็นบริษัทเอาเฉพาะ SME 283,000 บริษัท เป็นหนี้เสียเกือบ 300,000 ล้าน เราเอา 900,000 + 300,000 เบ็ดเสร็จทั้งครัวเรือนและบริษัทที่เป็นหนี้เสียก็ 1.2 ล้านล้าน
คำถามคือ ถ้าคนเหล่านี้แก้ไขหนี้ไม่ได้ใน 2 ปีนี้เขาจะหมดแรงและไม่สามารถกลับมาได้ เพราะประมาณการของเราคือ กลางปี 2565 เศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาแข็งแรง กว่าจะติดเครื่องได้ดีก็ต้นปี 2567 คำถามคือ ปี 2565 กับ 2566 จะดำน้ำอึดได้แค่ไหนอย่างไร
เราเห็นว่าแบงก์ชาติออกมาพูดว่าปรับโครงสร้างหนี้เอามาทำทีละ 3-6 เดือนไม่เวิร์กว่ากันไป 3 ปีดีกว่าไหม ทำแบบหน้าต่ำหลังสูง คือเอาหนี้มารวมกันแล้วมัดห่อเดียวกัน ช่วงต้นจ่ายดอกเบี้ยน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได แต่จะมีลูกหนี้อยู่กลุ่มนึงที่ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ตามมันไปไม่ได้แล้ว กลุ่มลูกหนี้นี้เช่น ธุรกิจแข่งไม่ได้ ตกงานถาวร มันจะเคลื่อนหนี้ก้อนนี้ไปสู่กระบวนการศาล การบังคับคดี จะป้องกันกลุ่มนี้ไม่ให้เกิดเป็นแผลทางสังคมได้ไหม จะตัดหนี้สูญหรือหนี้เสียกันอย่างไร อันนั้นคือชีวิตจริงที่เราเป็นห่วง
อีกอันที่ผมคิดว่าเรามีประสบการณ์จากปี 2540 คือคน 1.6 ล้านคน 1.6 ล้านคนกลับถิ่นเพราะไม่มีงานในเมือง เมื่อเขากลับบ้านโดยมีหนี้เกาะหลัง ทำให้เขาตั้งตัวไม่ได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ กับอีกกลุ่มนึงคือในปี 2563 มีเด็กจบใหม่ 3-4 แสนคน แต่การจ้างงานนิ่ง ปี 2564 จบอีก 3-4 แสนคน จะมีงานไหม บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการลดคน เท่าที่เราเห็นนี่ขนาดมีกำไรยังลดคน เพราะฉะนั้นจะมีคนที่ว่างงานที่แท้จริง 3-4 ล้านคน คำถามคือ ถ้าคนเหล่านั้นอายุน้อยก็ค่อยยังชั่ว แต่ถ้าอายุเยอะแล้วจะปรับเปลี่ยนอาชีพกันยังไง ความท้าทายในวันข้างหน้าคือการว่างงาน ไม่มีรายได้ ไม่มีปัญญาชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนโควิด ทั้งหมดนี้จะกลายเป็นปัญหาทางสังคม
บางคนเป็นหนี้กยศ.
อย่างที่เห็นหนี้กยศ. ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่ตัวต้นเงิน แต่อยู่ที่ค่าปรับ คือตอนไปกู้ดอกเบี้ย 1% ในอดีตพอไม่ได้จ่ายเบี้ยปรับขึ้นไป 15-18% พอเบี้ยปรับสูงก็เป็นหนี้ ทีนี้คนจะจ่ายหนี้คือคุณต้องจ่ายเบี้ยปรับให้หมดก่อนถึงจะเข้าสู่การจ่ายต้น พอเห็นเบี้ยปรับกองเป็นภูเขาก็ถอดใจ เราก็ไม่จ่าย ภูเขาก็สูงขึ้นไปอีก คดีก็เดินไปเรื่อย เงินหลวงตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ มันก็ไปถึงคนค้ำที่ถูกยึดทรัพย์
ตอนที่มีหนี้อยู่ 3 ก้อน หนี้ในระบบสถาบันการเงิน หนี้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ปล่อยกู้ และหนี้กยศ. แล้วที่ผมเป็นห่วงอีกอันคือเราเพิ่งคุยกับทีมวิจัยสถาบันวิจัยป๋วยของธนาคารแห่งประเทศไทยเกษตรกรไทยที่เป็นหนี้ นาย ก. นาย ข. ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เกือบ 50% หนี้อยู่ในมือคนอายุ 55 ปี
Comments