top of page
369286.jpg

ลงทุนไตรมาส 4 : เน้นหลักกระจายความเสี่ยง


Interview: คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์

Mr.Messenger แห่ง Finnomena

‘9 เดือนที่ผ่านมา มองรวมๆอาจดูไม่ดี ตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้จะเห็นว่ามีข่าวไม่ได้ดีทั้งหมด มีข่าวร้ายเจือปนอยู่ที่กังวลว่าการเลือกตั้งจะเป็นยังไง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะใช้ได้ไหม ดู GDP เหมือนชะลอ กนง.ก็ลดดอกเบี้ย ... แต่ความจริงปีนี้เป็นปีที่ผู้ลงทุนที่อยู่กับตลาดมาตั้งแต่ต้นปี จนจบไตรมาส 3 ทุกคนจะได้สินทรัพย์ตอบแทนเป็นบวกหมด แม้แต่หุ้นไทยถ้าเทียบต้นปีจนถึงปัจจุบันหุ้นไทยยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่ที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกและดีกว่าไทยคือตลาดต่างประเทศ ปีนี้ปัจจัยไปเข้าข้างการลงทุนที่ต่างประเทศมากกว่า ซึ่งจริงๆ มันสวนทางการลงทุนปีนี้ให้ผลตอบแทนดี 9 เดือนที่ผ่านมานี้มันสอนอะไรเราว่าตลาดหุ้นไม่ได้วิ่งตามข่าวตามปัจจัยที่อยู่ตรงหน้า มันมีปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังมากกว่านั้น ซึ่งหน้าที่ของนักลงทุนคือ วิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตเพื่ออ่านให้ออก’

อย่างนั้นมองว่า 3 เดือนสุดท้าย ปี 2562 จะเป็นอย่างไร

3 เดือนสุดท้ายของปีจากนี้ไป สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้ที่ตลาดเริ่มให้ความสนใจและนักลงทุนที่ผมตามเหล่านักลงทุนที่อยู่ในแวดวงการเงินและการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ เริ่มพูดถึงการกลับมาทำ QE อีกครั้งหนึ่ง QE เรารู้จักเมื่อตอนปลายปี 2008 ตอนที่เฟด สหรัฐอัดฉีดเงินเข้าไปช่วยเหลือบริษัทประกันอันดับ 1 คือ AIG และเข้าไปถือหุ้น แฟนนี่เมย์ เฟดดี้แมค หลังจากนั้นมามีการทำ QE ในยุโรปกดพันธบัตรต่อเนื่องแล้วมาซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่น

ถามว่าทำไมตลาดถึงให้ความคาดหวังว่าในไตรมาส 4 ปีนี้ มีโอกาสที่จะเห็นการทำมาตรการผ่อนคลายพิเศษอีกรอบ เพราะว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาอเมริกามีการประกาศตัวเลขดัชนีคำสั่งซื้อภาคการผลิตซึ่งหดตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี อยู่ที่ประมาณ 47.5 แสดงว่าภาคการผลิตของอเมริกาตอนนี้ชะลอตัวแล้วเป็นเพราะ Trade War ซึ่งเป็นที่มาทำให้เฟดลดดอกเบี้ยปีนี้ทั้งๆที่ต้นปียังบอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งอยู่เลย แต่จนถึงตอนนี้ลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้งแล้ว

นับว่าระยะเวลา 9 เดือนปีนี้ผ่านไปค่อนข้างเร็วมาก สิ่งที่ตามมา คือ เราเห็นแบงก์ชาติหรื อกนง.บ้านเราลดดอกเบี้ยตามเฟด คราวก่อน แต่คราวนี้ตรงไว้ แปลว่าสิ่งที่ส่งผลต่อโลกตอนนี้ คือ สงครามการค้าที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ แม้แต่ที่ว่ากันก่อนนี้ว่าจะมีเส้นตายวันที่ 11 ตุลาคมนี้ที่ทางการจีนจะบินไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจากับสหรัฐ แต่ว่ายังเอาแน่เอานอนไม่ได้มันเป็นสัญญาณที่ดีลแล้วไม่จบ เหมือนว่า ไม่มี Trade War ก็ได้

เมื่อมันยังมีความไม่แน่นอนอยู่ตรงนี้ ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง

กลับมาที่ไทย...ถ้าเฟดลดดอกเบี้ยอีกที ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอยู่ที่ 1.75% ของเราอยู่ที่ 1.5% ...ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของเฟดอยู่ที่ 0% แต่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของไทยอยู่ที่ 1.5% คนบอกว่าจุดนี้ลงได้อีกไม่เยอะหรือไม่น่าลงได้ เพราะตอนที่เกิดวิกฤตซับไพรม์เราก็อยู่ตรงนี้ ... ในมุมมองของผมคิดว่ามีแนวโน้มและโอกาสที่แบงก์ชาติไทยจะลดดอกเบี้ยอีกครั้ง เพราะตอนนี้เครื่องมือที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มาก เหลือแค่ภาคการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลชุดนี้น่าจะไม่กล้าออกเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่มากเกินไป สาเหตุจากคะแนนฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านเสียงค่อนข้างใกล้เคียงกัน แถมข้างในฟากรัฐบาลแบ่งเป็นก๊วนหลายพรรค เพราะฉะนั้นการแบ่งเค้กผลประโยชน์อาจจะลงตัวค่อนข้างยาก ถ้าเค้กชิ้นใหญ่เกินไป อาจจะมีการเล่นการเมืองข้างใน

ดังนั้น วิธีการรัฐบาลจากนี้ คือ ต้องออกมาตรการขนาดเล็กแต่ต้องทยอยออกอย่างที่เราเห็นกันมาแต่ละครั้ง คำถามว่าเพียงพอไหมผมคิดว่าเพียงพอระดับนึง แต่การที่กนง.หรือแบงก์ชาติออกมาปรับคงดอกเบี้ยก็จริง แต่ลดประมาณการ GDP ปีนี้จาก 3.3% เหลือแค่ 2.8% ก็ชัดเจนว่า แม้แต่แบงก์ชาติยังมองว่ากระตุ้นไปเศรษฐกิจก็ยังชะลออยู่

ตรงนี้แปลว่า 3 เดือนหลังจากนี้ไป ซึ่งเป็น 3 เดือนสุดท้ายของปีจะเจอทิศทางข่าวร้าย เศรษฐกิจยังชะลออยู่ สิ่งนี้เราควรรับรู้ไว้เวลาข่าวออกมาจะได้ไม่ต้องตกใจมาก

ส่วนมุมมองการลงทุน คิดว่าตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 1,550 จุด เพราะถ้าเฟดหรือธนาคารกลางทั่วโลกออกมาตรการ QE หรืออัดฉีดเงินเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยเพิ่มคนจะมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นจากมาตรการกระตุ้น จุดต่ำสุดของ GDP หรือจุดต่ำของวงจรเศรษฐกิจโลกอาจจะอยู่แถวไตรมาส 3-4 นี้ก็เป็นได้ ตลาดอาจจะมีแรงดันเพราะ 10 ปีที่ผ่านมาไตรมาส 4 มักเป็นไตรมาสดีที่สุดของปี(ยกเว้นปีที่แล้ว เพราะโดน Trade War ทำให้ตลาดหุ้นล่วงทั้งโลกหล่น) แต่สถิติ 9 ปีที่ผ่านมานั้นในไตรมาส 4 เป็นไตรมาสดีที่สุด ในมุมของผมโอกาสการลงทุนยังดีอยู่ แต่ต้องตามข่าวสั้นๆไว้ด้วย

มองว่ากระแสทุน จะมีทิศทางอย่างไร จะไหลไปไหนกันอย่างไร

ที่น่าสนใจ คือ ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อสุทธิบ้านเราประมาณ 60,000-70,000 ล้าน แต่ 2 เดือนหลังมานี้ขายสุทธิจนเข้าต้นเดือนตุลาคมกำลังติดลบ หลายเป็นขายสุทธิ 10,000 ล้าน แปลว่า เข้าเร็วออกเร็วมาก แปลว่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้เงินทุนที่ไหลเข้ามาเขาไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไทยดีเขามองไทยเป็นแค่จุดพักเป็น Safe Haven เป็นค่าเงินสกุลที่มีความปลอดภัยเพราะเงินเฟ้อเราต่ำ yield ต่ำขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% แสดงว่า การถือเงินบาทมี Positive Return จากดอกเบี้ยมากกว่า แต่ที่อื่นไม่ใช่อย่างนี้ ที่อื่นดอกเบี้ยต่ำแต่เงินเฟ้อเขาสูงมาก เพราะฉะนั้นถือไปก็ได้ Negative Yield ได้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ เงินก็เลยไหลเข้าบ้านเราในช่วงต้นปี ซึ่งมุมนี้มันทำร้ายเราเหมือนกัน คือ แทนที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ เครื่องยนต์อีกตัว คือ ภาคการส่งออก พอเศรษฐกิจไม่ดีเงินควรไหลออก แต่เศรษฐกิจไม่ดีเงินดันไหลเข้าเพิ่ม ดูตัวเลขจะแปลกใจหน่อยปีนี้ส่งออกติดลบ 8% เกือบทุกเดือน... กลายเป็นว่าส่งออกติดลบแต่เรายังเกินดุลอยู่ หมายถึงเรายังนำเข้าสินค้าน้อยกว่าส่งออก ตัวเลขส่งออกที่หดตัวแต่นำเข้าหดตัวเยอะกว่า

พอแสดงตัวเลขเกินดุล ในมุมต่างชาติมองไทยยังเกินดุล ตีความว่างบหรือไฟแนนเชียลบ้านเรายังดีอยู่ก็เอาเงินเข้ามาดีกว่า ตัวนี้จึงทำให้เครื่องยนต์ตัวส่งออกมันควรทำให้เศรษฐกิจฟื้นในช่วงที่เรามีปัญหา เพราะว่าค่าเงินบาทควรจะอ่อนแต่อ่อนไม่ทันท่วงที ตรงนี้ผมคิดว่าน่าจะเห็นแบงก์ชาติมีมาตรการแทรกแซงบางอย่างเพื่อทำให้ค่าเงินบาทเราไม่ได้แข็งค่ามากเกินไป แต่อย่าหวังมาก เพราะ ดร.วิรไท เป็นสายทุนนิยมเสรีอยากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด แต่ผมเชื่อว่าคงมีมาตรการบางอย่างออกมาได้ จุดนี้ถ้าค่าเงินบาทยังแข็งอยู่แสดงว่านักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้เอาเงินออก คือ ถ้ามีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะขึ้นได้ ผมมองว่าปัจจัยนี้เป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นไทย 3 เดือนข้างหน้าไม่น่าจะปรับฐานเยอะและมีโอกาสขึ้นด้วยซ้ำ

มองว่าหุ้นหลุด 1,600 จุดมากน้อยแค่ไหน เพราะหุ้นที่จะเป็นตัวดันดัชนีทั้งกลุ่มแบงก์ พลังงาน น้ำมันทำนิวโลว์ไปแล้ว

ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาถ้าดูจาก flow ชัดเจนว่าหุ้นไทยที่เป็น Big Cap มีการไหลออก แต่ถ้าไปดูหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กพบว่าเป็นช่วงที่เขาปรับตัวขึ้นมาได้ดี สาเหตุเพราะมีนักลงทุนที่เป็นมืออาชีพอยู่ในตลาด ยังไงก็เล่นหุ้นหรือลงทุนอยู่ พอเป็นช่วงที่ต่างชาติขายหุ้นออกไปส่วนใหญ่ถือ SET100 หรือ SET50 เมื่อขายออกไปแปลว่ามุมมองของหุ้นตัวใหญ่มันเสีย นักลงทุนที่อยู่ในไทยหรือโบรกเกอร์ในประเทศหันมาให้ความสนใจกับหุ้นขนาดกลางและเล็กซึ่งไม่มีผลจาก Fund Flow ต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมคิดว่าช่วง 3 เดือนหลังไตรมาส 4 นี้ หุ้นขนาดเล็กและกลางจึงยังมีโอกาส Out perform หุ้นขนาดใหญ่

อีกมุมเพราะหุ้นขนาดกลางและเล็กไม่มีเรื่องปัจจัยภายนอกอย่างเรื่อง Trade War การประท้วงของฮ่องกง หรือทะเลาะกันระหว่างเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น พวกนี้ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจภายในที่รายได้ทุกอย่างมาจากภายในประเทศเยอะขนาดนั้น

ในส่วนสถาบันการเงินเนื่องจาก พ.ร.บ.ธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ และพ.ร.บ.การเงิน ฉบับใหม่ ที่แบงก์ชาติกำลังจะปล่อยออกมา คือ กฎหมายเรื่อง NDID หรือ National Digital ID สามารถยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ตัวนี้เป็นตัวที่เกิดการแข่งขันครั้งใหม่ในอุตสาหกรรมสถาบันการเงิน ถ้าจำกันได้ปีที่แล้วทุกแบงก์ลดค่าธรรมเนียม ฟรีโอนข้ามเขตของตัวเอง คือยอมเฉือนรายได้ตัวเองลงเพื่อเก็บดาต้าข้อมูลของฐานลูกค้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ ภายในพฤศจิกายน-ธันวาคม 2562 ต่อไปนี้ผมเปิดบัญชีกับธนาคารแห่งหนึ่งไว้อยู่แล้ว จะเดินเข้าอีกธนาคารหนึ่งผมไม่ต้องเซ็นเอกสารเปิดบัญชีใหม่แล้ว ผมแค่บอกว่าเคยเปิดบัญชีกับอีกธนาคารหนึ่งไว้อยู่แล้ว ไปขอข้อมูลจากธนาคารนั้นมาแล้วสามารถเปิดบัญชีที่อีกธนาคารได้ทันที ก็จะเกิดการแข่งขันแย่งลูกค้ากัน คิดว่าทุกธนาคารพยายามลง Marketing หรืองบทุกอย่างเพื่อจะแย่งชิงฐานลูกค้าตรงนี้

เพราะฉะนั้นเป็นมุมหนึ่งที่ตลาดหุ้นกลุ่มแบงก์ไม่ได้รับการตอบรับเพราะกฎหมายนี้กำลังจะถูกปล่อยออกมา ข้อดีของผู้บริโภคอย่างเราได้ตัวเลือกและออปชันดีมากขึ้น แต่ข้อเสียสำหรับนักลงทุน คือ แบงก์แข่งกันหมายถึงรายได้จะไม่โต ไปเน้นที่ฐานลูกค้ากันก่อนซึ่งก็ต้องรอ

สินทรัพย์อื่นที่ลงทุนได้ มีอะไรที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติม หรือไม่

ที่ Finnomena มีการจัดพอร์ตหลักที่มีนักลงทุนกับเราอยู่ค่อนข้างเยอะที่ประมาณ 2,500-2,700 ล้าน พอร์ตนี้เป็นพอร์ตที่ไม่รู้จะลงทุนอะไร แต่อยากได้ผลตอบแทนเฉลี่ยยาวๆ 5-10 ปี ปีละ 8% เราแนะนำพอร์ตนี้ซึ่งปัจจุบันเราเหลือถือหุ้นไทยเพียง 10% และมีถือตราสารหนี้โลกอยู่ที่ 20% ถือตราสารหนี้ไทยประมาณ 30% ถืออสังหาฯไทยประมาณ 20% และถือทองคำ 20% ... แสดงให้เห็นว่าเรากระจายความเสี่ยงทุกประเภทสินทรัพย์ในตอนนี้ เราไม่เชื่อว่าหุ้นจะวิ่งเยอะแต่เราก็ไม่เชื่อว่าหุ้นจะวิ่งไม่ได้ ถ้าเราเชื่อว่าหุ้นวิ่งไม่ได้เราคงถือตราสารหนี้ทั้งหมด ... ช่วงนี้เป็นช่วงกระจายความเสี่ยงสูงสุด การถือสัดส่วนทองคำประมาณ 15-20% ผมคิดว่าในช่วงนี้อาจจะยังจำเป็น เพราะว่ายังมีผู้นำสหรัฐที่เอาแน่เอานอนไม่ได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เราไม่รู้ก่อนการเจรจาเขาจะทวิตเตอร์อะไรออกมาแล้วทำร้ายตลาดหุ้นให้เสีย การถือทองคำก็ป้องกันความเสี่ยงได้ดี

คิดว่าทองมาถึงทางตันหรือยัง

น่าสนใจตรงนี้คือ รายงานจากสมาคมค้าทองระดับโลกที่ออกมา เป็นตัวเลขของปลายไตรมาส 2 แต่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้ ผมอ่านแล้วพบว่าดีมานด์การซื้อทองของโลกปีนี้มีอยู่รายหนึ่งที่ซื้อทองเพิ่มขึ้นมาประมาณ 50% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว นั่นคือ จีน

จีน สะสมซื้อทองโดยธนาคารกลางจีน เพราะ Trade War จีนกับอเมริกา อเมริกาตั้งกำแพงภาษีเท่าไหร่จีนก็นำเข้าสินค้าจากอเมริกาครึ่งนึงของสินค้าที่ส่งออก ตั้งกำแพงภาษียังไงก็แพ้ สิ่งที่จีนทำเพื่อตอบโต้คือตอนเดือนกรกฎาคมเขาปล่อยค่าเงินหยวนอ่อน คือ ขึ้นภาษีไม่ได้ก็ปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อน ทำให้สินค้าจีนเข้าไปขายในอเมริกาขายในราคาถูกเหมือนเดิม วิธีอ่อนค่าเงินหยวนแปลว่าต้องขายเงินทุนสำรองของตัวเองออกมา คือ ขายดอลลาร์ออกมา พอจีนขายดอลลาร์ออกมาจะไปถือยูโรหรือขณะที่มีปัญหา Brexit หรือจะไปถือบิตคอยน์...กลายเป็นว่าสกุลสากลตัวสำรองต่อจากดอลลาร์คือ ทองคำ นี่จึงเป็นเหตุผลที่จีนกลับมาถือทองอย่างมีนัย

ถ้า Trade War ยังอยู่แปลว่าจีนจะสะสมทองมากขึ้น ถ้าจีนยังสะสมทองมากขึ้นคำถามทองจะลงได้แรงหรือไม่ ...ผมเลยมองว่าระยะยาวทองยังอยู่ในขาขึ้น ส่วนมันจะลงมาแรงหลุด 1,500 ลงมาลึกขนาดไหนก็ไม่น่าต่ำกว่า 1,450-1,470 แถวๆ นี้ซื้อได้ แล้วระยะยาวมันจะขึ้นไปถึงไหนตอบไม่ได้ มันอยู่ที่ Trade War กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจกลับมาดีเงินไหลเข้าหุ้น ทองจะโดนเทขาย แต่ถ้าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้ทองก็ยังยืนระยะ

แล้วน้ำมัน จะมีทิศทางอย่างไร

น้ำมันผมมองอีกแบบเป็น sideway มีโอกาสจะลงเพราะตอนที่ซาอุดีอาระเบียโดนโจมตี ทรัมป์ก็ออกมาบอกว่าพร้อมเปิดตัวสำรองน้ำมันพิเศษที่อลาสกาเพื่อมาชดเชยกำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียที่หายไป ส่วนปูตินบอกเรามีอาวุธต่อต้านการก่อการร้าย ถ้าใครใช้อาวุธของเราสามารถต่อต้านการทำร้ายแบบโดรน ...อยู่ดีๆใช้จังหวะนี้ขายของเลย 5555 ... หลังโจมตีซาอุ ราคาน้ำมันดีดแค่วันเดียวหลังจากนั้นลงมาตลอด แสดงให้เห็นว่าทุกคนพร้อมใจที่ราคาน้ำมันแถวประมาณนี้ เขาคิดว่าเป็นกำลังการผลิตที่สามารถพอเลี้ยงตัวและไม่ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าราคาการผลิตมากนัก ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปมากกว่านี้แสดงให้เห็นว่ามีคนพร้อมผลิต

เพราะฉะนั้นคงขึ้นไม่เยอะส่วนจะลงได้เยอะไหมคิดว่าโอเปกไม่อยากให้ราคาต่ำกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเจอปัญหาขาดทุนสะสม ปีหน้าบริษัทอารามโค ของซาอุดีอาระเบียอยากจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น การทำราคาให้น้ำมันต่ำ แปลว่าขายหุ้นได้ในราคาที่ต่ำเกินไป จึงต้องพยุงราคาน้ำมันไว้

ดังนั้นราคาน้ำมันจากนี้ น่าจะเป็น sideway มากกว่า ผมให้กรอบประมาณ 55-65 เหรียญ ภายในไตรมาส 4

สรุป 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คุณชยนนท์ แนะให้นักลงทุนท่องคาถาอะไรดี

กระจายความเสี่ยงไปทั่วโลก... อยู่ในหุ้นไทยอยู่ได้แต่ไม่อยู่เยอะ โอกาสที่อยู่ในไทยแล้วจะตามมาด้วยข่าวร้ายระหว่างทางมีมากกว่า สิ่งที่เราต้องทำ คือ กระจายความเสี่ยงเหมาะสมระหว่างตราสารหนี้หรือพอร์ตยังจำเป็น เพราะฉะนั้นต้องกระจายความเสี่ยงสูงสุดนั่นคือคาถาของผมที่แนะนำ

10 views
bottom of page