Interview: คุณธนากร มนูญผล
นักวางแผนการลงทุน
และรองกรรมการผู้อำนวยการ Group Investment บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
คาดแบงก์ชาติเห็นสัญญาณ NPL พุ่งพรวด รีบออกโรงสกัด ให้แบงก์พาณิชย์ตั้งสำรองกองทุน-คงสภาพคล่องให้มากที่สุด เพื่อรับมือกลไกเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวจากพิษโควิด-19 ขนาดเซียนขั้นเทพอย่าง ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ยังเก็งวิกฤตรอบนี้พลาด กลายเป็นกิ้งกือตกท่อมาแล้ว แนะ...ทิ้งตำราการลงทุนแบบเดิมๆ หันมายึดหลักตามสถานการณ์ที่เป็นจริง จับจังหวะซื้อหุ้นตามโมเมนตัมของตลาด ไม่ลงทุนระยะยาว ได้กำไรให้รีบถอยมาตั้งหลัก ใครมีหุ้นแบงก์อย่าลนลานหนีตาย อย่ารีบขายทิ้ง เชื่อ...ถือไว้ได้ ยังไม่ขาดทุน
มองผลกระทบจากกรณีที่แบงก์ชาติออกประกาศไม่ให้แบงก์พาณิชย์จ่ายเงินปันผลอย่างไร
มองว่าเป็นการออกนโยบายเพื่อป้องกัน เผื่อไว้ก่อน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะเรื่องสภาพคล่องของการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นการรับเงินฝากมาปล่อยกู้ เพราะฉะนั้นการรักษาสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญมาก แบงก์ชาติคงเห็นปัญหาอยู่ข้างใต้ คือเรื่อง NPL คงเลี่ยงไม่ได้จริงๆ และวิกฤตการณ์รอบนี้เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สมัยก่อนเมื่อมีวิกฤตการณ์เศรษฐกิจส่วนใหญ่เริ่มต้นจากสายการเงิน พูดง่ายๆ คือเงินอยู่ผิดที่ผิดทาง แบงก์ชาติเข้ามาลดดอกเบี้ย กระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เงินกลับมาจากที่อยู่ผิดที่ผิดทาง แต่เศรษฐกิจยังดำเนินอยู่ทุกวัน
แต่รอบนี้การเกิด Economy Lockdown ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดชะงักไปเลย ยกตัวอย่างธุรกิจสายการบิน ไม่น่าเชื่อว่าจะต้องหยุดบิน เพราะเป็นธุรกิจที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา วันนี้น่านฟ้าหยุดบินแทบจะ 100% แม้แต่นักลงทุนระดับเทพอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเก็งผิดทางเต็มๆ ต้องเทขายหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของเขาออกมา 100% ในช่วงเดือนมีนาคม หลังจากขายหุ้นทิ้งหมดปรากฏว่าตลาดเด้งกลับแรงเป็นรูป V shape เรียกว่าตอนนั้น วอร์เรน บัฟเฟตต์ ก็เจ็บหนัก
ส่วนสถาบันการเงินไทยรอบนี้ยกตัวอย่างแบงก์ใหญ่ๆ สีเขียวมีเงินทุนประมาณ 4 แสนล้าน ปล่อยกู้อยู่ 2 ล้านล้าน ถ้าปัจจุบัน NPL มีอยู่อย่างมากหลักเดียว แต่ถ้าขึ้นเป็น 2 หลัก แน่นอนตัวเงินทุนได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน
ถามว่าแบงก์ชาติออกมารอบนี้จะส่งผลลบต่อตลาดไหม แน่นอนในเรื่องความรู้สึกคนกระทบแน่ๆ แต่ถ้ามาดูในตลาดตอนนี้หุ้นแต่ละตัวในฝั่งธนาคารว่าเทรดดิ้งเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่เทรดดิ้งกันอยู่ 0.5 เท่าของ Value จนถึง 0.7-0.8 หมายความว่าเทรดกันในราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับทุก Value หรือเรียกว่างบทางบัญชีเทรดต่ำกว่าตั้งครึ่ง ดังนั้น ราคาค่อนข้างสะท้อนปัจจัยลบพอสมควรแล้ว
ยอมรับเมื่อเปิดซื้อ-ขายหุ้นออกมามีแรงลบพอสมควรเพราะหุ้นแบงก์เป็นหุ้นที่นักลงทุนซื้อเข้าพอร์ตในช่วงต้นเดือนถึงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ควรทิ้งหุ้นแบงก์ไหม
ถามว่ารอบนี้ต้องหนีจากหุ้นแบงก์ไหม ผมว่าคงไม่ถึงขนาดมีใครขาดทุนจนต้องรีบหนีกันออกมา ต้องติดตามสถานการณ์ NPL ว่าจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าปัจจัยหลักๆ ของการออกมาตรการรอบนี้ของแบงก์ชาติคือเรื่อง NPL พอเกิดเรื่อง NPL แล้วจะได้มีเงินสดเพียงพอที่จะให้การกระตุ้นหรือการช่วยเหลือบริษัทเล็กบริษัทขนาดย่อมที่มีปัญหาได้ทันท่วงที
ส่วนตลาดโดยรวมมองว่าตอนนี้เป็น 2 ฟาก ตอนนี้พับตำราการลงทุนแบบเดิมได้เลยว่าหุ้นที่มีผลประกอบการดี เศรษฐกิจดี หุ้นจะดีตามด้วย ตอนนี้เหมือนเปลี่ยนตำรา ฝั่งคนเชื่อในพื้นฐานต้องบอกว่าติดหล่ม เพราะพื้นฐานจะดีได้อย่างไร ถ้ากำไรลดลง Q1 โดนเรื่องโควิดแค่เดือนเดียวกำไรหายไป 60% ถ้าหายไปไม่ต้องพูดถึงเลยว่าตลาดหุ้นจะดีได้ไหม ตลาดหุ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมต่ำสุด ลงไปที่ 964 จุด แล้วเด้งกลับมาสูงสุด 1,450 เด้งขึ้นมา 50% จากที่ตกลงไปคือมายืนแถวๆ 1,400 จุดแล้ว ตอนนี้ปรับลงมาเหลือ 1,300 กว่า แต่ที่ระดับ 1,400 EPS ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 20 เท่า ในอดีตเราเทรดอยู่ประมาณ 14-15 เท่า ตอนเกิดโควิดเทรดที่ 18 เท่า ดังนั้น เรื่องพื้นฐานแยกไปได้เลย
ถามว่าอะไรที่ทำให้คนมาบุกต่อในฝั่งสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง มันคือเรื่องของสภาพคล่อง ดูจากประเทศใหญ่อย่างอเมริกา ไล่มายุโรป ญี่ปุ่น ไม่เคยมีครั้งไหนที่แบงก์ชาติทุกประเทศออกมาใส่สภาพคล่องเข้าตลาดมากขนาดนี้ ต้องบอกว่ามากกว่าปี 2008 เกิน 4-5 เท่า และเป็นครั้งแรกที่แบงก์ชาติอเมริกาออกมาซื้อทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่พันธบัตรรัฐบาลรวมถึงพันธบัตรเอกชนที่มีเรตติ้งต่ำกว่า Investment Grade กลายเป็นว่าเศรษฐกิจไม่ดีใช่ไหม แบงก์ชาติบอกฉันจะซื้อจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาดี
สินทรัพย์เสี่ยงชอบอยู่ 2 อย่าง ชอบดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องสูง จะเห็นว่าพอหุ้นอเมริกาลงไป สภาพคล่องก็เลยเข้ามาเรื่อยๆ ต้องย้อนกลับมาไปดูเครื่องมือด้วยว่าส่วนใหญ่ที่ธนาคารกลางอัดฉีดมาเป็นเครื่องมือไหน แน่นอนพันธบัตรรัฐบาลก็อัดเข้าไปตรงๆ อีกขาเข้าพันธบัตรเอกชนไม่ได้ ต้องเข้าไปผ่าน ETF หรือตลาดหุ้นเข้าผ่าน ETF เมื่อเวลาเข้าไปก้อนหนึ่งจะกระจายซื้อทุกตัวในตลาดเท่าที่ทำได้
พอสภาพคล่องเข้าตลาดมันดึงทุกตัวไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมรอบนี้แม้แต่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังพลาดได้ ตัวสายการบินผลการดำเนินงานไม่ต้องพูดถึง หายวับเลย กลายเป็นว่ารอบที่ผ่านมาดันจนหุ้นขึ้นเหมือนกัน
ไตรมาส 3 จะเป็นอย่างไรบ้าง
ต้องถามว่าไตรมาส 3 ต่อไปจะเราจะเชื่ออะไรได้บ้าง ส่วนตัวผมยังเชื่อว่าฝั่งสภาพคล่องยังชนะตัวพื้นฐานอยู่ กลายเป็นว่าหุ้นในฝั่ง Growth Stock จะชนะพวก Value การลงมาในช่วงที่ผ่านมามีการปรับฐานลงมาวันละ 2-5% เพราะตอนนี้ตลาดส่วนใหญ่ขึ้นด้วย ETF พอตลาดถูกอุ้มขึ้นมาด้วยสภาพคล่อง การผันผวนจะสูงตาม ฟังเหมือนยังเป็นขาบวกอยู่ตอนนี้แรงสภาพคล่องส่งผลต่อตลาดอะไรบ้าง ตลาดซื้อขายบ้านฝั่งอเมริกากลับมาบวกอีกรอบ ยอดการซื้อหรือจองบ้านกลับมาบวกอีกครั้ง อีกขาในเรื่องของเงินสดต้องบอกว่าตอนนี้ในตลาดอเมริกาจำนวนการถือครองเงินสดสูงที่สุดในรอบหลายปี ประมาณ 11% ค่าเฉลี่ยในอดีตสิบปีมีการถือครองเงินสดประมาณ 6% นักลงทุนหลายคนมีการ ‘ตกรถ’ แล้วถือเงินสดไว้เพราะไม่ไว้ใจสถานการณ์ แต่ในทุกๆ รอบที่ลงมาจะมีเงินเข้ามาซื้อเสมอ แต่สิ่งที่เรากังวลต่อไปคือเรื่องพื้นฐาน ในเรื่องของสภาพคล่องเหมือนน้ำขึ้นน้ำลง เมื่อไหร่น้ำลงมันลงแบบเร็วมาก
ช่วงนี้เป็นจังหวะลงทุนระยะยาวหรือไม่ต้องมองว่าไม่ใช่ เป็นเรื่องของการเล่นตามโมเมนตัมของตลาด ถ้าโมเมนตัมยังดีอยู่เพราะตัวเลขหลายอย่างที่ซัพพอร์ตให้โมเมนตัมไปต่อได้ แต่เมื่อไหร่ที่เรื่องหนี้เสียเริ่มมา คนเริ่มล้มละลาย การว่างงานสูงขึ้นจนกระทบตัวเลขกู้ยืม แล้วเกิดหนี้เสียในระบบมากขึ้น อาจเป็นจุดหนึ่งที่เราต้องถอยกลับมา เมื่อเราเอนจอยในเรื่องของโมเมนตัม สภาพคล่องที่ดี แล้วสินทรัพย์เสี่ยงค่อนข้างสูงได้ผลตอบแทนที่ดี เราพอใจแล้วล็อก Profit ออกมา
เพราะฉะนั้นในช่วงไตรมาส 3 ที่ผมแนะนำคืออยู่กับหุ้นได้ แต่ต้องกำหนดไว้เลยว่าการลงทุนที่เราพอใจคือระดับเท่าไหร่ เช่น 7-8% Return แต่ละไม้ 10% รีบเอา Profit ออกมาตั้งหลักดูก่อน ที่สำคัญอย่ากลัวการตกรถ ให้กลัวว่าขึ้นไปแล้วต้องถือยาวแล้วจะไม่ลงอีกแล้ว
ปัญหาคือตอนนี้ไม่ได้กลัวตกรถ แต่กลัวเพราะขึ้นมาอยู่ในขบวนแล้วรถขบวนนี้มันจะตกเหว
ผมว่าตราบใดที่แบงก์ชาติส่งสัญญาณ อย่างกลางเดือนที่ผ่านมา เจอโรม พาวเวลล์ ออกมาประกาศตัวเลขอันนึงที่ชัดเจนคือโครงการที่เข้ามาซื้อตลาดตราสารหนี้ เขาวางโครงการไว้ทั้งหมด 250 billions ตอนนี้ เจอโรม พาวเวลล์ บอกใช้ไปแค่ 5 billions เท่านั้น หมายความว่าเขาพยายามทำทุกวิถีทาง แต่อย่างว่า ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะในขณะนี้กลายเป็น Backfire กลับมาหาเงินบาทเราด้วย กลายเป็นว่าเงินบาทเราขึ้นไปถึง 33 บาท ทำให้ส่งออกของเราไม่ดี เงินบาทเราน่าจะไปต่อ พอจังหวะในช่วงเดือน 3 ที่เศรษฐกิจไม่ดี แล้วเจอฝั่งอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ออกมาอัดสภาพคล่องเยอะ คนทิ้งพวกสินทรัพย์เสี่ยงน้อยเข้าไปอยู่ในหุ้น ในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีแรง Fund Flow ที่มาประกันค่าความเสี่ยงของการลงทุนด้วย ทำให้หมุนกลับมาที่เงินบาทเช่นกัน เงินบาทในช่วงเดือนที่ผ่านมากลับมาเป็น Safe Haven ของตลาดเงินอีกรอบหนึ่ง เห็นได้ว่าตอนนี้เงินบาทโดนกดลงมาแถว 31 บาท ถามว่าจะเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่ายังโดนกดดันต่อ ตอนนี้ต้องบอกว่าไม่ได้วิ่งตามพื้นฐานแล้ว มันจะวิ่งตามสภาพคล่อง
Comments