top of page
312345.jpg

ตลาดใหญ่ห้ามหลุด EMA 200 วัน


ผลจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาคแรงงานที่เริ่มเผยให้เห็นถึงความเปราะบางบ้างแล้วหลังจากที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องสงครามการค้าคู่ใหม่ระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป หลังจากที่ WTO มีมติเห็นชอบให้รัฐบาลสหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรป โดยระบุว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักร เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน ให้การอุดหนุนอย่างผิดกฎหมายกับบริษัท แอร์บัส โดยรัฐบาลสหรัฐวางแผนที่จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) หลายรายการ หลังจากองค์การการค้าโลก (WTO) ลงมติเห็นชอบข้อเรียกร้องของสหรัฐในการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU วงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสหรัฐวางแผนที่จะกำหนดอัตราภาษี 10% สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินของ EU ที่ในปี 2561 ส่งออกไปยังสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ของการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรม และ 1.5% ของการส่งออกสินค้าของ EU ไปยัง

นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้าอย่าง วิสกี้ เสื้อผ้า ข้าวมอลต์, กาแฟ เครื่องจักร ชีส น้ำมันมะกอก เนื้อแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู เนย และโยเกิร์ต จากประเทศในยุโรปหลายแห่ง โดยที่ล่าสุดผู้แทนการค้าสหรัฐ ระบุว่าสหรัฐจะเริ่มดำเนินการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ตามมติเห็นชอบของ WTO ในวันที่ 18 ต.ค. 2562

ทั้งนี้ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของ EU ระบุว่า EU พร้อมจะตอบโต้สหรัฐ หากสหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก EU ตามคำตัดสินของ WTO ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามที่เราได้วางแผนกันไว้ โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกปรับตัวลดลง 2.31% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลง 2.25, 3.20% และ 3.35% ตามลำดับ

ประเด็นกดดันที่สำคัญนอกเหนือจากประเด็นข้างต้นที่ทั้งหมดมาจากฝั่งสหรัฐแล้ว น่าจะเป็นประเด็นกดดันจากฝั่งยุโรป โดยเฉพาะกรณีของ Brexit ที่ตลาดเริ่มกลับมากังวลถึงการออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal อีกครั้ง หลังจากความไม่แน่นอนจากข้อเสนอเกี่ยวกับ Brexit ของ Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีแนวโน้มที่จะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้นำ EU โดยที่ Boris Johnson ยืนยันว่าหาก EU ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว อังกฤษก็จะไม่เจรจาเพิ่มเติม และจะออกจาก EU ตามกำหนดเดิมในวันที่ 31 ต.ค. 2562 โดยไม่มีข้อตกลง แม้ว่ารัฐสภาอังกฤษสามารถบังคับให้ Boris Johnson เรียกร้องให้ EU ขยายเวลา Brexit ออกไป จากกฎหมายป้องกันการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง หรือ "No-Deal Brexit" ที่มีการร่างตอนต้นเดือน ก.ย. 2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากมีการบังคับให้ขยายระยะเวลาออกไปจริง จะต้องมีกระบวนการเกิดขึ้นในชั้นศาลเพื่อพิจารณาการตัดสิน สิ่งนี้จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์สถานการณ์ Brexit นอกจากนี้ในเชิงของแนวโน้มในทางเทคนิค ต้องเรียนว่าค่อนข้างน่ากังวล โดยที่เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้ตลาดหุ้นโลกไม่กลับไปสู่ขาลงจริงจังในระยะ 1-3 เดือนอีกครั้ง คือการที่ดัชนี S&P500 ของสหรัฐ, EURO Stoxx50 ของยุโรป และ NIKKEI ของญี่ปุ่น จะต้องยังคงยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันที่ 2,875, 3,386 และ 21,403 จุดให้ได้ เพื่อให้การพักตัวลงของตลาดหุ้นดังกล่าวในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่การพักตัวระยะสั้นเพื่อไปต่อเท่านั้น

SET ห้ามปิดต่ำกว่า 1,600 จุด : ภาพความอ่อนแอของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 8.00% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 21.37% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 6.18% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 39.44% สอดคล้องกับทิศทางของดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 18.98%, 23.60% และ 0.80% สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจของโลกที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยที่ล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้ สู่ระดับ 1.2% ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ก่อนหน้านี้ WTO คาดการณ์ในเดือน เม.ย.2562 ว่าการขยายตัวของการค้าโลกในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.6%

นอกจากนี้ WTO ยังคาดการณ์ว่าการขยายตัวของการค้าโลกในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 2.7% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.0% โดยที่ WTO ระบุว่าความไม่แน่นอนของการทำสงครามการค้า ได้ทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน และลดการจ้างงาน

ทั้งนี้ความขัดแย้งทางการค้าสร้างความเสี่ยงในช่วงขาลงมากที่สุด แต่ภาวะตื่นตระหนกของเศรษฐกิจมหภาค และความผันผวนทางการเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ช่วงขาลงรุนแรงขึ้นด้วย ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิค SET มีจุดตัดสินใจอยู่ที่บริเวณเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 สัปดาห์ หรือ 1,600 จุด ซึ่ง SET จะต้องยังคงปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 สัปดาห์ให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการพักตัวลงต่อในระดับ 1-3 เดือนข้างหน้า

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (Weekly)

Source: Wealth Hunters Club

3 views
bottom of page