top of page
312345.jpg

เน้นขายเป็นหลักในจังหวะ Rebound


ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาลงตามที่เราได้วางแผนกันไว้ โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวลดลง 0.93% และมีตลาดหุ้นสหรัฐ, จีน และ Asia ex Japan เป็นผู้นำในการปรับตัวลดลง 0.97, 2.12% และ 0.75% ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐที่ได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนในสหรัฐ โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐประกาศการเริ่มกระบวนการไต่สวนอย่างเป็นทางการเพื่อถอดถอนประธานาธิบดี Donald Trump ออกจากตำแหน่ง หลังจากที่มีข้อมูลว่าประธานาธิบดี Donald Trump ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดียูเครน เพื่อกดดันให้มีการสอบสวน Joe Biden อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า การกระทำดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในสหรัฐ

นอกจากนี้ตลาดยังวิตกกังวลว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนอาจสะดุดลง หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump ได้วิพากษ์วิจารณ์จีนในเวทีการประชุมสมัชชาใหญ่ UN ว่าจีนมีการดำเนินการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งในเรื่องของการควบคุมค่าเงิน และการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นภัยคุกคามแห่งชาติ และเขาจะไม่ยอมรับข้อตกลงการค้าที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียเปรียบ ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ในครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่จะมีการเจรจาในระดับสูงระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2562

ขณะที่ในด้านของตัวเลขเศรษฐกิจจริงๆพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐยังได้รับปัจจัยลบจากผลสำรวจของสถาบัน Conference Board ซึ่งระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐลดลงสู่ระดับ 125.1 ในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบ 9 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 133.5 จากระดับ 134.2 ในเดือนสิงหาคม 2562 ขณะที่ Initial Jobless Claim เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 213,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 212,000 ราย

ขณะที่ในส่วนแรงกดดันของตลาดหุ้นยุโรปพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงอ่อนแอต่อเนื่อง หลังจากตัวเลข Market Composite PMI ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.4 ในเดือน กันยายน 2562 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 75 เดือน จากระดับ 51.9 ในเดือน สิงหาคม 2562 โดยถูกกดดันจากการชะลอตัวลงของการจ้างงาน ประกอบกับภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นลดลง ขณะที่ในส่วนของตัวเลข Manufacturing PMI ปรับตัวลงสู่ระดับ 45.6 ในเดือน กันยายน 2563 น้อยกว่าที่คาดการณ์ที่ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.3 จากระดับ 47.0

ทั้งนี้การที่ดัชนี PMI อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนยังมีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในเชิงเทคนิคตราบใดที่ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐ และดัชนี Stoxx50 ของตลาดหุ้นยุโรปยังคงไม่สามารถกลับมาปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันได้อีกครั้ง ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะไม่เกิน 1 เดือนจะยังคงเป็นขาลงต่อไป

หมดความเชื่อมั่นในขาลง : Momentum ขาลงของตลาดหุ้นโลก ได้รับการยืนยันจากการที่ดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนความผันผวนของนักลงทุนในตลาด พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.38%, 14.39% และ 7.59% โดยที่ปัจจุบันดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25)

สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 5.97% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมามาอยู่ที่ 29.37% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 5.44% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 33.26%

ขณะที่ในภูมิภาคอื่นยังคงขาดปัจจัยกระตุ้นใหม่ ๆ โดยเฉพาะในฝั่งญี่ป่นการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนกรกฎาคม 2562 โดยระบุว่ากรรมการ BOJ ได้หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการรับมือล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจ และตัวเลขเงินเฟ้อ โดยมีกรรมการรายหนึ่งระบุว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่การเพิ่มความแข็งแกร่งในการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางในสหรัฐและยุโรป จะเพิ่มแรงกดดันขาลงต่อตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นผ่านทางอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรับมือกับความเสี่ยงขาลงของราคาด้วยการดำเนินนโยบายป้องกันล่วงหน้า ทั้งนี้ BOJ มีมติคงนโยบายการเงินในการประชุมเดือน ก.ค. 2562 แต่ยืนยันที่จะผ่อนคลายนโยบายลงอีกโดยไม่ลังเล เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจกระทบโอกาสในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อของ BOJ ที่ระดับ 2% ซึ่งในการทบทวนโยบายต่อเนื่องของ BOJ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น BOJ ยังคงตรึงนโยบายการเงิน แต่ส่งสัญญาณถึงโอกาสในการขยายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร็วที่สุดในการประชุมนโยบายครั้งถัดไปในเดือนตุลาคม 2562 ด้วยการประกาศเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากต่างประเทศ

การดำเนินการทั้งหมดที่ผ่านมาของ BOJ สะท้อนให้เห็นว่า BOJ เห็นสัญญาณความตกต่ำลงอีกครั้งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นแล้ว

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปปิดในกรอบ 1,680-1,700 จุด เน้น “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” เพื่อรอกลับมาทยอยสะสมหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO, TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟน ๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

6 views
bottom of page