top of page
379208.jpg

ขาดปัจจัยหนุนใหม่ๆ


เฟดหยุดลดดอกเบี้ย !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ บนความหวังว่าธนาคารกลางสำคัญๆของโลกจะยังคงเดินหน้าผ่อนคลายทางการเงิน หรืออัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป โดยในภูมิภาคสะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดยได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก หากพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น พร้อมกับคงโครงการซื้อสินทรัพย์จำนวนมากเอาไว้เช่นกัน นอกจากนี้ BOJ ยังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ซึ่งนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ล่าสุดว่า BOJ จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แม้หลายฝ่ายจะมองว่า BOJ ไม่เหลือนโยบายที่จะใช้ในการกระตุ้นเงินเฟ้อให้บรรลุสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ BOJ ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2562 ลงสู่ระดับ 0.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 1.0% เมื่อเดือน ก.ค. 2652 และได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2563 และ 2564 ลงสู่ระดับ 1.1% และ 1.5% ตามลำดับ จากระดับ 1.3% และ 1.6% ตามลำดับ

ขณะที่ในส่วนของสหรัฐล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติ 8-2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลงอีก 0.25% สู่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ดีการที่เฟดระบุว่าตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่ง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการปรับตัวขึ้นในระดับปานกลาง สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 1.9% สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 1.6% แม้ว่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่มีการขยายตัว 2.0% และ 3.1% ในไตรมาสแรก โดยการบริโภคภายในประเทศและการลงทุนภาครัฐยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เฟดส่งสัญญาณพักวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้

โดยแถลงการณ์จากการประชุมครั้งนี้ เฟดได้ถอดประโยคสำคัญออก ซึ่งระบุว่า "เฟดจะดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน" โดย Jerome Powell ประธานเฟดระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ มีเป้าหมายที่จะรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐให้แข็งแกร่ง และสามารถรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งรวมถึงข้อพิพาทการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตามหากเกิดสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เฟดจะต้องกลับมาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอีกครั้ง อาทิ สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบ No deal หรือ การเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐตึงเครียดมากกว่าที่คาดการณ์ เฟดก็จะตอบสนองสถานการณ์นั้นๆ เป็นรายกรณี โดยไม่มีการกำหนดนโยบายเอาไว้ล่วงหน้า โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ของเฟด ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นที่ระดับ 30.19 และมีโอกาสที่จะทดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 ปีครั้งใหม่

อย่างไรก็ดี การที่ตัวเลข Core PCE ของสหรัฐชะลอตัวลงในเดือน ก.ย. 2652 เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลข Core PCE ที่ทรงตัว 0% ในเดือน ก.ย. 2652 และชะลอตัวจาก 0.1% ในเดือน ส.ค. 2652 สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยอีกครั้งในระยะเวลาอันสั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมาก ดังนั้นตัวช่วยของตลาดหุ้นโลกจากประเด็นการลดดอกเบี้ยของเฟดจึงหมดไปแล้วในระยะสั้น

เศรษฐกิจจริงๆ สหรัฐและจีนกลับมาเป็นความเสี่ยงหลัก : ทั้งนี้หลังจากที่ปัจจัยบวกจากการลดดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มจบลงในระยะสั้น ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มที่จะกลับมากังวลกับปัจจัยกดดันจากทิศทางของเศรษฐกิจจริงๆของประเทศยักษ์ใหญ่โดยเฉพาะสหรัฐ และจีนอีกครั้ง โดยเฉพาะสหรัฐที่แม้ว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวลงมาเยอะ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวลง นอกจากนี้ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 125.9 ในเดือน ต.ค. 2652 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2652 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของที่ระดับ 128.0 จากระดับ 126.3 ในเดือน ก.ย. 2652 สะท้อนว่าผู้บริโภคสหรัฐลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการจ้างงาน และสภาวะเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ขณะที่ตัวเลข Initial Jobless Claims เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 218,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว สูงกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 215,000 ราย

ขณะที่ประเด็นการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังคงคลุมเครือมากๆ หลังจากเจ้าหน้าที่จีนมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการทำข้อตกลงการค้าในระยะยาวกับสหรัฐ สอดคล้องกับการเจรจาในรอบต่อไปในเฟสที่ 2 ยังมีความท้าทายอยู่มาก ซึ่งการเจรจาจะเน้นไปที่ประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี ซึ่งมีนัยว่าจีนต้องมีการออกกฎหมาย รวมถึงปฏิรูปเชิงโครงสร้างลดการสนับสนุนและอุดหนุนรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวและอาจขัดกับรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจของทางการจีน ในขณะที่ประธานาธิบดี Donald Trump กล่าวว่าจะประกาศสถานที่ซึ่งเขาจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกกับผู้นำจีนในอีกไม่ช้า ซึ่งจะมีเนื้อหา 60% ของข้อตกลงการค้าทั้งหมด หลังจากการประชุมเอเปกในชิลีได้ถูกยกเลิกไป

ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจาก Manufacturing PMI เดือน ต.ค. 2652 อยู่ที่ระดับ 49.3 ลดลงจากระดับ 49.8 ในเดือน ก.ย. 2652 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 49.8 และเป็นการลดลงต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยที่ดัชนีที่เคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ตัวเลข Service PMI เดือน ต.ค. 2652 อยู่ที่ระดับ 52.8 ลดลงจากระดับ 53.7 ในเดือน ก.ย. 2652 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 53.6 ดังนั้นการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI ของจีนในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างชัดเจน และการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้ จึงไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนักหากเศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัวในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มเติมสูงขึ้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

10 views
bottom of page