กบข. มั่นใจบอกกล่าวสมาชิกสามารถแหวกกระแสโควิดครึ่งปีแรก ลงทุนสร้างผลตอบแทนการลงทุนแผนหลักได้ 3.68% ด้วยกลยุทธ์กระจายความเสี่ยง โดยเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต Growth assets คาดครึ่งปีหลังยังไปต่อ
ดร. ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แจงผลการลงทุนของ กบข. ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 สามารถสร้างผลตอบแทนแผนหลัก (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ได้สูงถึง 3.68% โดยสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงสุด 3 อันดับ ประกอบด้วย สินค้าโภคภัณฑ์ 26.2% ตราสารทุนโลกตลาดพัฒนาแล้ว 13.1% และตราสารทุนไทย 9.0%
ผลตอบแทนที่ดีดังกล่าว สะท้อนว่าได้ใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้อง นั่นคือมุ่งเน้นลงทุนสินทรัพย์เติบโต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา
“ช่วงไตรมาส 2 การลงทุนทั่วโลกเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป จากเม็ดเงินจำนวนมากที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบ เสริมด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกกลุ่มได้รับอานิสงส์ไปด้วย สอดรับกับกลยุทธ์การลงทุนของ กบข. ที่มีการกระจายการลงทุนไปในตราสารทุนตลาดพัฒนาแล้ว”
สำหรับแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องจับตามองคือ แผนการบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐ (Tapering) แนวโน้มการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด และทิศทางของ yield พันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลก
นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทำให้ความสำคัญของกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงมีความจำเป็นอย่างมาก
จากปัจจัยดังกล่าว กบข. จึงวางกลยุทธ์การลงทุนโดยปรับลดระยะเวลาการถือครองพันธบัตรเพื่อป้องกันความเสี่ยง และปรับลดอัตราการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับมุมมองเงินบาทที่อ่อนค่าลง
“ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้า อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมาได้ ผนวกกับเป็นช่วงที่ไทยจะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนได้มากขึ้น และในปี 2565 นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับเข้ามาในประเทศได้ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น และเศรษฐกิจจะกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง”
สำหรับประเทศจีน กบข.มองว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งเป็นการสะท้อนจากผลกระทบของหลายสาเหตุสำคัญ ได้แก่ 1) มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหม่ ภายหลังจากพบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศ 2) การบริโภคภาคเอกชนและครัวเรือนแข็งแกร่งน้อยกว่าหลายปีก่อนหน้า โดยเฉพาะแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากเกิดความกังวล China hard landing ในปี 2558 3) นโยบายลดปริมาณหนี้ (Deleveraging) และ 4) การจัดระเบียบและนโยบายการควบคุมของภาครัฐ (Regulatory Crackdown) ต่อบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในหลายภาคอุตสาหกรรม อาทิ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจ e-commerce ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจเกมออนไลน์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีน (PBoC) เริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกครั้ง เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ โดยปรับลดอัตราส่วนสำรองขั้นต่ำในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio หรือ RRR) ลง 0.5% ส่งผลให้มีเม็ดเงินอัดฉีดเข้าสู่ระบบการเงินประมาณ 1 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการรับมือต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเริ่มปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนอาจจะทยอยปรับลดความเข้มงวดมาตรการล็อกดาวน์ในระยะถัดไป รวมทั้งคาดว่ารัฐบาลจีนอาจจะออกมาตรการทางการคลังระยะยาว เช่น โครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มเติม รวมถึงอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Medium-Term Lending Facility : MLF) ตามด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate : LPR) ทั้งอายุระยะสั้นและกลาง เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับลด RRR ในลำดับถัดไป
สำหรับมุมมองการลงทุน กบข. มองว่าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะสั้น แต่ระยะยาวยังคงเติบโตแข็งแกร่งจากนโยบายของภาครัฐที่มุ่งสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีการลดความเสี่ยงด้านสินเชื่อในระดับมหภาคให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ลดการผูกขาดในการทำธุรกิจของบริษัทรายใหญ่ เพิ่มการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ลดความไม่เท่าเทียม เพิ่มความเข้มงวดต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้บริโภค ตลอดจนเพิ่มการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) และ มีความมั่นคงร่วมกัน (Common Prosperity)
Comments