top of page
312345.jpg

SET ปัจจัยเสี่ยงยังเยอะ...ภาพรวมยังไปได้ มีสภาพคล่องระดับหนึ่ง


ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ แจงปิดเกม Sell in May ของจริงด้วยภาพหุ้นถูกเท แต่ไม่น่าจะถึงขนาดนักลงทุน Go Away เหตุเพราะแม้ว่าหุ้นไทยถูกกดดันจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามความคาดหมาย ทั้งเรื่องของการระบาดระลอก 3 ที่ส่งผลให้การบริโภคหดตัว การท่องเที่ยวที่ยังมีปัญหา ตลอดจนยังต้องลุ้นต่อในเรื่องของการฉีดวัคซีนให้ครบ 70% ภายในสิ้นปี 2564 นี้ ขณะที่เศรษฐกิจชาติตะวันตกดีขึ้นเป็นลำดับ...ยกความดีให้คลังและแบงก์ชาติที่คอยเข้า “เลี้ยงสภาพคล่อง” ในระบบไว้ ส่งผลให้ไม่ว่าเศรษฐกิจจะแย่อย่างไรแต่หุ้นไทยสวนกระแสไม่แย่ตาม


สถานการณ์โควิด-19 กับเรื่องเงินเฟ้อ เรื่องไหนน่ากลัวกว่ากัน

เป็นอะไรที่ฟังดูแล้วงงๆ กัน เพราะถ้ามองภาพใหญ่ตอนนี้ โลกจะแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือโลกของฝั่งประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งเห็นสัญญาณชัดเจนว่าเขาเติบโตได้อย่างค่อนข้างดี แล้วก็เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาพเรื่องของการฉีดวัคซีนทำให้การระบาดของโควิด-19 ลดลง คนติดเชื้อลดลง เศรษฐกิจดีขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องธรรมดา โดยเห็นสัญญาณชัดเจน แล้วก็เรื่องความต้องการสินค้าที่เริ่มกลับมามากขึ้น มากกว่าปริมาณสินค้าหรือกำลังการผลิตต่างๆ ที่มีอยู่

ในขณะที่ฝั่งบ้านเรา ซึ่งรวมเอเชีย ไล่มาตั้งแต่ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และที่หนักมากคืออินเดีย คือระบาดรอบใหม่ที่เป็นสิ่งกดดันในตอนนี้ ฉะนั้นภาพในฝั่งของพวกเราก็เลยค่อนข้างมีความเสี่ยง ในขณะที่ฝั่งตะวันตกเขาเติบโตได้อย่างค่อนข้างดี และเงินเฟ้อก็เป็นขาขึ้น ซึ่งภาพรวมใหญ่ๆ จะเป็นแบบนี้


เดือนพฤษภาคม Sell in May ฝรั่งขายหุ้นไทยไป 3.4 หมื่นล้าน และนักลงทุนสถาบันซื้อไม่มากคือซื้อไปแค่กว่า 500 ล้านบาท

อย่างที่เราพูดคุยกันตั้งแต่ ซึ่งเมื่อ 2-3 เดือนก่อน ทางฝั่งของ บล.ไทยพาณิชย์ ก็มองว่าจะ Sell in May แต่จะ Go Away หรือไม่ ซึ่งก็ Sell in May จริงๆ เพราะภาพของ Sell in May มันไปได้แต่ระดับโลก ก็คือเรื่องของทางฝั่งสหรัฐอเมริกาทางฝั่งของยุโรปก็มีปรับลงมาบ้าง สาเหตุหลักๆ ก็เกิดจากความกังวลเรื่องของเงินเฟ้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอมมูนิตี เรื่องราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อะลูมิเนียม เหล็ก ทองแดง อะไรต่างๆ ที่ราคาสูงเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ล่าสุดนี้สัญญาณเงินเฟ้อตัวหนึ่ง คือ CPI หรือดัชนีราคาผู้บริโภคก็ขึ้นเกินคาด ทำให้คนค่อนข้างเซอร์ไพรส์ และส่วนหนึ่งกังวล ทำให้ตัว Bond Yield ขึ้นไปบ้าง ไม่ได้สูงมากนัก แต่ก็ทำให้คนกังวล ก็ทำให้หุ้นมีความเสี่ยง


เมื่อมองภาพต่อไปของภาพรวมการลงทุน เป็นภาพของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าในภาพของตัวตลาดที่พัฒนาแล้วในภาพรวมยังจะไปได้ แต่ในสหรัฐอเมริกาสิ่งที่ไม่คิดว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงเหมือนลมที่ต้านเราเข้ามามันมีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีที่เห็นชัดขึ้น ตัวมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านภาษีที่เป็นนโยบายของ โจ ไบเดน มาแน่แล้ว ถ้าไปดูงบประมาณของเขาที่จะจ่ายต่อไปในปีหน้า พอไปแกะดูข้างในกลายเป็นว่าเขาคำนวณเรื่องของการขึ้นภาษี Capital Gain มากมายตั้งแต่เมษายนแล้ว นั่นแปลว่าถ้างบประมาณปีหน้าใช้จริง หรือก่อนหน้านี้ก็ตาม ก็มีสิทธิ์ในเรื่องของการที่จะขึ้นภาษีอย่างเต็มจำนวนตามที่เขาตั้งเป้าไว้ ก็กระทบเรื่องภาษีชัดเจน ซึ่งตลาดจะไม่ค่อยชอบในจุดนี้

แต่อีกฝั่งในเรื่องของเฟด ความเสี่ยง ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เทรนด์ของการที่เฟดก็เริ่มมีการเปลี่ยนสัญญาณชัดเจนว่า จะมีการคุมเรื่องของความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนการอัดฉีดคิวอีอะไรต่อมิอะไร ก็น่าจะค่อนข้างชัดเจนขึ้นในฝั่งของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะเป็นปลายปีนี้ การประชุมของเฟดประมาณกลางเดือนมิถุนายน ที่น่าจะเริ่มมีการพูดให้น้ำหนักเรื่องเงินเฟ้อกันมากขึ้น ทุกวันนี้ทางตลาดก็ยังไม่เห็นภาพชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้กดดันตลาดหุ้นทางฝั่งสหรัฐอเมริกาแน่นอน รวมถึงกดดันตลาดหุ้นฝั่งของจีนด้วย ซึ่งเราเห็นภาพว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่มีความเข้มงวดขึ้นในเรื่องของภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ในภาคบริษัท ที่มีการกู้ยืมเกินตัว ฉะนั้นก็จะคุมเข้มมากขึ้น ก็เลยเห็นประเด็นที่เป็นความเสี่ยงมาค่อนข้างพอสมควรเหมือนกัน

ฉะนั้น ภาพของโลก อาจจะมีความเสี่ยงพอสมควร

ข้ามมาในฝั่งของไทย ความเสี่ยงของไทยในระยะต่อไป ก็แน่นอนเราเชื่อว่าในเรื่องของภาคเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นได้อย่างชัดเจน เพราะการระบาดรอบ 3 มันรุนแรงจริงๆ ในเรื่องของการติดเชื้อค่อนข้างสูง วันละ 2,000-3,000 คน ส่วนการที่เราจะพ้นวิกฤตนี้ชัดเจนคือเรื่องของวัคซีน ซึ่งวัคซีนก็คงมาไม่เร็ว ถึงแม้จะเริ่มมีการฉีดมากขึ้น แต่การคำนวณของเราก็คือวัคซีนก็จะมาอีกที และคนจำนวน 70% ของประชากรไทยสามารถรับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ถ้าภาพมันเป็นอย่างนี้แสดงว่าการที่จะเปิดเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่ายอย่างเต็มที่ค่อนข้างลำบาก

ดังนั้น ภาพโดยรวมมันยังตึงไป ส่วนมาตรการกระตุ้นต่างๆ สามารถผลักดันไปได้ ทั้งตัวมาตรการเยียวยา 2 แสนกว่าล้านบาทที่เขาประกาศมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม คือในเรื่องคนละครึ่งเฟส 3, ทั้งในเรื่องของยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลายปี จะเป็นไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งในไตรมาส 4 เราจะได้รับภาพดีจากมาตรการกระตุ้น รวมไปถึงการฉีดวัคซีนที่คนเริ่มจะฉีดกันครบแล้ว และรวมไปถึงมาตรการเปิดประเทศ โดยเฉพาะภูเก็ตที่จะเปิดเดือนกรกฎาคมนี้ แต่คนจะมั่นใจและเข้ามาได้จริงๆ คงจะเป็นช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยเฉพาะไตรมาส 4

สำหรับภาพรวมจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3 มันยังค่อนข้างตึงไปในภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าภาพการลงทุนมองว่าน่าจะไปได้ สาเหตุหนึ่งคือสภาพคล่องมีมากขึ้น จากที่เราไปดูภาพของการที่แบงก์ชาติออกมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นผ่านการเข้าไปซื้อบอนด์ซื้อพันธบัตรน้อยลง ปกติตามหลักการพันธบัตรของแบงก์ชาติครบกำหนดเขาจะต้องมีการไปซื้อคืน คือปล่อยเงินเข้าสู่ระบบแล้วก็ออกพันธบัตรใหม่เพื่อไปดึงเงินออกมา แต่ช่วงหลังๆ สิ่งที่เราเห็นคือแบงก์ชาติเข้าไปซื้อคืนพันธบัตรคือปล่อยสภาพคล่องออกไป แต่ไม่ออกพันธบัตรใหม่ รวมๆ แล้ว 3 แสนกว่าล้าน ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาคือตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา

ฉะนั้น ภาพตรงนี้ เราจึงสังเกตได้ว่า ต่อให้เศรษฐกิจแย่อย่างไร แต่หุ้นไทยเราจะไม่ค่อยแย่มาก ซึ่งก็เลยกลายเป็นว่าไปสอดคล้องกับภาพของโลกที่เรื่องของราคาน้ำมันก็ไม่ได้ลงมาก เรื่องของภาพโดยรวมไม่ได้แย่มาก ก็เลยทำให้หุ้นอย่างกลุ่ม Energy ยังพอไปได้ในระดับหนึ่ง รวมไปถึงเรื่องของการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอะไรต่างๆ ออกมาอย่างเช่น ยิ่งใช้ยิ่งได้ หรือคนละครึ่งที่รัฐบาลชูโรง ซึ่งคนละครึ่งแน่นอนว่าจะได้ผลเรื่องการบริโภคในต่างจังหวัด การบริโภคในร้านธงฟ้า บริษัทที่เป็นหุ้นตัวเล็กๆ ก็จะได้ประโยชน์ตรงนี้บ้าง ดังนั้น หุ้นในกลุ่มเล็กๆ ก็เลยเติบโตจากนโยบายภาครัฐที่มาเอื้อ แต่ในขณะที่หุ้นกลุ่มใหญ่ๆ ไปได้ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่กลุ่มใหญ่ๆ บางกลุ่ม เช่นพลังงานก็พอไปได้บ้าง ตรงนี้คือภาพที่เราจะเห็นจากนี้ไปจนถึงไตรมาส 3


ฟังที่อธิบายจะเหมือนกับฝืนๆ คือตลาดหุ้นจะฝืนจากสภาพเศรษฐกิจจริง

ใช่ แต่ถามว่าความเสี่ยงที่จะทำให้หุ้นตกมีไหม คือมีเยอะเลย เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี GDP ไตรมาสแรกที่ออกมา 2.6% พอเราดูจะเห็นภาพชัดเจนว่าการบริโภคมันติดลบ ทั้งๆ ที่การบริโภคไตรมาสแรกมีเรื่องของโครงการเราชนะ คงจำกันได้ เพราะการระบาดรอบสองมาช่วงปลายปี 2563 กับต้นปี 2564 มันก็แย่เลย แล้วมีการอัดฉีดตัวเราชนะเข้ามา ส่วนตัวเองตอนนั้นก็คาดว่าน่าจะทำให้การบริโภคไปได้ แต่ปรากฏว่าการบริโภคไปไม่ได้เท่าไหร่ มันติดลบสาเหตุหลักๆ เพราะเรื่องเงินเข้ามาตอนกุมภาพันธ์ พอมีนาคมเงินเริ่มหมุนไป กลายเป็นว่า พอปลายมีนาคมต้นเมษายนโควิด-19 รอบ 3 มาแล้ว ถ้าจำกันได้ เรื่องของการระบาด เริ่มมา 1 เมษายนแถวๆ นั้น ฉะนั้น ถ้าจะให้เศรษฐกิจในประเทศมันฟื้นได้นั้น การบริโภคต้องดี จะต้องมีความเชื่อมั่น ถ้าไม่มีความเชื่อมั่นแล้วมาเจอการระบาดอย่างนี้มันก็เลยช่วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบในเมืองที่มีการระบาดเยอะๆ อย่างในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่ๆ ต่างจังหวัดสังเกตว่าเมืองเล็กๆ จังหวัดเล็กๆ การระบาดเขาไม่ค่อยมี หลายจังหวัดไม่มีคนติดเชื้อใหม่

แล้วก็ตัวคนละครึ่งเฟส 3 รวมถึงยิ่งใช้ยิ่งได้ โดยเฉพาะคนละครึ่งเฟส 3 ใช้ทั่วประเทศ ฉะนั้นในเรื่องการบริโภคในต่างจังหวัดอาจจะยังพอไปได้บ้าง แต่ในจังหวัดที่เป็นเมืองใหญ่ที่มีการระบาดได้ง่ายกว่า หรือจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว แน่นอนว่าก็คงมีปัญหาพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ในระบบอย่างที่อธิบาย แต่ด้วยสภาพคล่องหุ้นก็เลยยังไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะมีเงินเข้ามาในระดับหนึ่งด้วย ตรงนี้ก็ต้องขอบคุณแบงก์ชาติ ซึ่งแบงก์ชาติช่วยในทางพฤตินัย เขาก็ไม่มีสัญญาณที่จะออกมาเป็นคำพูดอะไรชัดเจน แต่ถ้าเจาะเข้าไปข้างในจะเห็นภาพว่าเม็ดเงินมันเพิ่มมากขึ้น เราก็จะเห็นภาพว่าทำไมหุ้นที่บางทีมันดูไม่ค่อยมีอะไร แต่มันก็ยังไปได้ หรือภาพรวมๆ ของตลาดมันยังไปได้ คือมีสภาพคล่องในระดับหนึ่ง ต้นทุนทางการเงินก็ไม่ได้สูง ยังถูกกดในระดับต่ำ อย่างตัวบอนด์ 10 ปีของไทย อยู่ที่ประมาณ 1.7% หรือ 1.8% อะไรแถวนั้น ทั้งๆ ที่แบบว่าเราต้องกู้มากขึ้น 5 แสนล้านบาท กลายเป็นว่าบอนด์กระชากขึ้นมานิดเดียว แล้วก็ลงๆๆ สาเหตุหนึ่งคือแบงก์ชาติช่วยซัพพอร์ตในเรื่องของสภาพคล่อง ซึ่งในมุมมองส่วนตัวก็ถือว่าดีในระดับหนึ่ง แต่ว่าด้วยปัจจัยเศรษฐกิจมันยังค่อนข้างแย่ ฉะนั้นมันยังไปไหนไม่ค่อยได้ ก็คือในที่สุดต้องตอบโจทย์หลักคือเรื่องวัคซีน ซึ่งมันคงใช้เวลาอีกพักหนึ่ง


นักลงทุนที่ลงทุนอยู่แล้วต้องทำอย่างไร

จริงๆ ส่วนตัวมองว่าความเสี่ยงยังคงเยอะอยู่ แต่ภาพของตลาดดีกว่าที่เราคิด ทั้งๆ ที่ด้วยปัจจัยเสี่ยง ด้วยภาพอะไรอย่างนี้ จริงๆ ตลาดไม่ควรมาขนาดนี้หรอก แต่ที่มาขนาดนี้ก็พูดอย่างอื่นไม่ได้ พูดได้แต่ว่ามีสภาพคล่องในระดับหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่ามันไปได้ ดังนั้น เราก็ต้องลงทุนบ้างเพื่อไม่ให้สูญเสียโอกาส

ถามว่าต้องระมัดระวังความเสี่ยงไหม จริงๆ ความเสี่ยงตอนนี้มีมากขึ้นกว่าที่เรามองไว้เมื่อปลายปี 2563 กับต้นปี 2564 เพราะช่วงดังกล่าวเรามองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวราว 3% ถึงแม้จะไม่ได้ดีมาก แต่ก็ไม่ได้แย่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่มาก ไตรมาส 1 โต 2% นักท่องเที่ยวเหลือ 5 แสนคนจากที่เคยคาดการณ์มองไว้ประมาณ 5 ล้านคน ลดไป 10 เท่า ทุกอย่างจริงๆ แล้วไม่ค่อยดีเลย แต่ถามว่านโยบายการเงินหรือนโยบายการคลัง เขาช่วยไหม เขาก็ช่วยมากขึ้น แต่จริงๆ นโยบายที่ดีที่สุดที่ควรจะเป็นคือวัคซีน แต่ด้วยความที่ตอนนี้เราจะหาวัคซีนมาเยอะๆ มากๆ บางทีมันก็ค่อนข้างลำบากแล้ว เหมือนกันในระดับโลก ฉะนั้นก็ต้องฝากความหวังไว้กับเรื่องการอัดฉีดการเงินการคลัง ก็ต้องทนไป รวมถึงภาพการออกมาทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง โดยช่วงต้นเราก็คงจะเดินได้ยาก เพราะการระบาดคราวนี้มันเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าคิดว่าภาพจะเป็นอย่างไรก็ต้องคิดถึงอังกฤษในช่วงที่แล้วก่อนการฉีดวัคซีนว่าเป็นอย่างไร แน่นอนว่าเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย ในที่สุด ถ้าจำกันได้ นายกรัฐมนตรีอังกฤษติดโควิด-19 ที่แบบว่าภาพมันไม่ค่อยดี จนกระทั่งคนอังกฤษมาระดมฉีดวัคซีน แล้วเขาเป็นคนคิดแอสตราเซนเนกา ฉะนั้น เขาฉีดก่อนเป็นที่แรก ตอนนี้ 40-50% ของจำนวนประชากรเขาได้รับวัคซีนแล้ว เขาก็แฮปปี้ในการเปิดเศรษฐกิจธุรกิจอะไรมากขึ้น ซึ่งเราหวังจะเห็นภาพอย่างที่เกิดในอังกฤษ อย่างนี้ในไทยช่วงไตรมาสที่ 4 ดังนั้นจากนี้ไป เราก็จะเห็นภาพปิดเปิดๆ มีคลัสเตอร์ที่นั่นที่นี่อะไรต่อมิอะไร ก็ต้องทำใจในระดับหนึ่ง

7 views
bottom of page